xs
xsm
sm
md
lg

รวงข้าวคาดแบงก์พาณิชย์จะดิ้นปรับกลยุทธ์รับความผันผวนทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2557 ต้องเผชิญหลายปัจจัยท้าทาย โดยเฉพาะผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างรายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปี 2557 ธนาคารพาณิชย์จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิ องค์ประกอบสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนเพื่อให้เพียงพอรองรับข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ Basel III ที่จะยกระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่ต้องดำรงไว้ในอนาคตด้วย
แนวทางที่หนุนการสร้างรายได้ก็คือทำการตลาดกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมถึงเน้นคุณภาพของสินเชื่อมากกว่าการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อขยายฐานลูกค้า และปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูงโดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์ โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและสินเชื่อลูกค้าบุคคลรายย่อย ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสูงมากขึ้น กลยุทธ์ดังกล่าวน่าจะช่วยหนุนการสร้างรายได้ดอกเบี้ยในภาวะที่ความต้องการสินเชื่อชะลอลง แม้ธนาคารพาณิชย์จะดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าว ควบคู่ไปกับการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าที่รัดกุมมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ต้องรักษาการเติบโตของค่าธรรมเนียมโดยให้ความสำคัญกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากภาคธุรกิจ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ไม่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมจากลูกค้ารายย่อยถือเป็นฐานรายได้ที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจากลูกค้ารายย่อยคงมีโอกาสชะลอการเติบโตลงตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ กอปรกับการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารซึ่งอาจมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ ก็อาจมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์บ้าง
ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์น่าจะปรับกลยุทธ์ โดยหันมารักษาการเติบโตของค่าธรรมเนียม ผ่านการเน้นค่าธรรมเนียมจากภาคธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต อาทิ ธุรกิจการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ไม่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงิน หรือค่าธรรมเนียมจากการรับชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น นอกเหนือไปจากการขยายฐานลูกค้า เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม
รวมทั้งเน้นการพัฒนากระบวนการกลั่นกรองและติดตามความเสี่ยงเพื่อลดต้นทุนจากการตั้งสำรองหนี้สูญในอนาคต อาทิ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเครดิตบูโรและพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าเพื่อประกอบการพิจารณาการปล่อยและติดตามสินเชื่อมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดการตั้งสำรองหนี้สูญในอนาคตผ่านการควบคุมคุณภาพของพอร์ต สินเชื่อแล้วยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ลงได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น