xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ไม่ห่วงฐานะ 4 แบงก์ถือซีดีโอ จับตากลางปีเห็นผล "ซับไพรม์" ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ไม่ห่วงซับไพรม์กระทบ 4 แบงก์พาณิชย์ที่ถือซีดีโอ มั่นใจฐานะยังแข็งแกร่งและได้กันสำรองส่วนที่อาจสูญเสียจากการลงทุนในซีดีโอตามราคาตลาดไว้แล้ว ด้าน"ประสาร"ชี้ผลกลางปีจะเห็นภาพความเสียหายจากซับไพรม์ชัดเจนขึ้น เตือนต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างระมัดระวัง หลังตลาดเงินผันผวนมากขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดความขาดสภาพคล่องจนมีผลให้ประชาชนแห่ถอนเงินฝาก โดยล่าสุด “แบร์ สเตรินส์”วาณิชธนกิจ อันดับ 5 ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดทุนจากวิกฤตซับไพร์ม จนต้องขายหุ้นให้แก่เจพี มอร์แกนว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งมีจำนวน 4 แห่งที่มีการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีสินทรัพย์อ้างอิง(ซีดีโอ) และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพร์ม) แต่ยังคงมีฐานะที่แข็งแกร่ง ในขณะที่มีการกันสำรองเผื่อหนี้สำหรับส่วนสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนในซีดีโอไว้ทั้งหมดแล้ว โดยประเมินตามราคาตลาดในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ซีดีโอที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไปลงทุนนั้น ส่วนใหญ่เป็นซีดีโอที่ไม่ได้หนุนหลังด้วยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่เป็นการหนุนหลังด้วยสินเชื่อของบริษัท และภาคธุรกิจที่มีฐานะดี ดังนั้นแม้ว่าวิกฤตจากซับไพร์มจะกระทบให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ตกลง แต่จะลดลงไม่มากและยังไม่น่าเป็นห่วง มีเพียงธนาคารพาณิชย์ไทย 1 แห่งใน 4 แห่งเท่านั้น ที่ลงทุนในสินเชื่อซับไพร์ม แต่ธนาคารดังกล่าวก็ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยหายตั้งสำรองหนี้ และดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ธปท.ยังติดตามปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมๆ กับติดตามฐานะของระบบสถาบันการเงินของไทย แต่ในขณะนี้ระบบยังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ที่ยังมีกำไรอย่างต่อเนื่อง แม้บางแห่งอาจจะมีกำไรลดลงบ้างแต่ก็ไม่มีปัญหา หรือน่าเป็นห่วง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กและธนาคารพาณิชย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ฐานะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นกัน

“เชื่อว่าปัญหาจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการขายหุ้นหรือเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต หากมีธนาคารพาณิชย์แห่งใดต้องการเพิ่มทุน เพราะการเพิ่มทุนนั้นขึ้นกับความพอใจของทั้งสองฝ่าย และสินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงิน หากขายแพงเกินไปก็อาจจะขายไม่ได้ ต้องขายหุ้นในราคาที่เหมาะสม”

สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ลงทุนในซีดีโอทั้ง 4 แห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพในวงเงินประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 1,700 ล้านบาท ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวงเงินประมารณ 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ,ธนาคารกรุงไทยวงเงินประมาณ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ และธนาคารไทยธนาคารจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ

**"ประสาร"ชี้กลางปีเห็นผลซับไพรม์ชัด**

นายประสาร ไตรรัตน์วรกูล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์) ของสหรัฐอเมริกานั้นน่าจะเห็นภาพของปัญหาชัดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ เพราะในช่วงไตรมาส 1 และ 2 คงจะมีการกลั่นกรองสถานการณ์จนเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหากดูจากมาตรการต่างๆที่ทางการสหรัฐฯได้ประกาศออกมา รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากนั้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากพอสมควร

ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น มองว่าจะอยู่ในส่วนของตลาดเงิน เพราะในขณะนี้ตลาดเงินโลกเริ่มปั่นป่วน ทำให้การใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคนั้นจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ทางการต้องการที่จะดำเนินนโยบายทั้ง 3 พร้อมกัน ดูได้จากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งแสดงถึงความต้องการให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี แต่ไม่อยากให้ค่าเงินบาทแข็ง และอยากจัดการเงินเฟ้อด้วยอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถที่จะเลือกใช้ทั้ง 3 นโยบายพร้อมกันได้ ดังนั้น ทางการจะต้องหาความพอดีของการใช้นโยบาย ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

นายประสาร กล่าวอีกว่า หากเฟด ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50-0.75% จะทำให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯนั้นอยู่ที่ 1-1.25% อีกทั้งตลาดคาดว่าระยะสั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น จะเป็นส่วนทำให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม ดังนั้นทางการจึงไม่มีทางเลือกอื่นที่จะสกัดกั้นนอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยลง อย่างไรก็ตามมองว่าในปีนี้ทั้งปีทางการมีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ซึ่งในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในรอบวันที่ 9 เม.ย. นี้ หาก กนง.จะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยลงน่าจะอยู่ที่ระดับ 0.25% โดยเชื่อว่าการประชุมในรอบนี้ทางการจะต้องพิจารณาโจทย์หลายด้านและต้องหาจุดที่สมดุลของข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณา

"ส่วนดอกเบี้ยของธนาคารนั้นยังคงต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น เช่น สภาพคล่องและการแข่งขันร่วมด้วย โดย 2 เดือนที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2% เมื่อเทียบจากสิ้นปีก่อน"นายประสารกล่าว

**สแตนชาร์ดยันซับไพรม์ไม่กระทบ**

นายมาร์ค เดวาเดสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารมากนัก ส่วนปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯนั้นถือว่ามีความรุนแรงพอสมควร โดยทุก ๆ 10 ปี โลกจะต้องเผชิญกับบทเรียนเช่นนี้อยู่ตลอดเป็นรอบ ๆ ไป ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้โดยส่วนตัวเคยเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง ในรูปแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่คนชอบลืมคือพื้นฐานของระบบธนาคาร ซึ่งจะต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร และชอบไหนสิ่งไหน ซึ่งในส่วนของธนาคารเองยังคงเน้นทำในสิ่งที่มีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งอยู่โดยตลอด

"เศรษฐกิจโลกยังต้องระวัง และต้องสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น แต่เชื่อว่าในส่วนของเอเชียคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และประเทศไทยเองก็น่าจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศในเอเชียที่จะเป็นแบบนี้"

ส่วนการแข่งขันของธุรกิจธนาคารนั้นยังคงมีเพิ่มขึ้น ซึ่งในอีก 2-3 เดือนธนาคารจะทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของแบรนด์ รวมถึงจะทำการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นเข้าหมายมากขึ้น โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นไปยังสินเชื่อที่อยู่อาศัยและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง รวมถึงจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา และเปิดอินเตอร์เน็ท แบงก์กิ้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น