xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! “1 ครอบครัว 1 Soft Power” ทำชาวเน็ตว้าวุ่น...อิหยังหว่า!?? บางคนบอก “แบบนี้ Ku ก็เป็นรัฐมนตรีได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ทำชาวเน็ตสุดงง...อิหยังหว่า!??
ดราม่ากระหน่ำทันที หลัง “รมต. เสริมศักดิ์” จุดพลุ นโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” ทำชาวเน็ตสุดงง “อิหยังหว่า!??” ก่อนเจ้าตัวจะออกมาแจง ว่าไม่ใช่ทำทุกครอบครัว แต่เป็นการพัฒนาครอบครัวที่มีความสามารถแต่ขาดเงินทุน เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพตามนโยบายแก้จนของพรรคเพื่อไทย

ดราม่า 1 ครอบครัว 1 Soft Power


กลายเป็นดราม่าเพียงชั่วข้ามคืน หลัง “นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ชูนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” เพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายเสริมศักดิ์ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน (เมื่อวันที่ 5 ก.ย.66) ว่า เดิมกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องของสังคม แต่ตนจะทำให้กระทรวงวัฒนธรรมมาเน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” โดยจะมีการทำงานควบคู่ไปกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงอื่น ๆ เพื่อเติมเงินในกระเป๋าให้แต่ละครอบครัวมีรายได้ถึง 20,000 บาทต่อเดือน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
หลังให้ข่าวนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power นายเสริมศักดิ์ก็ได้กลายเป็นตำบลกระสุนตก เกิดดราม่าอย่างรวดเร็วบนโลกโซเชียล โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นงุนงง ว้าวุ่น อิหยังหว่า!?? กับนโยบายดังกล่าว ด้วยไม่เข้าใจว่า ความหมายของ...1 ครอบครัว 1 Soft Power คืออะไร??? โดยหลายความเห็น ระบุไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเช่น รมต.เสริมศักดิ์รู้จกและเข้าใจ Soft Power ดีแค่ไหน หรือใช้คำ Soft Power พร่ำเพรื่อ และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ โดยบางคนเดือดถึงขั้นคอมเมนต์บางช่วงว่า “กูก็ยังคงอยู่ในยุคที่รู้สึกว่ารัฐมนตรีไม่ได้ฉลาดไปกว่ากู แบบนี้กูก็เป็นรัฐมนตรีได้

ขณะที่อินฟลูคนกันเองที่เคยโจมตีรัฐบาลก่อนและเคยมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยบางคนก็มาแสดงความเห็นที่สวนทางกับ รมต.เสริมศักดิ์ อย่างเช่น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เป็นต้น

คอมเมนต์จาก วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
อย่างไรก็ดีหลังเกิดดราม่าไปทั่วท้องพาราบนโลกโซเชียล นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ก็ได้รีบออกมาให้ข่าวไขความกระจ่างในนโยบายดังกล่าวว่า

“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” จะทำให้มีจำนวนมากถึง 30 ล้านซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ ตอบว่า ไม่ใช่ และต้องขอทำความเข้าใจ หนึ่งคือ ต้องเป็นครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน และซอฟต์พาวเวอร์เหล่านี้เป็นพรสวรรค์ของคน จะต้องไปสำรวจก่อนและลงทะเบียนให้ชัดเจน ไม่ใช่จะต้องแยกเป็นครอบครัวละ 1 งาน อาจจะเป็น 1 หมู่บ้านที่ถนัดงานเหมือนกัน ว่าใครถนัดด้านไหน แต่เราจะแยกเป็นครัวเรือน เพื่อสามารถตรวจสอบรายได้ ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องทำให้มี 30 ล้านซอฟต์พาวเวอร์ เพราะความถนัดของทุกคนมีระดับ เช่น 5 F ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งอาชีพที่เราส่งเสริมจะมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน

“เพราะนโยบายการแก้จนของเรา ต้องแก้ที่ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุด เราต้องเข้าไปส่งเสริมอาชีพที่เขาถนัด หากเงินไม่ถึง 20,000 บาทก็เติมให้เต็ม ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ จากกระทรวงการคลังส่วนหนึ่ง เราประมาณการแล้วว่า สามารถจัดเก็บภาษี หรือปรับงบบางส่วนมาใช้ตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชน” รมต.กระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

คอมเมนต์บางส่วนจากชาวเน็ต
Soft Power คำนี้ติดหูง่าย แต่เข้าใจยาก

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คำว่า “Soft Power” (ซอฟต์พาวเวอร์) เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว อาหารไทย และบันเทิง โดยเฉพาะกับปรากฏการณ์ “ลิซ่าฟีเวอร์” (ลิซ่า BLACKPINK : ลลิษา มโนบาล) ที่หนุ่นส่งให้ Soft Power ไทยหลายอย่างโด่งดังได้รับความนิยมในระดับโลก

Soft Power หรือ “อำนาจละมุน” ในส่วนหนึ่งของบทความ “Soft Power (อำนาจละมุน)” ในเว็บไซต์ “หอสมุดรัฐสภา” ระบุว่า

...Soft Power เป็นแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้อธิบายไว้ว่า “Soft Power” (อำนาจละมุน) หมายถึง ความสามารถในการชักจูงใจ ทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจหรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตามสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อำนาจ โดยกลไกหลักที่สำคัญในการใช้ Soft Power คือ การสร้างความดึงดูดใจต่อผู้อื่น และผลจากการใช้ Soft Power ต้องเกิดจากการดึงดูดใจที่ชักจูงให้คล้อยตามโดยปราศจากการคุกคามหรือการแลกเปลี่ยนสิ่งใด ซึ่งแตกต่างจากการใช้อำนาจแบบดั้งเดิม คือ อำนาจเชิงบังคับขู่เข็ญ หรือ Hard Power เช่น การใช้อำนาจทางการทหารและการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งมุ่งคุกคามผู้อื่น...

ลิซ่า BLACKPINK ผู้นำ Soft Power ไทย อันหลากหลายสู่สายตาชาวโลก
ทั้งนี้หากอธิบายโดยสรุปจากบทความดังกล่าว Soft Power คือ อำนาจหรืออิทธิพลที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ แต่เป็นการขยายอิทธิพลที่ทำให้ผู้รับมีส่วนร่วม (แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ) โดยก่อให้เกิดการยอมรับ การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและความคิดได้ โดยหลาย ๆ ประเทศต่างก็มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาได้ผลักดัน Soft Power ไทยสู่ระดับโลก ผ่านแนวคิด “5F” ได้แก่ F-Food : อาหาร, F-Film : ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F- Fashion : ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น, F- Fighting : ศิลปะการต่อสู้นำโดยมวยไทย และ F- Festival : เทศกาลและประเพณี นำโดยงานสงกรานต์และลอยกระทง เพื่อช่วยสร้างรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ

โขนไทย Soft Power ผงาดอวดชาวโลกในงาน Amazing Thailand Fest 2023 ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย (ภาพ : ททท.)
นอกจากนี้ยังมีการนำ Soft Power ไทยไปเผยแพร่ ผ่านการจัดงานและอีเวนต์ต่าง ๆ ในต่างประเทศ อย่างเช่นงาน “Amazing Thailand Fest 2023” ที่ทางการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นแม่งานนำ Soft Power ที่โดดเด่นของไทยไปเผยแพร่ใน 4 เมืองสำคัญของโลก ได้แก่ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา, บาร์เซโลนา ประเทศสเปน, โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่อวดโฉม Soft Power ไทยสู่สายตาชาวโลกแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

จาก OTOP สู่ 1 ครอบครัว 1 Soft Power


นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power เน้นการสร้างอาชีพแรงงานทักษะสูง
สำหรับนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” (One Family One Soft Power) ที่กลายเป็นดราม่าเพียงชั่วข้ามคืนนั้น เป็น 1 ในนโยบายหาเสียงแก้จนของพรรคเพื่อไทย โดยการนำคำว่า Soft Power ที่กำลังได้รับคำนิยมใช้ในนโยบายดังกล่าว

1 ครอบครัว 1 Soft Power เป็นนโยบายที่ใช้แนวคิดเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” แล้วมาเฟ้นหาศักยภาพอย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน (เฉพาะครอบครัวที่เข้าเกณฑ์ตามที่นายเสริมศักดิ์ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ทุกครอบครัวในประเทศไทย) โดยมี “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับประเทศ เป็นผู้ฝึกฝนทักษะอาชีพตามความถนัดของคนนั้น ๆ ซึ่งนโยบายดังกล่าว ตั้งเป้าว่า จะก่อให้เกิดแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

1 ครอบครัว 1 Soft Power ต่อยอดมาจาก OTOP
อย่างไรก็ดีงานนี้หลาย ๆ คนมองว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นนโยบายที่ดูแล้วคุ้น ๆ ซึ่งนายเสริมศักดิ์ได้ออกมาให้ข่าวว่า นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power เป็นการต่อยอดนโยบายดั้งเดิมของพรรคไทยรักไทย คือ “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP” นั่นเอง

งานนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่านโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” ที่ต่อยอดมาจากนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP นั้น ในอนาคตจะเดินไปในทิศทางใด “รุ่งเรือง รุ่งโรจน์” หรือ “รุ่งริ่ง ล้มเหลว” เพราะ นโยบาย OTOP ในอดีตนั้น ด้านหนึ่งก็สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนไทยได้เป็นจำนวนมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเปิดช่องให้ นักการเมืองทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น-ข้าราชการ-และกลุ่มธุรกิจ ที่ฉ้อฉลชั่วหา แสดงหาผลประโยชน์โกงกินคอร์รัปชันกับนโยบายดังกล่าวกันเป็นจำนวนมากเช่นกัน

คอมเมนต์บางส่วนจากชาวเน็ต




กำลังโหลดความคิดเห็น