xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุมเอเปกหนุนเจรจารอบโดฮาแก้วิกฤตอาหารโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปก ของชาติสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ที่เมืองอรีควิป้า ประเทศเปรู ในวันแรก Mr.Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้สรุปให้ที่ประชุมทราบถึง สถานะการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ได้ออกแถลงการณ์แยก (stand-alone statement) เรื่องการเจรจารอบโดฮา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองผลักดันให้การเจรจาสรุปผลในปลายปี โดยมีความสมดุลและเปิดตลาดอย่างแท้จริง ครอบคลุมทุกเรื่อง ความสำเร็จของการเจรจารอบโดฮายังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ราคาอาหารในตลาดโลก
ด้านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือระดับทวิภาคีกับ ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ โดยผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอขอให้ไทยสนับสนุนเรื่องร่างข้อตกลงโดฮา และช่วยผลักดันการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จในปลายปีนี้ มิฉะนั้นอาจต้องหยุดชะงักไป 2 ปี เนื่องจากการเลือกตั้งของสหรัฐและอินเดีย และขอให้ไทยให้ความสำคัญในเรื่องการค้าบริการ โดยเฉพาะสาขาบริการที่ไทยมีความอ่อนไหวขอให้ไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น โทรคมนาคม ธนาคาร ประกันภัย ซึ่งทางไทยรับพิจารณาและจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยต้องมีความสมดุลของผลประโยชน์
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอสรุปให้ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ทราบถึงสถานะการเจรจารอบโดฮาซึ่งมาถึงจุดที่สำคัญ เนื่องจากได้มีการเสนอเอกสารการเจรจาใหม่ 4 เรื่อง คือ สินค้าเกษตร อุตสาหกรรม กฎเกณฑ์ และการค้าบริการ ซึ่งการเจรจาที่เจนีวาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นช่วงสำคัญ เพราะผลการเจรจาจะครอบคลุมทุกเรื่อง โดยพิจารณาความสมดุลระหว่างการยืดหยุ่น (flexibility) กับระดับของเป้าหมาย (level of ambition) โดยความยืดหยุ่นไม่ใช่เพียงเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ควรต้องยืดหยุ่นด้วย เช่น การลดภาษีสินค้าเกษตร การลดการอุดหนุนภายใน เพื่อให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ในปลายปีนี้ ซึ่งนายลามี ตั้งเป้าหมายว่า จะจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 เพื่อพิจารณาประเด็นใหญ่ที่ยังค้างอยู่
ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ ยังนำเสนอประเด็นเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร และให้สมาชิกเสนอความเห็นว่าเอเปกควรทำอะไรบ้างเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหานี้ ซึ่งนายมิ่งขวัญ ได้ย้ำต่อที่ประชุมเอเปก ว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว และอาหารรายใหญ่ แต่ก็เข้าใจความกังวลของประเทศต่าง ๆ และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นปัญหาร่วมกันของโลก ไทยไม่มีนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวและอาหาร โดยได้กำหนดราคาส่งออกที่เหมาะสม และจะพยายามรักษาระดับการส่งออกเพื่อไม่ให้ตลาดโลกขาดแคลน รวมทั้งบริจาคด้วยหากจำเป็น
ขณะที่การแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน คงต้องให้ความสำคัญกับการให้มีปริมาณข้าวและอาหารอย่างเพียงพอก่อน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเอเปกน่าจะเป็นเวทีหนึ่งที่ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น การพัฒนาภาคเกษตรและพลังงานทางเลือก เอเปกอาจมีการหารือเรื่องนี้ในอนาคต โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรมีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเพิ่มอุปทานอาหารและไม่ควรออกมาตรการจำกัดการส่งออก เพราะจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น