xs
xsm
sm
md
lg

บางคำถามกับการจากไป 100 วันของหิ่งห้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีดอกไม้สีขาวบานสู้แดดอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์คนจน ในศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน เราไม่รู้ว่ามันมาอยู่ที่นั่นได้อย่างไร แต่มันก็เบ่งบานอย่างได้จังหวะปะเหมาะกับวันครบรอบการจากไป 100 วันของ ‘นักสู้เพื่อคนจน’

มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

บางครั้งความบังเอิญก็มีรูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจ

เช้าของวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา รถของเราวิ่งผ่านขบวนธรรมยาตรา การเดินเท้าของผู้คนกว่า 400 คนที่มาจากทั่วทุกสารทิศ-จากภูผาถึงทะเล จากวัยเด็กถึงวัยชรา หญิงและชาย ชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินบ้าง หยุดบ้าง เป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตรจากแก่งสะพือสู่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านของชาวปากมูน

(เอาล่ะ ใครจะเถียงว่า ‘มูน’ ใช้ น หรือ ล ก็ตาม แต่เราขอใช้ตามที่คนปากมูนเขาใช้ เพราะ ‘มูน’ นี้คือมูนมังที่แปลว่ามรดกตกทอด ส่วน ‘มูล’ เป็นคำที่ราชการใช้ ซึ่งชาวบ้านปากมูนบอกว่านั่นมันมูลสัตว์ และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งของอำนาจรัฐสมัยใหม่ที่สะท้อนผ่านการครอบงำทาง ‘ภาษา’)

กลุ่มสมัชชาคนจนจากขอนแก่น กาฬสินธุ์ กลุ่มที่ต่อสู้เรื่องที่ดินจากนครสวรรค์ กลุ่มเกษตรกรจากภาคเหนือ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ฯลฯ ...เฉพาะส่วนที่เรามองเห็นด้วยสายตา

รถที่เรานั่งจากจุดที่เห็นขบวนวิ่งสู่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน ช่างเป็นระยะทางที่น่าขนลุกไม่น้อย ดวงอาทิตย์ฤดูร้อนก็ดูตั้งใจจะประลองกำลังวัดความแน่วแน่เสียเหลือเกิน รอจนบ่ายสอง ขบวนธรรมยาตราจึงมาถึง ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่รอคอยอยู่ที่ศูนย์ฯ ต่างเดินถือพวงมาลัยดอกติ้วไปรอรับที่ประตูทางเข้า คล้องคอและยิ้มให้ คนรับมาลัยก็ยิ้มตอบ

ผู้คนจากขบวนธรรมยาตราก้าวผ่านซุ้มประตู พร้อมกับก้มลงหยิบก้อนหินสีน้ำตาลคนละก้อนไปวางไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์คนจน...

1

ต้นไม้กลางแดดต้นหนึ่งให้ร่มเงากะทัดรัดพอที่ผู้เฒ่า 3-4 คนจะนั่งหลบแดดได้ พวกเขาคือชาวบ้านปากมูนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ในวันที่น้ำท่วมนา ปลาไม่มีกิน ลูกหลานต้องหนีเข้ากรุงมาหางานทำ ก็มีผู้หญิงที่ชื่อมดนี่แหละที่ต่อสู้อยู่เคียงข้าง

“ผมเสียใจมาก มดเขามาช่วยเรา เขากินง่าย ไม่ถือเนื้อถือตัว เราก็รักเหมือนลูกเหมือนหลาน ผมเอารูปมดตั้งไว้ในบ้าน คิดถึงเขามาก ถ้ามดเป็นผู้ชายผมจะก้มลงกราบเลย” พ่อเฒ่า พรหมา เบ้าทอง วัย 80 ปี พูดถึงวนิดาอย่างเปิดอก

เราหมุนตัวและมองฝ่าเปลวแดดไปรอบๆ รถบัส รถตู้ เลี้ยวเข้ามาจอด ผู้คนเดินกันขวักไขว่สับสน เต็นท์ที่ถูกจัดเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับชาวบ้านกระจายตัวอยู่รอบศูนย์ ต้องถือว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของภาคประชาชน ไม่ใช่เพียงชาวบ้านจากหลายภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง นักวิชาการ นักการเมือง นักพัฒนาเอกชน ศิลปิน และสื่อมวลชนมาร่วมอย่างคับคั่ง

เมื่อคนคนหนึ่งจากไปจะมีสักกี่สิ่งกันที่ทำให้คนจำนวนมากเดินทางไกลเพื่อมาร่วมรำลึก เท่าที่เรานึกออก-ความดีกับอำนาจ สำหรับวนิดาสิ่งที่ดึงดูดผู้คนคืออะไร เราคงไม่ต้องเฉลย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวเปิดงานว่า

“มด-วนิดาคือตัวอย่างของผู้ที่สู้ด้วยสันติวิธี ทางฝ่ายพุทธศาสนามหายานเชื่อว่า 49 วันล่วงไปแล้ว ผู้ตายย่อมไปเกิดในสุคติภพแล้ว ผมเชื่อว่ามดอยู่ในสุคติภพและมีพลังแรงมากระตุ้นให้พวกเราต่อสู้อย่างที่เธอเคยต่อสู้รับใช้ผู้ยากไร้ หัวใจของมดจะอยู่กับเรา

“งานเพื่อมดครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ มีคนดังๆ มาร่วมงานหลายคน แต่คนดังๆ เหล่านั้น พูดอย่างไม่เกรงใจนะครับ ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่หรอก รวมทั้งผมเองด้วย ประโยชน์สำคัญอยู่ที่ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นคนยากไร้ที่ไม่รู้สึกด้อยไปกว่าคนดังๆ เราจะเอาชนะคนดัง คนเด่น คนที่มีอำนาจวาสนาได้ การจะสู้คนเหล่านี้ต้องอาศัยความสว่าง รวมพลังกันเท่านี้ไม่พอ แต่คนยากคนจนต้องจับประเด็นให้ชัด ต้องหากัลยาณมิตร เพื่อต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม”

2

งานในภาคกลางวันผ่านไปอย่างเรียบง่าย เราเดินบ้าง นั่งบ้าง พูดคุยกับชาวบ้าน กับนักวิชาการ กับนักพัฒนาเอกชนไปตามโอกาส บางคนเดินซื้อสินค้าจำพวกผ้าพันคอ หมวก เสื้อ กระเป๋า หนังสือติดไม้ติดมือ เงินทั้งหมดจะนำเข้า กองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ โดยมีจุดประสงค์ 4 ข้อคือ

1. ต่อสู้เพื่อการเปิดเขื่อนปากมูนถาวร

2. เพื่อส่งเสริมให้คนจนได้เรียนรู้เรื่องสิทธิ

3. เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ของสมัชชาคนจนได้รับการแก้ไข และ

4. เพื่อให้ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ของคนจน

ตกเย็น ชาวบ้านจึงเริ่มทำธุระส่วนตัว อาบน้ำ ซักผ้า บางส่วนก็เตรียมข้าวปลาอาหาร เด็กๆ ก็วิ่งเล่นตามประสา

กลางคืน พระจันทร์มีแค่ครึ่งดวง ดาวประปรายแต้มฟ้า พื้นดิน พื้นหญ้ารอบๆ ถูกจับจอง ตามกำหนดการจะมีการฉายหนังเรื่อง ‘ทองปาน’ ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (เหตุการณ์ที่มีคนตาย 1 คน และมีสาเหตุจากพ่อคุณปื๊ดที่เป็นตำรวจเมาเหล้าทำปืนลั่น) และกลายเป็นภาพยนตร์ต้องห้ามโดยอัตโนมัติ การนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉาย ณ ที่แห่งนี้ ย่อมมีเหตุผลโอบอุ้ม ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พูดคุยก่อนฉายหนังว่า

“ทองปานเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ต้องอพยพหนีเขื่อนมาอยู่เชียงคาน จังหวัดเลย แต่ก็ต้องมาเจอเขื่อนผามองอีก ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมา 30 ปีแล้ว แต่ปัญหาก็ยังคงเหมือนเดิม

“30 ปีที่แล้วเป็นยุคทองของเขื่อน เขื่อนคือคำตอบทั้งหมดของการพัฒนากระแสหลัก ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วมก็สร้างเขื่อน แต่สำหรับปัจจุบันเขื่อนน่าจะเป็นเรื่องอัปยศด้วยซ้ำ เขื่อนไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว เพราะเขื่อนเป็นโปรเจกต์พันล้านที่ได้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มแต่ถูกอธิบายว่าเป็นประโยชน์กับคนทั่วไป มันเป็นการเมืองเรื่องงบประมาณ ลองคิดดูว่าถ้าที่ปรึกษาโครงการได้เงิน 1 เปอร์เซ็นต์ จะรวยแค่ไหน”

30 ปีผ่านมา หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้คนอีกจำนวนมากก็ยังเชื่อว่าเขื่อนคือคำตอบของการพัฒนา

3

วันใหม่ พวกเรานั่งรถจากที่พักมาถึงศูนย์ฯ พระอาทิตย์ดวงกลมโตยังไม่ขึ้นดี เราจึงสามารถมองมันได้จากรถที่เคลื่อนตัว อาจเป็นเพราะความหิวก็เป็นได้จึงทำให้มันดูเหมือนขนมเค้กที่โปะด้วยแยมส้มสีสดใส

ส่วนไฮไลต์ของงานวันนี้อยู่ที่วงเสวนาแบบเข้มๆ ของนักวิชาการและชาวบ้านที่จะร่วมกันถกเถียง พูดคุยถึงการต่อสู้ภาคประชาชนที่ผ่านมา บทเรียน และอนาคต ทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย

(เนื้อหาจากวงเสวนาติดตามได้วันพรุ่งนี้)

เราได้นั่งพูดคุยกับ พฤ โอโดเชา เขาบอกว่าวันที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของวนิดา เขากำลังเลี้ยงควายอยู่ในป่า จึงต้องทิ้งการทิ้งงานประสานพี่น้องบนดอยเพื่อมาร่วมงานศพที่กรุงเทพ

“พี่วนิดาเป็นคนพูดจาแข็งๆ ตรงไปตรงมา ผมสังเกตเห็นว่าผู้หญิงคนนี้พูดทื่อๆ และไม่กลัวเกรงใคร ไม่ทำเสียงหวาน (หัวเราะ) แต่ผมก็ดูผู้หญิงคนนี้สวยดีนะ แอบถามรู้ว่าเขายังไม่แต่งงาน ทำไมไม่แต่งงาน เป็นความสงสัยตามคนดอย พูดแข็งๆ แบบนี้ผู้ชายก็เลยไม่กล้าแต่งแน่ๆ เลย (หัวเราะ)

“แต่พี่มดจะไม่ชี้นำชาวบ้าน ผมรู้สึกว่าพี่มดเข้าข้างพวกเราจริงๆ ไม่เคยเจอคนที่ทำงานกับเราแบบนี้ มันสัมผัสได้โดยอัตโนมัติว่าพี่มดไม่ได้หวังอะไรจากเรา เราเองก็สงสัยพี่มดนะ แต่ปีแล้วปีเล่าก็ยังเหมือนเดิม วันที่พะตีปูนุกระโดดรถไฟตาย พี่มดแกก็มาเยี่ยมถึงหมู่บ้าน เขายกชาวบ้านอย่างพวกเราไว้สูง พี่มดยังบอกว่าเวลาถูกจับบอกพี่ ถูกไล่บอกพี่ ถูกตำรวจกั้นบอกพี่

“ในความเห็นของผม ผมยังไม่เคยเจอคนที่จะมัดรวมคนได้ขนาดนี้ เราสูญเสียคนที่อยู่ได้ท่ามกลางความหลากหลาย ความสูงต่ำ พี่มดทำให้มันอยู่ด้วยกันได้ มันจะส่งผลถึงสมัชชาคนจนด้วยนะว่าจะมีคนดึงดูดให้เรามาเกาะกันได้มั้ย เพราะใช่ว่าชาวบ้านอย่างเราจะจิตใจสูงส่งทุกคนนะครับ เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจก็มี เบียดเบียนกันก็มี” เป็นข้อห่วงใยต่อสถานการณ์สมัชชาคนจนภายหลังการสูญเสีย

ใครบางคนก็ดูจะมีข้อกังวลไม่ต่างจากพฤ เพราะไม่ว่าอย่างไร วนิดาก็ดูจะเป็นเสมือนสัญลักษณ์และเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของสมัชชาคนจน แต่ สมเกียรติ พ้นภัย ชาวบ้านปากมูน บอกกับเราว่าวนิดาได้วางทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมดแล้ว และชาวบ้านที่ยังอยู่จะสามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ ซึ่งฝ่ายชาวบ้านเองก็มีการปรึกษาหารือกันอยู่ตลอดเพื่อกำหนดแนวทางและกลวิธีในการเคลื่อนไหว

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อสมัชชาคนจนสามารถดำรงอยู่และเคลื่อนไหวต่อไปได้ แม้จะไม่มีวนิดา เนื่องจากความเป็นขบวนการได้สร้างระบบโดยตัวมันเองแล้ว

“ขบวนการที่ไหนก็แล้วแต่ แกนนำ ผู้นำเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในขบวนการก็จะมีการสร้างผู้นำต่อเนื่องกันมา มันอาจจะกระทบในเรื่องขวัญกำลังใจ แต่ไม่ได้แปลว่าขบวนการนั้นจะล่มสลายไป ความเป็นขบวนการมันสร้างระบบการสืบทอดของมัน”

4

กิจกรรมภาคเช้าจบลงหลังจากการเสวนา ‘สถานการณ์การต่อสู้ของขบวนการคนจนภายใต้บริบทสังคมไทยในอนาคต’ จบลง เป็นการพูดคุยในประเด็นหนักๆ ที่ทำเอาหลายคนสมองล้าไปตามๆ กัน (รวมทั้งเราด้วย)

ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ผ่านไปอย่างเอื่อยเฉื่อย กว่าจะถึงตอนค่ำ หลายคนต้องเดินเกร่ไปมาเนื่องจากไม่มีอะไรทำ เปลวแดดของแผ่นดินอีสานร้อนแรงขนาดที่แค่นั่งเฉยๆ ก็ยังทำให้อ่อนล้าได้ ไอร้อนแผ่ไปทั่วแม้ว่าจะหลบอยู่ใต้หลังคาเต็นท์ คนเมืองที่มาร่วมงานพยายามนอน แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากลำบากพอกัน การพูดคุย อ่านหนังสือ และดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ จึงเป็นทางออกที่เหลืออยู่ในการต่อรองกับดวงอาทิตย์

และแล้วเวลาก็ช่วยลากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เป็นชัยชนะเล็กๆ แบบคิดเอาเองของเรา เวทีในช่วงกลางคืนค่อยๆ ก่อรูปร่าง

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงแล้ว มีคนบอกเราว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีก็มา แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเห็น นั่นยังรวมถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. เจ้าของเขื่อนปากมูนอันลือลั่นก็มาร่วมงานด้วย คนนั่งข้างหลังเรา 2 คนคุยเล่นกันว่าดีแล้วที่มากลางคืน ถ้ามากลางวันอาจมีปัญหา

“วันนี้พวกเรารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงมด ผู้หญิงที่ได้ใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ผมรู้จักมดมา 10 กว่าปี มีบ้างที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ผมไม่เคยสงสัยน้ำใจ สงสัยความซื่อสัตย์ของมด มดต่อสู้เพื่อผู้ยากไร้ เพื่อความเป็นธรรม มดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนยากคนจนที่ต้องการเห็นการปรับปรุงการใช้อำนาจรัฐ เราจะไม่ลืมมดและจะต่อสู้ด้วยสันติวิธีต่อไป หวังว่าสังคมไทยจะมีอีกหลายพันมด...” คือส่วนหนึ่งของปาฐกถารำลึกที่กล่าวโดยอานันท์

หลังจากนั้น เป็นการฉายวิดีทัศน์ ‘ชีวิตและความตายของวนิดา’ ที่ร่วมกันทำโดยครอบครัวตันติวิทยาพิทักษ์ บอกเล่าความเป็นมา แนวคิด อุดมการณ์ และการต่อสู้ของเธอ นับตั้งแต่สมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ร่วมกับกรรมกรหญิงโรงงานฮารา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การหนีเข้าป่า เรื่อยมาจนถึงการต่อสู้เพื่อชาวปากมูนและงอกงามเป็นสมัชชาคนจน

หาก นายแพทย์สงวน นิตยารัมพงศ์ คือคนเดือนตุลาที่สามารถรักษาอุดมการณ์เดือนตุลาไว้ได้อย่างงดงามและสง่าผ่าเผย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ก็คงเฉกเช่นกัน

และในภาวะที่คนยุคนี้ได้เห็นพฤติกรรมคนเดือนตุลาคมบางคนในยุคนั้น กลับซ้าย กลับขวา กลับขาว กลับดำกันสนุกสนาน เรื่องของวนิดาและนายแพทย์สงวนน่าจะเป็นเรื่องดีๆ ที่ช่วยประคับประคองหัวใจไม่ให้หดหู่จนเกินไปนัก แม่เฒ่าวัย 74 ปี ลุน เบ้าทอง เปรยๆ กับเราว่า

“คนดีตายไว คนบาปไม่ตาย”

เราลอบสังเกตบรรยากาศโดยรอบ ไม่เงียบ แต่ก็นิ่งงัน ทุกคนถูกตรึงไว้กับเรื่องราวบนจอ ชาวบ้านบางคนน้ำตาไหล เสียงเพลง ‘เพื่อมวลชน’ และ ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ดังคลอเป็นระยะ

‘พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล... ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง’

บนจอ จบลงด้วยภาพต้นไม้ในเงามืด มีจุดสว่างเล็กๆ แต้มอยู่ตรงกลาง มันคือหิ่งห้อยหนึ่งตัว หิ่งห้อยในบทกวีของวนิดา แต่เมื่อหิ่งห้อยเริ่มขยับ จุดสว่างนั้นก็เพิ่มขึ้นๆ เป็นนับร้อย นับพัน

ค่ำคืนนั้นสำหรับเราจบลง เรานั่งนิ่งๆ อยู่ท้ายรถกะบะที่กำลังพาเราไปส่งยังที่พัก แหงนมองฟ้าสีดำ ดวงจันทร์ยังมีแค่ครึ่งดวง ดาวยังมีให้เห็นประปราย นั่นคือหิ่งห้อยหรือแสงดาวแห่งศรัทธา เราก็ตอบไม่ได้ กลางสายลมที่พัดมากระทบใบหน้าเราเกิดคำถามมากมายต่อยุคสมัยของเรา บางทีคำว่าอุดมการณ์หรืออุดมคติอาจเป็นคำที่เชยแหลกเสียแล้ว ท่ามกลางความเชื่อที่ว่าโกงไม่เป็นไร ขอให้ฉันอยู่ดีกินดีเป็นพอ

เป็นเรื่องโชคดีที่ยุคสมัยนี้เราไม่จำเป็นต้องมีภาพของสังคมที่ดีกว่า ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องแสวงหาสัจจะที่เราเองก็ไม่ได้เชื่อว่ามันมีอยู่ ไม่ต้องหาคำตอบให้กับคำถามยากๆ อีกต่อไป ไม่ต้อง ไม่ต้อง และไม่ต้อง ฯลฯ

หรือเป็นเรื่องโชคร้าย...

*****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล








กำลังโหลดความคิดเห็น