เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกโรงแถลงข่าวในวันอังคาร (4 มี.ค.) โดยยืนยันว่า รัสเซียมีสิทธิที่จะใช้ “วิธีการทุกอย่าง” เพื่อปกป้องคุ้มครองพลเมืองของตนในยูเครน แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งทหารเข้าไปในแหลมไครเมีย ถึงแม้มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์ในเขตปกครองตนเองของยูเครนแห่งนั้นตึงเครียด หลังกองกำลังอาวุธที่ภักดีต่อมอสโกยิงปืนขึ้นฟ้าเตือนทหารยูเครนที่ต้องการกลับเข้าสู่ที่ตั้งที่ถูกยึดไว้
หลังจากปิดปากเงียบสนิทเป็นเวลากว่าสัปดาห์ตั้งแต่ที่มีการโค่นล้ม วิกตอร์ ยานูโควิช ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน ปูตินก็ได้ออกมาแถลงข่าวในเรื่องนี้เป็นครั้งแรก โดยประณามการเปลี่ยนแปลงอำนาจที่เกิดขึ้นในกรุงเคียฟด้วยฝีมือของฝ่ายต้านนิยมตะวันตกว่า เป็น “การยึดอำนาจที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ” ของยูเครน และเป็นการยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ ทั้งนี้การที่รัฐสภายูเครนลงมติปลดยานูโควิชนั้น มิได้ดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
“เราขอสงวนสิทธิที่จะใช้วิธีการทุกอย่างเพื่อปกป้องคุ้มครอง” ปูตินกล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวที่บ้านพักชานกรุงมอสโกของเขา โดยที่มีการถ่ายทอดสดทางเครือข่ายโทรทัศน์ของรัฐ
แต่เขาบอกว่าในขณะนี้ “ยังไม่มีความจำเป็น” ที่จะต้องส่งทหารรัสเซียเข้าไปในยูเครน พร้อมกับปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่ากองทหารรัสเซียเข้าร่วมการปฏิบัติการในไครเมียแล้ว โดยเขาบอกว่ามีเพียงกองกำลังป้องกันตนเองของท้องถิ่นเท่านั้น ที่กำลังรายล้อมค่ายทหารต่างๆ ของยูเครนในเขตปกครองตนเองแห่งนั้น ถึงแม้อาจจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมาได้ เนื่องจาก “มีเครื่องแบบจำนวนมากที่ดูเหมือนๆ กัน”
ผู้นำรัสเซียยังอธิบายเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของ “กองกำลังท้องถิ่น” เหล่านี้ว่า ประชาชนในไครเมียซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกพูดภาษารัสเซีย กำลังวิตกที่มีพวกหัวรุนแรงจากองค์การชาตินิยมยูเครนหลั่งไหลทะลักเข้าไป
ก่อนหน้านี้ในตอนเช้าวันอังคาร ปูติน เพิ่งออกคำสั่งให้ทหาร 150,000 คนที่เข้าร่วมฝึกซ้อมความพร้อมรบในภาคตะวันตกของประเทศ รวมทั้งตามแนวชายแดนติดกับยูเครนด้วย ตั้งแต่เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว กลับคืนสู่ฐานที่ตั้ง ซึ่งเป็นไปตามแผนการที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่า การฝึกซ้อมจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากยูเครนในวันเดียวกันนั้นว่า กองกำลังนิยมรัสเซียที่เข้ายึดฐานทัพอากาศเบลเบค ในเขตปกครองตนเองไครเมีย ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเตือนทหารยูเครน 300 นายที่เดินเรียงแถวโดยปราศจากอาวุธ ไม่ให้เข้าประชิดฐานทัพ และขู่ว่าจะยิงใส่ทหารที่ไม่เชื่อฟังคำเตือนนี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนความตึงเครียดในแหลมไครเมีย นับแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังนิยมรัสเซียซึ่งทางการใหม่ในยูเครนประเมินว่า มีประมาณ 16,000 คน เข้าควบคุมเขตปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือภาคทะเลดำของมอสโก
ยูเครนกล่าวหารัสเซียว่า ละเมิดข้อตกลงทวิภาคีที่กำหนดให้รัสเซียเช่าฐานทัพเรือในไครเมียโดยจำกัดการเคลื่อนไหวกำลังพล แต่รัสเซียอ้างว่า ดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงนี้เพื่อปกป้องฐานทัพของตนและป้องกันการคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรงในยูเครน
นอกจากนั้น ในระหว่างการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ (3) วิตาลี เชอร์กิน เอกอัครราชทูตรัสเซียยังได้แสดงสำเนาจดหมายที่อ้างว่า เป็นของวิกตอร์ ยานูโควิช ซึ่งฝ่ายรัสเซียยังถือว่าเป็นประธานาธิบดียูเครนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่ส่งไปถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อขอให้รัสเซียส่งกองกำลังไปฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย รวมถึงปกป้องชาวรัสเซียในยูเครน
และแม้เครมลินยืนยันว่า การซ้อมรบที่เพิ่งสิ้นสุดลงนั้นไม่ได้มีเป้าหมายในการบุกรุกยูเครนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล รวมทั้งไม่ได้ขีดเส้นตายให้ทหารยูเครนในไครเมียยอมจำนนในช่วงรุ่งเช้าวันอังคารอย่างที่เคียฟออกข่าว แต่ดูเหมือนตะวันตกยังไม่วางใจท่าทีของเครมลิน
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า รัสเซีย “อยู่ผิดด้านของประวัติศาสตร์” ในยูเครน รวมทั้งละเมิดอธิปไตยของประเทศดังกล่าว และละเมิดกฎหมายสากล
ผู้นำสหรัฐฯ สำทับว่า กำลังพิจารณาทางเลือกทางเศรษฐกิจและการทูตเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯรีบเร่งดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน โดยในวันอังคาร จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกา จะเดินทางถึงเคียฟเพื่อยืนยันการสนับสนุนต่อรัฐบาลรักษาการของยูเครน
นอกจากนั้น พล.ร.ต.จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯประกาศระงับความร่วมมือทางการทหารทั้งหมดกับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการซ้อมรบ การประชุมทวิภาคี การประชุมเพื่อวางแผนงาน เป็นต้น
แม้ไม่มีการตอบโต้จากปูตินหรือกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทว่า เซียร์เกย์ กลาซเยฟ ผู้ช่วยอาวุโสด้านเศรษฐกิจของปูตินได้ออกมาเตือนว่า มอสโกอาจเลิกใช้ดอลลาร์ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และเลิกการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจต่ออเมริกา รวมทั้งหันไปพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเงินกับประเทศอื่นๆ เพื่อชดเชยมาตรการลงโทษของตะวันตก
นอกจากนั้น หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเกษตรของรัสเซียยังออกคำแถลงเมื่อวันอังคาร ยกเลิกการตัดสินใจยุติการห้ามนำเข้าสุกรจากสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า ระบบตรวจสอบของอเมริกาขณะนี้ยังไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของสุกรได้
ส่วนที่กรุงบรัสเซลส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ก็ขู่ระงับการเจรจาเปิดเสรีวีซ่า และการเจรจาเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เว้นแต่รัสเซียถอนกำลังออกจากไครเมียภายใน 3 วัน โดยผู้นำสมาชิก 28 ชาติของอียูมีกำหนดหารือสถานการณ์ในยูเครนวันพฤหัสบดีนี้ (6) เพื่อตัดสินใจว่า จะใช้มาตรการลงโทษหรือไม่หากมอสโกดื้อดึง
ขณะเดียวกัน องค์กรสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จัดประชุมฉุกเฉินครั้งที่ 2 เกี่ยวกับยูเครนที่บรัสเซลส์ในวันอังคาร ตามการร้องขอของโปแลนด์ที่มีชายแดนติดกับรัสเซียและยูเครน
ในส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกนั้น ตลาดหุ้นมอสโกดีดกลับตามตลาดเอเชียในวันอังคาร หลังจากรูดลงกว่า 10% ในวันก่อนหน้า พร้อมกับที่ค่าเงินรูเบิลทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และราคาน้ำมันในตลาดเอเชียทรงตัว จากที่พุ่งขึ้นเกือบ 2% ในวันจันทร์