xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนติดต่อรัสเซียหวังเลี่ยง “สงคราม” แต่วอชิงตัน-มอสโกตั้งท่าแลกหมัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการ - อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการยูเครนเผยว่ารัฐบาลของเขาได้ติดต่อกับเหล่าผู้นำรัสเซียเป็นครั้งแรกในวันอังคาร (4) โดยมีเป้าหมายคลี่คลายวิกฤตในชาติอดีตสหภาพโซเวียต แต่อีกด้านหนึ่งอุณหภูมิแห่งความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกกับมอสโก ดูเหมือนจะร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อประธานาธิบดีโอบามา ออกมาสวน ปูติน ที่อ้างว่าไม่ได้ส่งทหารเข้าไปในแหลมไครเมีย บอกใครเชื่อก็โง่ ขณะที่ทางเครมลิน เตือนจะเอาคืนแน่ หากวอชิงตันคว่ำบาตรพวกเขา

คำแถลงอันพลิกผันที่ยืนยันถึงการติดต่อกันระหว่างรัฐบาลยูเครนกับรัสเซีย มีขึ้นเพียง 4 วัน หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำมอสโก ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ใช้กำลังกับชาติเพื่อนบ้านที่เกิดวิกฤตการณ์ประท้วงยาวนานหลายเดือน ซึ่งลงเอยด้วยประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ฝักใฝ่รัสเซียถูกโค่นอำนาจและมีการแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการที่ฝักใฝ่ตะวันตกเข้ามาบริหารงานแทน

จนถึงตอนนี้ทางรัสเซียยังไม่ได้มีท่าทีใดๆ ต่อคำแถลงของนายยัตเซนยุค ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรียูเครนเองก็ยังยืนกรานอย่างหนักแน่นหนุนหลังการตัดสินใจของรัฐบาล ที่จะถอยห่างตนเองออกจากการปกครองของมอสโก

อย่างไรก็ตาม การติดต่อครั้งนี้มีขึ้นระหว่างที่นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่ในกรุงเคียฟ และดูเหมือนว่ามันจะสะท้อนถึงความพยายามร่วมกันระหว่างวอชิงตันและพันธมิตรยุโรปที่ประสงค์หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ “จนถึงตอนนี้ การเจรจายังเป็นไปอย่างเหนียมอาย แต่อย่างไรเสีย ก้าวย่างแรกก็เริ่มขึ้นแล้ว” ยัตเซนยุค ระบุในถ้อยแถลง หลังเขากับประธานาธิบดีรักษาการ โอเล็กซานเดอร์ ตูชีนอฟ พบปะกับนายเคร์รี ที่เดินทางเยือนยูเครนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤตการเมืองปะทุขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

นายยัตเซนยุคยืนยันด้วยว่า รัฐบาลของเขายังยืดมั่นในคำสัญญาลงนามข้อตกลงการค้ากับอียู หลังจากอดีตประธานาธิบดียานูโควิช กลับลำยกเลิกข้อตกลงในเดือนพฤศจิกายน แล้วหันไปสานสัมพันธ์กับรัสเซีย จนกลายเป็นชนวนเหตุให้มีการประท้วงใหญ่ต่อต้านการปกครองของเขายาวนานกว่า 3 เดือน และจบลงด้วยการที่นายยานูโควิช ถูกโค่นอำนาจ ตามหลังสัปดาห์แห่งเหตุปะทะนองเลือดตายเกือบ 100 ศพ

อย่างไรก็ตาม การโค่นล้มนายยานูโควิช นำมาซึ่งความเคลื่อนไหวของฝ่ายสนับสนุนอดีตผู้นำรายนี้ในไครเมียและตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับกระแสแบ่งแยกดินแดนในสาธารณรัฐปกครองตนเองแห่งนี้

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของยูเครนเปิดเผยว่า การปรึกษาหารือกับมอสโก ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินกู้จำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ปูติน ให้สัญญากับนายยานูโควิชในเดือนธันวาคม เพื่อตอบแทนที่เขาตัดสินใจยกเลิกข้อตกลงกับอียู ด้วยเคียฟต้องการทราบว่ามอสโกจะยังคงให้เงินงวดถัดไปอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ตามที่สัญญาหรือไม่ พร้อมระบุ “ยูเครนคาดหมายว่ารัสเซียจะตระหนักถึงความรับผิดชอบของพวกเขาต่อสถานการณ์ความมั่นคงที่กำลังไร้เสถียรภาพในยูเครน และยอมรับว่ายูเครนเป็นรัฐอิสระ”
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย(ซ้าย) และประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ(ขวา) ได้ประลองกันอีกครั้งในศึกยูเครน
ความตึงเครียดในแหลมไครเมีย เริ่มต้นขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังนิยมรัสเซียซึ่งทางการใหม่ในยูเครนประเมินว่า มีประมาณ 16,000 คน เข้าควบคุมเขตปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือภาคทะเลดำของมอสโก

ยูเครนกล่าวหารัสเซียว่า ละเมิดข้อตกลงทวิภาคีที่กำหนดให้รัสเซียเช่าฐานทัพเรือในไครเมียโดยจำกัดการเคลื่อนไหวกำลังพล แต่รัสเซียอ้างว่า ดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงนี้เพื่อปกป้องฐานทัพของตนและป้องกันการคุกคามจากกลุ่มหัวรุนแรงในยูเครน

ในวันอังคาร (4) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยืนยันว่า รัสเซียมีสิทธิที่จะใช้วิธีการทุกอย่าง เพื่อปกป้องคุ้มครองพลเมืองของตนในยูเครน แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งทหารเข้าไปในแหลมไครเมีย “ยังไม่มีความจำเป็น” ที่จะต้องส่งทหารรัสเซียเข้าไปในยูเครน พร้อมกับปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่ากองทหารรัสเซียเข้าร่วมการปฏิบัติการในไครเมียแล้ว โดยเขาบอกว่ามีเพียงกองกำลังป้องกันตนเองของท้องถิ่นเท่านั้น ที่กำลังรายล้อมค่ายทหารต่างๆ ของยูเครนในเขตปกครองตนเองแห่งนั้น ถึงแม้อาจจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมาได้ เนื่องจาก “มีเครื่องแบบจำนวนมากที่ดูเหมือนๆ กัน”

ผู้นำรัสเซียยังอธิบายเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของกองกำลังท้องถิ่นเหล่านี้ว่า ประชาชนในไครเมียซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกพูดภาษารัสเซีย กำลังวิตกที่มีพวกหัวรุนแรงจากองค์การชาตินิยมยูเครนหลั่งไหลทะลักเข้าไป

อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็กล่าวตอบโตอย่างทันควัน ว่าคำชี้แจงของ ปูติน ต่อกรณีบุกรุกเข้าไปยังไครเมีย ทำเหมือนกับคนอื่นๆเป็นคนโง่และบอกว่าการเข้าแทรกแซงของรัสเซียครั้งนี้ จะผลักให้ประเทศอื่นๆ หันหลังให้กับมอสโก ด้วยสหภาพยุโรป และพันธมิตรอย่างแคนาดากับญี่ปุ่น ล้วนเชื่อว่ารัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

“ดูเหมือนประธานาธิบดีปูติน จะมีคนคอยแก้ต่างให้อยู่หลายกลุ่ม และมีคำชี้แจงเตรียมไว้อย่างหลากหลาย แต่ผมคิดว่ามันหลอกใครไม่ได้หรอก” โอบามา กล่าวที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในวอชิงตัน ดี.ซี.

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (3) ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซีย “อยู่ผิดด้านของประวัติศาสตร์” ในยูเครน ละเมิดกฎหมายสากลและเมิดอธิปไตยของประเทศแห่งนี้ ขณะที่ทางสภาคองเกรสเปิดเผยว่ากำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรมอสโกกรณียูเครน

ในเรื่องนี้ ทางรัสเซียก็ออกมาตอบโต้ในวันอังคาร (4) ว่าจะดำเนินการแก้เผ็ดสหรัฐฯ กลับไปอย่างแน่นอน หากวอชิงตันออกมาตรการคว่ำบาตรพวกเขาจริง “เราจะตอบโต้แน่” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุในถ้อยแถลง “ทุกสถานการณ์ลักษณะนี้ มักมีพฤติกรรมยั่วยุอย่างขาดความรับผิดชอบจากวอชิงตันเสมอ เราขอย้ำว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราเลือก” เขากล่าว “เราเคยอธิบายให้อเมริกาฟังหลายครั้งแล้วว่ามาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวไม่เป็นไปตามมาตรฐานความสัมพันธ์อันศิวิไลซ์ระหว่างรัฐ”

อนึ่ง เวลานี้คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ กำลังปรึกษากับรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการออกมาตรการคว่ำบาตรยกเลิกวีซาและอายัดทรัพย์สินบุคคล ระงับความร่วมมือทางทหารและคว่ำบาตรทางเศษรฐกิจต่อรัสเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น