xs
xsm
sm
md
lg

จวก พปช.ลุแก่อำนาจ แก้ รธน.เพื่อพรรค - เมิน 14 ล้านเสียงหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รุมจวก"พลังแม้ว" หวังแก้ ม.237 เพื่อนิรโทษกรรมตัวเองและพวกพ้องล่วงหน้าก่อนถูกยุบพรรค อดีตรองประธานกมธ.ยกร่างเผย ม.237 มาจากข้อเสนอของประชาชน ชี้การยึดอำนาจด้วยกระบอกปืน-โกงเลือกตั้ง ล้วนขัดรธน. "เสรี" ข้องใจแก้รธน.เพื่อใคร ซัดอย่าเอาประเทศชาติมาอ้าง "คำนูณ" เตือนอย่าลืมประชามติ 14 ล้านเสียงที่ให้ความเห็นชอบ หวันวิกฤติลาม ด้าน"หมัก" อางถ้าทำประชามติใช้เงิน 500 ล้านพอทำได้ แต่ถ้า 2 พันล้าน เกินเหตุ เสียของ

หลังจากนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ได้เสนอต่อที่ประชุมพรรค ในการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่กระทำการทุจริต และ ยุบพรรคการเมือง เพื่อตัดตอนก่อนที่เรื่องยุบพรรคพลังประชาชน จะถูกเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยืนยันการให้ใบแดง นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งการเปิดประเด็นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้มีเสียงคัดค้านตามมาเป็นจำนวนมาก

**ชี้ม.237 มาจากข้อเสนอประชาชน
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่มาของ มาตรา 237 เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน มาตรา 68 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ได้คงหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญ ปี40 ไว้ทุกประการ โดยระบุว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

แต่ได้เกิดคำถามจากการรับฟังความเห็นว่า หากมีการทุจริตเลือกตั้งจะเข้าข่ายใน มาตรา 68 หรือไม่ และเหตุใดถึงไม่เขียนให้ชัดเจน ทางกรรมาธิการจึงเขียนมาตรา 68 ให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการเขียนใน มาตรา 237 วรรค 2 เพราะมองว่า การยึดอำนาจด้วยกระบอกปืน หรือใช้เงินสกปรกโกงการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

"การที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขียนมาตราดังกล่าวลงไปหลังจากรับฟังความเห็น ก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองใด จะรู้เห็นเป็นใจกับการโกงการเลือกตั้ง ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อวางยา หรือมุ่งยุบพรรคนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้าได้"

นพ.ชูชัย กล่าวด้วยว่า หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรตั้งโจทย์ให้ถูกต้องว่าประชาชนเห็นด้วยกับการยึดอำนาจรัฐด้วยปืน และด้วยวิธีโกงการเลือกตั้งหรือไม่ และหากมีการโกงการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็นเป็นใจ ต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่
ทั้งนี้หากการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยปัญหาการทุจริตเลือกตั้งที่สะสมกว่า 40 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้ได้นักเลือกตั้งที่ทุจริตเข้ามาบริหารประเทศและสร้างความบอบซ้ำให้สังคมไทยมาโดยตลอด

** "เสรี"ข้องใจแก้รธน.เพื่อใคร
นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ประเด็นที่จะแก้ไขต้องชัดเจนว่า แก้เรื่องอะไร เพื่อใคร และมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ และจะขยายประเด็นมากไปกว่ามาตรานี้หรือไม่

จึงอยากถามว่า ประเด็นที่จะแก้ไขมีปัญหามากน้อยเพียงใด ทั้งที่รัฐธรรมนูญเพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นาน ทั้งนี้หากจะแก้เพื่อให้ตนเองพ้นจากการถูกยุบพรรค ก็เท่ากับทำเพื่อตัวเอง ให้ตนเองได้ประโยชน์ ซึ่งจะต้องมีคนออกมาต่อต้านคัดค้าน สุดท้ายจะทำให้เกิดความวุ่นวาย จึงอยากให้ผู้เสนอแก้ไข พิจารณาถึงผลดีผลเสียให้ดี และการอ้างว่า แก้รัฐธรรมนูญเพื่อผ่าทางตันทางการเมืองนั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่ทางตัน แต่เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นกติกาของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คนทำผิดมักไม่ยอมรับผิด แต่กลับไปโทษรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหา คนที่ทำผิดไม่ได้ว่าตัวเองเลย แต่จะโยนให้รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่อง และผิดพลาดตลอด

**ชี้รัฐบาลวิตกจริต ผวายุบพรรค
นายเสรี กล่าวว่า การยุบพรรคเป็นกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังให้บ้านเมืองดีขึ้น ดังนั้นถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่ต้องกลัวอะไร จะยุบหรือไม่ยุบ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ยังต้องมีกระบวนการอีกมาก อย่าทำเป็นกระต่ายตื่นตูม ไม่เพียงแต่คดียุบพรรคเท่านั้น แม้คดีใบแดง ของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ก็คงไม่ได้ข้อยุติในเร็ววันนี้ เพราะอ้างพยานถึง 50 ปาก ไม่รู้ว่าอีก 4 ปีจะไต่สวนเสร็จหรือไม่ อยากให้ดู มาตรา 68 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการใช้ดุลยพินิจว่า จะยุบหรือไม่ยุบพรรคก็ได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งกังวลมาก ที่กำลังพูดกันวันนี้มันไปไกลเกินกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรือจะเรียกว่า วิตกจริตเกินเหตุก็ได้

**อย่าเอาประเทศชาติมาอ้าง
ส่วนที่ พรรคพลังประชาชนอ้างว่า หากยุบพรรคจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติ ทำให้การบริหารประเทศของรัฐบาลสะดุดลง นายเสรี ตอบว่า ประชาชนจะเสียประโยชน์ก็เพราะนักการเมืองทำผิด หากอ้างเสียงประชาชนว่ามอบให้รัฐบาลนี้มาบริหารบ้านเมือง ก็ต้องดูด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านประชามติจากประชาชนมาเช่นกัน

เจตนารมณ์ที่ ส.ส.ร. กำหนดมาตรการเอาผิดหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไว้รุนแรงถึงขั้นมีผลยุบพรรค ก็เพราะเห็นว่ากลไกของ กกต. ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง มีการแทรกแซงการทำงานของกกต. จึงต้องควบคุมต้นตอของปัญหา คือ กลุ่มแกนนำ ที่เป็นพวกหัวหน้าก๊วน หรือหัวหน้าแก๊งในพรรค ซึ่งล้วนนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารพรรค ต้องระมัดระวัง และ ควบคุมพฤติกรรมของตนเองและลูกพรรค ไม่ให้ไปกระทำผิด หากกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง หรือรู้ว่าสมาชิกของพรรคไปทำผิด แต่ละเลย เพิกเฉยไม่ควบคุมดูแล ก็ต้องถูกยุบพรรค ถือเป็นการให้ยาแรง เพื่อแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้ง และให้พรรคการเมืองควบคุมกันเอง

ส่วนกรณีที่มีคนบอกว่า ต่อไปนี้จะมีการตั้งนอมินี มาเป็นหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคแทน ในขณะที่พวกตัวจริงจะคอยกำกับอยู่เบื้องหลังนั้น เชื่อว่า คงไม่มีใครทำ เพราะถ้าเป็นจริง ก็แสดงว่ามีเจตนา มีความตั้งใจว่าจะเข้ามาโกงตั้งแต่ต้นเลย

**ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
นายวุฒิสาร ตันไชย
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะอดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะแก้ไขปรับปรุง เพราะยังใช้รัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงอาจไม่รู้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องมาตราใด และสมควรแก้ไขปรับปรุงแค่ไหน อย่างไรก็ดี หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ก็ต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า แก้ไขแล้วใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ ตัวนักการเมืองหรือ ประชาชน หากมีการแก้ไขจริง ก็ควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้ลงประชามติให้ความเห็นชอบมา

**แก้มาตราเดียวถูกคัดค้านแน่
นายชุมพล ศิลปอาชา
อดีต ส.ว.ปี 43 กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนเสนอ ใช้ชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ตนได้ศึกษารัฐธรรมนูญฉบับนี้ พบว่ามีจุดพร่องหลายประเด็น อาทิ เขตเลือกตั้ง 3 คน ต่อ 1 เขต ทำให้เกิดความยุ่งยากในการเลือกตั้ง ควรเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบเดิม , ระบบสัดส่วนไม่ต้องแบ่งเป็นรายภาค เพราะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของจำนวนประชากร , คณะกรรมการที่จะมาคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องไม่มีอำนาจเหนือวุฒิสภา เพราะถ้าให้กลุ่มคน 7 คน มีอำนาจเหนือวุฒิสภา จะทำให้เสียสมดุล , ที่มา ส.ว.ต้องมาจากเลือกตั้ง และ มาตรา 237 กรณียุบพรรคการเมือง

นายชุมพลกล่าวว่า มาตรา 237 ที่พรรคพลังประชาชน หยิบยกมาเป็นข้ออ้างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนได้คุยกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ และพอรัฐธรรมนูญออกมาเป็นรูปร่าง ตนเห็นว่าไม่เป็นผลดีกับประเทศแน่ เพราะการยุบพรรคการเมืองได้อย่างง่ายดาย จะส่งผลให้เศรษฐกิจ การเมือง และระบบต่างๆ ของประเทศสูญเสียความมั่นคง ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ วรรคแรก ระบุชัดเจนว่า หากนักการเมืองทำความผิดต้องถูกให้ใบแดง แต่ใน วรรคสอง เป็นการกำหนดเรื่องบทบาทของกรรมการบริหารพรรคและ พรรคการเมือง ที่ระบุว่า หากมีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดหรือทราบแต่ไม่ตักเตือน กรรมการบริหารพรรค และพรรคการเมืองต้องร่วมกันรับผิดชอบ แต่ถ้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคไม่ได้รู้เห็นด้วย จะมาเอาผิดไม่ได้ เพราะตามตรรกะแล้ว เมื่อตอนนักการเมืองไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้เอาตำแหน่ง ส.ส.หรือ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคไปสมัคร ถ้ามีความผิดจึงมาเอาความผิดกับพรรคการเมืองไม่ได้ จึงอยากฝากเตือนไปยัง กกต.ด้วยว่า องค์กรนี้มีอำนาจวินิจฉัยแค่ความผิด แต่ไม่ได้มีอำนาจศาลที่จะวินิจฉัย ก.ถึง ฮ. ว่ามีความผิดสมควรได้รับโทษอย่างไร

นายชุมพล ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคชาติไทย ตกอยู่ในข่ายถูกยุบพรรคจากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดชัยนาท ว่าไม่ใช่มีแค่พรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียว ที่ต้องเข้าข่ายถูกยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคมัชฌิมาฯ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องโดนต่อไปในวันข้างหน้าเหมือนกัน ไม่มีกฎหมายประเทศใดในโลกที่เขียนให้พรรคการเมืองถูกยุบอย่างง่ายดายแบบนี้ ต่างประเทศไม่มีกฎ หรือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองด้วยซ้ำ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาจริงๆ ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อ ยาวนาน ผลเสียจะตกกับประเทศอย่างมากมายมหาศาล

"ประเด็นไหนที่ผิดผมก็ต้องบอกว่าผิด และประเด็นไหนที่ถูกผมต้องบอกว่าถูก แต่ถ้าพรรคพลังประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมาตรานี้เพียงมาตราเดียว โดยใช้เสียงข้างมากในสภามาแก้ไขเลยก็ไม่ได้ ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และรวบรวมประเด็นว่าส่วนใดในรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหา โดยถามความคิดเห็นจากประชาชน พรรคร่วมรัฐบาล นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน อย่างรอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะถูกคัดค้านจากภาคประชาชนได้" นายชุมพล กล่าว

** ต้องทำประชามติก่อนแก้ไข
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปเพื่อป้องกันการถูกยุบพรรค ใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะยังไม่พอ และถึงแม้พรรคพลังประชาชนอ้างว่าจะรวบรวมประชาชน 50,000 ชื่อ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญแทนกระบวนการของรัฐสภา ก็ทำได้ แต่ประชาชนอีก14 ล้านคน ที่ลงประชามติให้รัฐธรรมนูญ 50 จะรู้สึกอย่างไร แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ แต่ได้ผ่านการลงประชามติ ครั้งแรกของประเทศ และแม้จะมีหลายฝ่ายจะออกมาต่อต้านอย่างไรในขณะนั้น ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ลืม 14 ล้านเสีบงที่ลงประชามติมา

**เตือนวิกฤติรธน.ลาม
นายสุริยะใส กตะศิลา
เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ที่ผ่านมาครป.ได้ประกาศจุดยืนรับร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ด้วยเหตุผลที่เห็นว่า ในภาพรวมของรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และมีความก้าวในหลายๆประเด็น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐ ที่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมากขึ้น แม้ว่าจะมีบางเรื่องบางประเด็นที่ ครป.ไม่เห็นด้วยก็ตาม
ทั้งนี้ ครป.เห็นว่า ยังความจำเป็นที่จะต้องใช้จังหวะเวลา และโอกาสมที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงและทบทวนในบางมาตรา

" การพยายามจะแก้ไขมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุความผิดถึงขั้นยุบพรรค ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีพฤติกรรมทุจริตเลือกตั้ง ถือเป็นการนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับผู้ทุจริตเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ครป.ขอคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าปล่อยให้มีการแก้ไขโดยผู้มีส่วนได้เสีย จะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ ในที่สุดอาจเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง จนกลายเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญได้" นายสุริยะใส กล่าว และว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นเพียงการพยายามเขียนกติกาใหม่ เพื่อให้นายสมัคร สุนทรเวช อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ปี ตามที่ประกาศไว้เท่านั้น

**รัฐบาลกำลังเดินสู่ปากเหว
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในวันนี้รัฐบาลหุ่นเชิดภายใต้การนำของนายสมัคร กำลังจะเข้าตาจน เพราะปัจจัยหลัก อันเป็นผลจากกฎแห่งกรรม อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

1.การใช้อำนาจเพื่อทำลายกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นก่อนถึงศาล ด้วยการโยกย้ายข้าราชการอย่างลุแก่อำนาจ เพื่อปกป้องคุ้มครองคนในระบอบทักษิณ
2. คดีความการทุจริตของระบอบทักษิณ กำลังเข้าสู่อำนาจของตุลาการภิวัฒน์ เช่น คดีที่ดินรัชดาภิเษก คดีหวยบนดิน คดีกล้ายางพาราฯลฯ การส่อทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ของผู้นำประเทศในคดีรถดับเพลิงที่อยู่ในมือของ คตส. และ คดีขยะกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.
3. คดีการยุบพรรคการเมือง

"เส้นทางนี้บ่งบอกว่า รัฐบาลอัปลักษณ์ชุดนี้ เหลือเวลาน้อยเต็มที ใกล้จุดจบถูกผลกรรมบีบบังคับให้เดินไปจ่อที่ปากเหวมรณะแล้ว" นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การที่นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คิดอ่านเพียงแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เมื่อมี กกต. บางคนให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ไม่ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญค้ำคออยู่ จากนั้นทั้งรัฐบาลและนักการเมืองขี้หมูไหล ก็พากันโหมสร้างกระแสแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันทีเลย โดยออกแบบให้กลุ่มจัดตั้งในเครือข่ายระบอบทักษิณ ที่เคยไปก่อความรุนแรงปิดล้อมบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งสะท้อนนัยแฝงเร้นว่า รัฐบาลสมัคร กรรมการบริหาร และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องการข่มขืนทำร้ายจิตใจคนทั้งประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ

"ผมขอฟันธงว่า แนวรบด้านรัฐธรรมนูญและตุลาการภิวัตน์ จะเป็นการสับประยุทธขั้นแตกหักระหว่างคนไทยใน 2 ระบอบ คือ ทุนนิยมเสรี ที่ใช้ทุนสามานย์ซื้อประเทศผ่านการเลือกตั้ง กับ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งแนวรบนี้ เนื้อแท้ก็คือ การคิดอ่านล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 นั่นเอง ไปศึกษาข้อความในมาตรา 3 ให้ดี ๆ"

**ประเทศไทยถูกกว่า"แมนฯซิตี้"
นายสมเกียรติ กล่าว ว่าตนรู้สึกเศร้าใจมากที่อำนาจเงินหรือทุนสามานย์เพียง 20-30 ล้านบาท ก็สามารถซื้อ ส.ส.ได้ 1 คน หากต้องการ 200 เสียง ก็จะใช้เงินเพียง 6 พันล้านบาทเท่านั้น แค่นี้ก็ได้ประเทศและคนไทยทั้ง 64 ล้านไปครอบครองเลย ทำให้ประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าราคาของทีมฟุตบอลในอังกฤษทีมเดียวเสียอีก ซึ่งเม็ดเงินเพียง 6 พันล้านนี้ คิดแล้วเป็นเพียง 1 ใน 37 ส่วนของเหล่าทรราช ที่โกงชาติบ้านเมืองกว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่ง คตส. กำลังตรวจสอบ และทยอยส่งฟ้องศาล อยู่ในขณะนี้

ในวิกฤตสังคมทุกครั้งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเมืองภาคประชาชนใหญ่ที่สุด ในขณะที่การเมืองระบบรัฐสภา เป็นส่วนประกอบเล็กๆ ไม่มีพลังเลย การล้มลงของเหล่าทรราชในเหตุการณ์14 ตุลา 16 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35 และการโค่นทุนนิยมสามานย์ ปี 49 ล้วนเป็นน้ำมือภาคประชาชน และครั้งนี้จะต้องต่อสู้กับการพลิกแพลงของรัฐบาลหุ่นเชิด ที่กำลังเดินเกมเดิมพันประเทศด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องระบบทุนสามานย์ และคนในระบอบทักษิณ

**หมักอ้างประชามติใช้เงิน2พันล.
ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ ในช่วงตอบคำถาม ในรายการสนทนาประสาสมัคร ว่า แนวทางใจตนอยากทำทั้งหมด แต่อยากจะให้มันเร็ว ก็จะแก้เฉพาะมาตราที่มันมีปัญหา แต่ตนบอกว่าวิธีแก้ไขต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วเก็บหมวด 1 ไว้ ซึ่งไม่มีอะไรเสียหายทุกอย่างถูกต้อง แล้วทั้งหมดก็เอาฉบับ 40 มาประกบ แล้วถ้าอะไรที่ 40 ไม่ดีก็ถอดออกไป อะไรที่ดีก็ทิ้งไว้ ต้องการเติมอะไรก็เติมเข้ามาก็คงง่าย

"แต่ยังไงก็ตาม แต่ใจผมอยากจะ แหม เกรงใจคุณสดศรี จริงๆไอ้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มันต้องถามเลยครับ ลงประชามติกันไหมว่า แก้ไม่แก้ 2 พันล้าน ก็ไม่กล้าหรอกครับ เห็นด้วยกับท่านเลยว่า เสียของ จริงถ้ามันลงประชามติเสียสัก 500 ล้านบาท จะเอาเลยครับ ลงมติเลยครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะแก้ไม่แก้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกไม่ต้อง ก็ไม่ต้องแก้ ถ้าส่วนใหญ่บอกแก้ ก็แก้เลย ก็ให้เป็นความคิด แต่ไม่เสนอนะครับ เพราะ2 พันล้าน มันเกินเหตุ" นายสมัคร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น