xs
xsm
sm
md
lg

งดงามเปี่ยมพลัง!!! มนต์ขลัง“พญานาค”เมืองน่าน (เหมือน)มีชีวิต แฝงปริศนาธรรม/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
วัดภูมินทร์ หนึ่งในวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน ที่นักท่องเที่ยวต้องห้ามพลาด
จังหวัดน่าน เคยได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนความงามแห่งขุนเขา เมืองเก่าที่มีชีวิต”

แต่วันนี้ดินแดนความงามแห่งขุนเขา กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากการตัดไม้ทำลายป่า(ของคนเห็นแก่ตัวจำนวนหนึ่ง) ทำให้ป่าไม้เมืองน่านสูญหายเหี้ยนเตียน ขุนเขากลายเป็นเขาหัวโล้น จนปรากฏเป็นข่าวให้พูดถึงกันในโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง (อย่างไรก็ดี ก็มีผู้ที่มีความตั้งใจและจริงใจในการร่วมช่วยฟื้นฟูผืนป่าเมืองน่านให้กลับคืนมา พร้อมๆทั้งลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งผมก็ขอสนับสนุน เอาใจช่วย และขอร่วมช่วยกันอีกแรง)
วัดพระธาตุแช่แห้ง ภายในประดิษฐานพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน
ขณะที่ความเป็นเมืองเก่ามีชีวิตของน่านนั้น วันนี้แม้หลายสิ่งหลายอย่างในตัวเมืองเก่า(ตัวเมืองน่าน) จะเปลี่ยนแปลง เติบโต พัฒนา ไปตามสัจธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงและกระแสธารการท่องเที่ยวน่านที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง แต่เมืองเก่าน่านก็ยังคงงดงามทรงเสน่ห์น่าเที่ยว

ยิ่งหลังจากที่ จ.น่าน สร้างสนามบินใหม่ เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น รวมถึงได้รับการโปรโมทจาก ททท. ให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้าม...พลาด” ก็ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวในเมืองน่านทวีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

“วัดภูมินทร์ - วัดพระธาตุแช่แห้ง”
วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ที่ลานข่วงเมืองน่าน
ตัวเมืองเก่าน่านได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมอันสงบงาม ภายในเขตเมืองเก่าและพื้นที่โดยรอบ โดดเด่นไปด้วยวัดสวยๆงามๆมากมาย แถมยังอยู่ไม่ไกลกัน สามารถเดินเท้าเที่ยวชมวัดที่อยู่ใกล้ๆกันได้ รวมไปถึงสามารถปั่นจักรยานชิลล์ๆเที่ยวชมวัดต่างๆในตัวเมืองน่านและพื้นที่โดยรอบๆได้อย่างสบายๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมกันมาก

สำหรับวัดดังที่ถือเป็นไฮไลท์ต้องห้ามพลาดในเมืองน่านมี 2 วัดด้วยกัน คือ “วัดภูมินทร์” และ “วัดพระธาตุแช่แห้ง”

วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ ต.ในเวียง อ.เมือง เป็นวัดเก่าแก่กลางเมืองอายุกว่า 400 ปี ตามพงศาวดารเมืองน่านระบุว่า สร้างในปี พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์หลังขึ้นครองเมืองน่านได้ 6 ปี เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์” ก่อนจะเพี้ยนเป็นวัดภูมินทร์ในภายหลัง
สถาปัตยกรรมทรงจัตุรมุขวัดภูมินทร์ที่เป็นทั้ง โบสถ์ พระวิหาร และเจดีย์
วัดภูมินทร์ มีไฮไลท์สำคัญคือตัวอาคาร“สถาปัตยกรรมทรงจัตุรมุข” ที่เป็นทั้งโบสถ์ วิหารหลวง และเจดีย์ ในอาคารเดียวกัน แต่คนทั่วไปนิยมเรียกรวมๆว่าโบสถ์วัดภูมินทร์หรือวิหารวัดภูมินทร์

ภายในโบสถ์วัดภูมินทร์ประดิษฐาน “พระประธานจตุรทิศ” ที่เป็นพระพุทธรูป(พระประธาน)ปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ ประทับฐานบนฐานชุกชีหนึ่งเดียวกัน ณ แกนกลางโบสถ์ โดยหันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) และหันพระพักตร์ไปใน 4 ทิศ นับเป็นพระประธานที่มีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังมีความงดงาม ลงตัวสมส่วน ดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
พระประธานจตุรทิศ วัดภูมินทร์
นอกจากนี้ภายในโบสถ์หลังนี้ยังมี“ฮูปแต้ม”หรือจิตกรรมฝาผนัง เป็นอีกหนึ่งสิ่งต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนวัดภูมินทร์

ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ สันนิษฐานว่าวาดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2410-2417 โดย“หนานบัวผัน”ช่างชาวไทลื้อ(เช่นเดียวกับที่“วัดหนองบัว” อ.ท่าวังผา จ.น่าน)
ฮูปแต้ม ปู่ม่าน-ย่าม่าน วัดภูมินทร์ อันโด่งดังลือลั่น
ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการยกย่องว่า มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยรูปแบบการวาดภาพที่เรียบง่าย แต่ดูมีชีวิตชีวา มีความเป็นธรรมชาติ หลายๆภาพมีขนาดเทียบเคียงเท่ากับคนจริง

ฮูปแต้มวัดภูมินทร์ มุ่งนำเสนอเรื่องราวทางพุทธศาสนา ชาดก และภาพวิถีชีวิตชาวน่านในอดีต โดยมีภาพวาดไฮไลท์สำคัญคือ ภาพ“ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ที่ต่อมาภายหลังภาพนี้ได้รับการเรียกขานว่า ภาพ“กระซิบรักบันลือโลก”อันโด่งดัง ซึ่งวันนี้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองน่าน
พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน และเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีเถาะ(กระต่าย)
ส่วน “วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง บน“ดอยภูเพียงแช่แห้ง”เนินเตี้ยๆทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน(ห่างจากตัวเมืองน่านไปประมาณ 3 กม.) ซึ่งบริเวณนี้เคยเป็นศูนย์กลางเมืองน่านเก่า ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ในตัวเมืองน่านดังในปัจจุบัน

วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นวัดเก่าแก่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านมากว่า 600 ปี ภายในวัดประดิษฐาน “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน และเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีเถาะ(กระต่าย)องค์สีทองอร่าม ซึ่งใครที่มาเยือนเมืองน่าน มักจะไม่พลาดการไปสักการะพระธาตุแช่แห้งเสริมสิริมงคล
พระเจ้าล้านทอง ในวิหารหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง
นอกจากองค์พระธาตุแช่แห้งแล้ว ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆอีกหลากหลาย อาทิ “พระเจ้าล้านทอง”พระประธานในวิหารหลวง, “พระพุทธไสยาสน์”(พระนอน)องค์งามในวิหารพระพุทธไสยาสน์, “พระเจ้าทันใจ”ในวิหารพระเจ้าทันใจ และ “พระธาตุแช่แห้งน้อย” หรือ “พระธาตุตะโก้งจำลอง” ที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเจดีย์ชเวดากองในประเทศเมียนมาร์
พระนอน ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระธาตุแช่แห้ง
นับได้ว่าทั้งวัดภูมินทร์และวัดพระธาตุแช่แห้ง ต่างก็มีสิ่งน่าสนใจมากมายให้สักการะเที่ยวชม รวมถึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านให้สักการะบูชา ถือเป็น 2 วัดสำคัญเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองน่าน ที่ผู้มาแอ่วเมืองน่านห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

พญานาควัดภูมินทร์
ประติมากรรมปูนปั้นพญานาค ด้านหน้าโบสถ์วัดภูมินทร์
นอกจากสิ่งน่าสนใจเด่นๆของวัดภูมินทร์และวัดพระธาตุแช่แห้งตามที่ผมได้กล่าวมา(คร่าวๆ)ในเบื้องต้นแล้ว ทั้ง 2 วัดยังมีอีกหนึ่งงานพุทธศิลป์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่หลายๆคนมักมองข้ามไปนั่นก็คือ“พญานาค”

พญานาควัดภูมินทร์ มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากพญานาคส่วนใหญ่ของวัดทั่วๆไป ที่จะมีเฉพาะส่วนท่อนหัวกับลำตัวเลื้อยอยู่บนราวบันไดทางเข้าโบสถ์ แต่พญานาควัดภูมินทร์กลับมีทั้งส่วนหัวและส่วนหาง ที่(ดูเหมือน)กำลังเลื้อยทะลุออกมาจากโบสถ์ หรือกำลังเลื้อยเทินหนุนโบสถ์หลังนี้เอาไว้
นาคสะดุ้ง 2 ตน หน้าโบสถ์วัดภูมินทร์
ทั้งนี้นักวิชาการบางคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประติมากรรมพญานาควัดภูมินทร์ เป็นการแสดงคติความเชื่อในเรื่องน้ำของคนโบราณ โดยใช้พญานาคเป็นสัญลักษณ์เลื้อยผ่านตลอดวิหาร ส่วนบริเวณพื้นนั้นเปรียบดังสระน้ำสี่เหลี่ยมที่มีโบสถ์-วิหารวัดภูมินทร์ตั้งอยู่ ส่วนถ้าหากมองตามคติพุทธทั่วๆไปแล้ว พญานาคตามวัดต่างๆนั้นเปรียบเสมือนผู้ปกป้องศาสนาพุทธ

พญานาควัดภูมินทร์ เป็นประติมากรรมปูนปั้น พญานาค 2 ตน(เพศผู้ –เพศเมีย) ซึ่งช่างโบราณใช้ฝีมือสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง เป็นนาคสะดุ้งลำตัวอวบอ้วน หน้าตาดูใจดี ดูมีชีวิตชีวา กำลังชูหัวสง่า ท่าทางดูเหมือนกำลังเลื้อยอยู่จริง(สังเกตได้จากช่วงอกต้นคอก่อนยกหัวขึ้นช่างเขาปั้นได้มีกล้ามอกดูละม้ายคล้ายงูใหญ่กำลังเลื้อยอยู่)
ด้านหน้าโบสถ์วัดภูมินทร์ มีพญานาค 2 ตน ที่(ดูเหมือน)กำลังเลื้อยทะลุออกมาจากโบสถ์
นั่นจึงทำให้พญานาคที่วัดภูมินทร์แห่งนี้ ได้รับการยกย่องจาก อ.ถวัลย์ ดัชนี ดัชนี ศิลปินนามอุโฆษ(ผู้ล่วงลับ) ว่า “เป็นพญานาคที่ดูทรงพลังที่สุดในเมืองไทย”

พญานาควัดพระธาตุแช่แห้ง

จากนาคทรงพลังวัดภูมินทร์ไปดูพญานาคที่วัดพระธาตุแช่แห้งกันบ้าง ซึ่งวัดแห่งนี้มีศิลปะพญานาคเจ๋งๆให้ชมกันอยู่ 2 จุดด้วยกัน
พญานาคตัวยาว ที่เนินด้านหน้าวัดพระธาตุแช่แห้ง
จุดแรกเป็นพญานาค 2 ตนที่เชิงเนินด้านหน้าวัด(บริเวณป้ายหน้าวัด) เป็นงานประติมากรรมปูนปั้นพญานาคขนาดใหญ่ ตัวยาวเฟื้อย ที่ช่างโบราณสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างสวยงาม ดูสง่าหน้าตาขรึมขลัง หัวสีทอง ลำตัวเกล็ดสีน้ำตาล มีหางสีทองเป็นแฉก 9 แฉก ชูคอตระหง่าน (ดูเหมือน)กำลังเลื้อย ทอดยาวไปตามราวทางเดินเข้าวัด เมื่อมองจากเนินขึ้นไปจะนำสายตาไปสู่องค์พระธาตุแช่แห้งสีทองอร่าม
พญานาคตัวยาว ที่เนินด้านหน้าวัดพระธาตุแช่แห้ง
พญานาค 2 ตนนี้ มีข้อมูลระบุว่า “ยาว 64 วา สูง 4 ศอก และยกหัวสูงถึง 10 ศอก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2349 ในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ โดยสื่อความหมายว่า เป็นดังสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์(เชิงเนินเบื้องล่าง)กับสรวงสรรค์(บนเนินเบื้องบนที่ประดิษฐานองค์พระธาตุแช่แห้ง)
พญานาคทางขึ้นวัดพระธาตุแช่แห้ง เลื้อยชูคอตั้งเด่นตระหง่าน
ส่วนจุดชมพญานาคสุดเจ่งอีกจุดหนึ่งของวัดพระธาตุแช่แห้งนั้นอยู่ที่“พระวิหารหลวง” ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมล้านนาแบบ“ม้าต่างไหม” หลังคาซ้อน 3 ชั้นอันอ่อนช้อย ตัวพระวิหารก่ออิฐถือปูน ทาสีขาวนวลทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านหน้าประตูทางเข้ามีงานปูนปั้น 2 สิงห์ ได้แก่ “สิงห์สรวล”(ซ้าย) และ “สิงห์คายนาง”(ขวา)
ที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้า พระวิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้ง มีภาพปูนปั้นพญานาคแฝงปริศนาธรรมให้ชม
ขณะที่บริเวณพื้นที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้าพระวิหารหลวง(ที่หลายๆคนอาจมองข้ามไปนั้น) ช่างโบราณได้สร้างสรรค์เป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนสูง รูป“อัฏฐพญานาคราช” มีลักษณะเป็นพญานาค 8 ตัว(ฝั่งละ 4 ตัว) กำลังใช้ส่วนลำตัวและหางเกาะเกี่ยวกระหวัดรัดกันไปเป็น 3 ชั้น โดยมีช่อดอกบัวตูม 7 ดอกโผล่พุ่งออกมาจากด้านข้าง

อัฏฐพญานาคราช ถือเป็นหนึ่งในปริศนาธรรมแห่งวัดพระธาตุแช่แห้ง มีนัยแฝงเป็นพุทธปรัชญา โดย พญานาค 8 ตัว หมายถึง อริยมรรคแปด อันเป็นแปดเส้นทางที่พระตถาคตใช้สอนพุทธศาสนิกชนให้เดินสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น
ภาพพญานาคแฝงปริศนาธรรมที่เหนือประตูด้านหน้าวิหารหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง
ส่วนการเกี่ยวกันเป็น 3 ชั้นนั้น แทนองค์ 3 ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนหางที่เกี่ยวกันด้านบนสุดเป็นสี่บ่วงนั้น คือ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ด้านดอกบัว 7 ดอก แทนอภิธรรมา 7 คัมภีร์ หรือ หลักธรรมสัปปุริสัทธรรม 7 ประการ

นอกจากนี้พญานาค 8 ตัว ที่เกี่ยวกระหวัดกันที่หน้าบันแห่งนี้ หากเพ่งพินิจให้ดีจะเห็นเป็นรูปฟอร์มของเจดีย์ หรือพระพุทธรูป ซึ่งล้วนต่างก็เป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์
ภาพพญานาคที่เหนือประตูด้านหลังวิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้ง ผลงานช่างยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีงานปูนปั้นพญานาคเกี่ยวกระหวัดแฝงปริศนาธรรม ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้าพระวิหารหลวงเท่านั้น แต่ที่เหนือประตูทางเข้าด้านหลังพระวิหารหลวงก็มีเช่นกัน เป็นผลงานของช่างยุคปัจจุบัน ปั้นเป็นพญานาค(ทา)สีทองเกี่ยวกระหวัดกันอยู่

แต่ด้วยความที่ช่างปั้นออกมาได้ดูหยาบ พญานาคดูแข็งกระด้าง ไร้ชีวิต(ต่างไปจากด้านหน้า) แถมตัวนาคยังทาสีทองดูหลุดออกมาจากงานดั้งเดิม ทำให้พญานาคที่เหนือประตูด้านหลังของพระวิหารหลวงนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อยเลย
พญานาควัดภูมินทร์ มีช่องให้เดินลอดทั้งช่วงส่วนหน้าและส่วนหลัง
และนี่ก็เป็นเสน่ห์พญานาคแห่งเมืองน่าน จากวัดภูมินทร์และ วัดพระธาตุแช่แห้ง 2 วัดต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนเมืองน่าน ซึ่งหากใครมีโอกาสไปเที่ยววัดทั้งสอง แล้วลองชมลองสังเกตให้ดีๆ ก็จะพบว่า(ประติมากรรม)พญานาคที่ 2 วัดทั้งสองแห่งนั้น ดูงดงามมีชีวิตชีวาควรแค่แก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่เมืองน่านไปตราบนานเท่านาน
*****************************************

สอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางใน จ.น่าน เพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร.0-5452-1127
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น