ในโลกของการลงทุนทุกวันนี้...มีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าการลงทุนในระดับโกลบอล ระดับภูมิภาค หรือแม้กระทั้งในบ้านเราเอง...แน่นอนว่าหากจะมองย้อนหลังกลับไป 5 ปี 10 ปี อาจจะเห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน...หากแต่ว่าช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจเลยทีเดียว
ที่เกริ่นไปแบบนั้น...เพราะอยากจะชี้ให้เห็นภาพการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในธุรกิจกองทุนรวม...ที่ผ่านมา พัฒนาการในอุตสาหกรรมนี้ก้าวหน้าตามลำดับ เช่นเดียวกับวันนี้ ปีนี้...ที่ธุรกิจกองทุนรวมเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับจุดยืนของตัวเองมากขึ้น นอกเหนือจากการแข่งขันที่ไม่มีใครยอมใครอย่างเช่นในปัจจุบัน
ถ้าหากจะบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น...ในปีนี้ จะเห็นบรรดาบริษัทจัดการกองทุน หรือที่เราคุ้นหูกันดีว่า "บลจ." ไม่ได้เน้นเพียงการเปิดขายกองทุนเพื่อระดมเงินเข้าพอร์ต และเพื่อดันตัวเองให้เป็นบลจ.ที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) สูงสุดเท่านั้น...แต่สำคัญทางด้านจิตใจของลูกค้า เริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์มากขึ้น...ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่ต้องตรงใจลูกค้า การบริการที่ลูกค้าต้องพอใจ รวมถึงการเติบโตอย่างมั่นคงที่พนักงาน ผู้บริหาร หรือแม้กระทั้งผู้ถือหุ้นพอใจเช่นกัน
จากจุดนี้...ทำให้เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นกับ บลจ.ที่ไม่มีสาขาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพันสาขาทั่วประเทศช่วยหนุน ด้วยการสรรหาหมัดเด็ดที่เป็นไม้ตาย ลงสนามรบในครั้งนี้...โดยเน้นสร้างพอใจทางด้านจิตใจของลูกค้าเป็นหลัก
ทหารไทยชูตัวเองThe Best
โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย ฉายภาพของบลจ.ทหารไทยให้เห็นว่า เราได้ปรับวิสัยทรรศน์ของบริษัทใหม่โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวใน 3 ปีข้างหน้า (2551-2553) ก้าวขึ้นเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่ดีที่สุด "The Best" เพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตแบบยั่งยืนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ในตอนนี้ โดยเราตั้งเป้าที่จะเป็น The Best ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ผู้ลงทุนที่เป็นลูกค้า ผู้ขายหน่วยลงทุนให้เรา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เป็นผู้กำกับดูแลเรา ผู้ถือหุ้นของบริษัท และพนักงานของบริษัท
และการเป็น "The Best" ของเรานั้น จะต้องเป็น "The Best" ทั้งในส่วนของผลการดำเนินงานที่ดี และบริการที่ดี ซึ่งนี่คือเป้าหมายที่เราจะมุ่งไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า หลงัจากช่วงที่ผ่านมา เราได้มุ่งไปในเรื่องของการเพิ่มขนาดสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารเป็นหลัก
สำหรับแนวทางการเป็น "The Best" ของเรา จะมีการปรับปรุงระบบการทำงานภายในทั้งหมด เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่มผู้จัดการกองทุนเพื่อสอดรับกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่สร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น การเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านไอที และ ส่วนงานลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีเงื่อนไขด้วยการออกบริการตามข้อเสนอแนะของลูกค้าในทุกๆเดือน รวมถึงการคิดค้นบริการใหม่ขึ้นเองในทุกไตรมาส
และในปีนี้เอง เราจะพัฒนาการบริหารกองทุนของตัวเองให้ก้าวขึ้นอีกระดับ เพื่อเป็นการเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารโดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับกองทุน หรือที่เรียกว่า “Enhance Index” ซึ่งไม่ได้ทำให้สไตล์การบริหารกองทุนของบริษัทที่เป็นแบบเชิงรับ (Passive Management) เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่ประการใด โดยเราจะมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากความแตกต่างของราคาตลาดที่ไม่สมดุล (Miss Pricing)ให้เกิดประโยชน์ เช่น ความแตกต่างระหว่างดัชนี SET50 กับดัชนี SET50 Futures เป็นต้น
"เราจะมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ทั้งที่มีในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน โดยที่ความเสี่ยงเท่าเดิมหรือไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนแต่ประการใด"
แอสเซทพลัสขอเป็นบลจ.Non bank ที่ดีที่สุด
ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซทพลัส บอกว่า แนวทางการดำเนินงานในปีนี้ เราจะให้ความสำคัญเรื่องลูกค้า ตัวแทนขาย และทีมงานในองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้แอสเซทพลัสมีความพร้อมในการแข่งขันในธุรกิจกองทุนที่มีแนวโน้มจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยในปีนี้ เราจะเพิ่มจำนวนผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนเฉพาะด้าน เพื่อให้สอดรับกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น และบรรลุเป้าหมายเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนประเภท Non bank ที่ดีที่สุด ทั้งในด้านของผลตอบแทน และการให้บริการ
ขณะเดียวกัน เราจะเน้นให้ข้อมูลและความรู้ด้านการลงทุนให้กับตัวแทนขาย รวมทั้งเน้นให้การบริการผู้ลงทุนรายย่อยให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนการขยายฐานลูกค้าขนาดกลางและรายย่อยมากขึ้น เพื่อป้องกันการผันผวนของขนาดสินทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบัน เราเองมีลูกค้ารายใหญ่และลูกค้ากลุ่มสถาบันประมาณ 70% ซึ่งทำให้ขนาดของสินทรัพย์มีการจุกตัวและมีความผันผวนสูง ซึ่งหลังจากนี้ เราได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มลูกค้าขนาดกลางและรายย่อยเป็น 30-40% ขึ้นไปจากจำนวนลูกค้าประมาณ 2,000 บัญชีในปัจจุบัน
ส่วนเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ภายในปี 2551 เราคาดหวังไว้อีกอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 45% จากปีที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะมาจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจกองทุนรวมเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้ เรามีแผนออกกองทุนใหม่ ทั้งกองทุนตราสารหนี้และตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศ และการขยายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมเดิมด้วย
MFCชูความโดดเด่นด้านนวัตกรรม
พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับ บลจ.เอ็มเอฟซี ในปี2551 นี้ จะนำเรื่องนวัตกรรใหม่ และการบริหารความเสี่ยง มาเป็นจุดขายของบริษัท เนื่องจากใน5 ปีที่ผ่านมาเราทุ่มเทในเรื่องดังกล่าวไปค่อนข้างมาก ดังนั้นจากนี้ไปเราจะใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
“ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เราเป็นบริษัทแรกในการนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งบริการใหม่ๆ มาตลอด ดังนั้นในปีนี้บริษัทยังนำในเรื่องนวัตกรรมใหม่มาเป็นจุดขาย ซึ่งจะตรงกับกลยุทธ์ด้านการตลาดในปีนี้ ที่จะเน้นการสร้างแบรนด์องค์กรให้เป็นที่รู้จักอย่างทั่วถึง โดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ มันสมองทางการลงทุนที่คุณวางใจ”
ซีมิโก้ชู"CRM"บริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า
กิตติโชค จิตต์สดศรี กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของบลจ.ซีมิโก้ เปิดใจถึงแนวทางการแข่งขันในฐานะน้องใหม่ว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าเราเป็นบริษัทที่พึ่งก่อตั้งมาได้ไม่นาน แต่ต้องมาอยู่ท่ามกลางการแข่งขันในวงการที่รุนแรง และมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้าที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก ซึ่งความท้าทายที่สำคัญของบลจ.ซีมิโก้ก็คือ บริษัทแม่ของเราคือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ไม่ใช้ธนาคาร ทำให้เรามีสาขาที่จะช่วยในการขายกองทุนไม่มาก เหมือนบริษัทที่มีแม่เป็นสาขาธนาคารช่วยหนุนหลัง แต่เราก็โชคดี ที่ได้บริษัทแม่ช่วยส่งเสริมธุรกิจกองทุนและช่วยผลัดดันเราอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่มีแม่เป็นธนาคารนี้เอง ทำให้ต้องมีการปรับแผนงานด้วยการใช้กลยุทธ์ใหม่ ภายใต้คอปเซ็ป "CRM" แทนกลยุทธ์ "Blue Ocean" ที่ผู้บริหารชุดเดิมวางไว้ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว จะปรับแผนการศึกษาถึงพฤติกรรมของลูกค้าของหมดที่มีในปัจจุบันว่า ลูกค้าต้องการอะไรเป็นหลักสำคัญ ในความเสียเปรียบแต่เราก็มีข้อได้เปรียบตรงที่เราเป็นบลจ.น้องใหม่ จึงทำให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่ค่อนข้างใกล้ชิด ซึ่งเราตั้งใจจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหารายละเอียด เช่น สไตล์การลงทุน ความเสี่ยงที่สามารถรับได้ หรือช่องทางการลงทุน ของลูกค้าออกมาเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงชองลูกค้าโดยคาดว่าจะสามารถเริ่มกลยุทธ์ใหม่ได้ภายในต้นเดือนมีนาคมนี้
"ลูกค้าบางท่านต้องการความใกล้ชิด ถ้ามีลูกค้าเยอะมาก บางทีก็จะไม่ทราบจริงๆว่าลูกค้าต้องการอะไร ทำให้เราจะเน้นใช้ความใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นหลัก รวมไปถึงบริษัทก็จะใช้ระบบ Wealth management และการจัดกิจกรรมเข้ามาช่วยในการจับให้เห็นภาพความต้องการของลูกค้าให้ชัดเจน"
ในการปรับตัวเพื่อรองรับกลยุทธ์ CRM นอกจากการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าปัจจุบันแล้ว เราจะเสริมสินค้าของบริษัทให้ครบถ้วนเพื่อรองรับความต้องการไปพร้อมๆกัน โดยบริษัทมีแผนที่จะออกสินค้าในลักษณะ Mass Product , กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) และกองทุนส่วนบุคคล (Private fund) เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนให้ครบถ้วน
เป้าหมายที่สำคัญอีกข้อของเรา คือ เราจะพยายามสร้างตราสินค้าของบลจ.ซีมิโก้ ให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วยการทำประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมเพื่อพบปะและให้ความรู้แก่นักลงทุนให้มากยิ่งขึ้น โดยแผนงานการสร้างแบนด์ของเราให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุนนั้น บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ได้ภายใน 3 ปี โดยจะประเดิมที่การปรับเปลี่ยนชื่อของกองทุนที่จะออกใหม่ให้มีความสอดคล้องกับชื่อบลจ.มากยิ่งขึ้น โดยจะตั้งชื่อกองทุนให้พ้องกับชื่อบลจ. อาทิ กองทุน ซีมิโก้ เดลี่พลัส เพื่อกั้นความสับสนของนักลงทุน