xs
xsm
sm
md
lg

"ส.ว.สมชาย"ย้ำแก้ รธน.ชาติต้องได้ประโยชน์ แนะนักการเมืองปรับพฤติกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวว่า การดำเนินการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กรรมการสมานฉันท์ได้ให้อนุกรรมการฯ พิจารณาอยู่นั้น สุดท้ายแล้วประเทศชาติและสังคมส่วนรวมจะต้องได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่ใช่ดำเนินการเพียงเพื่อนักการเมือง และเห็นว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วย
ทั้งนี้ มาตรา 190 ที่เสนอให้แก้ไขนั้น ควรพิจารณาในส่วนที่เป็นปัญหายากต่อการวินิจฉัยของฝ่ายบริหารเท่านั้น เช่นในวรรคที่ 2 ที่ระบุว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และถ้ามีปัญหาเรื่องการตีความก็ให้แก้ไขเฉพาะคำว่า "อย่างกว้างขวาง" และคำว่า" อย่างมีนัยสำคัญ" เท่านั้น และผู้เสนอแก้ไขจะต้องเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของมาตรา 190 มาพร้อมกันด้วย เพราะที่ผ่านมา 3 รัฐบาลแล้วหลีกเลี่ยงที่จะทำกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จ จะได้ไม่เกิดในการตีความอีก
ส่วนที่จะให้แก้ไขมาตรา 237 เพื่อไม่ให้กรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดและโดนยุบพรรค รวมถึงการตัดสิทธิ์ 5 ปีนั้น เห็นควรให้ผู้เสนอรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ เพราะที่ผ่านมามีการทุจริตเลือกตั้งอย่างมากมาย ผู้บริหารพรรคล้วนได้ประโยชน์จากจำนวน ส.ส. ที่มากขึ้นเพราะการทุจริต รัฐธรรมนูญ 50 จึงตั้งใจใช้ยาแรง รักษาโรคร้าย ซึ่งก็เริ่มปรากฏผล แต่นักการเมืองกลับมาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พ้นผิด แทนที่จะแก้ไขพฤติกรรมและวิธีการเลือกตั้งให้สุจริต ดังนั้น หากจะแก้ไขมาตรา 237 เพื่อไม่ยุบพรรค ก็ควรที่จะคงโทษกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รวมทั้งการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่อไป และควรเพิ่มโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ต่อกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิด และหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ในฐานะสมรู้ร่วมคิด ใช้จ้างวาน หรือร่วมกระทำความผิด รวมถึงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มา ส.ส. และ ส.ว.
นอกจากนั้น นายสมชาย ยังได้แสดงความคิดเห็นกรณีที่จะให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมดว่า การเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่คำตอบของความเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการผูกขาดยึดครองวุฒิสภาเป็นของบางกลุ่ม บางตระกูล มิได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างมีอิสระ จนถูกเรียกขานว่าเป็นสภาทาส สภาผัวเมีย ที่ถูกกำกับโดยรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะแก้ไข จำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภามีหน้าที่ถ่วงดุล ตรวจสอบ ซึ่งหากมีการแก้ไขและเกิดสภาทาสอย่างเช่นในอดีต ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะมีวุฒิสภาอีก และตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีข้อถกเถียง ว่าให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ มาจากการสรรหาทั้งหมด หรือควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หลังฟังความเห็นประชาชนถึง 360 เวที จึงได้ข้อสรุปที่มา ส.ว. 2 แบบ คือเลือกตั้ง กับสรรหา ดังนั้นการที่จะแก้กลับไปเป็น ส.ว.เลือกตั้งแบบปี 40 ต้องมีผลการศึกษาที่ยอมรับได้มากกว่าแก้เพื่อตามใจนักการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น