เกินคาดหรือ?...(เปล่า) กับการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องขอบอกว่าไม่ใช่ เพราะมีแนวโน้มในการยกเลิกมาตรการนี้ตั้งแต่ มีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนที่เกินคาด...เห็นจะเป็นมาตรการต่างๆ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า จะมีการประกาศใช้ออกมาเพื่อป้องกันการแข็งค่าเพิ่มขึ้นของเงินบาทมากว่า ทั้งในเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย หรือแม้กระทั้งการเพิ่มวงเงินให้กองทุนส่วนบุคคลสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น
ท่ามกลางแรงกดดัน และกระแสข่าวการแตกคอกันของ หมอคลัง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับ คุณธาริษา วัฒนเกศ มองถึงขั้นว่าตัวแปรของการปลด ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหญิงของไทยคงจะเป็นเรื่องการรับลูกต่างๆ ของผู้มีอำนาจ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรคงจะต้องจับตาดูกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรนี้น่าจะมีผลดีต่อการลงทุนบ้านเราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของตลาดตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากที่ผ่านมา การลงทุนในส่วนอื่นได้มีการผ่อนปล่นเกี่ยวกับมาตรการนี้ออกไปบ้างแล้ว
ณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้ความเห็นถึงการยกเลิกมาตรกันสำรอง 30% เอาไว้ว่า จะส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากกว่าการไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว แต่จะไม่ส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ในทันที เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตราสารหนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นผลดีในแง่ที่นักลงทุนต่างชาติสามารถนำเงินลงทุนมาพักไว้ในตลาดตราสารหนี้ได้ชั่วคราวในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน ก่อนที่จะเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้เข้าไปลงทุนใน NDIRS หรือ Non-deliverable interest Rate Swap กันมากขึ้น โดยมีสัดส่วนการลงทุนใน NDIRS อยู่ที่ประมาณ 130,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2-5% ในตลาดตราสารหนี้ไทย และปรับลดลงมาเหลือที่ 50,700 ล้านบาท หรือประมาณ 1% เมื่อมีการออกมาตรการกันสำรอง 30% ออกมา และมีการขาย NDIRS ออกมาเพียงอย่างเดียว
“หลังจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาแต่จะช่วยให้การลงทุนใน NDIRS ดีขึ้น แต่คงไม่ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับเดิมทันที และยอมรับว่ายังไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาทดแทนการลงทุนใน NDIRS และนักลงทุนต่างชาติเองคงไม่เปลี่ยนแปลงการลงทุนกลับไปมาด้วย”
"ณัฐพล"บอกอีกว่า หลังจากยกเลิกมาตรการนี้แล้ว เชื่อว่าภาคเอกชนจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่ๆ มากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับว่าเมื่อมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้วจะมีผลอย่างไร และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นอย่างไร บ้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้ง และการที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม เชื่อว่าภาคเอกชนจะรอดูสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยออกไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้สามารถออกหุ้นกู้ได้ในระดับที่มีต้นทุนต่ำที่สุด
“ธาริษา”เก้าอี้สั่นคลอน
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า หากมองในภาพรวมแล้วการยกเลิกมาตรการดังกล่าวถือเป้นเร่องดี ที่ช่วยให้เกิดการลงทุนในประเทศ จนนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้มากที่สุด และจะมีเม็ดเงินเข้าลงทุนมากสุด หรือมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากสุด อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมานั่นคือเงินที่ไหลเข้าอาจเป็นเงินทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่มีผลต่อการส่งออก นอกจากนี้เชื่อว่าภาครัฐตจะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อกันเงินไหลเข้าประเทศจากการเก็งกำไรค่าเงิน ภายหลังที่ดอกเบี้ยในประเทศ ให้ผลตอบแทนดีกว่าอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐ
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าวิตกเป็นเรื่องต่อไปนั่นคือ สเถียรภาพของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะการยกเลิกมาตรการในครั้งนี้ เหมือนเป็นการสะท้อนถึงผลงานของผู้บริหารด้วย โดยที่ผ่านมาๆภายหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ได้มีการโยกย้ายข้าราชการระดับหลายรายมาแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ประเมินได้ว่าอาจเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างของภาครัฐโดยเฉพาะในเรื่องที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
บลจ.มองตราสารหนี้-พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์รุ่งหลังเลิก 30%
ตลาดตราสารหนี้-อสังหาฯรับเงินไหลเข้า
อาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด กล่าวเผยถึงการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ว่า คงจะมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้นหลังจากยกเลิกมาตรการ 30% แล้ว แต่ในส่วนของตลาดหุ้นอาจจะไม่มีผอะไรมากนัก เนื่องจากตลาดหุ้นเอง ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของมาตรการดังกล่าว แต่อาจจะมีบ้างในแง่จิตวิทยาของนักลงทุนต่อตลาด โดยเฉพาะหุ้นของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนเงินลงทุนจะเข้ามามากน้อยแค่ไหนนั้น คงประเมินได้ยาก ซึ่งตลาดตราสารหนี้ในช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการกันเงินสำรอง 30% มีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 1-1.3 แสนล้านบาท ก่อนจะขยับลงมาอยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาทหลังประกาศใช้มาตรการ อย่างไรก็ตาม เราคงจะเห็นเงินลงทุนไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งการที่เงินไหลเข้ามานี่เองอาจจะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวลดลงไปบ้าง
กำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการอื่นออกมาทดแทน เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งและในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนที่ออกใหม่และกองทุนเดิมจะเกิดการเปลี่ยนจากการยกเลิกมาตรการในครั้งนี้ ส่วนกองทุนที่จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดนั่นคือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะได้รับผลดีจากเรื่องนี้ในระยะสั้นเท่านั้น
...สรุปแล้วความเห็นของผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ และผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้แล้ว เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากยกเลิกมาตรการนี้คงจะเป็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่จะไหลเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แต่ที่แน่ๆ คงจะต้องใช้เวลาพอสมควร หากต้องการให้ตลาดนี้คึกคักเหมือนเดิม และส่วนที่จะได้รับอานิสงส์ด้วยเห็นจะเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยนักลงทุนต่างชาติน่าจะให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่เป็นห่วงเห็นจะเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการยกเลิกมาตรการนี้ หลังจากมีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ที่สถานการณ์ค่าเงินเป็นแบบนี้ เนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่มาลงทุนในบ้านเรา มักจะเข้าเร็วออกเร็ว จนทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นอย่างมาก โดยหากไม่มีมาตรการรองรับเชื่อว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต
เห็นแบบนี้แล้วคงจะมีทั้งดี และร้ายปนกันแต่ถ้ามีทางออกดีๆ ให้ดีมากกว่าร้ายคงจะต้องยกให้เป็นฝีมือของคนที่ทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนสถาณการณ์หรือปัญหาเรื่อง เด็กใครเด็กมัน หรือความเห็นที่แตกต่างกันในการทำงานของผู้มีอำนาจ คงต้องจับตาดูกันเองหลังจากนี้ แต่หากใครพอเดาเกมออกคงจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้...