xs
xsm
sm
md
lg

เหมืองแร่ (โปแตซ) ในความทรงจำปลายฤดูหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลายฤดูหนาว-ปลายมกราคม...

ดอกจานสีส้มสดปล่อยประกายสีร้อนแรงตัดกับท้องฟ้าร้างเมฆของแผ่นดินอีสานเป็นฉากหลัง ดูสวยและเหงาในเวลาเดียวกัน บนรถสองแถวและอัตราความเร็วที่ไม่ทำให้ทิวทัศน์ข้างทางแกว่งไกว เรากำลังเดินทางไปร่วมงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชาวบ้านตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ในจังหวัดอุดรธานี งานบุญที่มีเรื่องราวให้บอกเล่ามากกว่าการเข้าวัดทำบุญ แต่มีชีวิตผู้คน น้ำตา และการต่อสู้โลดเต้นแทรกสอดอยู่ในลายแคนที่ดังคลอภายในงาน

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ข่าวการเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองโปแตซของชาวบ้านจำนวนหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ถูกพูดถึงบ้าง ไม่พูดถึงบ้าง ตามระดับความเข้มข้นของเหตุการณ์ เป็นการขับเคี่ยวด้วยกำลังวังชาที่ไม่สูสีเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างชาวบ้านกับทุนใหญ่และรัฐที่จับมือกัน เปรียบมวยให้เห็นแบบนี้ก็ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงรี้พลและเสบียงกรังว่าฝ่ายใดจะเหนือกว่า (ทว่า-แม่เมาะ, ปากมูล, แก่งเสือเต้น, มาบตาพุด, ทับสะแก, บางสะพาน, อ่าวปัตตานี ฯลฯ ก็เป็นมวยคนละรุ่นคล้ายคลึงกัน) และถ้าจะมีใครโพล่งคำถามว่าชาวบ้านจะชนะหรือไม่ ก็คงจะถูกมองหน้าและหมิ่นแคลนว่าเป็นคำถามที่โอหัง

แต่ ชัยณรงค์ วงค์ศศิธร ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ที่ขับรถมาจากประจวบคีรีขันธ์เพื่อมาร่วมงานบุญ ตอบคำถามนี้ด้วยรอยยิ้มจางๆ และดวงตาแต้มประกายว่า “ไม่รู้หรอก แต่ชาวบ้านชนะแล้วตั้งแต่เริ่มต้นที่จะสู้”

ท่ามกลางกระแสข่าวประโยชน์โภชผลที่ประเทศไทยจะได้รับจากเหมืองโปแตซที่ภาครัฐและบริษัท อิตาเลี่ยนไทย เจ้าของโครงการป่าวประกาศ ลองมาไล่ดูอย่างช้าๆ ว่ายังพอมีอะไรที่น่าตั้งคำถามเหลืออยู่บ้าง

*ภาคงานบุญ

จากตัวเมืองอุดรฯ เรานั่งรถสองแถวผ่านบ้านเรือนและท้องทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา ขณะที่ลมหนาวปลายฤดูก็ยังไม่มีทีท่าอ่อนแรง มันเขย่าเราจนหนาวสั่น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการกอดตัวเอง

เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง รถสองแถวพาเราเลี้ยวเข้าถนนสู่หมู่บ้าน ที่ถนนก่อนถึงวัดประจำหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านหลากวัยบ้างนั่ง บ้างยืน รวมตัวกันอยู่ที่นั่นด้วยท่าทีทะมัดทะแมง เพลงหมอลำกระจายผ่านออกจากลำโพงขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนรถกะบะ เรามารู้ภายหลังว่าชาวบ้านกำลังจัดขบวนแห่เดินไปยังวัดโนนสมบูรณ์เพื่อร่วมงานบุญกุ้มข้าวใหญ่

นอกจากเสียงเพลงหมอลำจังหวะครึกครื้นที่คอยกลั้วฝีเท้า ชาวบ้านยังถือป้ายผ้าที่แสดงเจตจำนงค์คัดค้านเหมืองโปแตซไปตลอดขบวน พ่อเฒ่าคนหนึ่งถือธงสีเขียวนำหน้าขบวน ตามด้วยเด็กๆ รุ่นลูกหลานอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนในขบวนก็มีพ่อเฒ่า แม่เฒ่า คนหนุ่ม-สาวออกมาร่วมเดินกับเขาด้วย

เราค่อยๆ เดินตามและเก็บภาพบรรยากาศเรื่อยไป มารู้ตัวอีกทีก็ก้าวเข้าเขตวัดเสียแล้ว

ว่ากันว่าไม่น่าจะมีประเพณีวัฒนธรรมของภาคไหนอีกแล้วที่มีงานบุญเกี่ยวกับข้าวมากมายเท่ากับภาคอีสาน งานบุญกุ้มข้าวใหญ่หรือบางแห่งเรียกว่างานบุญคูนลานก็คือหนึ่งในงานบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสานที่มีมาแต่ดั้งเดิม

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี อธิบายให้เราฟังว่า

“ในแต่ละปี แต่ละชุมชนจะรู้ว่าข้าวได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน ถ้าปีไหนฟ้าฝนดี นาโคก นาดอนจะได้ผลผลิตดี แต่นาทีลุ่มอาจจะล่มก็ได้ แต่ถ้าปีไหนฟ้าฝนปกติ นาโคก นาดอนอาจไม่ได้ทำ ปีนั้นข้าวก็จะได้น้อยกว่านาที่ลุ่ม คนนาดอนก็จะไม่ได้กินข้าว เพราะฉะนั้นคนอีสานก็จะจัดสรรทรัพยากรให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก็เลยเป็นบุญกุ้มข้าว ใครมีข้าวก็เอามาถวายวัด ได้บุญแล้ว พระก็จะเอาข้าวคืนไปให้ชาวบ้านแบ่งกัน โดยมีคณะกรรมการคอยจัดสรรข้าว”

ที่กลางลานวัด กองข้าวเปลือกขนาดใหญ่วางตัวนิ่ง ชาวบ้านต่างจับจองที่นั่ง หาข้าว หาปลากินเพื่อรอคอยการทำพิธี

วันนี้งานบุญกุมข้าวกลับไม่ใช่แค่งานบุญธรรมดาๆ แต่ต้องกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านหยิบยกขึ้นมาใช้ต่อสู้กับการรุกรานของทุนใหญ่และรัฐ

“ปีแรกที่เราเริ่มสู้ ประมาณปลายปี 2545 ตอนสู้ใหม่ๆ เรารู้สึกว่าลำบาก พี่น้องจะไปไหนก็ต้องเสียเงินเสียทอง ต่อสู้กับนายทุนที่มีพันล้านแสนล้าน พวกผมก็เลยมานั่งคิดกันว่าเราจะทำยังไง เพราะคงต้องสู้กันยาวนานแน่นอน เลยคิดกันว่าพวกเราเป็นชาวไร่ชาวนา ทำนาได้ก็เอาข้าวไปขาย แต่ละหมู่บ้านเอาข้าวมารวมกัน เอาไปขาย ปีแรกก็ได้ 2 แสนมาเป็นกองทุน

“ทีนี้ ทำไปทำมาก็ได้ความคิดขึ้นมาอีกว่าการเอาข้าวมารวมกันก็ได้ข้าวแต่ไม่ได้มากเท่าที่ควร ก็เลยคิดกันขึ้นอีกว่าเอาอย่างนี้ เมื่อเรารวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้ว เราก็มาทำนารวมกันเลย แต่ต้องหานาใหญ่ๆ ประมาณ 30-40 ไร่ เอามาทำนาของกลุ่มอนุรักษ์ นี่ทำมา 2 ปีแล้ว ได้ข้าวมาแล้วก็เอามารวมกัน เก็บจากชาวบ้านเหมือนเดิม ได้เงินก็เก็บเป็นกองทุนไว้”

สมยศ นิคำ ชาวบ้านบ้านสังคม ตำบลห้วยสามพาด วัย 53 ปี เล่าถึงที่มางานบุญกุ้มข้าวต้านภัยเหมืองโปแตซให้ฟัง พร้อมกับเสริมด้วยว่าที่ดิน 40 ไร่ใช้เวลาปักดำและเก็บเกี่ยวแค่วันเดียว ด้วยเรี่ยวแรงพร้อมเพรียงของทุกคน แต่ก็เป็นความพร้อมเพรียงของฟากฝั่งที่คัดค้าน

“ผมถึงว่าโครงการเหมืองโปแตซมันถึงขนาดนี้เชียวหรือ มันทำให้พี่น้องแตกแยกกันได้ พี่ชายผมก็ไปเข้ากับฝ่ายโปแตซ เงินนี่มันทำให้คนแตกแยกกันได้ทุกอย่าง เราก็มีความพยายามที่จะประสานความเข้าใจกัน แต่เขาไม่ฟัง เขาบอกว่าน้ำหน้าอย่างพวกมึงน่ะเหรอจะไปรู้ข้อมูล แค่ ป.4 จะไปสู้อะไรเขาได้ ถ้ามันไม่ดีจริง ทางรัฐบาลเขาไม่ให้ทำหรอก เขาพูดอย่างนี้ เราก็ไม่รู้จะพูดยังไง” สมยศพูดด้วยน้ำเสียงเหนื่อยๆ

วราภรณ์ บุตรศรี สาวน้อยปี 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอเป็นคนบ้านหนองลุมพุก ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม เยาวชนอีกคนที่เข้าร่วมคัดค้านเหมืองโปแตซกับลุง ป้า น้า อา บรรยายว่า

“เริ่มแรกที่โครงการนี้เข้ามาขุดเจาะสำรวจตามทุ่งนา เขาไม่ได้บอกเราว่าจะเป็นเหมืองแร่โปแตซนะ พ่อไปถาม เขาก็บอกว่ามาขุดน้ำมัน ตอนแรกพ่อยังแอบดีใจเลยว่าถ้าอีสานมีน้ำมันประเทศไทยก็คงรวย แต่พอมารู้ทีหลังว่าเป็นเหมืองแร่โปแตซ เราก็เสียความรู้สึกมากๆ เลย”

ทำไมจึงต้องออกมาคัดค้าน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเหมืองจะนำมาซึ่งการล่มสลายของชุมชนและชีวิต เนื่องจากจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชนิดที่เรียกว่าหายนะ

“ชาวบ้านบ้านเราไม่ได้ดำรงชีพด้วยการรับจ้างหรือทำงานในสถานประกอบการเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่แล้วก็อยู่กับท้องไร่ท้องนา หรือจะมีรับจ้างนอกภาคการเกษตรบ้างก็เป็นช่วงที่ไม่ได้ทำนา ทีนี้ ผืนดิน ผืนน้ำที่มีอยู่ก็เป็นเหมือนอู่ข้าว อู่น้ำของเขา ถ้ามีเหมืองเกิดขึ้น มลพิษที่เกิดจากเหมือง เช่น ฝุ่นเกลือที่พ่นออกมาจากปล่องเกลือวันละเกือบ 10 ตัน กระจายอยู่ในพื้นที่ 10-20 ตารางกิโลเมตร ตลอดระยะเวลา 22 ปี ถ้าเทียบก็เท่ากับเกลือ 70 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มันมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอีก ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรกับพื้นที่

“น้ำเสียจากโรงงานหรือน้ำที่ชะจากกองเกลือ แล้วบริเวณที่ตั้งเหมืองก็เป็นต้นน้ำของหนองหานกุมภวาปี ลำปาว ก็อาจจะเกิดผลกระทบในบริเวณกว้าง นอกจากนั้นก็มีเรื่องดินทรุด การเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม”
สันติภาพอธิบาย

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรานี ให้ข้อมูลว่ากองเกลือดังกล่าวจะมีขนาดสูงถึง 40 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร และกว้าง 600 เมตร เกลือปริมาณมหาศาลขนาดนี้ย่อมต้องสร้างผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งที่ดินที่ทางบริษัทซื้อไว้เพื่อทำโรงแต่งแร่ก็ตั้งอยู่ใกล้ต้นน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะหนองนาตาล ในอนาคตคาดว่าจะทำให้แหล่งต้นน้ำแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงแต่งแร่ และเกิดการแย่งน้ำระหว่างเหมืองแร่และชาวบ้าน ผลกระทบทางด้านสุขภาวะของผู้คนในพื้นที่กว่า 70,000 ไร่ หากระบบการเกษตรต้องล่มสลายเพราะพิษภัยจากการทำเหมืองโปแตซ นี่ยังไม่นับรวมถึงงานวิจัยที่ว่าจะใช้หลุมใต้ดินที่เกิดจากการขุดแร่เป็นที่เก็บกากนิวเคลียร์และขยะเคมีในอนาคต

ดูเหมือนจะมีปัญหาอีกมากมายที่ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องแบกรับจนเราไม่สามารถนำมาสาธยายได้หมด แต่เราเชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามขึ้นมาแล้วว่าในเมื่อใต้แผ่นดินอีสานมีทรัพยากรที่มีค่ามากมายเพียงนี้ เราจะปลอยมันไว้เฉยๆ อย่างนั้นหรือ

สุวิทย์ตอบว่าเราไม่ได้ค้านทุกเรื่อง แต่การจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านนับหมื่นชีวิตต้องเป็นผู้แบกรับผลกระทบ ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่กอบโกยผลกำไรฝ่ายเดียว

*ภาคเหมืองแร่

ช่วงปี 2520 กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการเจาะสำรวจพื้นที่ในภาคอีสานเพื่อหาแหล่งน้ำบาดาล แต่ขุดไปขุดมากลับไปพบว่าที่อุดรฯ เป็นแหล่งแร่โปแตซคุณภาพดี หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบได้ ทางกรมทรัพยากรธรณีก็เลิกเจาะและให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำการสำรวจต่อเสียเฉยๆ ดร.ปริญญา นุตาลัย กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถึงกับเคยพูดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล เพราะใช้งบประมาณแผ่นดินเจาะสำรวจเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่กลับเอาข้อมูลไปบอกนักลงทุน

นั่นคือที่มาเริ่มแรกของโครงการเหมืองโปแตซ ที่มีบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีซีซี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Asia Pacific Resources Ltd. (APR) เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยในปี 2527 บริษัท ไทยอะกิโกรโปแตซ จำกัด (ซึ่งภายหลังบริษัทนี้ได้ถูกซื้อโดยเอพีซีซี) ได้มีการทำสัญญากับกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี

หากแต่ช่วงนั้นกฎหมายเกี่ยวกับทำเหมืองแร่ยังไม่เปิดช่องให้มีการทำเหมืองใต้ดินจึงทำให้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งก็ต้องบอกกล่าวไว้แต่ตรงนี้ว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายแร่นั้นมีความพยายามมาโดยตลอด และก็มาประสบผลสำเร็จในปี 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 แต่ที่ชวนงุนงงกลับอยู่ที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสร็จออกมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการทำเหมืองใต้ดินและไม่มีชาวบ้านในพื้นที่รับทราบแต่ประการใด

โดยระหว่างปี 2543-2545 ทางเอพีซีซีได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านโดยบอกว่าเพื่อสร้างมหาวิทยาลัย

เมื่อเรื่องราวถูกเปิดเผยขึ้น ชาวบ้านและนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่จึงร่วมกันคัดค้านเพราะเห็นถึงผลกระทบมหาศาลที่จะเกิดตามมา อีกทั้งเมื่อสำรวจดูการถือหุ้นของเอพีซีซีด้วยแล้วก็จะพบว่าเป็นบริษัทต่างชาติ จนกลายเป็นประเด็นหลักที่ชาวบ้านชูขึ้นมาคัดค้านและได้รับกระแสตอบรับจากสังคม เป็นเหตุให้เอพีซีซีต้องยอมถอยในที่สุด นำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม ในเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น ตัวละครหลักจึงเปลี่ยนจากเอพีซีซีมาเป็นกลุ่มทุนใหญ่อย่างบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ที่เข้าไปซื้อหุ้นใน APR แต่ส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกลับไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

การเข้ามาของอิตาเลี่ยนไทยซึ่งเราคุ้นเคยในบทบาทผู้รับสัมปทานก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่ลดราวาศอกลง อิตาเลี่ยนไทยได้ว่าจ้างนักเคลื่อนไหวคนเดือนตุลา เข้ามารับบทบาทสร้างฐานมวลชนในพื้นที่ ตั้งแต่การให้เงินบริจาคในเทศกาลงานบุญของชาวบ้าน การให้งบสนับสนุนในการจัดกิจกรรมของโรงเรียน การบอกกล่าวกับสาธารณะว่าจะยกเลิกอีไอเอฉบับเก่า ทั้งที่ในความจริงก็ยังคงมีการผลักดันอยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงการแถลงข่าวว่าจะถอนฟ้องแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรฯ ทั้ง 5 คนในกรณีบุกรุกที่ดินของเอพีซีซี ทั้งที่รู้ว่าเป็นความผิดอาญาที่ยอมความไม่ได้ (ซึ่งที่สุดแล้วศาลได้พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าการกระทำของชาวบ้านเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องสิทธิรัฐธรรมนูญ)

ถึงตรงนี้ โดยมิต้องกล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อชาวบ้านกว่าครึ่งแสน แต่เพ่งมองเฉพาะประเด็นผลตอบแทนที่ประเทศจะได้รับและความชอบธรรมในการทำเหมืองใต้ดินก็น่าจะพอเห็นความไม่เข้าทีอยู่ไม่น้อย

ประเด็นแรก เกลือซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองแร่โปแตซ ดูให้ดีๆ... ในสัญญาระบุว่าอิตัลไทยจะต้องจ่ายค่าภาคหลวงเฉพาะแร่โปแตซเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเกลือ แล้วมันยังไง

เรื่องมีอยู่ว่าการขุดแร่ขึ้นมา 1 กิโลกรัม ใน 1 กิโลกรัมจะมีเกลืออยู่ถึง 800 กรัม ที่เหลือ 200 กรัมคือโปแตซ ถ้านำเกลือเหล่านี้ไปขายจะได้ราคาที่ตันละ 500-1,200 บาท หนึ่งเหมืองจะได้เกลือ 4-5 ล้านตันต่อปี เท่ากับอิตัลไทยจะขายเกลือได้อย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาทเหนาะๆ โดยไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงใดๆ ทั้งสิ้น

ทางอิตัลไทยเคยบอกว่าจะนำเกลือที่ได้ถมกลับลงไปในเหมืองเพื่อป้องกันดินทรุด ก็ถามกันง่ายๆ ว่าเราๆ ท่านๆ จะเชื่อหรือเปล่า ในเมื่อเกลือเป็นวัตถุดิบจำเป็นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่รัฐมีแผนจะสร้างพื้นที่อีสานให้กลายเป็นเคมิคอล คอมเพล็กซ์ เรื่องแบบนี้ก็ต้องวัดใจกันล่ะว่าอิตาเลี่ยนไทยจะยอมเอาเงิน 2 หมื่นล้านฝังดินหรือไม่

ประเด็นที่ 2 พ.ร.บ.แร่ ปี 2545 ที่อนุญาตให้ทำเหมืองใต้ดินได้เปิดช่องไว้ว่า ถ้าขุดลงไปเกิน 100 เมตร ทางผู้ได้รับประทานบัตรสามารถจะชอนไชไปเอาแร่ที่ไหนก็ได้ใต้พื้นดิน โดยมิต้องบอกกล่าวคนที่อยู่บนดิน

“บริษัทซื้อที่ดิน 2,500 ไร่ตรงโนนหมากโม แต่ถ้าเจาะเกิน 100 เมตรแล้ว สามารถมุดไปได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะถือว่าในเขต 2,500 ไร่ได้ขอประทานบัตรแล้ว ซึ่งในอีไอเอเดิมสำรวจแค่ 2,500 ไร่ แต่จะขุดทั้งหมื่นไร่ เราบอกว่าแบบนี้ไม่ได้ ต้องทำอีไอเอทั้งหมื่นไร่” สุวิทย์กล่าว

เป็น 2 ประเด็นที่รัฐและอิตัลไทยยังคงอ้ำๆ อึงๆ...

“ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ผมคิดว่ากลุ่มทุนทักษิณก็อยากได้” สุวิทย์วิเคราะห์การรุกคืบของอิตัลไทยให้ฟัง “อย่าลืมว่าอิตัลไทยเป็นกลุ่มทุนที่มีอายุยืนยาว อิตัลไทยขยับตัวเองจากงานก่อสร้างมาเป็นการทำเหมือง อิตัลไทยขยับเข้ามาเอาโปแตซในอีสาน ผมคิดว่ามันเป็นการวางแผนกับนักการเมืองอยู่แล้ว เพราะว่าเอพีซีซีเองก็ถูกบีบจากรัฐก็เลยต้องปล่อย อิตัลไทยเข้ามาก็เพื่อครอบครองทรัพยากรในภูมิภาคนี้ เริ่มจากโปแตซ เพราะต้องไม่ลืมว่ามันไม่ใช่แค่โปแตซตัวเดียว แต่มันคือเกลือด้วย อุตสาหกรรมต่อเนื่องจะตามมาไม่ว่าจะปิโตรเคมี เคมิคอลคอมเพล็กซ์ที่ถูกวางแผนไว้ตั้งแต่สมัยการทำเหมืองที่ชัยภูมิ”

……………….

พูดคุยกับคนนั้น คนนี้จนหลงลืมไปเสียสนิทว่าเราอยู่ในงานบุญ กว่าจะรู้ตัวอีกที ความอึกทึกเมื่อตอนต้นก็เริ่มลดน้อยลงแล้ว ผู้คนเริ่มบางตา อีกไม่นานทุกอย่างก็คงเลิกลา

เราจากมาเมื่อดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ อากาศค่อยๆ เย็นลงช้าๆ ระหว่างทางนั่งรถกลับคำถามหนึ่งก็ผุดขึ้น-การพัฒนาแบบที่เป็นอยู่นี้มันจะนำพาเราไปสู่จุดหมายใด?

ไม่มีคำตอบจากสายลมปลายฤดูหนาว...

***********************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล










กำลังโหลดความคิดเห็น