xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุด “12 จุดไฮไลท์ ชมซากุระเมืองไทย” ชวนตื่นตาตื่นใจในดินแดนสีชมพูสะพรั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

Youtube :Travel MGR

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ภูลมโล ดินแดนที่ได้รับฉายาว่า หุบเขาสีชมพู
เพราะอากาศโลกเปลี่ยนแปลงบ่อย

ฤดูหนาวครั้งนี้ (62-63) จึงเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่ประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ ส่งผลให้ “ดอกนางพญาเสือโคร่ง” หรือ “ซากุระเมืองไทย” ในสถานที่ต่าง ๆ พร้อมใจกันออกดอกบานชมพูสะพรั่งเร็วๆ กว่าปกติประมาณ 1 เดือน โดยจากเดิมที่มักจะบานเต็มที่ในช่วงหลังปีใหม่ราวปลายเดือนมกราคม-ต้นกุมภาพันธ์

แต่หนาวนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งทั่วไทย เริ่มทยอยออกดอกเบ่งบานกันตั้งแต่ช่วงกลาง-ปลายธันวาคม ทำให้ตอนนี้ (สัปดาห์แรกของปีใหม่ 2563) ดอกนางพญาเสือโคร่งในหลายพื้นที่ต่างออกดอกผลิบานสวยงาม บางพื้นที่ตอนนี้บานแล้วกว่าครึ่ง ส่วนบางพื้นที่ตอนนี้บานเต็ม 100 % ย้อมบริเวณนั้นให้เป็นสีชมพูสะพรั่ง

ดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย
สำหรับนางพญาเสือโคร่งเป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น คือ วงศ์กุหลาบ (Rosaceae) อยู่ในสกุล Prunus เช่นเดียวกับต้นเชอร์รี แอปริคอต พลัม แอปเปิลท้อ และ สาลี่ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็น

ต้นนางพญาเสือโคร่งมักจะขึ้นตามไหล่เขา หรือบนสันเขา บริเวณเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ที่มีอากาศหนาวเย็น พบมากในภาคเหนือและอีสาน ทั้งตามธรรมชาติและตามแหล่งปลูกต่าง ๆ

ซากุระเมืองไทย หนึ่งในไฮไลท์การท่องเที่ยวในฤดูหนาว
ยามเมื่อนางพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันออกดอกผลิบานเป็นสีชมพูสะพรั่ง จะดูงดงามโรแมนติก ทำให้ดอกนางพญาเสือโคร่งได้รับฉายาว่า “ซากุระเมืองไทย” ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในช่วงฤดูหนาว ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมชมชอบกันเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ระยะการบานของดอกนางพญาเสือโคร่งนั้นจะอยู่ในราว 1-2 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มร่วงโรย ดังนั้นหน้าหนาวนี้ที่ใครที่อยากจะเดินทางไปชมความงามชองซากุระเมืองไทย ก็ต้องรีบวางแผนเดินทางขึ้นไปชมความงามกันเลย

สำหรับจุดชมซากุระเมืองไทย ปัจจุบันนั้นก็มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน และนี่ก็เป็น “12 จุดไฮไลท์ ชมซากุระเมืองไทย” อันงดงามน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งแต่ละที่ต่างก็จัดว่าเด็ด ๆ ทั้งนั้น

1.ดอยอ่างขาง : เชียงใหม่

แนวต้นซากุระญี่ปุ่นในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ดอยอ่างขาง ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ : ดอยอ่างขางมีไฮไลท์จุดชมซากุระอยู่ที่ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ซึ่งนอกจากนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยแล้วก็ยังมี “ซากุระญี่ปุ่น” ที่ทางมูลนิธิโครงการหลวงได้นำต้นซากุระญี่ปุ่นเข้ามาปลูก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และ “เชอร์รีไต้หวัน” ซึ่งเริ่มปลูกเมื่อปี 2551

ปัจจุบันภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางปลูกต้นซากุระญี่ปุ่นและเชอร์รีไต้หวันไปแล้วจำนวนกว่า 5,000 ต้น โดยใช้การเพาะเมล็ดเป็นวิธีขยายพันธุ์

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีดอกนางพญาเสือโคร่ง ซากุระญี่ปุ่น และเชอร์รีไต้หวันจะออกดอกให้ได้ชมตามจุดต่าง ๆ ภายในสถานีฯ อ่างขาง อาทิ ภายในสวน 80 ด้านหน้าอาคารสโมสรอ่างขาง สวนแปดสิบ สวนกุหลาบอังกฤษ สวนสมเด็จ และตลอดเส้นทางเดินรถขาออกฝั่งโรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักสถานีฯ อ่างขาง

ต้นนางพญาเสือโคร่งริมทางบนดอยอ่างขาง
นอกจากนี้บริเวณริมถนนทางขึ้นไปสู่สถานีเกษตรฯ อ่างขางก็ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งสูงใหญ่ที่ออกดอกสีชมพูหวานริมถนนสองข้างทางเป็นดังอุโมงค์ดอกนางพญาเสือโคร่งอันสวยงาม รวมถึงตามไหล่เขาซอยข้างตลาดขายของหน้าสถานีเกษตรฯ อ่างขางก็มีต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกสีชมพูสวยงามอยู่ทั่วไป

2.ดอยอินทนท์ : เชียงใหม่

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ (ภาพ : เพจโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์)
ดอยอินทนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ : บนพื้นที่ดอยสูงที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ มีสถานที่ให้เที่ยวชมความงามของดอกนางพญาเสือโคร่งอยู่หลายจุดด้วยกัน นำโดยไฮไลท์ที่ “ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์” ที่ตั้งอยู่ที่ บ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บนเส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ นอกจากจะเป็นศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์รองเท้านารีหายากหลากสายพันธุ์แล้ว ยังเป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานเป็นสีชมพูสดใส ซึ่งมีทั้งที่บานเด่นอยู่ริมโค้งใกล้ทางเข้าศูนย์ฯ และริมสระน้ำที่ออกดอกสีชมพูตัดกับผืนป่าสนสีเขียวสด ดูสวยงามน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ (ภาพ : เพจโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์)
นอกจากนี้บนดอยอินทนนท์ ยังมีจุดชวนชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่เด่น ๆ อีก อาทิ “พระตำหนักดอยผาตั้ง” ดอกนางพญาเสือโคร่งที่นี่จะบานสะพรั่งไปทั่วบริเวณ สลับกับต้นเมเปิ้ลและสวนไม้ดอกเมืองหนาวต่าง ๆ, “ริมทางถนนจอมทอง-อินทนนท์ ช่วง กม.29-32” เป็นช่วงถนนที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่ริมข้างทาง ซึ่งแม้ว่าจะมีการทำที่จอดรถและจุดชมซากุระเมืองไทยไว้ให้ แต่ใครที่จะลงไปถ่ายรูป เซลฟี่ ก็ต้องระวังรถราที่วิ่งไป-มา ให้ดี

“สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์” และ “บ้านม้งขุนกลาง” ถือเป็นอีก 2 จุดที่สามารถชมดอกนางพญาเสือโคร่งได้อย่างจุใจ โดยระหว่างทางตั้งแต่บ้านขุนกลาง สามารถชมดอกนางพญาเสือโคร่งได้ทั่วหมู่บ้าน รวมถึงบริเวณม่อนดอยชัวร์ญ่าวิวสวย และม่อนอิงฟ้า อีกทั้งบริเวณบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง - บ้านขุนวาง อ.แม่วาง ช่วง กม. ที่ 4 ก็สามารถชมสามารถเที่ยวชมพญาเสือโคร่งบานริมทางและภายในโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง พร้อมชมดอกไม้เมืองหนาวสวย ๆ ได้ด้วย

3.ขุนวาง : เชียงใหม่

อุโมงค์ดอกนางพญาเสือโคร่ง ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่-ขุนวาง (ภาพ : เพจ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง))
“ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)” หรือที่หลาย ๆ คนนิยมเรียกกันว่า “ขุนวาง” ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ ที่บ้านขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ (คนละแห่งกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน)

ภายในศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) มีเส้นทางเดินชมดอกนางพญาเสือโคร่ง ทั้งตามต้นที่ปลูกเรียงรายอยู่ริมทางและต้นที่อยู่ในแปลงปลูก นำโดยจุดไฮไลท์ในเส้นทางตั้งแต่บริเวณแปลงสวนกาแฟไปจนถึงสวนอาร์เมเนีย

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่-ขุนวาง (ภาพ : เพจ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง))
โดยต้นนางพญาเสือโคร่งที่ปลูกอยู่เรียงรายริมสองข้างทางจะโน้มกิ่งทอดโค้งคารวะเข้าหากัน เป็นดังอุโมงค์ซากุระเมืองไทยสีชมพูสวยงามอันสุดแสนโรแมนติก ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาชมอุโมงค์ซากุระเมืองไทยกันเป็นจำนวนมาก

นอกจากดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูที่คุ้นตากันดีแล้ว ที่ขุนวาง ยังมีดอกนางพญาเสือโคร่งสีขาวที่หาชมได้ยากให้ชมกันอีก 2-3 ต้น รวมถึงมีต้นซากุระญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่นำพันธุ์จากไต้หวันมาปลูกอยู่ภายในสวนขุนวางด้วยเช่นกัน

4.ขุนช่างเคี่ยน : เชียงใหม่

สีชมพููแซมอยู่ในเขาที่ขุนช่างเคี่ยน
ขุนช่างเคี่ยน ตั้งอยู่บนความสูงประมาณ 1,200-1,300 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง และ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยจุดไฮไลท์ของการเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานนั้นอยู่ที่ “สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน” หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า “ขุนช่างเคี่ยน” ที่ตั้งอยู่ที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในเส้นทางเดียวกับ พระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และบ้านม้งดอยปุย

ขุนช่างเคี่ยน แหล่งชมซากุระเมืองไทยใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่
สถานีวิจัยฯ ขุนช่างเคี่ยน แม้จะเป็นสถานีวิจัยเกี่ยวกับ เมล็ด พันธุ์กาแฟ ไม้ผลเมืองหนาว อาทิ ท้อ พลับ บ๊วย พลัม เป็นต้น แต่ก็มีการนำต้นพญาเสือโคร่งไปปลูกภายที่สถานี ฯ เพื่อเป็นแนวรั้ว

จนกระทั่งเมื่อนางพญาเสือโคร่งเติบโตและออกดอกเบ่งบาน ทำให้ที่นี่เป็นดังหุบเขาสีชมพู และส่งผลให้ขุนช่างเคี่ยนเป็นแหล่งชมซากุระเมืองไทยอันเลื่องชื่อที่ตั้งอยู่ใกล้กับตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด

โดยในระหว่างทางที่ใกล้จะถึงสถานีฯขุนช่างเคี่ยน จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งยืนเรียงรายริมถนน ในช่วงผลิดอกก็จะเห็นเป็นโค้งถนนสีชมพู และมีเป็นระยะ ๆ ไปจนถึงภายในหมู่บ้านม้งขุนช่างเคี่ยน ที่แต่ละจุดต่างก็มีมุมมองของความงามที่แตกต่างกันออกไป

5.ดอยแม่ตะมาน : เชียงใหม่

ดอกนางพญาเสือโคร่ง หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน (ภาพ : เพจหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน)
“ดอยแม่ตะมาน” หรือ “สันป่าเกี๊ยะ” ตั้งอยู่ที่ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บนดอยแม่ตะมานสามารถมองเห็น “ดอยหลวงเชียงดาว” ตั้งตระหง่านทอดตัวอวดโฉม แสดงความยิ่งใหญ่สวยงาม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดชมวิวที่สวยงามในอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

บริเวณดอยแม่ตะมานแม้จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่ไม่มากมายเหมือนกับที่อื่น ๆ แต่ว่าที่นี่มีเอกลักษณ์กับภาพของต้นนางพญาเสือโคร่งที่ออกดอกสีชมพูสวยงาม โดยมีดอยหลวงเชียงดาวทอดตัวเป็นฉากหลัง ถือเป็นภาพจำแห่งดอยแม่ตะมานที่ดังดูดให้ผู้คนเดินทางมาเที่ยวชม-ถ่ายรูปกันไม่ได้ขาด

สำหรับจุดชมซากุเมืองไทยอันโดดเด่นในพื้นที่ดอยแม่ตะมานนั้นก็อยู่ที่ “หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน” และ “สถานีวิจัยเกษตรที่สูง สันป่าเกี๊ยะ” ซึ่งถือเป็นแหล่งเที่ยวชมดอกนางเสือโคร่งเบ่งบานน้องใหม่ที่กำลังมาแรงอีกแห่งหนึ่ง

6. ขุนแม่ยะ : เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

ดอกนางพญาเสือโคร่ง หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ
“ขุนแม่ยะ” หรือ “หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในเส้นทางหลวง 1095 แม่มาลัย-ปาย

ขุนแม่ยะ เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอปายที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมืองสามหมอกมาช้านาน

เส้นทางจากบริเวณด่านตรวจแม่ยะเข้าไปยังหน่วยฯ นั้นมีสภาพคดเคี้ยวสูงชัน ดังนั้นจึงควรใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่หากได้เข้าไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งเมื่อผลิบานเต็มที่ภายในหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะรับรองว่าความงามนั้นจะประทับใจจนลืมความลำบากไปเลย

ดอกนางพญาเสือโคร่ง หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ
ภายในหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ ได้มีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นแนวในบริเวณทางเดินและลานกางเต็นท์ ยามเมื่อออกดอกพร้อมกันจึงเป็นเส้นทางเดินสีชมพูสุดโรแมนติก ทั้งยังสามารถกางเต็นท์ใกล้ ๆ กับต้นนางพญาเสือโคร่งได้อีกด้วย

7.ดอยช้าง-ดอยวาวี : เชียงราย

ดอกนางพญาเสือโคร่ง ดอยช้าง-ดอยวาวี
“ดอยช้าง-ดอยวาวี” ตั้งอยู่ใน อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดย “ดอยช้าง” เป็นยอดเขาลูกหนึ่งแห่งดอยวาวีมีรูปร่างเหมือนช้างสองแม่ลูก ดอยช้างนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของกาแฟดอยช้างอันโด่งดัง

ขณะที่ “ดอยวาวี” นั้นตั้งอยู่บนทิวเขาอันสลับซับซ้อนแห่งเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก นับเป็นหนึ่งในดอยที่มีบรรยากาศโรแมนติกไม่ใช่น้อย โดยดอยวาวีนั้นมีชื่อเสียงในเรื่องของ “ชา” ที่ได้รับความนิยมมาช้านาน

ดอยวาวีเคยเป็นพื้นที่ที่มีไร่นางพญาเสือโคร่งแหล่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
สำหรับที่ดอยวาวีนั้นเคยเป็นแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งแหล่งใหญ่ที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองไทยนับเป็นแสนต้น ก่อนที่ปัจจุบันนางพญาเสือโคร่งเหล่านั้นจะล้มตายไปจากโรคพืชและอายุขัย

อย่างไรก็ดีบนดอยช้าง-และดอยวาวี วันนี้ก็ยังคงมีซากุระเมืองไทยให้ชมความงามกันจำนวนหนึ่งท่ามกลางบรรยากาศอันโรแมนติกให้นักท่องเที่ยวไปจิบชา-กาแฟ แล นางพญาเสือโคร่ง

สำหรับจุดหลัก ๆ ของแหล่งชมดอกนางพญาเสือโคร่งแห่งขุนเขาดอยวาวีนั้นก็อยู่ที่ “สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี” ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับยอดดอยช้าง ซึ่งหากใครไปถูกช่วงถูกเวลาแล้ว เราจะพบดอกซากุระออกดอกชมพูสดใสบานสวยงามเต็มทั่วสถานีไปหมด ไม่เพียงแต่ดอกซากุระสีชมพูเท่านั้นแต่บนดอยช้างยังมีดอกซากุระสีขาวให้ชมอีกด้วย

8.ดอยแม่สลอง : เชียงราย

ดอกนางพญาเสือโคร่งริมไร่ชา บนดอยแม่สลอง
ดอยแม่สลอง ตั้งอยู่ที่ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ดอยแม่สลอง นอกจากจะเป็นชุมชนชาว “จีนฮ่อ” หรือ “จีนยูนนาน” อดีตนักรบแห่งกองพล 93 แล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารจีนยูนนานชั้นเยี่ยม และแหล่งชาเลื่องชื่อ โดยมีคำกล่าวกันว่า “ถ้ามาแอ่วดอยแม่สลองแล้ว ไม่ได้จิบชา ชิมชา ก็เหมือนมาไม่ถึงดอยแม่สลอง”

ความที่บนดอยแม่สลองตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และมีอากาศหนาวเย็น ทำให้ต้นนางพญาเสือโคร่งเติบโตได้ดีบนดอยแห่งนี้ และเติบโตมานานหลายสิบปี จนมีต้นโตสูงใหญ่

ดอกนางพญาเสือโคร่งริมไร่ชา บนดอยแม่สลอง
สำหรับความพิเศษอันถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่แตกต่างของซากุระเมืองไทยบนดอยแม่สลองก็คือ เมื่อมาที่นี่เราจะได้เห็นต้นนางพญาเสือโคร่งออกดอกประดับเคียงคู่กันไปในไร่ชาขึ้นลดหลั่นกว้างไกลไปตามไหล่เขา เป็นสีชมพูดูโดดเด่นตัดกับสีเขียวสดของต้นชาที่ต่างก็เสริมส่งในองค์ประกอบความงามของกันและกัน

9.หงาว-งาว : เชียงราย

ดอกนางพญาเสือโคร่ง หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว (ภาพ : เพจหน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว ภูชี้ฟ้า)
“หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว” ตั้งอยู่ที่บ้านร่มฟ้าทอง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นทางขึ้นภูชี้ฟ้าด้านบ้านร่มฟ้าทอง

หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว เป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งที่มีจำนวนมากกว่า 5,000 ต้น

ดอกนางพญาเสือโคร่ง หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว (ภาพ : เพจหน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว ภูชี้ฟ้า)
โดยบริเวณริมถนนสองข้างทางจากบ้านร่มฟ้าทองขึ้นสู่หน่วยจัดการต้นน้ำฯ จะมีต้นนางพญาเสือโคร่งปลูกไว้ เมื่อเบ่งบานพร้อมกันก็กลายเป็นถนนสายสีชมพูที่สวยงามมาก

นอกจากนี้อีกระหว่างทางจากภูชี้ฟ้าไปยังผาตั้งก็ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งให้ชมเป็นระยะ ๆ ตลอดทางอีกด้วย

10.ดอยผาตั้ง : เชียงราย

“ดอยผาตั้ง” ตั้งอยู่ที่บ้านผาตั้ง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ดอยผาตั้ง เป็นภูเขากั้นเขตแดนไทย-ลาว ถือเป็นจุดชมวิวชั้นดีที่ชมพระอาทิตย์ได้ทั้งในยามเช้าและเย็น

ดอกนางพญาเสือโคร่ง บริเวณดอยผาตั้ง (ภาพ : เพจ ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.)
ดอยแห่งนี้มีจุดน่าสนใจเด่น ๆ ชวนเที่ยวชม อาทิ ผาบ่อง, ช่องเขาขาด, เนิน 102, เนิน 103 ศาลาอนุสรณ์นายพลหลี่,พระพุทธมังคลานุภาพลาภสุขสันติ, ป่าหินยูนนาน และกิจกรรม “นั่งม้าชมดอย” ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างสูง

นอกจากนี้บริเวณดอยผาตั้งและพื้นที่ใกล้เคียงยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นกระจายตัวอยู่ในหลายจุด ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเก็บความประทับใจกันอย่างเพลิดเพลินอีกด้วย

11.ดอยขุนสถาน-น่าน

ดอกนางพญาเสือโคร่ง เบ่งบานหน้าบ้านพักที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน (ภาพเพจ : กรมอุทยานฯ)
ดอยขุนสถาน ตั้งอยู่ที่ อ.นาน้อย จ.น่าน ถือเป็นหลังคาเมืองน่าน เพราะเป็นแนวเทือกเขารอยต่อเชื่อมกับจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำแหงก่อนที่จะไหลมารวมกับลำน้ำอื่น ๆ ในลุ่มน้ำน่าน

สำหรับจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งอันโดดเด่นบนดอยขุนสถานนั้นอยู่ที่ “สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน” ที่ตั้งอยู่เลยจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนสถานไปประมาณ 2 กม.

สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน ได้ทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ โดยได้ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและริมถนนด้านหน้าสถานีวิจัยฯ

นางพญาเสือโคร่งออกดอกเบ่งบานริมทางบนดอยขุนสถาน
ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูหนาว เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมดอกนางพญาเสือโคร่งบนดอยขุนสถานจะพร้อมใจกันเบ่งบาน โดยเฉพาะที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน ซึ่งมีการปลูกนางพญาเสือโคร่งจำนวนมาก เป็นดงขนาดใหญ่ต้นโตสูง ซึ่งเมื่อยามออกดอกพร้อมกันคงจะกลายเป็นบรรยากาศสีชมพูสะพรั่งดูงดงามน่าประทับใจไม่น้อย

นอกจากนี้ที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานยังมีบ้านพักให้บริการจำนวนหนึ่ง (แต่อาจจะจองยากหน่อย เพราะคนแย่งกันจอง) แต่เราสามารถกางเต็นท์ชมความงามได้ เนื่องจากภายในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน มีลานกางเต็นท์ให้บริการ (ประมาณ 100 หลัง) หรือจะกางเต็นท์นอนที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน และสามารถขับรถมาชมหรือมาถ่ายภาพที่สถานีฯ ก็ได้เช่นกัน

12.ภูลมโล : เลย

ภูลมโล ตระการตา“หุบเขาสีชมพู
ภูลมโล ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก

จากอดีตพื้นที่สีแดงในยุคลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่สะพัด ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบพื้นที่ภูลมโลถูกหักล้างถางพงทำไร่เลื่อนลอยจนกลายเป็นเขาหัวโล้น ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าจึงขอพื้นที่คืน โดยตกลงให้ผู้ที่หักล้างถางพงปลูกพืชไร่ควบคู่ไปกับต้นพญาเสือโคร่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนออกจากพื้นที่

หลังจากนั้นก็ได้มีการปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจำนวนหลายหมื่นต้น

ดอกนางพญาเสือโคร่่ง บนภูลมโล
สำหรับจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลนั้น มีอยู่ 3 แปลงหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

-“แปลงภูลมโล” แปลงนี้มีไฮไลท์สำคัญอยู่บริเวณ “คอกวัว” เพราะมีคอกวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้อยู่ในบริเวณนี้ ที่แปลงภูลมโลเราสามารถมองเห็นดอกนางพญาเสือโคร่งได้อย่างงดงามทั่วเนินเขา

-“แปลงก้อนหินใหญ่” ที่มีทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันควบคู่ไปกับก้อนหินใหญ่ 2 จุดเป็นพร็อพถ่ายรูปที่มีคนแวะเวียนไปโพสต์ท่าถ่ายรูปคู่กันระหว่างก้อนหินกับฉากสีชมพูของทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งกันไม่ได้ขาด

- “แปลงภูขี้เถ้า” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วดอกนางพญาเสือโคร่งที่แปลงที่ภูขี้เถ้าจะบานทีหลังสุด

ที่ภูลมโลส่วนใหญ่ดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานไล่เป็นแปลง ๆ ไป ใน 3 แปลงหลัก แต่ก็มีบางปีที่บานทีเดียวพร้อมกันหมด(ทั้ง 3 แปลง) โดยทุก ๆ ฤดูหนาว ยามเมื่อดอกนางพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันเบ่งบาน จะย้อมพื้นที่ให้กลายเป็นสีชมพู จนภูลมโลได้รับฉายาว่า “หุบเขาสีชมพู” อันลือลั่น

และนี่ก็คือ 12 จุดไฮไลท์ชมซากุระเมืองไทย ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในเมืองไทยยังมีจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่น่าสนใจ อาทิ “สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงดอยช้างมูบ” อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีทั้งดอกนางพญาเสือโคร่ง กุหลาบพันปี และดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์, “อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” อ.ปัว จ.น่าน มีต้นนางพญาเสือโคร่งที่จะออกดอกสะพรั่งสวยงามไปทั้งดอย ขึ้นสลับกับป่าสนแบบเมืองหนาว และยังมีดอกไม้หายากอย่างดอกชมพูภูคาให้ได้ชมด้วย

“ดอยล้าน” อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง มีต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่ตามภูเขาสลับกับพันธุ์ไม้ต่าง ๆ, “บ้านร่องกล้า” อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ในหมู่บ้านมีต้นนางพญาเสือโคร่งอยู่ ทำให้ในช่วงที่ออกดอกจะสร้างบรรยากาศสีชมพูแต่งแต้มสีสันให้สดใส เป็นต้น

นับเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ของเมืองไทย ที่ต้องออกเดินทางไปสัมผัส แล้วก็จะได้พบกับดินแดนสีชมพูที่ดูสวยงาม น่าประทับใจกระไรปานนั้น
....................................................................................................


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น