xs
xsm
sm
md
lg

คาดกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 21 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกนง.จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3.25 ตามเดิมในการประชุมวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 นี้ โดยปัจจัยหลักที่ให้น้ำหนักเป็นเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่คาดว่ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แม้ส่วนใหญ่อาจจะมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก กอปรกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน น่าที่จะยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ กนง.ที่ร้อยละ 0-3.5 ตลอดระยะที่เหลือของปี 2551 ก็ตาม แต่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของประเทศและคงจะเป็นน้ำหนักที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในรอบที่จะถึงนี้และในรอบถัดๆ ไป

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 2551 นี้ คงจะอยู่ในช่วงร้อยละ 5.0-5.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า ทำให้โอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คงจะมีจำกัดลงโดยเฉพาะในระยะใกล้ กระนั้นก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อ ก็คาดว่าคงจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วเช่นกัน เพราะอาจจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจซึ่งเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2551 ก็อาจยังสามารถจะเติบโตได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าในปี 2550 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.9 ในปี 2551 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2550 โดยมีแรงหนุนมาจากการส่งออกที่ยังเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ แม้อาจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และจากรายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุดของรัฐบาลที่คาดว่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศ ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจข้างต้น จึงมองว่า ความจำเป็นที่ กนง.จะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับปัจจุบัน คงจะมีจำกัด

นอกจากนี้ การปรับตัวของค่าเงินบาทในปี 2551 ที่ค่อนข้างมีสมดุลหรือมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 2 ปีก่อนหน้า ทำให้เห็นว่า กนง.อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะใกล้ๆ นี้

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะถัดไปนั้น ประเมินว่า ปัจจัยสำคัญคงจะอยู่ที่สถานการณ์การปรับตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์หลักต่างๆ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการตัดสินใจนโยบายการเงินเพื่อรักษาสมดุลความเสี่ยงดังกล่าวของ กนง.ในอนาคตต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น