xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติเผ่น! เงินเฟ้อพุ่ง 6% ส่วนต่างวูบ ธปท.รับตลาดนั่งตบยุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต่างชาติผวาเงินเฟ้อไทย ส่วนต่างไม่คุ้มการเข้ามาลงทุน ธปท.ยอมรับ ตลาดเงียบเชียบไม่พบสัญญาณเงินไหลเข้าผิดปกติ หลังเฟดลดดอกเบี้ย 0.25% เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมระบุ พบสัญญาณ second round effect เร่งตัวจากราคาอาหารและน้ำมัน แนะจับตาวิกฤติเงินเฟ้อรอบใหม่

วันนี้ (2 พ.ค.) นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นสัญญาณเงินทุนไหลเข้าผิกปกติ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งการที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ยก็เป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว

ขณะนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับทุกสกุล ยกเว้นบาท ซึ่งในส่วนของค่าเงินบาทขึ้นกับดีมานด์และซัพพลาย โดยเมื่อเช้าค่าเงินที่ 31.69-31.70 บาท/ดอลลาร์ ถือว่ายังอยู่ในช่วงคาดการณ์

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. ยอมรับว่าในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณการเกิด second round effect จากการเร่งตัวของราคาอาหารสดและน้ำมัน ซึ่งทำให้การส่งผ่านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้ค่อนข้างแรงจากภาวะปกติเงินเฟ้อที่ปรับฤดูกาลจะไม่สูงมาก โดยเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 0.3% แต่ล่าสุดปรับขึ้นมาเป็น 0.5-0.6% กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเร่งขึ้น จากนั้นจะส่งผ่านไปยังการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดภาวะการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อรอบใหม่

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเฉลี่ยเดือนเม.ย.เร่งตัวสูงแตะระดับ 103 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับราคาสมมุติฐานในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อกรณีเลวร้ายสุดที่ 107 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะขยายตัว 4-5% และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.5-2.5%

“ค่าครองชีพสูงมีผลต่ออุปสงค์ในประเทศ ซึ่งถ้ามีการปรับตัวขึ้นอุปสงค์ก็จะชะลอลง ซึ่งเรากังวลเรื่องเงินเฟ้อมาตลอด เพราะไม่รู้ราคาน้ำมันจะเร่งขึ้นไปถึงไหน แต่แม้เฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจปัจจุบันก็ยังไปได้ดีอยู่ โดยเชื่อว่าไตรมาส 2 น่าจะโตได้ 6%" นางอมรา ระบุ

นางอมรา กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงไม่ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าไม่เห็นความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ขณะที่การเร่งตัวอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเกิดขึ้นจากแรงกดดันด้านซัพพลาย แต่การขึ้นดอกเบี้ยคือการเข้าไปดูแลด้านอุปสงค์ (Demand) โดย กนง.ก็จะพิจารณาภาพรวมอีกครั้งหนึ่งก่อนจะมีการประชุมในวันที่ 21 พ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อไทยยืนระดับสูง แต่ยังไม่สูญเสียความสามารถการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งการค้า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น