xs
xsm
sm
md
lg

สถานะเงินลงทุนของกองทุนเพื่อการชราภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื้อหาฉบับนี้ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลเงินลงทุนของกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการออมเพื่อการชราภาพ ประกอบด้วย กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งมีภาพรวมมูลค่าเงินลงทุนสะสมของกองทุนฯ ณ สิ้นปี 2550 ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 35,000 ล้นบาท เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2550 (ร้อยละ 2.64) เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกกองทุน จำนวนเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยแต่ละกองทุนฯ มีสถานะของเงินลงทุน คือ

กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชราภาพ (และสงเคราะห์บุตร) ณ สิ้นปีก่อนหน้ามูลค่า 398,488 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 8.71 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนที่สำคัญคือ มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.85 ในหุ้นสามัญและหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 แต่เงินฝากและตราสารหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้ออก และตราสารหนี้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินอื่นกลับลดลง

กองทุน กบข. มีมูลค่าการลงทุน ณ สิ้นปี 2550 จำนวน 375,586 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2550 เป็นเงิน 151.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.04 โดยการลงทุนของ กบข. มีผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.91 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โครงสร้างการลงทุนของ กบข. ที่เปลี่ยนแปลงคือลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจ เงินฝาก และตราสารหนี้ของธนาคาร ตราสารหนี้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินอื่นลดลง แต่ลงทุนในหุ้นสามัญและหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 สาเหตุที่มูลค่าลงทุนของ กบข. ณ สิ้นปี 2550 แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยเมื่อเทียบกับ 2-3 ไตรมาสก่อนหน้านั้น คาดว่าน่าจะเนื่องมาจากการ Mark to Market ทรัพย์สินของกองทุนเมื่อสิ้นปีบัญชี ทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการปรับมูลค่าเงินลงทุน (ยังไม่ได้รับรู้จริง) จึงทำให้มูลค่าเงินลงทุนของกองทุนเพิ่มไม่มากนัก เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นปี 2549 เช่นเดียวกัน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยรวมมีมูลค่าการลงทุน ณ สิ้นปี 2550 จำนวน 441,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ประมาณ 5,580 ล้านบาท (ร้อยละ 1.28) โดยมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นสามัญและหน่วยลงทุน ตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เงินฝากและตราสารหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้ออกลดลงร้อยละ 21.01

สำหรับการลงทุนแยกตามประเภทผลิตภัณฑ์ พบว่าในผลิตภัณฑ์ประเภทพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันนั้น กองทุนประกันสังคมได้ลงทุนมากที่สุด (เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ) ที่ร้อยละ 73 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของประกันสังคม ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทเงินฝากและตราสารหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้ออกและผลิตภัณฑ์ประเภทตราสารหนี้เอกชนและสถาบันการเงินอื่นนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนมากที่สุดในอัตราร้อยละ 22.43 และ 21.77 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ประเภทหุ้นสามัญและหน่วยลงทุน กบข. ลงทุนสูงที่สุดในอัตราร้อยละ 29 จากทุกกองทุนฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่ากองทุนเพื่อการชราภาพยังคงนิยมลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงมาก อันเนื่องมาจากข้อกฎหมายและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต รวมทั้งสภาวการณ์ของตลาดหุ้นในปีที่ผ่านมา

.
กำลังโหลดความคิดเห็น