xs
xsm
sm
md
lg

การออมแบบผูกพันกับการพัฒนาตลาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลค่าเงินออมแบบผูกพัน (Contractual Savings หมายถึงเงินออมที่มีลักษณะของการออมแบบต่อเนื่องและมีระยะเวลาการออมยาวๆ) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทย เนื่องจากการออมแบบผูกพันมีข้อดีและเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงหันมาส่งเสริมให้เกิดระบบการออมแบบผูกพันนี้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างของเงินออมประเภทนี้ได้แก่ เงินออมผ่านกองทุนเพื่อการชราภาพ เงินประกันชีวิต และบัญชีเงินฝากประเภทผูกพันต่อเนื่องหลายปี เป็นต้น โดยสมาชิกที่ออมเงินประเภทนี้จะต้องออมต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง และได้จะรับเงินคืนเมื่อทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน (เช่น เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญจะได้คืนก็ต่อเมื่อเกษียณอายุ) ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ สหรัฐฯ มีระดับเงินออมแบบผูกพันต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และมีระดับสูงเกินหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ในขณะที่ยอดเงินออมผูกพันของประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 25-30 ของ GDP

ความสัมพันธ์ระหว่างเงินออมแบบผูกพันกันกับตลาดทุนเป็นอย่างไรกัน? ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกสรุปได้ว่าเงินออมแบบผูกพันเป็นตัวแปรสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน การทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้เครื่องมือ Granger Causality Test ทำให้ทราบว่าเงินออมแบบผูกพันผ่านสถาบันที่ได้กล่าวข้างต้น มีผลต่อการขยายตัวของตลาดทุน (ตลาดพันธบัตรระยะยาวและตลาดหลักทรัพย์) อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัดได้จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดโดยรวมและมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้น ในกรณีของประเทศที่มีตลาดการเงินไม่ค่อยพัฒนามากนักผลของความสัมพันธ์ข้างต้นจะมีความรุนแรงมากกว่าประเทศที่มีตลาดการเงินที่ก้าวหน้า สำหรับประเทศสหรัฐฯ ซึ่งตลาดการเงินมีความสมบูรณ์และซับซ้อน พบว่าการออมแบบผูกพันไม่มีผลต่อการพัฒนาตลาดทุนแต่อย่างไร

สาเหตุของความสัมพันธ์ข้างต้นก็มาจากการที่สถาบันหรือกองทุนที่รับเงินออมประเภทผูกพันมีภาระทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จึงไม่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องมากนักในระยะสั้นๆ ดังนั้นงบดุลในส่วนภาระหนี้สินจึงมีสภาพที่เป็น Long-term และ Illiquid Liability (ต่างกับธนาคารพาณิชย์หรือกองทุนรวมแบบเปิดซึ่งจะมีภาระหนี้สินที่มีระยะสั้นเป็นหลัก) และทำให้สถาบันเหล่านี้สามารถนำเงินออมที่ได้รับจากประชาชนไปลงทุนในทรัพย์สินประเภทที่มีอายุการลงทุนที่ยาวได้ โดยไม่เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างระยะเวลาของเงินที่ได้มากับการใช้เงินทุนนั้น และโดยที่ธรรมชาติของการลงทุนในตลาดทุนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาว ดังนั้นการนำเงินออมประเภทผูกพันมาลงทุนในตลาดทุนจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สถาบันจะดำเนินการ และหากมองในแง่ของตลาดทุนเอง การนำเงินที่มีภาระผูกพันในระยะยาวมาลงทุนในตลาดทุนก็เป็นการสร้างเสถียรภาพและลดความผันผวนของตลาดได้มากเมื่อเทียบกับการใช้เงินที่มีภาระผูกพันในระยะสั้น ซึ่งต้องมีการซื้อและขายออกที่เร็วกว่า ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของเงินออมแบบผูกพันในระบบการเงินนั้นเท่ากับเป็นการกระจายเงินออมจากสถาบันที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดสภาพคล่องสูงไปสู่สถาบันที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต่ำกว่า นั่นคือเงินออมถูกโอนไปสู่สถาบันที่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาวหรือหุ้น

ในกรณีของประเทศพัฒนาแล้วบทบาทของการออมแบบผูกพันต่อเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่การพัฒนาตลาดหุ้นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินออมที่เข้าสู่กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือประกันชีวิตทำให้เกิดความต้องการลงทุนในทรัพย์สินมากขึ้นในระบบ นำมาซึ่งการสร้างผลิตภัณฑ์การออมการลงทุนระยะยาวมารองรับ ที่พบมากคือพันธบัตรและหุ้น ผลที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนที่ปรากฏชัดก็คือ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าการซื้อขายต่อ GDP ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงการปรับปรุงระเบียบกำกับดูแลตลาดทุน และการเพิ่มการแข่งขันในตลาด อย่างไรก็ดีในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา ยังมีข้อกังวลว่าพัฒนาการของตลาดทุนเพียงพอต่อการรองรับเงินออมแบบผูกพันที่มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่ ในกรณีของประเทศไทยเองก็เคยมีการวิจารณ์ว่าตลาดหุ้นมีอุปทานในเลือกไม่มากและก็กระจุกตัวอยู่ในหุ้นไม่กี่บริษัท จนกองทุนที่ดูแลการออมแบบผูกพันนำมาเป็นข้ออ้างในการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศแทน ซึ่งก็นับว่าสวนทางกับความพยายามของทางการในการเพิ่มน้ำหนักของนักลงทุนสถาบันในตลาดทุนไทย ผลของการออมแบบผูกพันต่อเศรษฐกิจที่พบอีกประการก็คืออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของธุรกิจจะต่ำลงจากความต้องการตราสารทุนและพันธบัตรที่มีอายุยาวๆ มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็สามารถลดสัดส่วนหนี้สินระยะสั้นมาเป็นระยะยาวได้มากขึ้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างการเงินของธุรกิจและภาครัฐ

เมื่อการออมแบบผูกพันมีผลดีต่อการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางการจะให้การสนับสนุนโดยให้การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่การออมลักษณะนี้ ไม่ว่าจะผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีลักษณะการออมระยะยาวแบบผูกพัน หรือผ่านธุรกิจประกันชีวิตและกองทุนเพื่อการชราภาพรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนกองทุนรวมระยะยาวเช่น LTF
กำลังโหลดความคิดเห็น