xs
xsm
sm
md
lg

ญาติวีรชนฯ หนุนนิรโทษฯ เว้น 4 กลุ่ม-ให้อภัยเชิงสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอดุลย์ เขียววิบูลย์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เปิดเผยว่า คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 สนับสนุนการออกนิรโทษกรรม แต่ต้องยกเว้น 4 กลุ่ม คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำเหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่ ศอฉ. แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะนอกจากไม่นำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงแล้ว ยังไม่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก
การนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมืองนั้น จะสำเร็จได้ต้องเป็นเรื่องที่สังคมภาคส่วนต่างๆ เห็นพ้องร่วมกัน แกนนำทุกเสื้อสีซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรออกมาเป็นตัวหลักในการผลักดันเรื่องนี้ แต่ควรให้ภาคประชาชนช่วยกันระดมความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อหาทางทำให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้
ทั้งนี้ การกำหนดการนิรโทษกรรม ควรนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เสนอทางออกไว้แล้ว ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง เช่น การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น มาพิจารณาด้วย
นายอดุลย์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองและกระทำผิดอาญาไม่ร้ายแรง ถือเป็นมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างมีการจัดตั้ง แต่เป็นการกระทำผิดในลักษณะจลาจล เพื่อนำข้อเสนอเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวมาพิจารณาร่วม เพื่อให้ทุกฝ่ายหยิบยกมาขยายความเพิ่มเติมต่อว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร โดยเฉพาะ อดีตกรรมการ คอป. และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ควรมีส่วนร่วมในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชนในครั้งนี้ตามหลักการดังกล่าว
นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะต้องมีกระบวนการทำทัณฑ์บนประกอบการฟื้นฟูสังคมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่กลับไปทำความผิดครั้งใหม่ เพราะเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการให้อภัยกัน (Forgiveness) โดยผ่านกระบวนการฟื้นสำนึกผิดและได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันครบถ้วน ทำให้ความสัมพันธ์ที่ถูกทำลายไปของอาชญากรรมระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหายและสังคมได้กลับฟื้นคืนสภาพเดิมอีกครั้งหนึ่ง ผู้กระทำผิดไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพราะฟื้นสำนึกด้วยความจริงใจ ในขณะที่ผู้เสียหายและสังคมก็ให้อภัยยอมรับผู้กระทำผิดคืนสู่สังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น