รอยเตอร์/เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะจัดการประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน หลังรัสเซียประกาศแผนส่งกำลังทหารเข้าไปยังเขตปกครองตนเอง “ไครเมีย”
รายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตรายหนึ่งจากลักเซมเบิร์ก ชาติซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในขณะนี้ ระบุว่า การประชุมฉุกเฉินซึ่งจะจัดขึ้นในคืนวันเสาร์ (1) มีขึ้นโดยการร้องขอของรัฐบาลอังกฤษที่เป็นหนึ่งใน “สมาชิกถาวร” 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ นับเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของนานาชาติภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงในการร่วมกันหาทางออกต่อวิกฤตในยูเครน
ก่อนหน้านี้ คณะมนตรีความมั่นคงฯได้นัดหารือกันแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันศุกร์ (28 ก.พ.) ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเขตสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียที่ทวีความตึงเครียดหนัก แต่ทว่าที่ประชุมกลับไม่สามารถออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมใดๆได้ และเป็นการส่งสัญญาณถึงความแตกแยกอย่างหนัก ในคณะมนตรีความมั่นคง ระหว่างฝั่งของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ กับรัสเซียซึ่งมีฐานทัพเรือสำคัญใน “ทะเลดำ” ตั้งอยู่ในไครเมีย โดยรัสเซียขู่จะใช้สิทธิยับยั้ง หรือ “วีโต้” ต่อมติใดๆ ก็ตามของคณะมนตรีความมั่นคงที่ตนมองว่ากระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของมอสโก
รัฐบาลชุดใหม่ของยูเครนซึ่งมีจุดยืนโปรตะวันตกกล่าวหารัสเซียว่า กระทำการรุกรานด้วยการส่งกำลังทหารเข้าสู่ดินแดนของยูเครน ขณะที่สหรัฐฯและยุโรป ต่างออกโรงเตือนรัฐบาลมอสโก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ให้ล้มเลิกแผนการส่งกำลังทหารชุดใหม่เข้าไปในเขตแดนของชาติเพื่อนบ้านอย่างยูเครน
อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียออกคำแถลงซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า ความเคลื่อนไหวทางทหารใดๆของรัสเซียในเวลานี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงที่รัฐบาลมอสโกและเคียฟทำไว้ต่อกัน ซึ่งเปิดทางให้รัสเซียสามารถส่งกำลังทหารของตนเข้าไปในไครเมีย เพื่อปกป้องฐานทัพเรือของตนได้ หากเกิดวิกฤตด้านความมั่นคงในยูเครน
ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า มีผู้บาดเจ็บนับสิบรายในวันเสาร์ (1) หลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีจุดยืน “โปรรัสเซีย” จำนวนหลายพันคน บุกเข้ายึดที่ทำการรัฐบาลที่เมืองคาร์คิฟทางภาคตะวันออกของยูเครน และมีการเชิญธงชาติของรัสเซียขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลใหม่ของยูเครนที่มีจุดยืน “โปรตะวันตก” ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจแทนที่ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ที่ถูกรัฐสภาในกรุงเคียฟลงมติถอดถอนจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน
เหตุรุนแรงดังกล่าวส่งสัญญาณว่า รัฐบาลใหม่ของยูเครนซึ่งมีจุดยืนหันเข้าหายุโรป ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญต่อฝ่ายต่อต้านทางภาคตะวันออกของประเทศซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย และต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับรัสเซีย
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลใหม่ของยูเครนในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงการประท้วงที่เมืองโอเดสซา, ดนีโปร และโดเนตส์ก โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่ซึ่งโบกธงชาติของรัสเซียยังยืนกรานว่าวิคตอร์ ยานูโควิช ยังเป็นผู้นำที่ชอบธรรมของยูเครน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นที่เมืองโดเน็ตส์กเรียกร้องให้มีการจัดลงประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ประชาชนในภูมิภาคนี้ ต้องการแยกตัวออกจากอำนาจของรัฐบาลในกรุงเคียฟหรือไม่
ด้านดมิตรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียออกคำแถลงล่าสุด ซึ่งยืนยันว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยังไม่ได้ตัดสินใจต่อการส่งทหารรัสเซียเข้าไปในยูเครน แม้วุฒิสภารัสเซียจะมีมติมอบอำนาจการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวให้กับประธานาธิบดีปูตินแล้วก็ตาม พร้อมยืนยัน รัสเซียคาดหวังว่าจะไม่มีการกระทำที่ยั่วยุใดๆที่จะกลายเป็นการโหมกระพือเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งในยูเครน