xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จี้รัฐคุมราคาสินค้าสกัดเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ชี้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินที่ระดับ 0-3.5% ยังคงใช้ไปถึงสิ้นปีหน้า ยอมรับปัจจัยนอกประเทศทั้งปัญหาราคาน้ำมันและข้าวแพงควบคุมได้ยาก แนะให้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยประเทศทั้งใช้งบประมาณแบบขาดดุลในช่วงกลางปี สร้างความมั่นใจด้านการเมือง และสร้างกลยุทธ์นโยบายด้านราคาสินค้าที่สำคัญ

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ธปท.จะมีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใหม่เป็น 4-5% ซึ่งครอบคลุมสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปีนี้ถึงกรณีเลวร้ายสุดในระดับ 112.6 เหรียญต่อบาร์เรลเรียบร้อยแล้ว จากต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันดูไบเพิ่มขึ้น 93 เหรียญต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าเป้าหมายของธปท.ก็จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ได้ตามเป้า แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ย ธปท.ไม่ได้ดูเฉพาะเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ดูภาวะเศรษฐกิจโดยรวมควบคู่ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันถือว่าเหมาะสมแล้ว

“ส่วนของปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0-3.5% ไปจนกว่าสิ้นปีหน้า เพราะทุกวันนี้เราก็มีการประเมินเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ทุก 6 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อนโยบายการเงินแล้วเราต้องมีการปรับ ซึ่งมันจะไม่สร้างความเชื่อถือด้านเครดิตต่อธนาคารกลางแห่งนั้นได้”

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวแพงจะมีผลกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตหรือไม่นั้น รองผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า เมื่อราคาข้าวแพงขึ้นก็มีผลทางอ้อมต่อราคาสินค้าอื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะข้าวมีสัดส่วนในตะกร้าผู้บริโภคประมาณ 2.5% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ดังนั้น ราคาน้ำมันและข้าวเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

“แม้ขณะนี้การส่งออกยังขยายตัวดีอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 20% แต่ในอนาคตอย่าชะล่าใจ เพราะหากเศรษฐกิจโลกชะลอสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณการส่งออกถึง 38,000 ล้านเหรียญ ซึ่งผูกติดกับเศรษฐกิจข้างนอกก็จะมีปัญหาได้ ในขณะที่ราคาข้าวค่อนข้างแพง แต่มีปริมาณการส่งออกแค่ 3,000-4,000 ล้านเหรียญเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยควรหันมาพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายการคลังที่เปิดช่องให้มีการใช้งบประมาณแบบขาดดุลได้ในช่วงกลางปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างความมั่นใจทางด้านการเมืองมากขึ้น หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปัจจัยดังกล่าวเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะในด้านอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งการสร้างกลยุทธ์นโยบายด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น