xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ตลาดหุ้นคาด กนง.ดูราคาน่ำมันกำหนด ดบ. แนะจับตา 1.5 หมื่นล.ในตลาดเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.บอร์ด ตลท. เชื่อการประชุมฯ 9 เม.ย.นี้ กนง.ดูราคาน้ำมัน ในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย พร้อมจับตาเม็ดเงิน 1.5 หมื่นล้าน ต่างชาติโยกจากตลาดหุ้นเข้าตลาดตราสารหนี้ ในช่วงไตรมาสแรก ปีนี้

วันนี้(3 เม.ย.) นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อ 3 เดือนแรก (ไตรมาส 1 ) ที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศออกมาอยู่ในระดับสูงถึง 5% และทำให้ธนาคารโลก เอดีบีแบงก์ และไอเอ็มเอฟ ออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยงนั้น หากดูจากอาการเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับดังกล่าวถือว่าสูง แต่ในแง่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะดูจากอาการเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นหลัก ที่ไม่รวมหมวดอาหาร และหมวดการจ้างงาน ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ถึง 1.5% ซึ่งถือว่า ยังอยู่ในกรอบที่ กนง. ตั้งไว้ เพียง 0 - 3.5%

ดังนั้น ในการพิจารณากำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ กนง.คงจำให้ความสำคัญกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับมากกว่า ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย ในการประชุมของบอร์ด กนง.ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ จะสามารถปรับลดลงได้หรือไม่นั้น ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของบอร์ด กนง.ที่จะตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว

**Q1 ต่างชาติโยกเงินหุ้นเข้าตราสารหนี้

นายปกรณ์ กล่าวยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ เพราะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นเพราะปัจจัยการเมืองที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญ โดยมีการโยกเงินลงทุนไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้แทน

"ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ต่างชาติเข้ามาซื้อตราสารหนี้ สุทธิกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่า เป็นการซื้อขายที่เยอะ เทียบกับปีก่อนที่ขายสุทธิ(ในตลาดตราสารหนี้) 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่ได้นำเงินออกไปนอกประเทศ เพราะเงินก้อนนี้ถูกโยกมาหารผลตอบแทนดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้"

อย่างไรก็ดี ยานปกรณ์ ยังเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติ ยังให้น้ำหนักต่อปัจจัยการเมือง โดยมั่นใจว่าปัญหาต่างๆ จะสามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ และทำบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้น่าจะดีขึ้น เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยก็ให้ผลตอบแทนที่สูง โดยโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มองว่าปีนี้ผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 20%
กำลังโหลดความคิดเห็น