“หลงรักอุบล”
นอกจากสาวงามเมืองดอกบัวแล้ว ก็มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งในเมืองอุบลฯนี่แหละ ที่ทำให้ผมหลงรัก
หนึ่งในนั้นก็คือ “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” ที่มี “ทุ่งดอกไม้ป่า” อันสวยงาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งที่ที่ผมหลงรักตั้งแต่แรกพบ
1.
วนอุทยานน้ำตกผาหลวง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในพื้นที่บ้านนาเลิน ต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี
วน.น้ำตกผาหลวง เป็นแนวเทือกเขาหินทรายหลายภูทอดตามเชื่อมต่อกัน โดยมี “ภูหลวง” เป็นแหล่งกำเนิดของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในวนอุทยานแห่งนี้
ภูหลวง เป็นภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ ด้านบนเป็นยอดเขาหัวตัด มีลานหินกว้างขวาง มี “น้ำตกผาหลวง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวดาวเด่นในช่วงหน้าฝน ที่มีปริมาณน้ำมากดูสวยงาม
น้ำตกผาหลวง หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า “น้ำตกผาแซ” เป็นน้ำตกสูงประมาณ 20 เมตร ต้นน้ำมาลำธารบนภูหลวง ไหลตกลงเป็นม่านน้ำแผ่สยายกว้าง ผ่านเวิ้งถ้ำเพิงผาที่ซุกซ่อนอยู่ด้านหลัง สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ซึ่งทาง วน.น้ำตกผาหลวงได้ทำหอชมวิวน้ำตกไว้ให้ชมกันบริเวณลานจอดรถ
ครั้นพอถึงช่วงฤดูหนาว หลังสายน้ำตกผาหลวงค่อย ๆ ลดน้อยเบาบางก่อนจะเหือดแห้งไป มวลหมู่ดอกไม้ป่าบนพลาญหิน (ลานหิน) บนยอดภูหลวงจะค่อย ๆ เติบโตออกดอกเบ่งบานสะพรั่ง
เกิดเป็น “ทุ่งดอกไม้ป่าน้ำตกผาหลวง” (ทุ่งดอกหญ้า) ย้อมประดับลานหินกว้างใหญ่ที่แห้งแล้งให้ดูมีสีสันสวยงามสะดุดตา อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นทุ่งดอกไม้ป่าบนพลาญหินที่มีสวยงามเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ซึ่งถือไฮไลท์สำคัญในช่วงหน้าหนาวของ วน.น้ำตกผาหลวง
2.
ปัจจุบันการเที่ยวชมทุ่งดอกไม้ป่าน้ำตกผาหลวง ทางวนอุทยานฯ ได้ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นวงรอบ ระยะทางเดินรวม ๆ ประมาณ 2-3 กม. ให้เราเดินขึ้นเขาไปเที่ยวบนลานหินบนยอดภูหัวตัดกันอย่างเพลิดเพลิน (ขึ้นอยู่กับเราจะเลือกแวะเที่ยวที่ไหนบ้าง) โดยมีการปรับทางเดินขึ้นหลักเป็นเส้นทางปูนที่ไม่ทำลายทัศนียภาพ ทำให้เดินขึ้นง่ายกว่าแต่ก่อนที่เป็นเส้นทางดินเดินขึ้นเขาชันเยอะเลย
สำหรับการเดินขึ้นยอดเขาภูหลวงของผมในทริปนี้ได้พี่ “วิทยา บุคำ” หรือ “พี่วิทย์” เจ้าหน้าที่สื่อความหมายอารมณ์ดี จาก วน.น้ำตกผาหลวง มาเป็นไกด์นำชมควบคู่ไปกับการเดินเก็บมุกที่หล่นเกลื่อนกลาด
จากจุดเริ่มต้น “เสาเฉลียง” ด้านหน้าที่มีนกฮูก (ปลอม) 2 ตัวเกาะอยู่ พี่วิทย์พาเดินขึ้นเขาชันเล็กน้อยสลับชันปานกลาง ผ่านป่าโปร่งร่มรื่นขึ้นไปแวะชม “น้ำตกผาหลวง” ซึ่งตอนที่ผมขึ้นไป (29 พ.ย.63) สายน้ำตกผาหลวงเหลือน้อยมาก ค่อย ๆ ไหลรวยริน รอวันเหือดแห้ง
ขณะที่ใต้เพิงผาของน้ำตกประดิษฐาน “หลวงพ่อผาหลวง” ให้กราบไหว้เอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะเดินทางขึ้นเขาต่อไป โดยระหว่างทางจะผ่าน “หยดน้ำทิพย์” ที่เป็นสายธารน้ำหยดผ่านผาหิน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถใช้ดื่มกิน ล้างหน้าหน้าตาให้สดชื่น
ต่อจากนั้นเดินต่อไปอีกไม่ไกลก็จะถึงลานหินบนยอดเขาที่มีป้ายไม้ปักบอกเส้นทางให้เลือกว่าเราจะไปทางไหน? ไปซ้าย-หรือไปขวา?
3.
ในทริปนี้เราตั้งจุดหมายหลักของการเที่ยว วน.น้ำตกผาหลวงไว้ 2 จุดใหญ่ด้วยกันคือ ทุ่งดอกหญ้า กับ หม้อหินผาหลวง
เมื่อขึ้นมาถึงบนยอดพี่วิทย์จึงพาพวกเราเดินออกเส้นขวามุ่งสู่ทุ่งดอกหญ้าก่อนเป็นจุดหลักแรก กับเส้นทางเดินเลาะเลียบผา ซึ่งระหว่างทางเราแวะไปชมลำธารต้นน้ำตกผาหลวง ที่เป็นสายลำธารใสไหลเย็นมายังแอ่งริมหน้าผาแล้วไหลตกลงไปเป็นสายน้ำตกผาหลวง
ลำธารที่นี่ตรงช่วงก่อนไหลลงสู่หน้าผามีลักษณะเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติสายน้ำใสไหลเย็น เป็นดังจากุชชี่กลางป่า วิวทิวทัศน์สวยงาม บางคนเห็นแอ่งน้ำที่นี่อดใจไม่ไหวต้องลงแช่ ส่วนบางคนก็วักน้ำล้างหน้าล้างตาเติมพลังให้สดชื่น ก่อนมุ่งหน้าเดินต่อไปบนลานหินกว้างสู่ “ทุ่งใหญ่”
ระหว่างทางสู่ทุ่งใหญ่จะมีทุ่งดอกไม้เล็ก ๆ ขึ้นระหว่างทางเป็นหย่อม ๆ ให้แวะถ่ายรูปกัน 2-3 จุด ถือเป็นมุมสวย ๆ ระหว่างทางที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
จากนั้นพวกเราเดินดุ่ย ๆ ตามพี่วิทย์ต่อไปผ่านลานหินกว้างใหญ่ ที่บางช่วงบางตอนเป็นลานเรียบมีริ้วรอยเป็นคลื่นน้ำไหล บางช่วงเป็นแนวปุ่มปมหินดูแปลกตา ซึ่งล้วนต่างเกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ
ขณะที่บางช่วงพี่วิทย์จะชี้ให้ดู “ต้นรักใหญ่” หรือ “ต้นน้ำเกลี้ยง” ที่กำลังออกสีแดงอ่อนสวยงามเต็มต้น ต้นน้ำเกลี้ยงแม้ดอกมันจะสวยงาม แต่มันเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ไม่ควรเข้าใกล้สำหรับคนเดินป่า เพราะยางและขนจากใบแก่ของมันมีพิษ ถูกแล้วจะมีอาการคัน ใครแพ้อาจคันนานเป็นเดือนหรือผิวหนังบวมพอง
อย่างไรก็ดีพิษจากต้นรักนี่ไม่ร้ายกาจเท่าพิษจากความรัก เพราะพิษจากความรักนั้นมันกัดกินจนคั่งฝังทรวง แถมพิษรักนั้นยังหลอกลวงทำจนร้าวรอนอีกต่างหาก
จากลานหินแข็งแกร่งแฝงพิษ (ต้น) รักที่ผมมองเห็น 3-4 ต้น เดินไปอีกไม่นานก็จะถึงทุ่งดอกหญ้าทุ่งใหญ่ หรือ ทุ่งดอกไม้ป่าทุ่งไฮไลท์ ที่ถือว่าเป็นแปลงทุ่งดอกไม้บนพลาญหินที่มีขนาดใหญ่มากของเมืองไทย มีเนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่ ค่อย ๆ บานไล่เรียงกันไป
สำหรับดอกไม้ดาวเด่นของที่นี่เป็นพันธุ์ไม้เล็กกินแมลง นำโดย 5 พันธุ์ไม้นามพระราชทาน จากสมเด็จฯพระพันปีหลวง ซึ่งได้แก่
-ทิพเกสร (หญ้าฝอยเล็ก) ดอกสีชมพูอมม่วงอ่อน
-ดุสิตา (หญ้าข้าวก่ำน้อย, หญ้านกขาบ) ดอกสีม่วงเข้ม
-สร้อยสุวรรณา (หญ้าสีทอง) ดอกสีเหลืองเข้ม
-สรัสจันทร (หญ้าหนวดเสือ, กล้วยมือนาง) ดอกสีม่วงอ่อนแกมน้ำเงิน
-มณีเทวา(กระดุมเงิน, หญ้าหัวหงอก, หญ้าผมหงอก, จุกนกยูง, หญ้าดอกขาว) ดอกสีขาวนวล
พี่วิทย์บอกว่าทุ่งดอกหญ้าที่นี่บานแล้วประมาณ 70-80% และคาดว่าจะบานเต็มที่ช่วงกลางเดือนธันวาคม และจะเริ่มทยอยร่วงโรยไป
โดยปีนี้มวลหมู่ดอกไม้ป่าที่ขึ้นเยอะที่สุดจนกลายเป็นนางเอกในช่วงที่ผมขึ้นไป (29 พ.ย.63) คือ ทิพเกสร ที่ออกดอกบานรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ ย้อมลานหินให้กลายเป็นพรมธรรมชาติสีม่วงอ่อน ดูสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ
นอกจากนี้ก็ยังมีพืชพันธุ์น่าสนใจอื่น ๆ ในแปลงทุ่งหญ้าขึ้นแทรกแซม อย่าง หญ้าบัว, จอกบ่วาย (หยาดน้ำค้าง), หญ้าน้ำค้าง (บางพื้นที่เรียกหยาดน้ำค้าง) เอนอ้า, โคลงเคลง, แก้มอ้น (อ้นแดง) เป็นต้น
อนึ่งการเดินชม ถ่ายรูป เซลฟี่ ที่ทุ่งดอกไม้ทั้งที่ วน.น้ำตกผาหลวง หรือที่อื่น ๆ ทั่วเมืองไทย นักท่องเที่ยวห้ามไปเหยียบย่ำดอกหญ้าอย่างเด็ดขาด ต้องเดินตามเส้นทางที่ทางสถานที่นั้น ๆ กำหนดไว้ให้ เพื่อให้ดอกไม้เหล่านี้อยู่คู่กันสถานที่ในฤดูกาลนั้น ๆ ไปนาน ๆ
สำหรับเสน่ห์ของทุ่งดอกไม้ป่าที่ วน.น้ำตกผาหลวง นอกจากจะพร้อมใจกันเป็นแปลงใหญ่กว้างขวางแล้ว ยังมีกลุ่มแปลงดอกไม้ป่าต่าง ๆ ที่บานสลับแทรกแซมเป็นแปลงดอกไม้หลากสี รวมถึงมีต้นไม้ฟอร์มสวย ๆ เติมเต็มในองค์ประกอบ
ยามเมื่อลมพัดพลิ้วไหว ดอกไม้ที่นี่จะพร้อมใจกันโยกย้ายส่ายไปตามแรงลม สมดังคำว่า “ทุ่งดอกหญ้าเริงระบำ” ที่ดูแล้วช่างสวยงามเพริศแพร้วกระไรปานนั้น
4.
หลังเดินชมทุ่งดอกไม้ ถ่ายรูป เซลฟี่ วีฟี่กันอย่างจุใจ พวกเราไปหามุมร่มรื่นใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ลำธารเล็ก ๆ กินอาหารกลางวันจากฝีมือของเหล่าแม่บ้าน อบต.นาเลินเปิบเมนูพื้นบ้านรสเด็ด ข้าวเหนียว ส้มตำ ซุปหน่อไม้ ไก่ย่าง แจ่วบอง ที่อร่อยเด็ดและได้บรรยากาศ “นั่งกลางดินกินกลางป่า พารื่นรมย์” เป็นยิ่งนัก
อิ่มจากมื้อเที่ยง ก่อนหนังท้องจะเริ่มตึงหนังตาจะหย่อน พี่วิทย์พาเดินชมเสาหินรูปร่างแปลกตาต่าง ๆ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์บนลานหินยอดภูหลวง ซึ่งที่เด่น ๆ ก็มี กลุ่มหิน เสาเฉลียงรูปร่างแปลกตาต่าง ๆ อาทิ เสาเฉลียงโบกนกยูง ลานหินเต่า ลานจระเข้ เสาเฉลียงเก้านางดอกบาก และ “หม้อหินผาหลวง” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของที่นี่ และเป็นอีกหนึ่งจุดหมายหลักต้องห้ามพลาดของเราในทริปนี้
หม้อหินผาหลวง มีความสูง 304 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บริเวณผาหม้อ ที่เป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ริมผา สามารถมองลงไปเบื้องล่างเห็นวิวทิวทัศน์ของ อ.ศรีเมืองใหม่ ได้อย่างสวยงามกว้างไกล
นอกจากนี้ที่ผาหม้อยังมีไฮไลท์เป็นเสาเฉลียงขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ริมผา เป็นเสาหินยอดตัวที่ผมดูแล้วมีรูปร่างคล้ายหมวกหรือฝาหม้อขนาดใหญ่ไม่น้อย โดยมีจะงอยด้านหน้ายื่นแหลมลงไปในหน้าผา บนยอดตัดมี เฉลียงมีธงชาติไทยปักอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์บนยอดเสาและบนจะงอยได้
อย่างไรก็ดีการขึ้นไปยืนบนยอดเสาหรือที่จะงอยเสา นักต้องเที่ยวต้องระมัดระวังให้ดี ไม่ประมาท และไม่ควรยืนใกล้ริมขอบมากเกินไป โดยเฉพาะที่จะงอยแหลม เพราะถ้าพลาดพลั้งตกลงไป สภาพสิ่งที่เหลืออยู่คงไม่น่าดูสักเท่าไหร่
หม้อหินผาหลวง นับเป็นจุดสุดท้ายของการเที่ยว วน.น้ำตกผาหลวง ก่อนที่เราจะเดินตัดลงอีกทางหนึ่ง ที่ใกล้กว่าแต่ชันกว่า ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งของการมาเที่ยว วน.น้ำตกผาหลวง ที่วันนี้ทุ่งดอกไม้ป่าและภูผาหิน ของที่นี่ยังคงมีเสน่ห์ชวนให้ประทับใจไม่ต่างไปจากอดีต
5.
“หลงรักอุบล”
นอกจากสาวงามเมืองดอกบัวแล้ว ก็มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งในเมืองอุบลฯนี่แหละ ที่ทำให้ผมหลงรัก
หนึ่งในนั้นก็คือ “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” ที่มี“ทุ่งดอกไม้ป่า” อันสวยงาม เพราะที่นี่คือแหล่งชมทุ่งดอกไม้ป่าบนพลาญหินที่มีความสวยงามเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ซึ่งทำให้ผมหลงรักตั้งแต่แรกพบ
############################################
วนอุทยานน้ำตกผาหลวง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในท้องที่บ้านนาเลิน ต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี
สำหรับช่วงเวลาของการเที่ยวชมน้ำตกผาหลวงนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝน ส.ค.-ต.ค. ส่วนช่วงเวลาในการชมทุ่งดอกไม้ที่น้ำตกผาหลวงนั้นเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวโดยจะบานยาวจนถึงช่วงกลางหนาว หรือประมาณเดือนตุลาคม - มกราคม โดยช่วงที่บานเต็มที่สวยงามที่สุดจะอยู่ในช่วงราวกลางเดือน พ.ย.-กลาง ธ.ค. แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้น ๆ
นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์ขึ้นไปกาง พักแรมบนยอดภูหลวงได้ ซึ่งทาง วน.น้ำตกผาหลวง ได้จัดลานหิน 3 แห่งไว้ให้กางเต็นท์บนยอดภู
การเดินทางสู่วนอุทยานน้ำตกผาหลวง โดยรถยนต์ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ
1. จากจังหวัดอุบลราชธานี-ตระการพืชผล เลี้ยวขวาเข้าอำเภอศรีเมืองใหม่ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางและจากอำเภอศรีเมืองใหม่ถึงบ้านนาเลินประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางเข้าน้ำตกอีกประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 101 กิโลเมตร
2. จากจังหวัดอุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร ข้ามสะพานพิบูลมังสาหาร ตรงไปอำเภอศรีเมืองใหม่ เลี้ยวขวาเข้าอำเภอศรีเมืองใหม่-นาเลิน ประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางเข้าวนอุทยานน้ำตกผาหลวง อีกประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 99 กิโลเมตร
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง โทร.08-0279-7459 หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาเลิน โทร. 0-4525-2574
และสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร สินค้าโอทอป การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ใน จ.อุบลราชธานี เชื่อมโยงกับวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714
หมายเหตุ : ทุ่งดอกไม้ป่า บันทึกภาพเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63