xs
xsm
sm
md
lg

กลต.ไฟเขียวบุคคลลุยลงทุนตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ก.ล.ต.เอาใจหมอเลี้ยบ ไฟเขียว"ไพรเวตฟันด์-บุคคลธรรมดา" ลุยต่างประเทศ กำหนดวงเงินลงทุนที่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐไปได้ทันที โดยไม่ต้องให้ธปท.อนุมัติ ด้าน "พิชิต" แนะภาครัฐโรดโชว์นักลงทุนต่างชาติ ชี้แจงเหตุผล และอธิบายความชัดเจนของมาตรการใหม่ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวกับต่างประเทศทั้งหมด หลังประกาศเลิก 30% เผยเตรียมจับกองทุนอสังหาฯ และคันทรี่ฟันด์มาปัดฝุ่นใหม่ พร้อมเดินสายยั่งความเชื่อมั่น

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้สำนักงาน ก.ล.ต. อีก 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เมื่อรวมกับวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. ได้อนุมัติไว้แล้ว และวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศส่วนที่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (เดิม ธปท. เป็นผู้อนุมัติให้ผู้ลงทุนโดยตรง) จะมีวงเงินต่างประเทศไว้จัดสรรรวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การจัดสรรดังกล่าว เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. จัดสรรวงเงินการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และการโอนเงินออกต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บุคคลทั่วไปที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) หรือลงทุนตรงผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยในบริษัทต่างประเทศมาจดทะเบียนเพื่อระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ที่ร้อยละ 25 และการสนับสนุนให้ออกตราสารทางการเงินสกุลบาทที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น Transferable Custody Receipt (TCR)
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่าน บล. ในฐานะนายหน้าหรือผู้ค้าได้ โดยให้ลงทุนได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใน Regulated Exchange หรือ Sovereign Bond เท่านั้น
ทั้งนี้ บล. จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ ธปท. เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดูแลเงินลงทุนให้อยู่ในวงเงินที่ ธปท. อนุมัติ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. จะออกหลักเกณฑ์และซักซ้อมความเข้าใจต่อไป
“การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยในการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนในภูมิภาคและเป็นช่องให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถพัฒนาแนวทางการทำธุรกิจใหม่ๆ ได้มากขึ้น จึงขอแนะนำให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ใช้โอกาสนี้ในการวางแผนธุรกิจในอนาคตต่อไป"นายธีระชัยกล่าว
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากสำนักงานก.ล.ต. กล่าวเพิ่มว่า ในหลักการแล้ว กองทุนส่วนบุคคลหรือบุคคลธรรมดา สามารถออกลงทุนได้ทันทีตั้งแต่วันนี้ ผ่านช่องทางที่สำนักงานอนุญาตให้สามารถลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานจะต้องหารือกับโบรกเกอร์ หรือบริษัทจัดการอีกครั้งถึงแนวทางและขอบเขตในปฏิบัติ

*"พิชิต"แนะรัฐโรดโชว์ตปท.แจงข้อมูล*
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า หลังจากยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% แล้ว ภาครัฐควรจะต้องออกไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ (โรดโชว์) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวให้กับนักลงทุนเหล่านี้ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติพอสมควร ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องแจ้งให้ทราบถึงสาเหตุของการยกเลิก พร้อมกับอธิบายความชัดเจนของมาตรการใหม่ รวมถึงนโยบายภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวกับต่างประเทศ เพื่ออธิบายให้ทราบว่าหลังจากนี้ จะไม่มีการกีดกันอีกต่อไปแล้ว
"ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติที่ดีๆ และตั้งใจเข้ามาลงทุนโดยบริสุทธ์ใจเป็นจำนวนมาก ถูกลงโทษจากมาตรการดังกล่าวโดยไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงนักลงทุนในประเทศเองด้วย ดังนั้นเป็นหน้าที่เราต้องออกไปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เขา"นายพิชิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลดีการยกเลิกมาตรการ 30% ในแง่ของการระดมทุนผ่านกองทุนรวมทำให้สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น เพราะเดิมหน่วยลงทุนทุกกองทุน รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) เข้าข่ายต้องอยู่ภายใต้มาตรการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในแง่ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอง เชื่อว่าหลังจากนี้ จะมีกองทุนขนาดใหญ่ออกมามากขึ้น รวมถึงจะเห็นการเพิ่มทุนโครงการเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนผลดีต่อตลาดตราสารหนี้นั้น มองว่าน่าจะทำให้ตลาดขยายตัวได้มากขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติไม่ถูกกีดกันแล้ว ขณะเดียวกันในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะมาตรการ 30% เป็นการควบคุมการเข้าออกของเงิน ซึ่งปกติแล้วการควบคุมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่จะนำมาใช้
"เรื่องนี้มีบทบาทต่อการกีดกันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของระบบการเงินของประเทศที่นำมาตรการสกัดดั้นการไหลเข้าของเงินจากต่างประเทศมาใช้"นายพิชิตกล่าว
สำหรับผลกระทบต่อค่าเงินบาท ประเมินว่าจะยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องจนกว่ามาตรการรองรับต่างๆ จะนิ่ง ซึ่งในระยะยาวถ้าปัจจัยพื้นฐานของประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ก็เชื่อว่าค่าเงินบาทจะมีมีโอกาสแข็งค่าขึ้นไปแตะที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะปัจจุบันประเทศเราเกินดุลอยู่ตลอด เนื่องจากไม่มีการนำเข้าเพราะเราไม่ลงทุน แต่ในทางกลับกัน หากเราเริ่มลงทุนในประเทศแล้วก็จะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ขับเคลื่อนการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความสมดุลของเงินได้
ส่วนการยกเลิกมาตรการ 30% จะเป็นตัวเร่งให้ค่าเงินแข็งขึ้นไปแตะ 30 บาทเร็วกว่าเดิมหรือไม่นั้น มองว่ามาตรการ 30% ไม่ได้มีส่วนมากนัก เพราะเหตุผลหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งนั้น มาจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่ไม่สมดุลกันมากกว่า นั่นก็เป็นผลมาจากเราไม่ได้มีการลงทุนจากต่างประเทศมานานนั่นเอง
นายพิชิตกล่าวต่อว่า สำหรับแผนงานของบลจ.เอ็มเอฟซีหลังจากยกเลิกมาตรการ 30% แล้ว คงจะมีการทบทวนการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของกองทุน หรือจำนวนสินทรัพย์ที่จะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุน รวมถึงออกไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศอีกครั้ง เพราะต้องดูว่าหลังมาตรการดังกล่าวยกเลิกแล้ว นักลงทุนเหล่านี้มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในบ้านเราเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงที่มาตรการ 30% มีผล ได้ฉุดความมั่นใจลงไปพอสมควร
"ต่อไปนี้บ้านเราจะไม่จำกัดการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ทำให้การจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ซึ่งนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจสามารถทำได้แล้ว ดังนั้นเราคงต้องหยิบแผนที่อั้นไว้จากมาตรการ 30% ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ ซึ่งหลังจากนี้ คาดว่าคงจะต้องเร่งเจรจากับนักลงทุนต่างประเทศอีกครั้ง วึ่งเชื่อว่าบริษัทจัดการอื่นๆ ก็เร่งทำเช่นกัน เพราะตอนนี้โอกาสของกองทุนอสังหาฯ เปิดแล้ว"
ส่วนแผนการจัดตั้งกองทุนคันทรีฟันด์ ก็คาดว่าจะนำกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง เดิมก่อนหน้านี้ เคยมีนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์สนใจที่จะเข้ามาลงทุนกับเราในโครงการหนึ่งแต่ก็ยกเลิกกันไป ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมีการเจรจากันอีกครั้ง พร้อมกันนี้ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น