xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ถกเลี้ยบ วันนี้ คาดสรุปเงินเฟ้อ-จีดีพี ก่อนประกาศ 23 พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ สภาพัฒน์ ยันถกขุนคลัง วันนี้ เป็นไปตามวาระปกติ เตรียมปรับประมาณการ เงินเฟ้อ-จีดีพี วันศุกร์นี้ ยอมรับราคาน้ำมัน เป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ แนะปลดล็อกตรึงราคาเชื้อเพลิง-ก๊าซ เลิกบิดเบือนกลไกตลาด ไม่สะท้อนต้นทุนจริง

วันนี้ (20 พ.ค.) ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกับนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันนี้ โดยระบุว่า เป็นการประชุมตามวาระปกติ ไม่ได้มีการเรียกประชุมด่วนเพื่อหามาตรการรับมือราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง โดยขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6.2%

นอกจากนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังระบุอีกว่า สภาพัฒน์เตรียมแถลงปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 2551 ในวันศุกร์ที่ 23 พ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีกระแสข่าวระบุว่า สภาพัฒน์ได้สั่งให้มีการให้ทบทวนฐานข้อมูลสำหรับการประเมินเศรษฐกิจใหม่ โดยในส่วนของราคาน้ำมันนั้นจะปรับเพิ่มจากระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็น 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และจะปรับตัวเลขเงินเฟ้อจากระดับ 3.0-3.5% เป็น 4.0-5.0%

“เป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศจะทะลุ 40 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งเป็น 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 32.15 บาทต่อดอลลาร์”

ดร.อำพน กล่าวว่า ทิศทางการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันในระยะยาวนั้น รัฐบาลยังต้องเน้นส่งเสริมพลังงานทางเลือก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้และกระตุ้นการประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมต้องหันมาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน พึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอกให้น้อยที่สุด และพึ่งแหล่งพลังงานที่ผลิตได้เอง โดยเฉพาะภาคขนส่ง รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาการขนส่งระบบราง และใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีแทนน้ำมัน แม้ต้องใช้เวลาบ้างแต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“การยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และส่งเสริมใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงนโยบายลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี และราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาด ตลอดจนการระมัดระวังส่งสัญญาณที่จะบิดเบือนกลไกตลาดนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งหากรัฐบาลยังเอาใจประชาชน ด้วยวิธีอุดหนุนราคาน้ำมัน หรือออกมาตรการอุ้มผู้บริโภคต่อไป ในระยะสั้นจะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย”

ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนค่าขนส่งเป็นหลัก ซึ่งทางออกไม่ใช่กดราคาน้ำมันดีเซล แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น เร่งระบบรางและใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวี แม้วันนี้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 5% แล้ว แต่วันนี้กลไกตลาดเริ่มเข้าไปดูแลแล้ว

ดังนั้น อย่าไปหยุดยั้งกระบวนการลอยตัวราคา รวมทั้งกระทรวงพลังงานควรมีมาตรการและระยะเวลาชัดเจนในการลอยตัวก๊าซแอลพีจี เพราะปัจจุบันไทยใช้แอลพีจีในภาคขนส่งจำนวนสูงมาก เปรียบเหมือนนำไม้สักมาทำเป็นฟืน หากนำก๊าซแอลพีจีมาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อะโรเมติกส์ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีแม้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะเพิ่มจาก 40 ดอลลาร์เมื่อปี 2548 เป็นกว่า 127 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยมีภูมิกันที่ดี และมีโครงสร้างที่แข็งแรงเพียงพอที่จะต้านทานราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากนโยบายปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่โครงสร้างการใช้พลังงานเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น แก๊สโซฮอล์ไบโอดีเซล และเอ็นจีวี ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องขณะที่ยอดการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง

“ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ถามว่า มันส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรุนแรงหรือไม่ จากตัวเลขชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่สามารถรองรับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้พอสมควร แต่ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่หยุดหรือราคาพุ่งไปถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีก 1-2 ปีนั้น เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าในอดีตผ่านมาได้อย่างไร” ดร.อำพน กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น