“แบงก์กสิกรไทย” ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้าบรรษัทโต 6-8% ใกล้เคียงปีก่อน หลังสัญญาณชะลอตัวเริ่มชัดเจนไตรมาส 4 ปีก่อน พร้อมจับตาภาคลงทุนห่วงวูบต่ำกว่า 2.2% ฉุดเศรษฐกิจต่ำเป้า 3% ศก.โลกอ่อนไหว
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)เปิดเผยว่า ในส่วนของธุรกิจลูกค้าบรรษัทในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโต 6-8% จากปีก่อนเติบโต 6% ซึ่งเราจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวของสินเชื่อที่ชัดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อนที่เติบโตได้ 6% จากช่วงไตรมาสที่เติบโต 7% จากประมาณการจีดีพีที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปีก่อนในช่วงทำแผนที่ระดับ 4.5% แต่ปัจจุบัน ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดเป้าหมายลงเหลือ 2.2-3.5% ค่ากลางที่ 3% จากปีก่อนที่คาดว่าจะโต 2.7%
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมนั้น ตั้งเป้าเติบโตในระดับ 12% ใกล้เคียงกับปีก่อน และจะทำให้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้ที่ไม่ได้มาจากการให้สินเชื่อเมื่อเทียบกับปริมาณสินเชื่ออยู่ที่ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2556 ที่ระดับ 2.4% ซึ่งถือเป็นนับเป็นโจทย์ที่ยากท้าทายท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงหลายๆ ด้านในปีนี้
ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจบรรษัทนั้นถือว่ายังมีความแข็งแกร่ง และยังมีจุดที่สามารถขยายธุรกิจได้ โดยธนาคารจะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสาร ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ รองรับโอกาสจากโครงการทีวีดิจิตอล ตลอดจนแผนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G ขณะที่ยานยนต์ จะรับผลจากการขยายฐานการผลิตของญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างสาธารณูปโภค และลอจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก่อสร้าง และภาคการบริการก็ยังเติบโตได้ และกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร ที่น่าจะมีปัจจัยช่วยอย่างการอ่อนตัวของค่าเงินบาทกว่า 10% แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจีนจะเติบโตน้อยลง
ห่วงลงทุนวูบไม่ถึง 2.2% ฉุดจีดีพีต่ำกว่า 3%
นายวศิน กล่าวอีกว่า ปัจจัยในประเทศต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนซึ่งหากเติบโตได้ไม่ถึง 2.2% จีพีดีก็อาจจะโตต่ำกว่า 3% ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศก็ต้องติดตามเช่นกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ กลุ่มยุโรป หรือจีน ยังเป็นไปอย่างเปราะบาง หากเกิดสะดุดก็จะกระทบต่อการส่งออกไทยที่คาดว่าจะเติบโต 5%
คาดบาทแตะ 34
ด้านทิศทางดอกเบี้ยในปีนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ทั้งขาขึ้น และขาลง คงต้องพิจารณาเป็นช่วงๆ ไป หากเศรษฐกิจชะลอแรงก็อาจจะต้องปรับลด แต่ปัจจุบัน ธนาคารยังคงมองในทิศทางขาขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดช่วงปลายปี ขณะที่เงินบาทก็ยังมีทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยคาดว่าจะแตะระดับ 34.50 บาทในไตรมาสแรกนี้ จากปัจจัยการลดวงเงิน QE และปัจจัยในประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก-นำเข้าก็จะต้องระมัดระวังด้วย
“เศรษฐกิจในไตรมาสแรกนั้นก็ยังเติบโต แต่ถ้าเทียบปีต่อปีก็คงต่ำกว่าปีก่อน และโดยรวมเศรษฐกิจทั้งปีนั้นก็คงมีสะอึกบ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้วยังดีอยู่ แต่ก็ไม่ควรจะให้อยู่ในภาวะนี้นานก็จะไม่ดี ส่วนผู้ประกอบการก็จะต้องระวังเรื่องเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท บริโภค-ลงทุนที่มีน้อย รวมถึงต้องดูแล และเพิ่มศักยภาพของสินค้าเราด้วย เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะส่วนเอสเอ็มอี กับรายย่อยก็ต้องระมัดระวังมากกว่า”