xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นระทึก! ยกเลิก 30% วันนี้ แนะจับตา “เลี้ยบ” ใจปลาซิว-ไม่กล้าทุบโต๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.เข้าหารือคลังวันนี้ โบรกฯ แนะจับตาฝีมือ “ขุนคลังเลี้ยบ” สั่งยกเลิกมาตรการ 30% ได้จริงหรือไม่ ล่าสุด นพ.สุรพงษ์ แสดงท่าทีกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าประกาศตามที่เคยหาเสียงไว้ เพราะผวาผลกระทบบานปลาย โดยเชื่อว่าอาจเลื่อนออกไปอีก 2 สัปดาห์ “สมชัย” แนะลดดอกเบี้ย มาตรการภาษี หากถูกสั่งยกเลิก

วันนี้ (12 ก.พ.) นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าในการชี้แจงมาตรการกันสำรอง 30% ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 14.00 น.วันนี้ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยล่าสุด ธปท.ได้มีการเตรียมจัดทำข้อมูลเพื่อนำไปชี้แจงต่อนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ล่าสุดเพื่อรายงาน รวมถึงเสนอมาตรการต่างๆ ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังอาจเสนอให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แต่ให้ใช้มาตรการดอกเบี้ยและมาตรการทางภาษีแทนนั้น นางอัจนาระบุว่ายังไม่ขอออกความคิดเห็น ขอให้มีการหารือร่วมกันก่อน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ประเมินความเหมาะสมในการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ปีก่อน โดยจากการประเมินพบว่า ยังไม่ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการยกเลิกมาตรการทั้งหมดในทันที แต่สามารถผ่อนคลายได้ เนื่องจากปัญหาวิกฤตสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด

นายอนุพนธ์ ศรีอาจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% วันนี้ เชื่อว่าหากมีการยกเลิกจริง ก็จะทำให้เงินทุนต่างประเทศเป็นอิสระมากขึ้น แต่เชื่อว่าคงจะยังไม่มีผลสรุปในวันนี้ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับตัวลง ตรงนี้ ก็จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้ และปัจจัยดังกล่าวนี้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย

ล่าสุด นพ.สุรพงษ์ เริ่มมีท่าทีอ่อนลง ในการสั่งยกเลิกมาตรการ 30% ทันทีภายในวันนี้ ตามที่เคยประกาศไว้ โดยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ คงจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับนโยบายด้านการเงินการคลัง โดยเฉพาะประเด็นมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น ซึ่งตนเองจะหารือกับผู้ว่าการ ธปท.ในช่วงบ่ายวันนี้

“ผมคิดว่า ภายในสิ้นเดือนนี้คงจะทำภาพรวมให้ชัดเจน” นพ.สุรพงษ์ กล่าวสรุปสั้นๆ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีข้อเสนอในประเด็นมาตรการสำรอง 30% จากหลายฝ่าย ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นว่าควรจะยกเลิกและเห็นว่าไม่ควรจะยกเลิกในขณะนี้ รวมทั้งหากมีการยกเลิกใช้มาตรการดังกล่าวก็ควรจะมีมาตรการอื่นๆ มารองรับเพื่อบริหารจัดการให้เกิดเสถียรภาพต่ออัตราแลกเปลี่ยนและรักษาเสถียรภาพด้านราคาไปพร้อมๆ กัน

สำหรับการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย และการเพิ่มความสะดวกในการไหลออกของเงินทุนเพื่อลงทุนต่างประเทศ ก็เป็น 2 แนวทางที่อาจนำมาเป็นมาตรการรองรับได้

นอกจากนั้น ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในแต่ละปี, การใช้มาตรการเก็บภาษีขาออกของเงินทุนต่างประเทศที่นำเข้ามาในระยะสั้น (Exit Tax) และการตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ (Wealth Fund) ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจในการบริหารทุนสำรอง และเป็นหลายประเทศได้จัดตั้งขึ้น

ขณะที่ทุนสำรองของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมากอย่างผิดปกติ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บาทแข็งค่าขึ้นมาก โดยในอดีต ธปท.และกระทรวงการคลังก็เคยร่วมกันบริหารทุนสำรอง แต่ในระยะหลังเป็นภาระหน้าที่ของ ธปท.ฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม แนวทางต่างๆ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่จะพยายามหาข้อสรุปให้ได้ภายในเดือนนี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ นพ.สุรพงษ์ ได้ร่วมหารือกับนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง และทีมงานของ สศค. เพื่อรับทราบข้อมูลเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ รายรับและรายจ่ายรัฐบาล และภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป ทั้งนี้ ทาง สศค.ได้แนะนำรัฐมนตรีคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการตั้งงบประมาณกลางปีและเร่งดำเนินโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน

“งบประมาณกลางปี หากมีต้องเป็นโครงการที่ใช้เงินได้เร็วหรือจบโครงการได้ภายในปีงบประมาณ 51 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.ปีนี้ หรือเป็นโครงการที่หว่านเมล็ดพันธุ์ไว้เป็นหัวเชื้อ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามารับลูกแล้วช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ที่รัฐบาลต้องทำอะไรบางอย่างออกไปเพื่อให้เอกชนรู้ว่ารัฐบาลทำอย่างแน่นอน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจกลับคืนมาได้ภายใน 6 เดือน” นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในความเห็นส่วนตัวแล้วควรที่จะเลิกมาตรการ 30% เพราะเหตุผลมาตรการนี้เกิดจากความต้องการของ ธปท.ที่จะป้องกันการแข็งค่าของเงินบาท แต่แท้ที่จริงแล้ว เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้ทุนรองสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่มีความจำเป็นต้องคงมาตรการนี้ไว้ต่อไป แต่การยกเลิกแบบทันที อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท จึงแนะนำให้ทำแบบขั้นบันได โดยเริ่มจากลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก่อน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และเน้นการบริหารการจัดการแบบบูรณาการ

อย่างไรก็ตาม การที่ตัดสินใจว่าจะยกเลิกมาตรการ 30% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการประชุมในวันที่ 12 ก.พ.นี้ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น หากลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว จะมีผลกระทบต่อผู้ฝากหรือไม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาระบุว่า หากลดอัตราดอกเบี้ยแล้วจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อนั้น กรณีนี้ เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีนักลงทุนที่นำเงินออกนอกประเทศ (Exit Tax) นั้นไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นต้องหารายได้จากส่วนนี้ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 51 (ต.ค.50-ม.ค.51) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,718 ล้านบาท เพราะปัจจุบัน ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทได้ดีกว่านี้ เช่น การแทรกแซงค่าเงินบาท เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น