xs
xsm
sm
md
lg

เปิบ“ปลาปักเป้า”อร่อยเสี่ยงตาย...บ๊ายบาย“ยามากุจิ”เมืองจักรยานในดวงใจ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
ลานซากุระปราสาทฟูกูโอกะช่วงฟูลบลูม
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา...ที่ตามมาคือความอาลัยอาวรณ์

หลังผมกับเพื่อนๆคณะนักปั่นจากเมืองไทย ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ปั่นตะลุยเที่ยวในจังหวัดยามากุจิ สัมผัสบรรยากาศหลากหลายหลากรส โดยเฉพาะมนต์เสน่ห์สีสันอันงดงามของมวลหมู่ซากุระที่ออกดอกบานสะพรั่งตราตรึงใจ

ครั้นเมื่อถึงเวลาต้องล่ำลากับทีมงานเจ้าภาพเพื่อนๆนักปั่นชาวญี่ปุ่น(สตาฟฟ์จากการท่องเที่ยวจังหวัดยามากุจิและทีมงาน)กันที่“ฟาร์มฮานะโนะอุมิ” เมืองซันโย โอโนดะ มันก็ทำให้ผมอดใจหายและอาลัยอาวรณ์ไม่ได้
ชาวญี่ปุ่นถ่ายพรีเวดดิ้งใต้อุโมงค์ซากุระที่ปราสาทฟูกูโอกะ
เพราะที่ผ่านมาตลอดทริปการปั่นเที่ยวจังหวัดยามากุจิ ประสบการณ์ต่างๆที่ชาวคณะนักปั่นไทย-ญี่ปุ่นพานพบ มันได้ช่วยบ่มเพาะให้เกิดความผูกพันขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว เกิดเป็นมิตรภาพข้ามชาติที่น่าจดจำกระไรปานนั้น

อย่างไรก็ดี แม้พวกเราจะจบกิจกรรมการปั่นจักรยานกันแล้ว แต่ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดยามากุจิยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะจุดหมายต่อไป พวกเรานั่งรถออกเดินทางกันต่อสู่เมืองชิโมโนเซคิอีกครั้ง

ปั่นเที่ยวยามากุจิ
ชิโมโนเซคิ เมืองท่าที่มีความโดดเด่นในเรื่องของปลาปักเป้า
เมืองชิโมโนเซคิ(Shimonoseki) เป็นอีกหนึ่งเมืองหลัก ในเส้นทาง“ปั่นจักรยานเที่ยวจังหวัดยามากุจิ” ซึ่งเป็นทริปพิเศษที่ทางบริษัท “Octo Cycling” ร่วมกับ“Inter Bike” และ “การท่องเที่ยวจังหวัดยามากุจิ”(Yamaguchi Tourism) ได้นำผู้รักการปั่นจักรยานจากเมืองไทยไปปั่นเที่ยวเมืองยามากุจิในแบบสโลว์ไลฟ์ สัมผัสธรรมชาติ ขุนเขา ท้องทะเล วิถีชีวิตวัฒนธรรม กินอร่อย-นอนสบาย เปิดมุมมองใหม่ในญี่ปุ่น โดยเน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นยิ่งยวด

ชิโมโนเซคิ มีฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญของจังหวัดยามากุจิ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกช่วงปลายสุดของจังหวัดยามากุจิ ได้ชื่อว่าเป็น“ประตูสู่เกาะฮอนชู”(ทางตอนใต้)

เมืองชิโมโนเซคิ นอกจากจะเป็นสถานที่แรกในจังหวัดยามากุจิแล้ว ยังเป็นเมืองส่งท้ายก่อนอำลาจังหวัดยามากุจิ ที่คณะเราเลือกใช้เป็นที่พักค้างใน 2 คืนด้วยกัน คือคืนแรกและคืนที่ 4
สะพานทสึโนชิมะ เมืองชิโมโนเซคิ สะพานที่มีวิวทิวทัศน์สวยติดอันดับต้นๆของญี่ปุ่น
โดยในวันแรกหลังเราบินจากเมืองไทยมาลงยังเมืองฟูกูโอกะ (Fukuoka) ก็มุ่งตรงสู่เมืองชิโมโนเซคิ(ที่พักคืนแรก) เพื่อตั้งต้นออกสตาร์ทปั่นทัวร์จังหวัดยามากุจิกันที่เมืองนี้ กับการปั่นทัวร์รอบ "เกาะทสึโนชิมะ”(Tsunoshima Island) เที่ยวชมความงามของ“สะพานทสึโนชิมะ”(Tsunoshima Bridge) สะพานที่ได้ชื่อว่ามีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดไฮไลท์สำคัญของทริปนี้

ต่อจากนั้นในวันที่ 2 พวกเราปั่นจากเมืองชิโมโนเซคิ สู่เมือง“นากาโตะ”Nagato : ที่พักคืน 2) ระหว่างทางแวะเที่ยวชมไฮไลท์สำคัญคือ “ศาลเจ้าโมโตโนะซึมิ อินาริ”(Motonosumi Inari Shrine) หนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดยามากุจิ
ศาลเจ้าโมโตโนะซึมิ อินาริ หนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดยามากุจิ
วันที่ 3 เราปั่นจากเมืองนากาโตะ ข้ามที่ราบสูง“อาคิโยชิได”(Akiyoshidai)เมืองมิเนะ (Mine) หุบเขามหัศจรรย์ที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบ“คาสต์”(Karst) ที่กว้างใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มุ่งสู่เมือง“ยามากุจิ”(อำเภอยามากุจิ : ที่พักคืน 3) เมืองเอกของจังหวัดยามากุจิ

ส่วนวันที่ 4 เราปั่นจากเมืองยามากุจิ มุ่งสู่เมืองชิโมโนเซคิอีกครั้งในเส้นทางวงรอบ ซึ่งในช่วงบ่ายแก่ๆหลังเราปิดจ็อบกิจกรรมปั่นจักรยานกันที่“ฟาร์มฮานะโนะอุมิ” เมืองซันโย โอโนดะ(Sanyo Onoda)

แม้การปั่นจักรยานจะสิ้นสุดลง(พร้อมกับการล่ำลาชาวคณะนักปั่นของญี่ปุ่นด้วยความอาลัยอาวรณ์) แต่เรายังมีกิจกรรมเที่ยวส่งท้ายต่อกันอีกพอหอมปากหอมคอในช่วงเวลาที่เหลือ(2 คืน 1 วัน)ก่อนปิดทริปเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ปั่นวันที่ 3 จากเมืองนากาโตะข้ามผ่านที่ราบสูงอาคิโยชิไดสู่เมืองยามากุจิ
ชิโมโนเซคิ

จากฟาร์มฮานะโนะอุมิ เมืองซันโย โอโนดะ เราเดินทางด้วยรถยนต์มุ่งสู่เมืองชิโมโนเซคิ(ที่พักคืน 4)อีกครั้ง

ที่เมืองชิโมโนเซคิพวกเราพักค้างกันที่โรงแรม“ชิโมโนเซคิ แกรนด์”(Shimonoseki Grand) ที่พักบรรยากาศเยี่ยม เพราะตั้งอยู่บริเวณ “ช่องแคบคัมมง”หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่น

ช่องแคบคัมมง(KANMON) เป็นช่องแคบ(ทางทะเล)ที่กั้นระหว่างเกาะฮอนชูและเกาะคิวชู ตั้งอยู่ระหว่าง เมืองชิโมโนเซคิ(อำเภอชิโมโนเซคิ) จังหวัดยามากุจิ และ เขตโมจิ เมืองคิตุคิวชู(อำเภอคิตุคิวชู) จังหวัดฟุกุโอกะ
ช่องแคบคัมมงฝั่งเมืองชิโมโนเซคิ มองเห็นสะพานคัมมงอยู่ไม่ไกล
ช่องแคบคัมมง มี“สะพานคัมมง”สร้างทอดยาวเชื่อมระหว่างเกาะฮอนชูและคิวชู ณ จุดยุทธศาสตร์บริเวณนี้ทำให้เมืองชิโมโนเซคิได้ชื่อว่าเป็น “ประตูสู่เกาะฮอนชู” ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

สะพานคัมมง ที่หลายคนตั้งฉายาให้ว่าเป็น “โกลเดนเกตแห่งญี่ปุ่น” เพราะเป็นสะพานแขวนที่มีลักษณะคล้ายสะพาน“สะพานโกลเดนเกต” เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

สะพานคัมมง เป็นสัญลักษณ์ของช่องแคบคัมมง มีความยาว 1.068 เมตร หลังสะพานแห่งนี้เปิดให้ใช้ใหม่ๆในปี ค.ศ. 1973 เคยได้รับตำแหน่งสะพานที่มีความยาวที่สุดของซีกโลกตะวันออก ก่อนที่ปัจจุบันจะถูกสะพานในที่อื่นๆเบียดแซงขึ้นแท่นไป
สะพานคัมมงทอดยาวข้ามช่องแคบคัมมง เชื่อมระหว่างเกาะฮอนชูและคิวชู
นอกจากสะพานคัมมงที่ให้รถวิ่งข้ามเกาะไป-มาแล้ว บริเวณนี้ก็ยังมี “อุโมงค์คัมมง” เป็นอุโมงค์ใต้ทะเลมีความยาว 780 เมตร สร้างไว้ให้คนเดินข้ามเกาะไปมา ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินลอดอุโมงค์เที่ยว เชื่อมระหว่างเกาะทั้ง 2 ของญี่ปุ่น

บริเวณช่องแคบคัมมงฝั่งเมืองชิโมโนเซคิ ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆอีก อาทิ ท่าเรือคัมมง, ศาลเจ้าอาคามะ, ไคเคียว ยูเมะ ทาวเวอร์, ไคเคียวคัง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล รวมถึงวิวทิวทัศน์ของช่องแคบคัมมงอันสวยงาม ดูโดดเด่นไปด้วยสะพานคัมมงทอดยาว มีทางเดินริมทะเลให้เดินเชื่อมถึงกัน หรือใครจะเดินลอดอุโมงค์คัมมงข้ามฝั่งเกาะคิวชูไปยังจังหวัดฟูกูโอกะก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สีสันเมืองชิโมโนเซคิบริเวณช่องแคบคัมมงยามราตรี
บริเวณนี้จะมีความคึกคักกันตั้งแต่เช้าตรู่ไปยังค่ำมืดดึกดื่น มีเรือวิ่งเข้า-ออกกันขวักไขว่ ยามราตรีมีแสงสีไฟประดับสวยงาม ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองชิโมโนเซคิที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวพักผ่อนที่นี่กันเป็นจำนวนมาก

คาราโตะ
ตลาดคาราโตะ ตลาดปลาขนาดใหญ่ริมช่องแคบคัมมง
นอกจากนี้บริเวณช่องแคบคัมมงฝั่งเมืองชิโมโนเซคิ(ใกล้ที่พักของเรา) ยังมี“ตลาดคาราโตะ”(Karato Market) ตลาดปลาขนาดใหญ่ริมช่องแคบคัมมงที่อุดมไปด้วยอาหารทะเลสดๆมากมาย

รวมถึงมีซูชิที่มีหน้าปลาดิบและสัตว์ทะเลอื่นๆหลากหลายให้เลือกอิ่มอร่อย(ชิ้นละประมาณ 300-400 เยน) ถือเป็นอีกหนึ่งของดีแห่งตลาดคาราโตะที่ใครมาเยือนไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ปลาสดๆและอาหารทะเลหลากหลายที่ตลาดปลาคาราโตะ
และที่ตลาดปลาคาราโตะนี่เอง ถือเป็นจุดฝากท้องมื้อเช้าของผมกับคณะที่เด็ดสะระตี่มากๆ(เราเลือกไม่กินอาหารเช้าที่โรงแรม แต่เลือกมากินมื้อเช้าที่นี่แทน)

โดยในช่วงเช้าของวันที่ 5 ผมกับเพื่อนๆเดินเลาะเลียบทางเดินริมทะเลที่มีการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างเป็นระเบียบสวยงาม สะอาดสะอ้านจากโรงแรมมาไม่ไกลก็ถึงยังตลาดปลาคาราโตะ
ซูชิ หน้าปลาและสัตว์ทะเลสดใหม่ มีให้อิ่มอร่อยกันหลากหลายที่ตลาดคาราโตะ
เมื่อมาถึงก็ลงมือเลือกซูชิหลากหลายหน้าแบบจัดเต็ม ซึ่งปลาหลายๆชนิดและสัตว์ทะเลบางชนิด(หน้าข้าวปั้น) ผมก็เพิ่งมีโอกาสได้มาลิ้มลองที่นี่เป็นครั้งแรก

หลังจากเราต่อคิว เลือกซื้อ ได้ซูชิตามที่ต้องการแล้ว ก็นำออกมานั่งกินที่ริมทางเดินริมแม่น้ำ กินซูชิหน้าปลาดิบและสัตว์ทะเลสดใหม่ พร้อมชมวิวช่องแคบคัมมงควบคู่ไปด้วย มันถือเป็นบรรยากาศที่ทั้งฟิน ทั้งอร่อย

ขณะที่สิ่งที่ต้องคารวะในความเป็นญี่ปุ่นก็คือ แม้ที่ริมฝั่งทางเดินริมน้ำทอดยาวไปจะมีคนมานั่งกินซูชิ กินอาหารกันเป็นจำนวนมาก แต่ประทานโทษ! กลับไม่มีขยะตกหล่นบนพื้นหรือตามซอกหลืบต่างๆเลยสักชิ้น

ถือเป็น“เจแปนนิส สไตล์”ที่อยากให้บ้านเรามีแบบนี้บ้างจัง
คนญี่ปุ่นนิยมซื้อซูชิจากตลาดคาราโตะมานั่งกินริมช่องแคบคัมมง
ฟุกุ

คาราโตะนอกจากจะเป็นตลาดปลาชื่อดังแล้ว ยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น “ตลาดฟุกุ” ที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่น

อัน“ฟุกุ”(Fugu) หรือ “ฟุกึ”นั้นก็คือ “ปลาปักเป้า”(ปักเป้าทะเล) ปลาที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร ยามเมื่อมันพองลมจะดูอ้วนกลมและเต็มไปด้วยหนามแหลม

นอกจากนี้ปักเป้ายังเป็นปลาที่ความพิเศษต่างจากปลาทั่วๆไป คือมันเป็นปลาที่มีพิษร้ายแรงชนิดที่คนกินแล้วตายได้ในทันที
ปลาปักเป้าในตู้ปลาร้านอาหารแห่งหนึ่ง รอเวลาถูกแล่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะ
พิษร้ายของปลาปักเป้า หลักๆจะมีอยู่มากที่ส่วนของอวัยวะภายใน ทั้งที่ตับ ลำไส้ และรังไข่ ส่วนที่เนื้อและหนังนั้นก็มีพิษอยู่ด้วยเหมือนกัน

ปกติคนทั่วโลก (ดั้งเดิม)จะไม่กินปลาปักเป้ากัน เพราะมันเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรง กินเข้าไปจะมีอาการตั้งแต่ชาที่ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้อาเจียนในขั้นแรก ตาค้าง ขากรรไกรค้าง ไล่เรียงไปสู่ขึ้นรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต หรือถึงอาจตายได้

แต่สำหรับคนญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจับปลา ทำอาหารจากปลา กินปลาดิบ และกินสารพัดปลา(ตั้งแต่ปลาเล็กปลาน้อยไซซ์ขนาดเดียวกับปลาชิ้งชั้ง ไปจนถึงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง“วาฬ” หรือ “ปลาวาฬ”) ปลาปักเป้าถือเป็นอีกเมนูโอชะชั้นเลิศของพวกเขา ที่แม้ว่ามันจะได้ชื่อว่าเป็นเมนูอร่อยเสี่ยงตาย แต่คนญี่ปุ่นก็บยั่น มีการจับปลาปักเป้ากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ฟุกุซาชิมิ หรือ ปักเป้าปลาดิบ เมนูยอดนิยม
อย่างไรก็ดีเชฟหรือพ่อครัวที่จะทำปักเป้าให้ชาวประชากินนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำปักเป้าเป็นพิเศษ อีกทั้งยังต้องมีใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรรับรองความสามารถทางด้านนี้ เพราะการทำปลาปักเป้านั้นจะต้องตัดเฉือนส่วนที่มีพิษทิ้งออกไปให้หมด ห้ามหลงเหลือพิษติดอยู่ที่เนื้อปลา หรือส่วนต่างๆที่จะนำมาทำรับประทานเป็นอันขาด เพราะหากยังเหลือพิษติดค้างอยู่ก็จะเป็นอันตรายต่อคนกิน

สำหรับแหล่งใหญ่ในการกินปลาปักเป้าของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่จังหวัดฟูกุโอกะและจังหวัดยามากุจิ ที่ผมมาปั่นจักรยานเที่ยวนี่แหละ
เนื้อปลา(ดิบ)ปักเป้าที่วางขายทั่วไปในตลาดคาราโตะ
โดยเฉพาะที่เมืองชิโมโนเซคิ (จ.ยามากุจิ)นี่ถือเป็นต้นตำรับแห่งการกินปักเป้ายุคใหม่เลยทีเดียว เนื่องจากในอดีตสมัยที่วิวัฒนาการการทำปลาปักเป้ายังไม่ดีพอ ทำให้มีคนปลาปักเป้าเสียชีวิตกันไปไม่น้อย ทางการญี่ปุ่นจึงสั่งห้ามเสิร์ฟเมนูปลาปักเป้าขึ้นโต๊ะ

กระทั่งเมื่อ 150 กว่าปีที่ผ่านมา ในยุคสมัยที่มีนายอิโต้ ฮิโรบุมิ เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรก สมัยนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองญี่ปุ่นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่มั่นคง อาหารการกินและปลาต่างๆหายาก(เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ออกไปหา)

เมื่อท่านนายกอิโต้ เดินทางมาแวะเยือนร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองชิโมโนเซคิ ทางร้านเมื่อขาดแคลนอาหาร มีเพียงปลาปักเป้าหลงเหลืออยู่จึงตัดสินใจเสิร์ฟเมนูปลาปักเป้าที่บรรจงทำอย่างสุดฝีมือให้กับท่านนายกและทีมงานท่านผู้นำ
เนื้อปลาปักเป้า(ดิบ)จิ้มน้ำ อีกหนึ่งความอร่อย
ผลปรากฏว่าผู้ที่กินไม่มีใครเป็นอะไร อยู่รอดปลอดภัยดี แถมยังติดอกติดใจในรสชาติความอร่อยเป็นอย่างยิ่ง ท่านนายกอิโต้จึงอนุญาตให้มีการทำปลาปักเป้าขายได้(แต่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีใบอนุญาต)

หลังจากนั้นองค์ความรู้ด้านปลาปักเป้าในญี่ปุ่นก็วิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เปิบปักเป้า อร่อยเสี่ยงตาย

ปลาปักเป้าที่ชาวญี่ปุ่นกิน เนื้อของมันมีสีขาว อุดมไปด้วยโปรตีน นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังกินส่วนอื่นๆของปักเป้ากันอีก ไม่ว่าจะเป็น หนัง ครีบ หรือแม้กระทั่งท่ออสุจิของมัน
เมืองชิโมโนเซคิ พบสัญลักษณ์ปลาปักเป้าได้ทั่วไป
สำหรับเมนูปลาปักเป้าที่เด่นๆนั้นก็นำโดย “ฟุกุซาชิมิ” หรือ“ปักเป้าปลาดิบ” เมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งพ่อครัวจะใช้มีดที่คมกริบแล่เนื้อปลาปักเป้าออกมาอย่างบางเฉียบ เนื้อขาวใส จิ้มน้ำจิ้มสูตรเฉพาะของแต่ละร้าน จิ้มวาซาบิ หรือพันต้นหอมที่เสิร์ฟมาเป็นเครื่องเคียงจิ้มน้ำจิ้มกิน ก็ได้รสชาติที่อร่อยแตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ก็ยังมีเมนูอื่นๆอีก อย่างเช่น ปักเป้าลวก นึ่ง ย่าง ลูกชิ้นปักเป้า หม้อไฟปลาปักเป้า ข้าวเกรียบปลาปักเป้า หรือครีบปักเป้าตากแห้งโรยเกลือที่คนญี่ปุ่นนิยมกินกับเหล้าสาเก
เมืองชิโมโนเซคิ พบสัญลักษณ์ปลาปักเป้าได้ทั่วไป
ในทริปนี้ปักเป้าเป็นปลาที่ผมมีโอกาสได้ลิ้มลองมากที่สุด(ในบรรดาปลาทั้งหลาย) โดยเฉพาะเมนูปักเป้าปลาดิบ ที่ส่วนใหญ่ทางร้านจะเสิร์ฟมาหนังปลาปักเป้าเคียงมาด้วย

สำหรับเนื้อปลาแล่บางๆนั้นให้รสหวานนุ่มละมุม ส่วนหนังนั้นเคี้ยวกรุบกรึบ เมื่อกินคู่กับสาเกร้อนๆถือเป็นอีกทีเด็ดของเมืองยามากุจิ ที่ผมกินจนหน้าตึงชนิดที่หากถูกพิษปลาปักเป้าก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะฤทธิ์สุราสาเกนั้นแผ่ซ่านกระจายไปทั่วสรรพางค์กาย
ประติมากรรมปลาปักเป้าบริเวณช่องแคบคัมมง ฝั่งเมืองชิโมโนเซคิ
และด้วยความเป็นเมืองแห่งปลาปักเป้า ในเมืองชิโมโนเซคิจึงมีมาสคอต โลโก้ ประติมากรรม รูปภาพ ของประดับตกแต่งรูปปักเป้าต่างๆ อยู่ทั่วเมือง เป็นปักเป้าที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูชวนให้นักท่องเที่ยวไปยืนเซลฟี่ หรือถ่ายรูปเอาไว้โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

ขณะที่แหล่งขายและกินปลาปักเป้าแหล่งใหญ่นั้นก็คือที่ตลาดคาราโตะ ที่จะมีเมนูเนื้อปลาปักเป้า(ปลาดิบ) แล่ขายใส่จานวางขายอยู่ทั่วไป

ใครที่มีโอกาสไปเยือนจังหวัดยามากุจิ หากมีโอกาส(และใจกล้าพอ) ก็ไม่ควรพลาดเมนูปลาปักเป้า หรือฟุกุ ด้วยประการทั้งปวง

ฟูกูโอกะ
ฮะนะมิใต้ดงซากุระที่ปราสาทฟูกูโอกะ
หลังจัดปักเป้าปลาดิบทิ้งทวนเมืองชิโมโนเซคิที่ตลาดคาราโตะในช่วงมื้อสายแบบจัดเต็ม แล้วอยู่รอดปลอดภัยสบายดี จะมีผลกระทบบ้างก็เงินในกระเป๋าที่หายไปมากโข เพราะเจ้าปักเป้าราคาของมันสูงใช่ย่อย

ต่อจากนั้นคณะเราล่ำราจังหวัดยามากุจิ เดินทางข้ามสะพานคัมมงมุ่งหน้าสู่จังหวัดฟูกูโอกะอีกครั้ง เพื่อไปรอขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยในเช้าวันถัดไป(วันที่ 6)
พักผ่อนใต้ต้นซากุระที่ปราสาทฟูกูโอกะ
ที่เมืองฟูกูโอกะ เนื่องจากมีเวลาเหลือในช่วงบ่าย ไกด์สาวชาวญี่ปุ่นของเราเหมือนรู้ใจจึงเลือกพาไปปิดท้ายทริปกันที่“ปราสาทฟูกูโอกะ” ซึ่งในช่วงที่ไปนั้นตรงกับช่วง“ฟูลบลูม”(Full Bloom) หรือช่วงเวลาที่ซากุระกำลังออกดอกบานสะพรั่งเต็มที่พอดี

นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งโบนัสแถมของทริปที่ชวนน่าประทับใจมากๆ เพราะที่มวลหมู่ดอกซากุระที่กำลังบานสะพรั่งเต็มที่นั้นมันได้ย้อมพื้นที่บริเวณปราสาทฟูกูโอกะให้กลายเป็นสีชมพูสดใส

เป็นโลกสีชมพูที่ชาวญี่ปุ่นจะพร้อมใจกันมาร่วม “ฮะนะมิ”(ฮานามิ) หรือการชมดอกซากุระบานสะพรั่งไปพร้อมๆกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มกันอย่างรื่นเริงดูน่าประทับใจยิ่งนัก
ช่วงฟูลบลูมซากุระบานสะพรั่งเต็มสวนสาธารณะเทนจิน
สำหรับคนไทยเรานั้น ส่วนใหญ่มีความนิยมชมชอบซากุระฝังติดในดีเอ็นเออยู่แล้ว(รวมทั้งตัวผมด้วย)

นั่นจึงทำให้พวกเราชาวคณะนักปั่นจากเมืองไทย ต่างพากันดี๊ด๊าแวะถ่ายรูปเซลฟี่กับซากุระที่นี่กันเป็นที่เพลิดเพลิน ก่อนจะเดินทางเข้าสู้ที่พักย่าน“เทนจิน” ซึ่งในบริเวณนั้นก็มี “สวนสาธารณะเทนจิน” ที่กำลังมีปรากฏการณ์ฟูลบลูมซากุระบานสะพรั่งเต็มสวน และริมทางเดินริมแม่น้ำอีกเช่นกัน

ที่สวนสาธารณะเทนจิน ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งในเมืองฟูกูโอกะที่ชาวญี่ปุ่น เดินทางมาฮะนะมิ ชมซากุระควบคู่ไปกับการดื่มกินใต้ต้นซากุระอันอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงสายยันค่ำมืด
ซากุระสวนสาธารณะเทนจินบานสะพรั่งริมฝั่งน้ำ
ถือเป็นอีกหนึ่งโบนัสแถมส่งท้ายก่อนที่เราจะออกเดินทางจากฟูกูโอกะกลับสู่เมืองไทยในช่วงเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ปิดทริป“ปั่นจักรยานเที่ยวจังหวัดยามากุจิ เปิดมุมมองใหม่ในญี่ปุ่น”(รวมระยะเวลา 6 วัน 5 คืน) ได้อย่างประทับใจ

สำหรับผมแล้ว “ผิดหวัง สมหวัง”ถือเป็นเรื่องปกติของการเดินทางท่องเที่ยว เพราะด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศ มันอาจทำให้ทริปนั้นๆ สมหวัง ผิดหวัง หรือไม่เป็นไปดังวาดหวังก็เป็นได้
คนญี่ปุ่นมาฮะนะมิกันอย่างคึกคักใต้ดงซากุระที่สวนสาธารณะเทนจิน
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายต่อหลายทริปซึ่งผมพบว่ามัน“เกินความคาดหวัง” จนต้องเก็บบันทึกไว้เป็นหนึ่งใน“ทริปแห่งความทรงจำ

ดังเช่นทริปนี้ ที่แม้จะเริ่มต้นไปแบบคนไม่ค่อยรู้อะไร แต่ด้วยสิ่งสวยๆงามๆ สิ่งน่าสนใจ และมุมมองใหม่ๆ(ในแดนอาทิตย์อุทัย)ที่พานพบ โดยเฉพาะมนต์เสน่ห์ของความเป็น“เมืองจักรยานในดวงใจ” โดยมีโบนัสพิเศษแถมเป็นดอกซากุระที่บานไวกว่าทุกๆปี ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งทริปที่ลงตัวอย่างร้ายกาจ

ชนิดที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกหลงรักเมืองยามากุจิเข้าอย่างเต็มเปา

...และยากที่จะลืมเลือน...(จบ)
เส้นทางปั่นผ่านซุ้มซากุระริมแม่น้ำเมืองนากาโตะ อีกหนึ่งความประทับใจระหว่างทางในเส้นทางปั่นเที่ยวจังหวัดยามากุจิ
...........................................................................................................................
จังหวัดยามากุจิ(Yamaguchi) ตั้งอยู่ในภูมิภาคจูโกขุุุ หรือ ชูโกกุ(Chugoku) บริเวณช่วงปลายสุดทางฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู(ฮนชู : Honshu) มีทะเลโอบล้อมทั้ง 3 ด้าน มีทัศนียภาพงดงามของท้องทะเล ขุนเขา และบ้านเมือง มีอากาศเย็นสบายกำลังดี อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารอร่อยชวนให้ลิ้มลอง

สำหรับทริปนี้เป็นการปั่นจักรยานเที่ยวจังหวัดยามากุจิของคณะนักปั่นจากเมืองไทยกลุ่มแรกที่ไปปั่นเที่ยวเมืองนี้(อย่างเป็นทางการ) ในระหว่างวันที่ 25-31 มี.ค. ที่ผ่านมา (6 วัน 5 คืน เดินทางคืน 25 เริ่มปั่นวันที่ 26) ซึ่งในตลอดเส้นทางมีดอกซากุระที่ปีนี้บานเร็วกว่าทุกๆปีให้ชมกันเป็นระยะๆ

Octo Cycling เป็นบริษัทที่มุ่งเชิญชวนผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยานออกไปผจญโลกกว้างด้วยการปั่นจักรยานท่องเที่ยวสัมผัสกับสถานที่ต่างๆ ทั้งใน กทม. ในเมืองไทย อาเซียน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เอเชีย และยุโรป เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2181-2088 หรือที่ www. Octocycling.com หรือ www.facebook.com/octocycling
อ่านซีรีส์ชุด "ปั่นจักรยานเที่ยวยามากุจิ เมือจักรยานในดวงใจ เปิดมุมมองใหม่ในญี่ปุ่น"
 


ตอน 1 ปั่นเที่ยว“ยามากุจิ”เปิดมุมมองใหม่ในญี่ปุ่น...กินโซบะย่างกระเบื้องหลังคา ตื่นตาสะพานวิวสวยต้องชมก่อนตาย

ตอน 2 วิวอย่างว้าว! ปั่นเที่ยว“ยามากุจิ”เมืองงาม...หลงรักศาลเจ้าริมทะเล หลงเสน่ห์ซากุระริมแม่น้ำ

ตอน 3 อันซีนญี่ปุ่น พิชิตหุบเขาประหลาด-บ่อน้ำผุดสุดใส สู่“ยามากุจิ”เมืองในดวงใจ

ตอน 4 “ยามากุจิ” เกียวโตฝั่งตะวันตกสวยคลาสสิก จุดดักฝันของนักปั่นจักรยาน

ตอนจบ เปิบ“ปลาปักเป้า”อร่อยเสี่ยงตาย...บ๊ายบาย“ยามากุจิ”เมืองจักรยานในดวงใจ

....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น