xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุดเที่ยว 7 จุด ตามรอย “พรหมลิขิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เที่ยวตามรอยละคร “พรหมลิขิต”
ตามรอยละครพีเรียดแห่งปี “พรหมลิขิต” กับ 7 ที่เที่ยวที่ชวนแวะไปเช็คอิน ไม่ว่าจะเป็นวัดสวยในอยุธยา เมืองโบราณ หรือวัดใหญ่ที่พิษณุโลก งานสะบัดสไบใส่ชุดไทยไปเที่ยวต้องกลับมาอีกครั้ง

ภาพจากละคร “พรหมลิขิต”
อีกหนึ่งละครไทยที่หลายคนรอคอย สำหรับเรื่อง “พรหมลิขิต” ภาคต่อจากละครพีเรียดชื่อดัง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งการกลับมาในภาคต่อครั้งนี้ ก็ยังคงมีกระแสแรงอย่างต่อเนื่อง แม้จะเพิ่งออนแอร์ได้เพียงไม่กี่ตอน แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก

เมื่อคราวละครบุพเพสันนิวาสออกอากาศ ก็เกิดกระแสการเที่ยวตามรอย ใส่ชุดไทยไปเที่ยวตามวัดวาอารามที่อยุธยา ไปจนถึงเมนูอาหารรสเด็ดจากละคร ซึ่งในเรื่องพรหมลิขิต ก็เริ่มมีการแสการเที่ยวตามรอยละครออกมาแล้ว

สำหรับใครที่อยากจะไปเที่ยวตามรอยละครพรหมลิขิต ชวนมาดู 7 จุดเที่ยวตามรอยละคร กับแม่หญิงการะเกด คุณพี่เดช พ่อเรือง พ่อริด แม่พุดตาน และพวกพ้อง

ภาพจากเพจ “ครอบครัวละคร 3”
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
เป็นวัดสำคัญที่ปรากฏอยู่ในเรื่องบุพเพสันนิวาส และพรหมลิขิต โดยบ้านของคุณพี่เดช ตั้งอยู่ริมคลองใกล้กับวัดไชยฯ แห่งนี้เอง

“วัดไชยวัฒนาราม” เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม แล้วก็มีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่วัดไชยวัฒนาราม อยู่ที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ

มาดูช่วงกลางวันก็ว่าสวยแล้ว แต่ช่วงย่ำค่ำ พระอาทิตย์ตกดิน ก็จะมีการเปิดไฟส่องสว่างรอบๆ วัด ทำให้องค์พระปรางค์ดูงามอร่ามโดดเด่นเสียยิ่งกว่าตอนกลางวัน โดยในช่วงนี้กำลังมีการจัดงาน “ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม” นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม
วัดพุทไธศวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดแห่งนี้ปรากฏอยู่ในบุพเพสันนิวาสในฉากสถานที่ฝึกดาบของท่าอาจารย์ชีปะขาว ส่วนในพรหมลิขิตเป็นฉากในพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม

“วัดพุทไธศวรรย์” เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติการสร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา มีการวางผังตามความนิยมของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ มีพระปรางค์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ศิลปะอยุธยาตอนต้นผสมศิลปะแบบขอม มีระเบียงคดล้อมรอบ ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงรายอยู่โดยรอบ ด้านข้างพระปรางค์มีมณฑปข้าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้าก็มีพระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน ส่วนด้านหลังเป็นโบสถ์

อีกจุดที่น่าสนใจคือ จิตรกรรมล้ำค่าสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่อยู่ภายในพระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่นับได้วาเป็นงานศิลป์อันซีนอยุธยา จิตรกรรมมีความหลากหลายน่าตื่นตื่นใจ เช่น ไตรภูมิ ทศชาติชาดก พุทธประวัติตอนมารผจญ สระอโนดาด (ปากช้าง ม้า สิงห์ โค) สัตว์หิมพานต์ บานประตูเป็นภาพสตรีชาวมอญ พระพุทธโฆษาจารย์บนเรือสำเภาล่องไปลังกา ภาพฝรั่งสวมหมวกแต่งกายในสมัยอยุธยา เป็นต้น

วัดพุทไธศวรรย์

ปรางค์ประธาน วัดพุทไธศวรรย์

จิตรกรรมภายในพระตําหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
วัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา
ที่นี่เป็นจุดถ่ายทำฉากพระราชพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม และตอนที่แม่แก้วแม่ปรางมากราบพระในวัด

“วัดสุวรรณดาราราม” เป็นวัดประจำตระกูลราชวงศ์จักรี เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดทอง” ซึ่งเป็นวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างไว้สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานจำลองขยายส่วนพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมไตรภูมิ ด้านหน้าพระประธานเขียนภาพมารวิชัย ผนังเหนือกรอบหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม ผนังระหว่างกรอบหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถแต่เดิมเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และได้รับการบูรณะเรื่อยมา

ส่วนวิหาร เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะมีหน้าบันมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นตราประจำรัชกาล ลักษณะของตัวอาคารเลียนแบบจากอุโบสถ ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมถึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรรวมถึงเรื่องราวของพระปฐมราชวงศ์จักรี สืบเชื้อสายโกษาปาน เขียนขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ ๗ จิตรกรรมผู้วาดคือ พระยาอนุศาสนจิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

อุโบสถตกท้องช้าง วัดสุวรรณดาราราม

พระประธานในอุโบสถ วัดสุวรรณดาราราม

จิตรกรรมในวิหาร วัดสุวรรณดาราราม
วัดพระศรีสรรเพชญ์ และ พระราชวังโบราณ จ.พระนครศรีอยุธยา
โบราณสถานสำคัญ ที่แต่เดิมคือที่ตั้งของพระราชวังโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเรื่องพรหมลิขิตนั้น เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

“พระราชวังโบราณ” เป็นพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ มีการสร้างพระที่นั่งต่างๆ เพิ่มขึ้นในอีกหลายครั้งตลอดระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งปัจจุบัน พระราชวังหลวงเหลือแต่เพียงฐานรากของพระที่นั่งองค์ต่างๆ เท่านั้น

ส่วนที่อยู่ติดกันคือ “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ที่เดิมนั้นเป็นวัดหลวงประจำพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพมหานคร

ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีเจดีย์ทรงลังกาจำนวน 3 องค์ วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตก สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ต่อมาก็ทรงให้สร้างเจดีย์องค์ต่อมา (องค์กลาง) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) และเจดีย์ฝั่งตะวันตก สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชบิดา รวมเป็นสามองค์ตามที่เห็นในปัจจุบัน

พระราชวังโบราณ

วัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ติดกับพระราชวังโบราณ

วัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดพระงาม คลองสระบัว จ.พระนครศรีอยุธยา
เป็นฉากเปิดตัวแม่พุดตาน นางเอกของเรื่อง ที่ยังคงอยู่ในยุคปัจจุบัน ขี่สกู๊ตเตอร์ผ่านหน้าซุ้มประตูที่เป็นไฮไลต์ของวัด

“วัดพระงาม” เป็นวัดร้างนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว ในบริเวณทุ่งนาหลวงโบราณที่เรียกว่า “ทุ่งขวัญ” ซึ่งมีคลองสำคัญสายประวัติศาสตร์นามว่า “คลองสระบัว” ไหลผ่าน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเรียกว่า “ทุ่งแก้ว” และชาวบ้านละแวกนี้เรียกชื่อวัดว่า วัดชะราม

วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่จากลักษณะการวางผังของวัด และสถาปัตยกรรมหลัก ได้แก่ พระสถูปประธานทรงลังกาในผัง 8 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รวมถึงเป็นที่นิยมในกลุ่มศิลปะจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้น เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงกัน เช่น วัดหน้าพระเมรุ วัดตะไกร เป็นต้น

ไฮไลต์ของวัดแห่งนี้คือ “ซุ้มประตูแห่งกาลเวลา” เป็นซุ้มประตูโค้งรูปกลีบบัวที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกเมื่อคราวที่น่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซุ้มประตูนี้ก่อด้วยอิฐ และมีเสน่ห์ที่โดดเด่นคือ มีต้นโพธิ์และรากโพธิ์ปกคลุมงดงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะยามเย็นที่แสงอาทิตย์ส่องลอดประตูออกมา

วัดพระงาม

วัดพระงาม

ซุ้มประตูแห่งกาลเวลา
เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
“เมืองโบราณ” เป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำสำคัญของทั้งบุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต โดยมีหลายฉากที่ปรากฏอยู่ในละคร ไม่ว่าจะเป็น โซนตลาดน้ำ ท้องพระโรงกรุงธนบุรี ที่ใช้เป็นฉากถ่ายทำพระตำหนักของกรมพระราชวังบวรฯ วิหารสุโขทัย เป็นฉากถ่ายทำวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นฉากถ่ายทำพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ และยังมี ศาลาท้ายสระ ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อการถ่ายทำในครั้งนี้

หากดูในแผนที่ของ “เมืองโบราณ” จะเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายกับแผนที่ประเทศไทย โดยมีการจำลองงานสถาปัตยกรรมอันสวยงามและทรงคุณค่าของไทยมาไว้มากมาย มีทั้งสถาปัตยกรรมที่รื้อถอนจากของจริงมาปลูก มีทั้งการจำลองมาจากของจริง และใช้องค์ความรู้สร้างขึ้นมาใหม่

สถาปัตยกรรมสวยๆ แบบนี้ มีใช้ชมครบทุกภาคทั่วประเทศไทย อย่างเช่น พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ที่จำลองมาจากยุคกรุงศรีอยุธยา พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จำลองมาจากในพระบรมมหาราชวัง วิหารหลวงวัดมหาธาตุ จาก จ.สุโขทัย พระธาตุพนม จาก จ.นครพนม เป็นต้น

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เมืองโบราณ

โซนตลาดน้ำ เมืองโบราณ

ท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก
“เมืองสองแคว” เป็นอีกสถานที่ที่ถูกพูดถึงในละครเรื่องนี้ โดยจะมีฉากที่กล่าวถึงการเที่ยวชมในเมืองสองแคว โดยเฉพาะที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดสำคัญแห่งเมืองสองแคว

“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร” หรือที่คนพิษณุโลกเรียกกันว่า “วัดใหญ่” ที่นี่เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย และเมื่อใครมาถึงที่วัดใหญ่แห่งนี้ก็มักจะตรงเข้าไปสักการะพระพุทธชินราชก่อนเป็นอันดับแรก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

พระพุทธชินราช

พระอัฏฐารส
“พระพุทธชินราช” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ส่วนซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งด้วยพุทธลักษณะอันงดงามโดดเด่น พระพุทธชินราชจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในประติมากรรมพุทธศิลป์ชั้นสูงสุดของเมืองไทย

นอกจากนี้วัดใหญ่ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณสถานสำคัญเพียงชิ้นเดียวที่ยังคงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเก่าแก่ของวัด บริเวณฐานชุกชีมี “พระอัฏฐารส” ประทับยืนประทานพร สูง 18 ศอก หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมาข้างพระกาย เบื้องพระปฤษฎางค์ก่อผนังปูนหนา มีเสาไม้ค้ำยันไว้ 2 ต้น สันนิษฐานว่าของเดิมทำขึ้นเพอเป็นบันไดสำหรับขึ้นไปสูงจนถึงพระศอ

ละคร “พรหมลิขิต” ยังมีผังออนแอร์ไปจนถึงช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งนับจากนี้เรื่องราวจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และสามารถชมสถานที่ต่างๆ ที่จะปรากฏเป็นฉากสวยๆ ในละครเรื่องนี้



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น