xs
xsm
sm
md
lg

มนต์เสน่ห์...ตลาดทุนเอเชีย เม็ดเงินไหลเข้า..ไม่ขาดสาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานข้อมูลผลสำรวจ 2 ชิ้น ที่แสดงถึงสถานะการเติบโตของตลาดการลงทุนในเอเชีย ซึ่งมีความน่าสนใจมาก ดังนั้น รายงานพิเศษของ "ผู้จัดการกองทุนรวม" ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนของตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) เพื่อผู้อ่านอาจนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการลงทุนในต่างปะเทศ รวมถึงการเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ได้อย่างถูกต้อง

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนรายใหญ่ ของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่องในสองไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 4/2550 และไตรมาส1/2551) เพราะมีความเชื่อมโยงกับตลาดการลงทุนโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ และสิ่งที่มองเห็นในขณะนี้คือ นักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง กำลังได้รับผลกระทบความความผันผวนของตลาดโลกมากเป็นพิเศษ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนรวม

ทั้งนี้ ไอเอ็นจี กรุ๊ป คาดการณ์ว่า คงจะเร็วเกินไปที่จะคิดว่าภาวะเลวร้ายจะผ่านพ้นไปได้ง่ายๆ แม้ว่าตลาดการเงินยังคงมีความผันผวน

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของฮ่องกงและชาติอื่นๆ ในเอเชียยังคงมีความแข็งแกร่ง ด้วยการค้าระหว่างภูมิภาคและความต้องการในประเทศจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของเอเชียเติบโตต่อไป ตลอดจนช่วยให้ตลาดในภูมิภาคนี้สามารถรองรับแรงกระทบจากปัจจัยต่างๆได้ ทำให้คาดว่าในปี 2551 เศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตระหว่าง 3-9% ขณะที่ประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 5%

ไอเอ็นจี กรุ๊ป ระบุในเนื่องหารายงานว่า ในไตรมาสแรกปี 2551 ความเชื่อมั่นในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมากจากผลกระทบของภาวะวิกฤตของสินเชื่อด้อยคุณภาพ วิกฤตสินเชื่อโลก และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ที่มีต่อภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเอเชียแปซิฟิค ลดลงจาก 141 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 มาเป็น 135 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 และ 125 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยฮ่องกง ได้ปรับตัวลดลงจาก 148 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เหลือเพียง 107 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 และสิงคโปร์ ปรับตัวลดลงจาก 136 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ลดเหลือ 88 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ส่วนเกาหลีใต้ ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 96 ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ จาก 113 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2550

" ภาวะสินเชื่อด้อยคุณภาพ และวิกฤตสินเชื่อโลก ยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตก โดยนักลงทุนเอเชียคิดว่าวิกฤตดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ว่า นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการลงทุนระยะยาว แม้จะคิดว่าผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา "เอ็ดดี้ เบลมานส์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียเหนือ ของไอเอ็นจี กล่าว

ทั้งนี้ โดยสรุป ผลการสำรวจเชื่อว่า 48% ตลาดทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) สภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เทียบกับ 32% คิดว่าสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ขณะที่ 57% มีความเห็นว่า ผลตอบแทนการลงทุนจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะในจีน 71% ฮ่องกง 52% และ เกาหลี 48% และ 56% กล่าวว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เทียบกับ 40% ที่คิดว่าสถานะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1

นอกจากนี้ 48% ของนักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) คิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2008 ทำให้นักลงทุนใช้นโยบาย “คอยจับตาดู” สำหรับการแก้ปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกผันผวน และเน้นลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมถึงจะมีการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดจีน

สำหรับ รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุน เกี่ยวทิศทางและตลาดการลงทุนในไตรมาส1 ปี 2551 ของ ธนาคาร เอชเอสบีซี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลถึงภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยว่า ผู้จัดการกองทุนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ จีน (Greater China) ส่วนด้านการลงทุนในตลาดพันธบัตรนั้นผู้จัดการกองทุน 50% ของกลุ่มสำรวจให้น้ำหนักน้อยลงกับการลงทุนในตราสารประเภทนี้ และ37% มีความเห็นเป็นกลาง

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส4 ปี 2550 เงินลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) คิดเป็นเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 14.3% เนื่องมาจากนักลงทุนมั่นใจในศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มากกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นและยุโรปนั้นมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย คิดเป็น 1.9% และ 0.4% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะมีผลประกอบการลดลง แต่กลับปรากฏว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเงินทุนไหลออกสุทธิในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งโดยในภาพรวม ตลาดหุ้นที่มีปริมาณเงินทุนไหลออกสุทธิสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 คือ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (ไม่รวมตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย) คิดเป็นการลดลง 7.2% อันดับ 2 ตลาดหุ้นสหรัฐ ลดลง 2% และตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก ลดลง 1.8% ซึ่งการปรับตัวลดลงครั้งนี้เพราะนักลงทุนยังเป็นห่วงผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤติซับไพร์ม และภาวะวิกฤติของตลาดสินเชื่อทั่วโลก

ขณะเดียวกันจากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลทำให้นักลงทุนย้ายการลงทุนมายังตลาดตราสารที่ให้ผลตอบแทนมั่นคงกว่าเพิ่มมากขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่าตลาดพันธบัตรที่มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิสูง 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตลาดพันธบัตรทั่วโลก ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง คิดเป็น 5.4% , 2.4% และ 4.4% ตามลำดับ ส่วนในด้านตลาดพันธบัตรของประเทศสหรัฐฯนั้น แม้จะมีอัตราเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรอื่นๆ แต่การผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กลับส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกสุทธิจำนวนมาก

"ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความผันผวนและจิตวิทยาของนักลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้กลยุทธ์การลงทุนในช่วงดังกล่าวมีความระมัดระวังและเน้นเฉพาะตลาดตราสารที่ให้ผลตอบแทนแน่นอน ขณะที่นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะรักษาสภาพคล่องในมือไว้ให้พร้อมสำหรับการลงทุนเมื่อตลาดเปิดโอกาสและให้ผลตอบแทนดีขึ้นรวมทั้งยังมีการรักษาสมดุลของการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยการหันไปลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้นแทน" บรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวให้ความเห็น

ผู้อำนวยการบริหาร แบงก์เอชเอสบีซี ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ความผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีที่แล้ว ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้นักลงทุนปรับสมดุลของพอร์ตลงทุนโดยให้น้ำหนักกับพันธบัตรและเงินสดมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ปรับตัวโดยหันมาเน้นการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) จีน และตลาดเกิดใหม่ ที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้นด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น