เกือบสามปีเต็ม ของการตัดสินใจครั้งใหญ่ของ ‘บุญชัย เบญจรงคกุล’ เขาขายหุ้นและหันหลังให้ธุรกิจมือถือหมื่นล้าน มานั่งทำงานเพื่อสังคม ในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เป็นการตัดสินใจที่เขายังหวนคำนึงว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด
เขาค้นพบว่า ความสุขของคน เกิดจากการแบ่งปัน และ หลักคุณธรรม ซึ่งเป็นผลผลิตทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเงินทอง
บุญชัย ถือเป็นนักธุรกิจตัวอย่างและมีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในระดับแถวหน้าของเมืองไทย จากอดีตชายหนุ่มวัย 27 ที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินทางธุรกิจถึง 300 กว่าล้านบาทหลังจากการจากไปของบิดา
แต่ด้วยความมานะบากบั่นทำให้เขาสามารถปลดหนี้ก้อนโตและฟื้นฟูบริษัทขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นนักธุรกิจหมื่นล้านแห่งวงการสื่อสารของไทย
จนกระทั่งเมื่อประมาณปี 2548 นักธุรกิจหมื่นล้านคนนี้ได้ตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ หลังจากหันหลังขายหุ้น บริษัทโทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือดีแทค และหันมาจับธุรกิจด้านบรอดแบรนด์ คือ บริษัท เบญจจินดา โฮสดิ้ง จำกัด ที่เขานั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทในปัจจุบัน
บุญชัย เบญจรงคกุล พูดเสมอว่า การตัดสินหันหลังให้วงการธุรกิจนั้นเหตุผลทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการค้นพบชีวิตบางอย่าง เป็นความสุขที่เรียบง่าย ในการใช้หลักคุณธรรมนำชีวิตของเขา และการช่วยเหลือแบ่งปันสังคม ซึ่งมีค่ามากกว่าเงินทอง
จุดกำเนิดโครงการ ปณิธานอันยิ่งใหญ่
ดูเหมือนคุณบุญชัยจะภาคภูมิใจกับตำแหน่ง ‘พี่ใหญ่’ ของน้องๆใน‘โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน’ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 มากกว่าตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยเสียอีก
ด้วยเขาเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมความรู้ทางปัญญาไปพร้อมกับการเติมเต็มคุณธรรมในหัวใจจะทำให้เยาวชนหญิงชายนั้นเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายคนดีที่พร้อมจะกลับมาพัฒนาแผ่นดินเกิดที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ แผ่นดินที่ให้ชีวิตและจิตวิญญาณแก่คนทั้ง 63 ล้านคน
“ คือจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เราเห็นชัดเลยว่าธุรกิจโดยรวมมันล้มระเนระนาดหมด แต่สิ่งที่ยังอยู่ได้คือเศรษฐกิจชุมชน พนักงานที่ถูกเลิกจ้างพากันกลับบ้าน ไปทำไร่ทำนาหรือค้าขายเล็กๆน้อยๆ เฉพาะฉะนั้นถ้าตรงนี้มันล้มลงอีกเมืองไทยก็คงไปไม่รอดเราจึงจำเป็นต้องสร้างชุมชนให้แข็งแกร่ง
แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือสังคมไทยเน้นแต่การสร้างผู้นำทางการเมือง ทำให้คนในระดับล่างมีที่พึ่งอย่างเดียวคือฝ่ายการเมือง ชาวบ้านต้องรอขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองและหน่วยราชการ จนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์ต่างตอบแทน ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างคนที่เป็นผู้นำทางสังคมให้เกิดขึ้นในชุมชน ให้พวกเขารู้สึกรักและพร้อมที่จะพัฒนาบ้านเกิดของเขาจริงๆ
เราพุ่งเป้าไปที่เยาวชน ด้วยการใส่ 2 สิ่งลงไปพร้อมๆกัน คือ ความรู้และคุณธรรม จึงเกิดเป็นโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ ขึ้นในปี 2540 ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด เป็นการให้ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องตั้งแต่ระดับ ม.1 ไปจนจบปริญญาตรี ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ระดับชั้นละ 1 คน ต่อ 1 จังหวัด กระทั่งปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในโครงการและที่เรียนจบไปแล้วคนรวมกว่า 1,000 คน” คุณบุญชัย อธิบายถึงเหตุผลในการก่อตั้งโครงการ
ดอกผลจากความทุ่มเท
แม้โครงการสำนึกรักบ้านเกิดจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆในการให้ทุนการศึกษาแต่กิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมให้เด็กในโครงการทำนั้นกลับเป็นเหมือนการฉีดสารคุณธรรมเข้าในกล้ามเนื้อหัวใจดวงเล็กๆของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงการกิจกรรมเสริมรายได้ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องกันเงิน 10% ของเงินทุนแต่ละปีไปทำโครงการเสริมรายได้ เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ และเขียนรายงานส่งให้มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดได้รับทราบ
กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำ โครงการเข้าข่ายอาสาพัฒนาชนบท เช่น สร้างอาคารเรียนในถิ่นธุระกันดาร ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักพึ่งพาตัวเองแล้วยังทำให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่าของการแบ่งปันและช่วยเหลือสังคมอีกด้วย
ปัจจุบันมี‘บัณฑิตรักบ้านเกิด’ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว 5 รุ่น ซึ่งต่างก็ได้ไปทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานเอกชน เจ้าของธุรกิจ หรือเกษตรกร แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยลืมก็คืออุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือสังคมและเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขา
“ เราให้ทุนแบบไม่มีข้อผูกมัด แต่เป็นเหมือนสัญญาใจมากกว่า เราบ่มเพาะแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือสังคม ให้เขารู้สึกว่าเขาคือฟันเฟืองตัวหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในชุมชนและบ้านเกิดของเขา ให้มีจิตสำนึกเรื่องการตอบแทนแผ่นดินเกิด ซึ่งต้องบอกว่าผลที่ออกมามันมากกว่าที่เราคาดไว้เยอะ คือเด็กๆเขาประสานกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชน
คนที่จบปริญญาตรีไปแล้วไม่ว่าจะไปทำอาชีพอะไรเขาก็นำศักยภาพที่มีอยู่มาช่วยงานอย่างเต็มที่ มีการคุยกับเพื่อนๆน้องๆว่าภาคกลางจะมีแนวคิดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรอย่างไร ภาคอีสานจะช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างไร บ้างก็ไปเป็นนักวิชาการคอยให้ปรึกษากับเกษตรกร ไปเป็นครูบนดอย
ขณะที่มีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ในมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อสานงานในโครงการต่อไป ตอนนี้เรากำลังสร้างคนเพื่อให้เขาสามารถสานต่อโครงการสำนึกรักบ้านเกิดต่อไปได้” พี่ใหญ่แห่งโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
สุขใจที่ได้แทนคุณแผ่นดิน
นอกจากโครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อพัฒนาผู้นำชุมชนที่เน้นการสร้างคนที่มีคุณภาพให้สังคมแล้วมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดยังมีโครงการเพื่อสังคมในด้านต่างๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันที่กระจายไปในแต่ละภูมิภาค
เว็บไซต์รักบ้านเกิด ดอท คอม ที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และในปีนี้คุณบุญชัยยังได้ริเริ่ม ‘โครงการเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด’ โดยสรรหาเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน เพื่อนำความรู้ดังกล่าวมาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนต่างๆต่อไป
หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าผู้ชายคนนี้ได้อะไรจากการทุ่มเงินปีละ 60-70 ล้านบาทให้กับโครงการต่างๆของมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งคุณบุญชัยบอกด้วยใบหน้ายิ้มละไมว่า
" ผมว่าสิ่งที่ได้คือความสุขใจนะ สุขใจที่ได้ทดแทนแผ่นดินเกิด ทดแทนพระเมตตาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือผมมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนนะ ตระกูลเรามาอาศัยทำกินบนผืนแผ่นดินไทยจนสร้างฐานะขึ้นมาได้ในทุกวันนี้ก็เพราะบารมีของพระองค์ท่าน พระองค์ทรงพระราชทานโอกาสให้คนไทยทุกคนโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นคนเชื้อชาติไหน
ในหลวงท่านทรงเหน็ดเหนื่อยกับโครงการพัฒนาต่างๆ ก็เพราะต้องการเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น ดังนั้นหากเราสามารถทำอะไรที่จะสามารถแบ่งเบาภาระของพระองค์ท่านได้บ้างผมก็จะไม่รีรอ และผมเชื่อว่าคนไทยหลายคนก็คิดเหมือนผม
นอกจากนั้นการเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับนักเรียนในโครงการสำนึกรักบ้านเกิดมันก็เป็นเหมือนโรงเรียนที่บ่มเพาะการใช้ชีวิต เด็กเขาทำนาปลูกข้าว สร้างอาคารเรียน เราก็ลงมือทำกับเขา เราบอกให้เขาชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ เราก็ต้องเป็นแบบอย่างให้เขา ต้องทำในสิ่งที่เราสอนเขาด้วย พอทำไปสักระยะก็รู้สึกว่ามันก็อยู่ได้นะ สบายดีด้วย รถคันที่ผมใช้อยู่นี่ก็ใช้มา 10 ปีแล้ว ขอแค่ให้วิ่งได้ ไม่ต้องหรูหราอะไร (หัวเราะอารมณ์ดี) ”
////////////
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน