“น่าน” เป็นเมืองเล็กแต่น่ารักที่มีเสน่ห์โดดเด่นในความเป็น “เมืองเก่ามีชีวิต” ด้วยมนต์เสน่ห์ของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งล้านนาตะวันออกอันเป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ที่ได้มาเยือนเมืองน่านต่างต้องตกหลุมรักเข้าเต็มหัวใจ
ด้วยเสน่ห์เหล่านี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้คัดสรรให้ “น่าน” เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” ภายใต้แนวคิด “กระซิบรักเสมอดาว” ซึ่งได้นำเอา 2 ไฮไลต์เลื่องชื่อของเมืองน่านมาผสานกันระหว่างภาพกระซิบรัก ที่วัดภูมินทร์ และดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
และจากกระแสตอบรับเป็นอย่างดีของนักท่องเที่ยวจนเมืองน่านฮิตติดลมบน ททท.จึงเดินหน้าต่อเนื่องด้วยโครงการ “เมืองต้องห้ามพลาด plus” จับคู่ “น่าน plus แพร่” ดึงเอา “จังหวัดแพร่” เมืองเหนือที่มีสไตล์การท่องเที่ยวคล้ายกันคือเป็นเมืองเก่าที่ยังมีชีวิตชีวา เนิบช้าแต่งดงาม ให้นักท่องเที่ยวได้ค่อยๆ ใช้เวลาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยว ค่อยๆ ชาร์จความสุขอย่างเต็มอิ่ม
กระซิบรักเมืองน่าน ไหว้พระธาตุแช่แห้ง
เมื่อมาเยือนน่าน ทุกคนต้องได้มาสัมผัสกับ “หัวแหวนเมืองน่าน” หรือย่านเมืองเก่าอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า เปรียบได้ดังเพชรเม็ดงามบนตัวแหวน โดยหัวแหวนเมืองน่านหมายถึงบริเวณสี่แยกข่วงเมือง (อ.เมืองน่าน) อันเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ “วัดภูมินทร์” วัดคู่เมืองน่านที่งดงามด้วยพระวิหารทรงจตุรมุขที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค ภายในประดิษฐานพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย และมีความโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนัง“ปู่ม่าน-ย่าม่าน” หรือ “ภาพกระซิบรักบันลือโลก” อันสุดคลาสสิก
เยื้องกับวัดภูมินทร์ คือ “วัดช้างค้ำ” ที่โดดเด่นด้วยพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน มีช้างปูนปั้นตั้งอยู่โดยรอบในลักษณะของฐานรองรับเจดีย์ ส่วนฝั่งตรงข้ามวัดช้างค้ำเป็นที่ตั้งของ "หอคำ" หรือคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ซึ่งปัจจุบันจัดทำเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” ซึ่งมีงาช้างดำของโบราณเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองน่านให้ชม และมีอุโมงค์ต้นลีลาวดีเป็นจุดถ่ายรูปสุดโรแมนติก
นอกจากบริเวณหัวแหวนนี้แล้ว ในเมืองน่านยังมีวัดงามเลื่องชื่ออีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น “วัดมิ่งเมือง” อันเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองน่าน “วัดศรีพันต้น” ที่มีอุโบสถสีทองอร่ามงามตา “วัดสวนตาล” อันเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ หนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน “วัดพระเกิด” ซึ่งมีการทำ “ตุงก้าคิง” หรือตุงตามความเชื่อแบบล้านนา เชื่อว่าทำแล้วจะเป็นการสะเดาะเคราะห์สืบต่อชะตา โดยการท่องเที่ยวชมวัดในเมืองน่านนี้สามารถนั่งรถรางได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวได้สะดวกสบาย
ส่วน “วัดพระธาตุแช่แห้ง” (อ.ภูเพียง) ก็เป็นวัดสำคัญที่ต้องห้ามพลาด โดยเฉพาะคนที่เกิดปีกระต่าย (ปีเถาะ) เพราะที่นี่เป็นพระธาตุประจำปีเถาะตามความเชื่อแบบล้านนา องค์พระธาตุเก่าแก่กว่า 600 ปี ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัย
และที่ “วัดหนองบัว” (อ.ท่าวังผา) วัดงามด้วยศิลปะของไทลื้อ ที่มีไฮไลต์อยู่ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังระดับมาสเตอร์พีซที่ชมได้อย่างเพลิดเพลิน เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของชาวไทลื้อและเรื่องราว “คันธชาดก” นิทานธรรมเก่าแก่ปรากฏที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ที่บ้านหนองบัวยังเป็นต้นตำรับของผ้าทอลายน้ำไหลอันเลื่องชื่อของเมืองน่านอีกด้วย
“ดอยเสมอดาว” สุดฟิน เต็มอิ่มธรรมชาติเมืองน่าน
ในจังหวัดน่านมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่งด้วยกัน โดยมี “ดอยเสมอดาว” แห่งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน (อ.นาน้อย) เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์ ดอยเสมอดาวเป็นเนินเขาหญ้าที่สามารถชมวิวได้แบบ 360 องศา ในยามเย็นจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดี ในยามราตรีก็เป็นจุดชมดาวแสนงาม ส่วนในยามเช้าตรู่หากสภาพอากาศเหมาะสมก็จะได้ชมทะเลหมอกลอยเป็นปุยน่าชมยิ่งนัก จนทำให้หลายคนอยากจะมา “กระซิบรักเสมอดาว” กันในสถานที่อันน่าประทับใจแห่งนี้
ส่วนที่ “ขุนสถาน” (อ.นาน้อย) ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติยอดนิยมของ จ.น่าน เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูหวานจะเบ่งบานอวดสีสันสดใส โดยการชมดอกนางพญาเสือโคร่งนั้นต้องมาที่ “สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน” ซึ่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งไว้เป็นจำนวนมากทั้งด้านในและนอกสถานี และห่างจากสถานีฯ มาราว 2 กม. ก็เป็นที่ตั้งของ “อุทยานแห่งชาติขุนสถาน” ซึ่งมี “ดอยแม่จอก” เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยาน และเป็นจุดชมวิว ชมทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีทิวทัศน์ที่งดงามไม่น้อย
“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” (ครอบคลุม อ.ปัว และอีก 7 อำเภอ) เป็นอีกหนึ่งดอยงามที่ไม่ควรพลาด นอกจากที่นี่จะมีธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ของทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ขึ้นและตกแล้ว ก็ยังมีพืชพรรณไม้หายากของโลกอย่าง “ชมพูภูคา” ดอกไม้หายากที่ปัจจุบันมีรายงานว่าพบในธรรมชาติที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก โดยดอกชมพูภูคาจะออกดอกในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. ของทุกปี ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
เลยจากดอยภูคาไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของ “บ่อเกลือภูเขา” (อ.บ่อเกลือ) บ่อเกลือสินเธาว์อายุเก่าแก่กว่า 800 ปีที่ยังคงมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทำเกลือโบราณไว้ โดยเฉพาะที่ “บ้านบ่อหลวง” ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้การทำเกลือทุกขั้นตอน และใน อ.บ่อเกลือ ยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา” แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่เป็นดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่นี่มีศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า และร้านค้าสวัสดิการที่นำสินค้าฝีมือชาวบ้านมาให้เลือกซื้อกันจุใจ อีกทั้งยังมีพระตำหนักภูฟ้าอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพฯ ขณะเสด็จมาทรงงานที่ศูนย์ภูฟ้าฯ อีกด้วย
“แพร่” เมืองหม้อห้อมไม้สัก
“เมืองหม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ...” เป็นตอนหนึ่งในคำขวัญของจังหวัดแพร่ โดย “หม้อห้อม” นั้น หมายถึงการย้อมผ้าด้วยต้นห้อมหรือต้นคราม ทำให้ผืนผ้าเป็นสีน้ำเงิน และนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อหม้อห้อม โดยที่เมืองแพร่มีการสืบทอดการทำผ้าหม้อห้อมมายาวนานหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะที่ “บ้านทุ่งโฮ้ง” (ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง) แหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมชื่อดังของเมืองไทย ที่เป็นแหล่งชอปเสื้อหม้อห้อมและผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อมอันเก๋ไก๋หลากหลาย ส่วนใครที่อยากไปเรียนรู้หรือทดลองทำผ้าหม้อห้อมด้วยตัวเอง สามารถไปที่ “ศูนย์เรียนรู้ย้อมผ้าหม้อห้อม” ที่ “บ้านป้าเหงี่ยม” ใน ต.ทุ่งโฮ้ง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหม้อห้อม ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ และลองย้อมผ้าหม้อห้อมของตัวเองที่มีผืนเดียวในโลกได้อีกด้วย
อีกทั้งเมืองแพร่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะ “ไม้สัก” มีการทำอุตสาหกรรมไม้สักที่เมืองแพร่มาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2449 ยุคสมัยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่ในสมัยนั้น ปัจจุบันไม้สักที่นำมาใช้งานก็เป็นไม้สักที่อยู่ในรูปแบบของการปลูกไม้เศรษฐกิจ ทำให้เมืองแพร่ถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองไม้สัก”
ส่วนถิ่นรักพระลอนั้น หมายความถึง “ลิลิตพระลอ” วรรณคดีเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นตำนานความรักอมตะของพระลอแห่งนครแมนสรวง และพระเพื่อนพระแพงแห่งเมืองสรอง (เมืองสอง) ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ใน อ.สอง จ.แพร่ นั่นเอง ดังนั้นใน อ.สอง จึงมีการสร้าง “อุทยานลิลิตพระลอ” ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานตำนานความรักของทั้งสามคน อีกทั้งไม่ไกลกันยังเป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุพระลอ” ซึ่งเชื่อว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนเมืองสรองโบราณ ที่นี่มีพระธาตุเก่าแก่ เชื่อกันว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของพระลอและพระเพื่อนพระแพง
ยลวัดเก่าแก่ ไหว้ “พระธาตุช่อแฮ” คู่เมืองแพร่
เมืองแพร่มี “พระธาตุช่อแฮ” (อ.เมือง) เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง องค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ในวัดพระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองศิลปะเชียงแสน บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์เจดีย์สีทองอร่ามงดงามยิ่งนัก เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล
ห่างจากพระธาตุช่อแฮไปราว 3 กม. บนเขาสูงเป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุดอยเล็ง” (อ.เมือง) ซึ่งนอกจากจะมีองค์เจดีย์สีขาวรูปร่างงดงามสมส่วน รวมถึงอุโบสถขนาดกะทัดรัดแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวเมืองแพร่ได้อย่างงดงาม มองลงมาเห็นพระธาตุช่อแฮสีทองสุกสว่าง มองเห็นทิวทัศน์ของเมืองแพร่ได้กว้างไกลและงดงาม
อีกหนึ่งวัดที่อยู่บนเขาสูงคือ ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยาราม (พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์เฉลิมพระเกียรติ ร.9) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์” (อ.เมือง) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุอินทร์แขวนมหาโพธิสัมฤทธิ์ ที่จำลองมาจากพระธาตุอินทร์แขวนของพม่า อีกทั้งยังมีองค์พระพุทธชยันตีมหัศจรรย์ พระพุทธรูปที่มีลักษณะเหมือนพระผุดประดิษฐานอยู่บนสันเขา
ในตัวเมืองแพร่ยังมีวัดงามอีกหลายแห่งที่อยากแนะนำให้ไปเที่ยวชมกัน ไม่ว่าจะเป็น “วัดพระบาทมิ่งเมือง” ที่มี “พระพุทธโกศัยศิริชียมหาศากยมุนี” เป็นพระพุทธรูปค้านคู่เมืองแพร่ “วัดพระนอน” ที่มีองค์พระพุทธรูปนอนปูนปั้นความยาวกว่า 9 เมตร “วัดพงษ์สุนันท์” ภายในบริเวณวัดมีพระนอนสีทองอร่าม ซุ้มประตูมงคล 19 ยอด และเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่งดงามยิ่งนัก และ “วัดจอมสวรรค์” วัดไทยใหญ่ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่าด้วยไม้สักทั้งหลัง ภายในมีพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง
“คุ้มเจ้าหลวง-บ้านวงศ์บุรี” ศรีเมืองแพร่
ในย่านเมืองเก่าแพร่นอกจากจะมีวัดงามหลายแห่งแล้ว ยังมีคุ้มเจ้าหลวง และบ้านเรือนเก่าแก่สร้างด้วยไม้สักงดงามหลายหลังให้เดินชม โดย “คุ้มเจ้าหลวง” ที่ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง สร้างโดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว กรอบหน้าต่างทาสีเขียวอ่อนสบายตา ตกแต่งด้วยลายฉลุสวยงาม ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวของเมืองแพร่ในอดีต
“บ้านวงศ์บุรี” บ้านสีชมพูหลังงามแบบยุโรปประยุกต์ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาสูงทรงปั้นหยาสองชั้น มีลวดลายไม้แกะสลักที่อ่อนช้อยงดงามนัก บ้านวงศ์บุรีสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ดั้งเดิมของตระกูล ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามกันได้ทุกวัน
สำหรับคนที่มาชมย่านเมืองเก่าใกล้กับบ้านวงศ์บุรีในช่วงเย็นวันเสาร์ ก็จะได้เดินเล่นถนนคนเดินกันที่ “กาดกองเก่า” และ “กาดพระนอน” ที่อยู่ติดกัน ที่นี่เป็นถนนคนเดินเล็กๆ บรรยากาศน่ารัก มีขายทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ไม้สอยแบบชาวบ้าน รวมถึงอาหารการกินแบบชาวเหนือ ที่เดินไปชิมไปซื้อไปจนอิ่มหนำ หรือจะเดินเล่นชมบรรยากาศร้านค้าและบ้านเก่าเพลินๆ ก็ได้เช่นกัน
ลองมาแล้วจะรัก “ลอง”
“อำเภอลอง” อำเภอเล็กๆ ชื่อสั้นๆ ที่อยู่ห่างจากเมืองแพร่แค่ 40 กม. แต่มีสิ่งน่าสนใจหลากหลายที่อยากให้ลองมาชมกัน เริ่มตั้งแต่ “วัดศรีดอนคำ” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าพร้าโต้” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลอง ที่ผู้สร้างพระพุทธรูปได้ใช้มีดอีโต้ (พร้าโต้) แกะสลักไม้สักทองท่อนเดียวให้เป็นพระพุทธรูปในแบบศิลปะพื้นบ้านล้านนา ที่นี่ยังมีระฆังที่ทำจากลูกระเบิด อันเป็นที่มาของตำนาน “คนแพร่แห่ระเบิด” ซึ่งหากอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรต้องลองมาชมกัน
“สถานีรถไฟบ้านปิน” สถานีรถไฟที่สร้างในสมัย ร.6 เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวของไทยที่สร้างในสไตล์ “เฟรมเฮาส์” แบบบาวาเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในแคว้นบาวาเรียนของประเทศเยอรมัน นายช่างชาวบาวาเรียนออกแบบสถานีแห่งนี้โดยใช้ไม้สักเป็นวัสดุสำคัญผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ออกมาเป็นสถานีรถไฟบ้านปินอันเป็นเอกลักษณ์และน่ารักไม่เหมือนใคร
“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” ของ อ.โกมล พานิชพันธ์ ที่เก็บสะสมผ้าโบราณของเมืองลอง ผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนกเมืองลอง และผ้าโบราณของล้านนา ไม่ว่าจะเป็นตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกไหล่หิน ตีนจกนาน้อย ตีนจกหาดเสี้ยว ฯลฯ และได้นำเอาผ้าทอเหล่านั้นมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ถูกใจคนรักงานผ้ายิ่งนัก
ที่เมืองลองยังมีแหล่งเรียนรู้งานหัตถศิลป์ผ้าทอตีนจกอีกหนึ่งแห่งคือที่ “บ้านศิลปินแห่งชาติ ประนอม ทาแปง” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ) ที่มีผ้าซิ่นลายโบราณ และลายใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเองจำนวนมาก ซึ่งนอกจากที่นี่จะเป็นที่จัดแสดงลายผ้าต่างๆ แล้ว ยังมีการสอนทอผ้าสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย
ขอแนะนำอีกหนึ่งวัดไม่ควรพลาด อ.ลอง คือ “วัดสะแล่ง” วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ที่เคยเป็นวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัย ต่อมาในปี 2506 พระครูวิจิตรนวการโกศล หรือ พระครูบาสมจิต ติตฺตคุตฺโต ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นจนมีความงดงามไม่แพ้วัดดังแห่งอื่นๆ ที่วัดแห่งนี้มี “พระเจ้าไม้แก่นจันทน์” เป็นพระพุทธรูปคู่วัด และยังมีพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมโบราณวัตถุต่างๆ ที่น่าชมมากอีกด้วย
“แพะเมืองผี” น่าชม ยลธรรมชาติหลากหลายในเมืองแพร่
แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของจังหวัดแพร่ก็มีความสวยงามไม่แพ้ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็น “แพะเมืองผี” ที่ตั้งอยู่ในวนอุทยานแพะเมืองผี (อ.เมือง) มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เกิดจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นดินและหินทรายถูกตัดแต่งจากลมและน้ำจนกลายเป็นเสาดินรูปร่างลักษณะต่างๆ สำหรับชื่อของแพะเมืองผีนั้น มาจากภาษาพื้นเมือง โดยแพะ แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วน เมืองผี แปลว่า เงียบเหงา วังเวง ซึ่งอาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัวนั่นเอง
“ถ้ำผานางคอย” แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ อ.ร้องกวาง ถ้ำแห่งนี้อยู่บนหน้าผา เป็นอุโมงค์ลึกยาว 150 เมตร มีหินงอกหินย้อยในลักษณะต่างๆ อีกทั้งในหน้าน้ำยังมีลำธารเล็กๆ ในถ้ำอีกด้วย และบริเวณสุดทางถ้ำมีก้อนหินใหญ่รูปร่างคล้ายหญิงสาวอุ้มลูกคล้ายรอคอยใครสักคนหนึ่ง จึงเป็นที่มาขอชื่อถ้ำผานางคอย ที่มีตำนานพื้นบ้านเล่าขานสืบต่อกันมา
“อุทยานแห่งชาติดอยผากลอง” (อ.ลอง) ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติน่ายล ที่นี่มีสิ่งน่าสนใจหลากหลาย อาทิ “ถ้ำเอราวัณ” ถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยงดงาม “ภูเขาหินปะการัง”ภูเขาหินที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกและการพังทลายของหน้าดิน ทำให้เกิดเป็นภูเขาหินที่มีรูปร่างคล้ายปะการัง “สวนหินมหาราช” กลุ่มก้อนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงรายท่ามกลางป่าเต็งรัง
“อุทยานแห่งชาติแม่ยม” (อ.สอง) อันเป็นที่ตั้งของ “แก่งเสือเต้น” เกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม สามารถกางเต็นท์ชมธรรมชาติได้ที่นี่ อีกทั้งยังมี “ดงสักงาม” เป็นกลุ่มไม้สักทองที่ขึ้นอยู่หนาแน่นตลอด 12 กม.ริมแม่น้ำยม การเข้าไปชมต้องใช้วิธีเดินเท้าเท่านั้น
และนี่ก็คือแหล่งท่องเที่ยวอันหลากหลายของสองเมืองน่าเที่ยว “น่าน plus แพร่” ที่หากได้ลองมาเยือนทั้งสองจังหวัดแบบแพ็คคู่แล้ว รับรองว่าจะได้เต็มอิ่มและประทับใจกับมนต์เสน่ห์เมืองน่ารักและเนิบช้าไปอีกนาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในเส้นทาง เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส “น่าน plus แพร่” เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร.0-5452-1127
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com