รมว.วัฒนธรรมชี้แจง นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร เผยคือการพัฒนาครอบครัวที่มีความสามารถแต่ขาดเงินทุน ยันเป็นการต่อยอดนโยบายดั้งเดิมของพรรคไทยรักไทย คือ "1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ (OTOP)"
จากกรณีการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ โดยประกาศว่าจะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดข้อสงสัยว่า "1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์" แท้จริงแล้วคืออย่างไรกันแน่
ล่าสุดวันนี้ (6 ก.ย.) มีรายงานว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับข้อสงสัยดังกล่าว โดยเจ้าตัวได้ระบุว่า
"1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์” จะทำให้มีจำนวนมากถึง 30 ล้านซอฟต์เพาเวอร์หรือไม่ ว่าไม่ใช่ และต้องขอทำความเข้าใจ หนึ่งคือ ต้องเป็นครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน และซอฟต์เพาเวอร์เหล่านี้เป็นพรสวรรค์ของคน จะต้องไปสำรวจก่อนและลงทะเบียนให้ชัดเจน ไม่ใช่จะต้องแยกเป็นครอบครัวละ 1 งาน อาจจะเป็น 1 หมู่บ้านที่ถนัดงานเหมือนกัน ว่าใครถนัดด้านไหน แต่เราจะแยกเป็นครัวเรือน เพื่อสามารถตรวจสอบรายได้ ยืนยันว่าไม่ได้ต้องทำให้มี 30 ล้านซอฟต์เพาเวอร์ เพราะความถนัดของทุกคนมีระดับ เช่น 5F ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งอาชีพที่เราส่งเสริมจะมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน
เพราะนโยบายการแก้จนของเราต้องแก้ที่ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุด เราต้องเข้าไปส่งเสริมอาชีพที่เขาถนัด หากเงินไม่ถึง 20,000 บาทก็เติมให้เต็ม ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้จากกระทรวงการคลังส่วนหนึ่ง เราประมาณการแล้วว่า สามารถจัดเก็บภาษี หรือปรับงบบางส่วนมาใช้ตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชน"