xs
xsm
sm
md
lg

“ปราสาทพนมรุ้ง - ปราสาทเมืองต่ำ” เทวสถานตระการตากว่าพันปี ในละครพรหมลิขิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สร้างความฮือฮาแบบ “เที่ยวข้ามภาค” ไปเลยทีเดียวสำหรับละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ตอนที่ 23 เมื่อมีการเฉลยจุดเริ่มต้นของอดีตชาติตัวละครหลัก ได้แก่ “เจ้าหญิงอทิตยา” กับ “แม่ทัพอนิลบถ” (รวมทั้งป้าผิน-ป้าแย้ม ในเวอร์ชั่นอาณาจักรโบราณ)



แม้โครงเรื่องจะสันนิษฐานว่าเป็นยุคทวารวดี แต่เพื่อความอลังการของสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำฉากย้อนยุคให้ยังมีความเป็นอาณาจักรโบราณที่ยังคงความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรม ทีมงานจึงเลือก “ปราสาทพนมรุ้ง - ปราสาทเมืองต่ำ” แห่งบุรีรัมย์นั่นเอง

หากนับตั้งแต่บุพเพสันนิวาส ต่อเนื่องมาถึงพรหมลิขิต ละครนำผู้ชมย้อนยุคไปยังสมัยอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีการกล่าวถึง หรือนำตัวละครหลักไปเมืองต่างๆในยุคเดียวกัน เช่น ละโว้ (ลพบุรี) สองแคว (พิษณุโลก) สาครบุรี (สมุทรสาคร) เป็นต้น

โดยล่าสุดในตอนที่ 23 ด้วยจินตนาการของผู้ประพันธ์ที่ต้องย้อนอดีตกลับไปยังอาณาจักรโบราณไปไกลกว่านั้น ดังนั้นสถานที่ที่จะสร้างความสมจริง แปลกตาแตกต่างไปจากบ้านเมืองสมัยยุคอยุธยา จึงเป็นดินแดนแห่งปราสาทขอม นั่นคือ “ปราสาทพนมรุ้ง - ปราสาทเมืองต่ำ” สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ชื่อดังของบุรีรัมย์ ที่ยังคงความเข้มขลังอลังการทุกครั้ง เมื่อปรากฏในละครหรือภาพยนตร์

ขอชวนมาทำความรู้จักกับทั้งสองปราสาทกันอีกสักครั้ง เพื่อตามรอย เจ้าหญิงอทิตยา แม่ทัพอนิลบถ ฑิฆัมพรราชา พระนางจันทราวดี ในละครพรหมลิขิตตอนล่าสุด



ความสำคัญของปราสาทพนมรุ้ง
ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานศิลปะแบบขอมที่มีความงดงามและมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย โดยกลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคสมัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 - 18


สำหรับชื่อ “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ โดยคำนี้ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทพนมรุ้ง


ประวัติการสร้าง
สันนิษฐานว่า อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียวกัน ในช่วงแรกได้มีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชนขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15

 ได้แก่ ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานและกรอบประตู หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ โดยอาณาจักรเขมรโบราณ หรือผู้นำที่ปกครองชุมชน อันมีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง


ปราสาทพนมรุ้ง คงมีความสำคัญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พุทธศักราช 1511 - 1544) พระองค์ทรงนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เช่นเดียวกับพระราชบิดา (พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2) นอกจากจะมีพระราชโองการให้สร้างจารึกเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระราชบิดาแล้ว ยังทรงถวายที่ดินให้กับเทวสถานด้วย

ในสมัยนี้เองเทวสถานบนเขาพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบอย่างแท้จริง จากข้อความในจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งแสดงให้เห็นว่าเทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ คือ ศิวลึงค์ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีที่ดินซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าชัยวรมันที่ 5) และข้าราชการระดับต่างๆ ถวายหรือซื้อถวายให้กับเทวสถาน พร้อมกับมีพระราชโองการให้ปักหลักเขตที่ดินขึ้นกับเทวสถานเขาพนมรุ้ง พร้อมกับการสร้างเมือง สร้างอาศรมให้กับโยคี และนักพรต


กำเนิดปราสาทประธาน
ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานขึ้น จากการศึกษาศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 กล่าวว่าปราสาทประธานสร้างขึ้นในสมัย “นเรนทราทิตย์” ท่านเป็นโอรสของพระนางภูปตีนทรลักษมี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีความสามารถในการรบ ได้เข้าร่วมกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นจากศึกสงคราม

นเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ ทรงได้ดำเนินการสร้างปราสาทหลังใหญ่ขึ้นประดิษฐานรูปเคารพ สร้างงานศิลปกรรมปรากฎเป็นงานสลักตามส่วนต่างๆ ที่ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า มีความประสงค์ที่จะสร้างเทวสถานแห่งนี้เป็นเทวาลัยของพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธานและยังมีการนับถือเทพองค์อื่นๆ แต่อยู่ในสถานะเทพชั้นรอง


นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏขึ้นในจารึกยังแสดงให้เห็นว่า นเรนทราทิตย์ ได้สร้างปราสาทแห่งนี้เพื่อประดิษฐานรูปเคารพของตนเอง เพื่อเตรียมไว้สำหรับการเข้าไปร่วมกับเทพที่ทรงนับถือหลังจากสิ้นพระชนม์ ความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนา ทำให้ท่านออกบรรพชาถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย

ข้อความที่ปรากฏในจารึกพนมรุ้ง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ท่านคงเป็นนักพรตในลัทธิไศวนิกาย ตามแบบนิกายปศุปตะที่มีการนับถือกันมาแล้วแต่เดิม โอรสของนเรนทราทิตย์ คือ หิรัณยะ เป็นผู้ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดา และได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำ


สิ่งก่อสร้างสมัยสุดท้าย คือ บรรณาลัย และพลับพลา ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมซ่อมแซมขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 - 1763) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทรงโปรดให้สร้างอโรคยศาล จำนวน 102 แห่ง และที่พักคนเดินทาง หรือธรรมศาลา จำนวน 121 แห่ง ขึ้นในดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์




อันซีนพนมรุ้ง ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก ลดช่องประตู
นอกจากความงดงามอลังการของ “ปราสาทพนมรุ้ง” ที่เป็นสถาปัตยกรรมจากยุคโบราณ ยังมีอีกหนึ่งความน่าอัศจรรย์คือ ใน 1 ปี จะมี 4 วันที่พระอาทิตย์ขึ้น-ตกลอดผ่านช่องประตูทั้ง 15 ประตูเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งหนึ่งปีจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่

พระอาทิตย์ตกลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ วันที่ 5-7 มีนาคม และ 5-7 ตุลาคม
พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และ 8 -10 กันยายน

เรื่องนี้มีข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการว่า สถาปนิกขอมโบราณน่าจะเลือกสร้างปราสาทพนมรุ้ง โดยใช้แสงอาทิตย์ยามเช้ากำหนดทิศทางของปราสาทและแนวประตูทั้ง 15 ช่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี แต่ต่อมาการหมุนของโลกเบี่ยงเบนไปเรื่อยๆ วันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องลอดทะลุประตูทั้ง 15 ช่อง จึงเลื่อนขึ้นมาปรากฏในช่วงต้นเดือนเมษายน

ปราสาทพนมรุ้ง
ความสำคัญของปราสาทเมืองต่ำ
ตั้งอยู่บริเวณบ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร

ปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทหินศิลปะขอมแบบปาปวน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 (หรือประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว) เพื่อเป็นเทวสถานของลัทธิฮินดูไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะ หรือ พระอิศวรเป็นเทพสูงสุด มีลักษณะเป็นศาสนสถานประจำเมืองหรือชุมชน จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในละแวกนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่น ชุมชนบ้านโคกเมือง โคกยายคาน โคกสลองตอง เป็นต้น

ปราสาทเมืองต่ำ นับว่ามีอายุมากกว่าปราสาทหินพนมรุ้งและนครวัดประมาณ 100 ปี แต่มีอายุเท่าๆ กับปราสาทเขาพระวิหารเพราะสร้างในช่วงสมัยเดียวกัน ซึ่งตรงกับเวลาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนครหลวง (เขมร) ในสมัยนั้น

ปราสาทเมืองต่ำ
โบราณวัตถุที่ขุดพบ
โบราณวัตถุที่ปราสาทเมืองต่ำ มีทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดิน เครื่องถ้วยชามเคลือบสีน้ำตาลและเคลือบสีเขียว เป็นจำนวนมาก หลักฐานเหล่านี้แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีอายุใกล้เคียงกับการสร้างปราสาท ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบคลัง และบาปวน กำหนดอายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว


ขนาดไม่ใหญ่แต่สถาปัตยกรรมสุดตื่นตาตื่นใจ
แม้ว่ามีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยแผนผังของปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยกำแพงมีความสูงเกือบ 3 เมตร ภายนอกปราสาทมีสระน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เมื่อผ่านซุ้มประตูกำแพงแก้วเข้าไปจะพบกับระเบียงคดและซุ้มประตูอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน องค์ปราสาทก่อด้วยอิฐเรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ และแถวหลังอีก 2 องค์ กลุ่มปราสาทอิฐทั้ง 5 องค์ แสดงสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล


ปราสาทเมืองต่ำก็มีจุดเด่นอยู่หลายจุดด้วยกันเริ่มด้วยจุดแรกที่หน้าบันเป็นรูป “พระอินทร์ประทับนั่งบนช้างเอราวัณ” โดยมีตัวหน้ากาลซึ่งหน้าตาคล้ายสิงห์อยู่ข้างล่าง ท่ามกลางลวดลายสลักรูปดอกไม้ จุดที่สองจะเป็น “โคปุระหรือซุ้มประตูชั้นนอก” ที่มีประตูสามบาน คือบานเล็กซ้าย-ขวา และบานประตูกลางบานใหญ่เป็นบานสำคัญ


เมื่อเดินผ่านประตูนี้ไปก็จะพบกับ “บาราย” (สระน้ำ) ที่สร้างรายรอบตัวปราสาททั้ง 4 ด้าน เปรียบดังมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ที่มุมขอบสระสร้างเป็นรูปพญานาค 5 หัว กำลังชูคอแผ่พังพาน ด้านบนหัวพญานาคเรียบเกลี้ยงไม่มีรัศมีหรือเครื่องประดับใดๆ จนถูกเรียกเป็น “พญานาคหัวโล้น” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปะขอมแบบบาปวนที่ยังคงเอกลักษณ์ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้


นอกจากนี้ภายในปราสาทเมืองต่ำยังมีภาพสลักหินบนทับหลังซุ้มประตูด้านตะวันออกรูป “พระอินทร์นั่งประทับบนตัวหน้ากาล” ท่ามกลางลวดลายประดับรอบๆ ที่ดูสวยงามลงตัว ซึ่งเชื่อว่าพระอินทร์จะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่ภายในปราสาท ส่วนซุ้มประตูชั้นในมีซากของฐานบรรณาลัย ที่สันนิษฐานว่าสร้างไว้เพื่อเก็บคัมภีร์ โดยปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานของอาคาร และยังมีลวดลายสลักต่างๆ อีกมากมายให้ได้ชม


ว่าที่มรดกโลกของไทยในอนาคต
ปัจจุบัน “ปราสาทพนมรุ้ง กับ ปราสาทเมืองต่ำ” ได้รับบรรจุไว้ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” หรือ Tentative List ของศูนย์มรดกโลก ในฐานะ “กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์” เพื่อดำเนินการจัดทำเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกต่อไปในอนาคต


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น