xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “เมืองสองแคว” พิษณุโลก หัวเมืองสำคัญในสมัยอยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ละครดัง “บุพเพสันนิวาส” กับ “พรหมลิขิต” มีการกล่าวถึง “เมืองสองแคว” หรือ “เมืองพระพิษณุโลก” มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเมืองบ้านเกิดของตัวละครเอกอย่าง “แม่หญิงการะเกด” ซึ่งในภาคต่อของละคร “พรหมลิขิต” ก็มีเรื่องราวการเดินทางไปยังเมืองสองแคว

จึงอยากชวนมาทำความรู้จักว่าเหตุใดจึงชื่อ “เมืองสองแคว” และเมืองนี้มีความสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย


ที่มาของ “เมืองสองแคว”
หลักฐานการสร้างเมืองพิษณุโลก มีมาแต่พุทธศตวรรษที่ 15 สมัยขอมมีอำนาจปกครองดินแดนแถบนี้ แต่เดิมที่ตั้งของเมืองเก่าห่างจากที่ตั้งเมืองปัจจุบัน ลงไปทางทิศใต้ ประมาณ 5 กิโลเมตร และมีชื่อเรียกว่า “ เมืองสองแคว” เนื่องจากเมืองตั้งอยู่ระหว่าง “แม่น้ำน่าน” กับ “แม่น้ำแควน้อย” หรือบริเวณที่ตั้งของวัดจุฬามณีในปัจจุบัน

จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองปัจจุบัน โดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยคนทั่วไปก็ยังเรียกติดปากว่า “เมืองสองแคว” เช่นเดิม


ความรุ่งเรืองในสมัยสุโขทัย
เมืองสองแควอยู่ในอำนาจของราชวงศ์ผาเมือง จนกระทั่งในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงยึดเมืองสองแคว ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 1900 สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย เสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ ณ ตัวเมืองปัจจุบัน

พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงนำความเจริญมาสู่สองแคว เช่น การสร้างเหมือง ฝาย สนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่เพราะปลูก สร้างทางคมนาคมจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองสุโขทัย มีการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา เพื่อประดิษฐานไว้ใน พระวิหารพระศรีรัตนมหาธาตุ


ยุคทองของเมืองสองแควในสมัยอยุธยา
เมืองพิษณุโลกในสมัยอยุธยา นับว่าเป็นยุคทองที่มีความเจริญมากในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ พ.ศ.2006 - 2031 รวมระยะเวลา 25 ปี เหตุผลเพราะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

มีการจัดระเบียบการปกครอง ที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา มีอัครเสนาบดี เป็นผู้ช่วยในการบริหารงาน คือ สมุหกลาโหม สมุหนายกหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของ สมุหกลาโหม และหัวเมืองชายทะเลอยู่ในความดูแลของกรมท่า

ส่วนทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ก็มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ของเดิมที่มีมาครั้งกรุงสุโขทัย เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่)วัดจุฬามณี วัดอรัญญิก วัดนางพญา วัดราชบูรณะ และวัดเจดีย์ยอดทอง เป็นต้น โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว จนเมืองแห่งนี้เป็นดั่งราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา


เมืองสองแควกับการกอบกู้เอกราช
พิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเป็นหน้าด่านสำคัญที่จะสกัดกั้นกองทัพพม่า เมื่อครั้งพระนเรศวรมหาราชดำรงฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ.2112-2133 ได้ทรงปลุกสำนึกให้ชาวพิษณุโลก เป็นนักกอบกู้เอกราชเพื่อชาติไทยมาได้ และทรงสถาปนาพิษณุโลกเป็นเมืองเอก เพื่อสานต่อความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน




ดังนั้น ช่วงเวลาที่ปรากฏในละครดังที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้นมา จนถึงปลายสมัยอยุธยา สถานะของ “เมืองสองแคว” หรือ “เมืองพิษณุโลก” จึงเป็นหัวเมืองที่มีความรุ่งเรือง เป็นเมืองเก่าแก่และมีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น