อดีต ปธ.กมธ.ยกร่าง ตอกกลับ “เติ้ง-หมัก” หวังแก้ไข รธน.เพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง อย่าอ้างยุบพรรคแล้ว ประเทศชาติล้มลุกคลุกคลาน ชี้คนระดับรองหัวหน้าพรรคไม่รู้ รธน.สมควรถูกยุบ ชี้ให้จับตา เม.ย.อุณหภูมิการเมืองเดือด พลังมวลชนลุกฮือ เหน็บปูดข่าวยุบสภาไร้สาระ ระวังซ้ำรอยรัฐบาลแม้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ให้สัมภาษณ์ในรายการ News Hours
วันนี้ (21 มี.ค.) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กล่าวถึงความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถามว่า จะแก้ไปเพื่ออะไร หากจะแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เชื่อว่า ประชาชนคงไม่คัดค้านแต่หากจะแก้ไขเพื่อช่วยเหลือให้พวกพ้องหลุดรอดคดี อย่างนี้คงไม่ได้ รธน.ฉบับนี้ กมธ.ยกร่างทั้ง 35 คน ได้ร่วมกันศึกษาและแก้ไขเพื่ออุดช่องโหว่ รธน.ปี 2540 ที่นักการเมืองใช้แสวงหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง
น.ต.ประสงค์ กล่าวอีกว่า นักการเมืองจะมากล่าวโทษ รธน.เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากคนระดับรองหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค ไปทำผิดแล้วซื้อสิทธิขายเสียงจะมาโทษกฎหมายรุนแรงไม่ได้ พรรคดังกล่าวก็สมควรถูกยุบ พร้อมสวนตอกกลับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าชาติไทย อย่าใช้อารมณ์ และต่อว่าการทำหน้าที่ของ กกต.ระบุ พรรคการเมืองเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งทางการเมือง ที่จะนำไปซึ่งระบอบประชาธิปไตย แต่หากพรรคการเมืองไม่ยอมทำตามกติกา ซื้อสิทธิขายสิทธิก็สมควรยุบพรรคการเมือง พร้อมกล่าวโต้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า หากพรรคถูกยุบแล้วประเทศชาติจะล้มลุกคลุกคลาน พร้อมโยงไปว่ามีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ถนัด และชอบกล่าวอ้างโทษคนอื่นไปทั่วทั่ว หากมีตัวตนจริงหาหลักฐานจับดำเนินคดีได้เลย
น.ต.ประสงค์ ยังทำนายอีกว่า ให้จับตาในช่วงเดือน เม.ย.หลังเทศกาลสงกรานต์จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกด้วยน้ำมือจากคนในรัฐบาลเองที่สั่งสมความไม่พอใจจนกระทั่งคลื่นมวลชนจะออกมาแสดงพลังอีกครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลควรดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดีกว่าออกมาประกาศว่าจะจัดม็อบออกมาต่อต้าน ซึ่งจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย
อดีต ปธ.ยกร่าง รธน.ยังกล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคประชาชน จุดกระแสยุบสภาหนียุบพรรคการเมือง ว่าไม่เข้าใจว่าจะเป็นการข่มขู่ตุลาการซึ่งกำลังจะพิจารณาคดีหรือไม่ แต่การจะยุบสภาเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และต้องมีความขัดแย้งในสภาเกิดขึ้น หากยุบสภาด้วยไม่เหตุผลเพียงพอเช่นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ โดยไม่มีเหตุผลมาหักล้าง