รุมเฉ่งพรรค “พลังแม้ว” คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ติงอย่าทำเพื่อหนีคดียุบพรรค ชี้ ควรถามประชาชน 14 ล้านเสียงที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ระบุ ถ้าคิดแก้ไขจริงๆ ต้องรับฟังความเห็นจากสาธารณะรอบด้าน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความวุ่นวายได้
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่โรงแรมอมารี ออคิด รีสอร์ท แอนด์ ทาวเวอร์ พัทยา จ.ชลบุรี อดีต ส.ว.และส.ว.ชุดปัจจุบันได้แสดงความเห็นกรณีพรรคพลังประชาชนจุดประเด็นรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อหนีคดียุบพรรคอย่างกว้างขวาง
นายชุมพล ศิลปอาชา อดีต ส.ว.ปี 2543 กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนเสนอใช้ชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำให้เป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไม่ได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องหลายส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศในวันข้างหน้า และไม่ได้เป็นการพัฒนาต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะส่งผลให้การเมืองไทยเกิดทางตัน
โดยส่วนตัวแล้วได้ศึกษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ พบว่า มีจุดบกพร่องหลายประเด็น อาทิ เขตเลือกตั้ง 3 คน ต่อ 1 เขต ทำให้เกิดความยุ่งยากในการเลือกตั้ง ควรเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบเดิม
ระบบสัดส่วนไม่ต้องแบ่งเป็นรายภาค เพราะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของจำนวนประชากร คณะกรรมการที่จะมาคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องไม่มีอำนาจเหนือวุฒิสภา เพราะถ้าให้กลุ่มคน 7 คน มีอำนาจเหนือวุฒิสภาจะทำให้เสียสมดุล ที่มา ส.ว.ต้องมาจากเลือกตั้ง และมาตรา 237 กรณียุบพรรคการเมือง
นายชุมพล กล่าวต่อว่า มาตรา 237 ที่พรรคพลังประชาชนหยิบยกมาเป็นข้ออ้างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้คุยกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ และพอรัฐธรรมนูญออกมาเป็นรูปร่างก็เห็นว่าไม่เป็นผลดีกับประเทศแน่ เพราะการยุบพรรคการเมืองได้อย่างง่ายดายจะส่งผลให้เศรษฐกิจ การเมือง และระบบต่างๆ ของประเทศ สูญเสียความมั่นคง ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรานี้วรรคแรก ระบุชัดเจนว่า หากนักการเมืองทำความผิดต้องถูกให้ใบแดง แต่ในวรรคสองเป็นการกำหนดเรื่องบทบาทของกรรมการบริหารพรรคและพรรคการเมือง ที่ระบุว่า หากมีส่วนรู้เห็นการกระทำผิด หรือทราบแต่ไม่ตักเตือน กรรมการบริหารพรรคและพรรคการเมืองต้องร่วมกันรับผิดชอบ แต่ถ้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคไม่ได้รู้เห็นด้วยจะมาเอาผิดไม่ได้
เพราะตามตรรกะแล้วเมื่อตอนนักการเมืองไปลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้เอาตำแหน่ง ส.ส.หรือหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ไปสมัคร ถ้ามีความผิดจึงมาเอาความผิดกับพรรคการเมืองไม่ได้ จึงอยากฝากเตือนไปยัง กกต.ด้วยว่า องค์กรนี้มีอำนาจวินิจฉัยแค่ความผิด แต่ไม่ได้มีอำนาจศาลที่จะวินิจฉัย ก.ถึง ฮ.ว่า มีความผิดสมควรได้รับโทษอย่างไร
นายชุมพล ยังกล่าวถึงที่มาของ ส.ว.ว่า เห็นด้วยที่จะให้ระบบโครงสร้าง ส.ว.แบบรัฐธรรมนูญ 40 และอยากให้มีการเปลี่ยนวาระของ ส.ว.ให้ออกจากตำแหน่งไม่พร้อมกัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกันเอง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประชาธิปไตยต้องแก้ด้วยพฤติกรรมของคนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ จะเอาปืนมาจี้ให้เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และใครจะมาฆ่าตัตตอนระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ได้เช่นกัน
นายชุมพล กล่าวถึงกรณีที่พรรคชาติไทยตกอยู่ในข่ายถูกยุบพรรคจากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดชัยนาท ว่า ไม่ใช่มีแค่พรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียวที่ต้องเข้าข่ายถูกยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคมัชฌิมา หรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องโดนต่อไปในวันข้างหน้าเหมือนกัน ไม่มีกฎหมายประเทศใดในโลกที่เขียนให้พรรคการเมืองถูกยุบอย่างง่ายดายแบบนี้ ต่างประเทศไม่มีกฎ หรือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองด้วยซ้ำ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาจริงๆ ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อ ยาวนาน ผลเสียจะตกกับประเทศอย่างมากมายมหาศาล
“ประเด็นไหนที่ผิดผมก็ต้องบอกว่าผิด และประเด็นไหนที่ถูกผมต้องบอกว่าถูก แต่ถ้าพรรคพลังประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมาตรานี้เพียงมาตราเดียวโดยใช้เสียงข้างมากในสภามาแก้ไขเลยก็ไม่ได้ ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและรวบรวมประเด็นว่าส่วนใดในรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหา โดยถามความคิดเห็นจากประชาชน พรรคร่วมรัฐบาล นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน อย่างรอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะถกคัดค้านจากภาคประชาชนได้” นายชุมพลกล่าว
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่รัฐธรรมนูญ 50 เพิ่งนำมาใช้แล้วอาจส่งผลกระทบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งจะให้ถูกใจใครทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบบนี้ถึงมีหลายคนกล่าวอ้างว่ามาจากอำนาจเผด็จการ แต่ได้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนถึง 14 ล้านเสียง และตนเองเป็นหนึ่งใน 14 ล้านคนที่ลงประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้ด้วย ดังนั้น เมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไมไม่มีใครมาถามตนหรือประชาชนที่ลงประชามติว่าอยากให้มีการแก้ไขหรือไม่อย่างไร แม้พรรคพลังประชาชนจะออกมาระบุว่า จะรวบรวมประชาชน 50,000 ชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธว่าทำไม่ได้ เพราะอำนาจของประชาชนเป็นอำนาจดีที่สุดอยู่แล้ว แต่หากจะมีการแก้ไขจากประชาชนจริงควรมีการศึกษาก่อนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องตรงไหน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันพระปกเกล้า สามารถรวบรวมปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ และควรมีการลงประชามติถามประชาชนอีกรอบว่าสมควรมีการแก้ไขหรือเปล่า
“ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบมีวาระซ่อนเร้นผมไม่ยอม และต่อจากนี้หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่ควรระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าก่อนแก้ไขควรลงประชามติจากประชาชนก่อนว่าควรแก้ไขได้หรือไม่ และควรแก้ประเด็นใด ต่างประเทศถามประชาชนก่อนทุกครั้งในการดำเนินการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน” นายสมชาย กล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปเพื่อป้องกันการถูกยุบพรรคใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะยังไม่พอ และถึงแม้พรรคพลังประชาชนอ้างว่าจะรวบรวมประชาชน 50,000 ชื่อ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญแทนกระบวนการของรัฐสภาก็ทำได้ แต่ประชาชนอีก 14 ล้านคน ที่ลงประชามติให้รัฐธรรมนูญ 50 จะรู้สึกอย่างไร แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ แต่ได้ผ่านการลงประชามติครั้งแรกของประเทศ
/0110