xs
xsm
sm
md
lg

100 วันการจากของหิ่งห้อย บทเรียนการต่อสู้ภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรายังคงอยู่ในงานครบรอบการจากไป 100 วันของ มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเคลื่อนไหวและนักสู้เพื่อคนยากคนจน

การฟูมฟายและบอกเล่าถึงคุณงามความดีของอาจเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการระลึกถึงผู้จากไป แต่ก็ใช่ว่าจะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตกผลึก และสืบสานการทำงานน่าจะก่อประโยชน์ได้ไม่น้อยไปกว่ากัน และเราเองก็เชื่อว่า มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และผู้คนร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับเธอก็คิดเช่นนั้น

ในงานครั้งนี้จึงได้จัดให้มีการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงถึงการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงย่อมไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แล้วอัญเชิญ ฯพณฯ ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายเข้าไปทำอะไรก็ได้ในสภา แต่การเมืองภาคประชาชนต่างหากคือคำตอบที่สังคมไทยจะต้องก้าวไปให้ถึง

และในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ก็คือคนหนึ่งที่สร้างคุณูปการต่อการเมืองภาคประชาชนไว้ไม่น้อย

โครงสร้างที่บิดเบี้ยวและการสร้างอาวุธเพื่อต่อสู้

ก่อนอื่นจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘โครงสร้างอยุติธรรม’ ที่ครอบงำการพัฒนาประเทศมาตลอด 50 ปี ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเกือบทุกคนกล่าวคล้ายๆ กัน

ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาในแนวทางทุนนิยม เมื่ออำนาจรัฐและทุนจับมือกันใช้เครื่องมือทางอำนาจ นโยบายการพัฒนา การโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้กระทั่งความรุนแรง ลงไปดูดดึงทรัพยากรจากชนบทเพื่อหล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจ และปล่อยให้วิถีชีวิตของคนเหล่านั้นล่มสลายเป็นเครื่องเซ่นการพัฒนา

ขณะที่ชุมชนแต่เดิมสามารถหาอยู่ หากิน เลี้ยงตัวเองได้ แต่เมื่อทรัพยากรถูกดึงออกไป โดยที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิใดๆ ในการจัดการ ทรัพยากรที่เคยเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็หมดไป ชาวบ้านจึงเดินเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นคนจน

“นโยบายหรือหลักคิดของรัฐที่ไปทำลายการทำมาหากินของชุมชนที่อยู่บนฐานทรัพยากร แสดงว่าเมื่อก่อนชาวบ้านไม่ได้เป็นคนยากคนจน แต่พอรัฐมาตัดทำลายการทำมาหากินของชาวบ้าน ความยากจนที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะชาวบ้านถูกทำลายโอกาส ทำลายสิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการจัดการทรัพยากร” นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในวงเสวนา

ปรากฏการณ์เช่นนี้นำไปสู่การต่อสู้ ต่อรองของชาวบ้านกับรัฐและทุน ซึ่ง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่าการต่อสู้ ต่อรองของมนุษย์นั้นมีมาตลอดเวลา แต่ในอดีตการเป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรม ศ.ดร.นิธิได้ยกตัวอย่างวิถีการต่อสู้ดั้งเดิมของชุมชนต่ออำนาจในชุมชน ซึ่งมีตั้งแต่การนินทา การใช้ศาสนาเข้ามาเป็นกลไกไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง กระทั่งถึงการใช้วิธีกล่าวหาว่าผู้นั้นเป็นปอบเพื่อขับไล่ผู้นั้นออกจากชุมชน แต่แล้ววันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงก็เข้ามาในชุมชน

“ชุมชนไม่ได้อยู่อิสระเหมือนแต่ก่อน แต่มีคนอื่นเข้ามาร่วมใช้ทรัพยากรเยอะแยะไปหมด ที่สำคัญคือรัฐและทุนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะรัฐก็ไปเป็นพันธมิตรของทุนตลอดเวลา เรามีคนจากข้างนอกเข้ามาแย่งใช้ทรัพยากร เราไปหาหลวงพ่อได้มั้ย ได้ แต่หลวงพ่อจะไปช่วยพูดกับพวกนี้ได้มั้ย ไม่ได้ เพราะเขาไม่ฟังหลวงพ่อ จะนินทาได้มั้ย ก็ไม่ได้ กล่าวหาว่าเป็นปอบ ก็ไม่เดือดร้อน ประเด็นที่ผมต้องการชี้ให้เห็นก็คือกลไกการต่อสู้ที่เราเคยมีมา มันใช้ไม่ได้ในสังคมสมัยใหม่ เราไม่สามารถต่อสู้หรือต่อรองได้เลย”

ศ.ดร.นิธิ เชื่อว่าความอ่อนแอของชาวบ้านเกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถใช้อาวุธทางวัฒนธรรมต่อสู้ ต่อรองกับอำนาจได้เหมือนกาลก่อน

“ตรงนี้แหละที่ผมเห็นว่าคุณวนิดาหรือคนอย่างคุณวนิดาทำก็คือการเข้ามาในจังหวะที่ประชาชนขาดอาวุธในมือ และคุณวนิดานำอาวุธแบบใหม่มาให้ นั่นคือกฎหมาย การประท้วง การจัดองค์กรเพื่อจัดการประท้วงที่ทำให้เกิดผลมากขึ้น การเข้าไปยึดกุมพื้นที่สื่อที่ทำให้ชาวบ้านมีพลังต่อรองกับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงในหมู่บ้าน เป็นการเข้ามาเพื่อให้ชาวบ้านมีอาวุธในการต่อสู้ของสังคมสมัยใหม่ และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายวงกว้างออกไปได้ไม่สิ้นสุด”

การทำงานของวนิดาที่ผ่านมายังการสอนประชาธิปไตยภาคปฏิบัติกับชาวบ้าน ชาวบ้านสามารถใช้เครื่องทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ชาวบ้านเป็นตัดสินใจเองโดยไม่เข้าไปชี้นำ และสิ่งที่ ศ.ดร.นิธิ เห็นว่าเป็นคุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่วนิดาทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตนเองมีศักดิ์ศรีไม่ยิ่งหย่อนกว่าคนเมือง

“การทำงานคุณวนิดาที่คลุกคลีกับชาวบ้านมากจนเป็นเหมือนชาวบ้าน ผมคิดว่าวิถีชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองกับชาวบ้านมันไม่เหมือนกัน แตกต่างกันมากจนเป็นเรื่องยากที่ชนชั้นกลางจะได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่ ถ้าคุณไม่สามารถใช้วิถีชีวิตอย่าเดียวกับชาวบ้านได้ ในการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ผมพบว่ามันสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือสมัชชาคนจนได้แสดงวิถีชีวิตของคนจนหรือของชาวบ้านออกมาในกรุงเทพอย่างเปิดเผย ไม่ปิดบัง ผมคิดว่าคุณวนิดามีส่วนทำให้ชาวบ้านรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ในวิถีชีวิตตัวเอง การที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนไปอยู่อย่างที่ฉันเคยอยู่มา โดยไม่ต้องอับอาย นี่เป็นศักดิ์ศรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ที่ชาวบ้านไทยกล้าเป็นตัวของตัวเองต่อหน้าชนชั้นกลางในกรุงเทพ”

ขบวนการสิทธิชุมชน ไม่พึ่งรัฐ ไม่กลัวรัฐ

ในส่วนของภาคประชาชนอย่าง กรอุมา พงษ์น้อยฺ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก-กุยบุรี ได้สะท้อนออกมาในวงสนทนาว่า ความพ่ายแพ้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาก็คือการหวังพึ่งพาผู้อื่นและไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง เพราะภาคประชาชนอย่างเธอก็มีบทเรียนจากการต่อสู้ในระบบ ซึ่งสุดท้ายก็พบว่านักการเมืองที่เคยเคลื่อนไหวภาคประชาชน หลังจากเข้าสู่วังวนอำนาจแล้วส่วนใหญ่มักจะ ‘เสียของ’ ไปเปล่า

“ท่ามกลางการต่อสู้ของเรากับรัฐ ความคิดหวังพึ่งต้องถือเป็นความคิดที่เป็นรากเหง้าของปัจจัยของความพ่ายแพ้ การต่อสู้ของเราจึงเป็นการนำพาชาวบ้านให้หันกลับมามองตัวเอง มองแนวราบด้วย ไม่มองข้างบน ไม่หวังพึ่งตัวแทนหรืออัศวินม้าขาวหรือผู้รับเหมามาทำแทนเรา เจริญเคยพูดว่าถ้าพวกเรารวมตัวกัน ชุมชนเราก็จะเข้มแข็ง สามารถต่อสู้และเอาชนะได้ ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เราเชื่อมั่นในพลังมวลชน นี่จึงถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการต่อสู้ สมันจะสามารถคัดง้างกับอำนาจรัฐ อำนาจทุนได้”

แนวคิดของกรอุมาสอดคล้องกับ ไพโรจน์ พลเพชร จากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ที่เห็นว่าภาคประชาชนจำเป็นจะต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกใหม่คือไม่กลัวรัฐ ไม่พึ่งพารัฐ และดูแลตัวเอง

ต้องยอมรับว่าช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การต่อสู้ภาคประชาชนงอกงามอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะขบวนการที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่า ‘ขบวนการสิทธิชุมชน’ เมื่อเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องอื่นๆ

ในเบื้องต้นสมชายมองว่าชาวบ้านกล้าที่จะตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐที่เข้ามารุกชิงทรัพยากร ประเด็นสิทธิชุมชนได้ถูกยกให้เป็นสถาบันหรือเป็นหลักการที่ปฏิเสธไม่ได้ จะต้องถูกนำมาเอ่ยถึงอย่างทรงพลังโดยนักวิชาการและชาวบ้านในทุกครั้งที่มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและทุน

“ตัวอย่างที่ผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือกรณีสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนไว้ เป็นช่วงที่ชาวบ้านหยิบเอารัฐธรรมนูญมาใช้มากเป็นพิเศษ ซึ่งในการใช้ก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว แต่ว่ามันเป็นปัญหา คือเมื่อไหร่ไปถึงศาล ศาลก็จะบอกว่าไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ถือว่าไม่มีสิทธิ พอปี 2550 เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มีการตัดข้อความบางอย่างที่เป็นปัญหาในการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ข้อความที่ว่าคือทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวในช่วง 10 ปีมันได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในระบบกฎหมายและทำให้เกิการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง”

ก้าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งใจจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อไปในอนาคต ในสายตาของสมชายแล้ว ขบวนการสิทธิชุมชนจะต้องเข้าใจ เท่าทัน และมีกลไกรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาเชื่อว่าการพุ่งไปที่ประเด็นสิทธิชุมชนเพียงอย่างเดียว ในอนาคตแล้วอาจไม่เพียงพอ แต่จะต้องคิดถึงประเด็นต่างๆ อย่างครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้นกว่าขณะนี้

หนึ่ง-ขบวนการสิทธิชุมชนต้องตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะมีผลกระทบต่อท้องถิ่น การอยู่ในท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวกำลังจะเป็นเงื่อนไขที่จำกัดมากขึ้น

สอง-เวลาเราคิดถึงสิ่งที่เรียกว่าองค์กรประชาชน เราควรจะต้องคิดถึงปัญหาของคนจนในมิติที่กว้างขวางมากขึ้น แรงงานก็คือคนจนอีกกลุ่ม ซึ่งในสังคมไทยจะมีวงจรคือจากเกษตรกรผู้ยากไร้ไปเป็นแรงงานผู้ยากจน เราต้องทำให้เกิดการตระหนักปัญหาของคนจนในมิติที่กว้างขึ้น ไม่ได้อยู่เพียงในชุมชน

และสาม-ในขบวนการสิทธิชุมชนที่ผ่านมา ข้อเสนอส่วนใหญ่พูดถึงอำนาจของตนเอง เป็นไปในลักษณะที่เรียกร้องกับรัฐมากขึ้น

ในขณะที่มีนัยของการต่อสู้ทางชนชั้นน้อยลง มีการพูดถึงความเป็นธรรมในสังคมไทยน้อยลง หมายความว่าเราเรียกร้องอำนาจบางอย่างเพิ่มมากขึ้น แต่ความไม่เป็นธรรมไม่ได้หายไป

“เมื่อเป็นแบบนี้ ข้อเสนอต่างๆ ที่เสนอไป รัฐหรือคนที่มีสถานะเป็นชนชั้นนำก็ไม่ได้ปฏิเสธเพราะมองว่าไม่มีผลกระทบต่อสถานะตนเอง ผมกำลังคิดว่าขบวนการประชาชนที่เดินหน้าไปโดยไม่แตะเรื่องความไม่เป็นธรรมหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจะไปได้ไกลขนาดไหน ข้อเรียกร้องหลายๆ เรื่อง เช่น รัฐสวัสดิการ ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากการเรียกร้องที่ไม่แตะเรื่องความไม่เป็นธรรม”

ขณะที่ สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะคล้ายๆ กันว่า หากสมัชชาคนจนจะขับเคลื่อนงานต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ ให้มากขึ้น รวบรวมปัญหาของคนทุกข์ คนยาก เข้ามาร่วมขับเคลื่อน จับมือเป็นเครือข่ายแต่ก็มีความเป็นอิสระเป็นของตัวเอง รวมถึงการเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอก เช่น รัฐ นายทุน หรือนักการเมือง

“งานพันธมิตรเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้การเคลื่อน การหาข้อมูลข่าวสาร เผยแพร่กิจกรรมให้ชนชั้นกลางในเมืองได้เห็นข้อเท็จจริง เพราะเราต้องสู้กับข่าวจากรัฐและทุนซึ่งเป็นข่าวบิดเบือน”

สุธียังได้เสนอการจัดระบบความสัมพันธ์ในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งว่า

หนึ่ง-จัดความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างใหญ่ที่เรียกว่าสมัชชาคนจนกับเครือข่ายสมาชิก ร่วมกันรองรับชื่อนี้ เคลื่อนไหวภายใต้นโยบายร่วมกัน มีจังหวะเคลื่อนร่วมกัน จัดความสัมพันธ์ไม่ให้ขัดแย้งกัน ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเครือสมาชิกต่างก็มีอิสระของตัวเอง

สอง-จัดความสัมพันธ์ระหว่างงานร้อน เช่น การเคลื่อนไหว การประท้วง กับงานเย็น เช่น งานเพาะปลูก งานหารายได้ ให้สัมพันธ์กัน

อันดับสุดท้ายคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นชาย-หญิง เพราะการเคลื่อนไหวที่ผ่านมามักจะมีปัญหาว่าฝ่ายตรงข้ามปล่อยข่าวลือที่ก่อให้เกิดการระหองระแหงกันระหว่างสมาชิก

ด้าน ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์สานต์ อดีตนักวิชาการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และ กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชาธานี เห็นพ้องกันในแง่ที่ว่าภูมิปัญญา องค์ความรู้ และงานวิจัยท้ายบ้านที่เกิดจากชุมชนจะต้องถูกเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการทรัพยากร

สถานการณ์การเมืองกับการเคลื่อนไปข้างหน้า

เกษียร เตชะพีระ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ฉายภาพของระบบทุนนิยมที่ปั่นตัวเองด้วยการดูดดึงทรัพยากรจากแหล่งต่าง เกษียรกล่าวว่าระบบทุนนิยมมีลักษณะ 3 ประการคือดึงทรัพยากรจากคนอื่นมาใช้, ใช้อย่างสิ้นเปลืองมาก และไม่มีความมั่นคง

“แต่เพื่อที่จะให้เราอยู่กันได้ เส้นทางการพัฒนาแบบนี้มันคงอยู่แบบนี้ ผมขอ 2 อย่างคือต้องให้มีทางเลือกในการพัฒนา ให้คนที่ไม่อยากเดินเส้นนี้มีทางเลือก และขอให้เขามีอำนาจต่อรองทางการเมือง”

นอกจากนี้ เกษียรยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่าเรากำลังอยู่ในรัฐที่เรียกว่า 1 ประเทศ 2 เครือข่าย หนึ่งคือเครือข่ายอำนาจข้าราชการซึ่งมีแกนนำที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ อีกเครือข่ายหนึ่งคือเครือข่ายอำนาจธุรกิจ ซึ่งก็มีแกนนำที่เกษียรเรียกว่าผู้มีบารมีที่บ้านเลขที่ 111 และความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาก็คือการชนกันของ 2 เครือข่ายดังกล่าว

“การดำรงอยู่ของ 2 เครือข่ายนี้ต้องการ 2 อย่างคือพื้นที่สิทธิเสรีภาพกับพื้นที่ประชาธิปไตย นี่เป็นสมบัติร่วมทางการเมืองของคนไทยที่เราจะรักษาไว้ให้ได้ เราจะต้องขยายเครือข่ายการเมืองภาคประชาชน คือเครือข่ายมรดกทางวัฒนธรรมของภาคประชาชน”

ด้วยเหตุนี้ เกษียรจึงมีความเห็นคล้ายคลึงกับนักวิชาการหลายคนที่ว่าภาคประชาชนจำเป็นจะต้องสร้างเครือข่าย เพราะในสังคมขณะนี้มีแนวร่วมที่เป็นไปได้จำนวนมาก เพียงแต่ว่าภาคประชาชนจะต้องเรียกร้องให้ถูกจุด

1. สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อแย่งแฟนทักษิณ

“รัฐสวัสดิการแฟนทักษิณมีเป็น 10 ล้านคน ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังชอบนโยบายทักษิณ ในท่ามกลางนโยบายที่ชนชั้นปกครองไทยเดินกันมาเป็นสิบๆ ปี ประชานิยมคือห่วงชูชีพโยนลงไปในทะเลที่ทุกคนกำลังว่ายไม่เห็นฝั่ง เป็นใครใครก็ต้องคว้าเอาไว้ แล้วคุณจะไม่สามารถแย่งคนเหล่านั้นจากทักษิณได้ ถ้าไม่มีนโยบายที่ดีกว่า ดังนั้น ถ้าคุณอยากจะสร้างเครือข่ายและชิงคนของทักษิณ คุณต้องมีนโยบายที่ดีกว่าประชานิยมนั่นคือรัฐสวัสดิการ สร้างหลักประกันให้คนไทยทุกคนมีชีวิตที่ไม่ต่ำไปกว่านี้ ให้คนไทยที่จนที่สุดมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

2. สร้างสังคมประชาธิปไตยเพื่อแย่งแรงงาน

“สังคมประชาธิปไตย เป็นแนวนโยบายทั่วโลกสำหรับประเทศมีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง เขาสู้เรื่องประกันสุขภาพ สิทธิในการตั้งสหภาพ ซึ่งในเมืองไทยทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ จุดนี้คือประเด็นที่พี่น้องคนงานเดือดร้อน ทำยังไงจึงจะดึงเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องได้ พลังที่เข้มแข็งที่สุดของแนวนโยบายสังคมประชาธิปไตยในประเทศทุนนิยมเป็นเรื่องสวัสดิการน้อยกว่าประกันสิทธิต่อสู้ของคนงาน”

3. สร้างนิเวศประชาธรรมเพื่อแย่งคนชั้นกลางที่ห่วงสภาพแวดล้อม

“ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมว่าเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ชนทุกชั้นได้รับผลกระทบ และเราจะทำยังไงจะผนวกสิ่งเหล่านี้เข้ามาในเครือข่าย”

..................

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่วนิดาได้สร้างไว้และคนอยู่หลังจะต้องสานต่อ ถ้าพูดกันด้วยสำนวนค้อน-เคียวก็ต้องปลุกอกปลุกใจกันว่า ไม่มีทางที่ชนชั้นปกครองจะหยิบยื่นความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคมมาให้โดยไม่มีการต่อสู้ของประชาชน

Get up stand up
Stand for your right
Get up stand up
Don’t give up the fight

จงยืนหยัดขึ้นเพื่อสิทธิของคุณ และอย่าล้มเลิกการต่อสู้

(จากเพลง Get Up Stand Up ของ Bob Maley)

***************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล






กำลังโหลดความคิดเห็น