xs
xsm
sm
md
lg

รวงข้าวคาดธุรกิจอสังหาฯ ครึ่งปีแรกชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดแนวโน้มการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ปี 2551 ว่า การเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะชะลอตัว ผู้ประกอบการคงยังรอดูทิศทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการในปี 2551 อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อที่จะมีผลต่อภาวะค่าครองชีพ ยังจะเป็นตัวแปรที่อาจกดดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก เป็นต้น ที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยและการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย การหาทำเลใหม่ๆ การทำสินค้าแบบเจาะกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การผลิตสินค้าสอดคล้องกับสภาวะตลาดในขณะนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ
นอกจากนี้ การเปิดโครงการให้จองก่อนหรือไม่ก็เปิดโครงการที่มีขนาดเล็กลง เพื่อดูการตอบรับของตลาด หากประสบความสำเร็จก็จะเปิดเฟสต่อไป เพื่อช่วยป้องกันการเกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์อุปทานในตลาดที่อยู่อาศัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจทิศทางตลาดและความต้องการที่อยู่อาศัย ระหว่างวันที่ 1- 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 615 ชุด พบว่าแนวโน้มการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในปี 2551 ความต้องการที่อยู่อาศัยน่าจะมีแรงซื้อมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยพื้นฐานเพื่อการที่อยู่อาศัยจริง ซึ่งผู้ซื้อกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่จะเข้ามาในตลาดที่อยู่อาศัย สำหรับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะของตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง และมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น อาทิ ราคา ทำเลที่ตั้งของโครงการ พื้นที่ใช้สอยและ รูปแบบบ้าน คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการตกแต่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรมีการตรวจสอบในเรื่องของระเบียบสัญญาต่าง ๆ เช่น รูปแบบของตัวบ้าน คุณภาพของวัสดุที่ใช้ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญา การใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต ความไม่แน่นอนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และภาวะการเมืองในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น