มนต์เสน่ห์แห่งผ้าไทย นอกจากจะประณีต งดงาม มีเอกลักษณ์ และมีชื่อเสียงเลื่องลือไกลไปในระดับโลกแล้ว งานหัตถศิลป์ผ้าไทยจำนวนมากยังเกิดจากการสืบสานภูมิปัญญานับจากอดีตถึงปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของชาวไทย
สำหรับภาคเหนือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแหล่งผลิตผ้าไทยผืนงามมากมาย ด้วยเหตุนี้ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาค ภาคเหนือ จึงได้นำศักยภาพอันโดดเด่นของงานหัตถศิลป์ผ้าเมืองเหนือ มาจัดเป็น“เส้นทางแพรพรรณอาภรณ์” พาไปสัมผัสกับความงดงามของผ้าพื้นเมืองเลื่องชื่อต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ
นอกจากนี้ททท.ภูมิภาค ภาคเหนือ ยังได้นำเส้นทางแพรพรรณอาภรณ์มาต่อยอด สำหรับนักท่องเที่ยว “กลุ่มผู้หญิง”ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพและมาแรงแห่งยุค โดยได้ผนวกรวมเข้ากับเส้นทางอื่นๆ จาก 8 เส้นทางท่องเที่ยวภาคเหนือที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เหนือฝัน ล้านแรงบันดาลใจ”โดยเฉพาะ“เส้นทางอิ่มบุญอุ่นใจ”และ“เส้นทางอร่อย ล้านแรงบันดาลใจ” ด้วยการพาไปตะลอนทัวร์(เส้นทางตัวอย่าง)ใน 6 จังหวัดสัมผัสกับผ้างามเมืองเหนือ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เที่ยวชมสิ่งน่าสนใจ
พร้อมทั้งไม่พลาดการพาไปลิ้มรสเมนูเด็ด ของอร่อยประจำถิ่น เพื่อให้ครบเครื่องเรื่องเที่ยวเหนือ ทั้งชม ชิม ช้อป แชะ กันเป็นที่เพลิดเพลินอุรา
เชียงใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบรรดาผ้าทอมือสวยๆงามๆที่มีอยู่มากมายในจังหวัดเชียงใหม่นั้น “ผ้าตีนจกแม่แจ่ม”(ผ้าจกแม่แจ่ม)หรือ“ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดงานหัตถศิลป์ผ้าทอมืออัน-ขึ้นชื่อ ซึ่งผู้นิยมผ้าไทยจำนวนมากต่างมุ่งหน้าสู่“อ.แม่แจ่ม”เพื่อไปเลือกซื้อเลือกหาผ้าตีนจกผืนงามมาสวมใส่ไว้ในครอบครอง
เส้นทางตามรอยผ้าตีนจกแม่แจ่ม เริ่มต้นด้วยการไปไหว้“พระธาตุดอยสุเทพ” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และพระธาตุประจำประจำปีคนเกิดปีมะแม(แพะ) เอาฤกษ์เอาชัย
ต่อจากนั้นเป็นการเดินทางสู่ อ.แม่แจ่ม ระหว่างทางก่อนขึ้นสู่ดอยอินทนนท์ จะมี“พระธาตุศรีจอมทอง”(อ.จอมทอง) พระธาตุประจำคนเกิดปีชวด(ปีหนู)ให้แวะสักการะ ก่อนจะขึ้นไปเที่ยวชมความงามของสิ่งน่าสนใจต่างๆบนดอยอินทนนท์ ไม่ว่าจะเป็น “พระมหาธาตุนภเมทนีดล-พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” และจุด“สูงสุดแดนสยาม” 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้บนดอยอินทนนท์ยังมี “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์”(โครงการหลวงอินทนนท์) เป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจ
สถานีฯอินทนนท์ มีความโดดเด่นในเรื่องของการทำประมงบนที่สูง สามารถเพาะเลี้ยง ปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาสเตอร์เจี้ยน กุ้งก้ามแดง และปูขน ได้สำเร็จ พร้อมกันนี้ทางสถานีฯได้นำผลผลิตต่างๆ มาจัดทำเป็นเมนูแนะนำอันหลากหลายให้ผู้ไปเยือนได้ลิ้มลอง อาทิ สเตอร์เจี้ยนผัดพริกไทดำ สเตอร์เจี้ยนนึ่งซีอิ๊ว ราดหน้าปลา(เรนโบว์)เทราต์เส้นกรอบ พล่ากุ้งก้ามแดง ผัดไทยพาสต้ากุ้งก้ามแดง ซึ่งเหมาะสำหรับสาวๆนักชิมเป็นอย่างยิ่ง
จากดอยอินทนนท์เดินทางต่อไปยัง อ.แม่แจ่ม เพื่อไปยลความงามและเลือกซื้อเลือกหาผ้าตีนจกแม่แจ่มผืนสวยๆงามๆกัน โดย ใน อ.แม่แจ่ม มีศูนย์ทอผ้าและร้านจำหน่ายผ้าทออยู่หลากหลาย รวมถึงตามใต้ถุนบ้านเรือนหลายๆหลังก็ยังคงมีการทอผ้ากันอยู่เป็นกิจวัตร ซึ่งเราสามารถขอเข้าชมไปพูดคุยกับช่างทอกันได้
ผ้าตีนจกแม่แจ่ม มีเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการทอหรือจกด้วยการคว่ำลายลงกับกี่ทอผ้าแล้วจกทางด้านหลัง เมื่อทอเสร็จแล้วสามารถสวมนุ่งได้ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งงานผ้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI ) การันตีในคุณภาพ
นอกจากผ้าซิ่นตีนจกผืนงามแล้ว ใน อ.แม่แจ่มยังมี ปิ่นปักผมทำมือที่“บ้านปิ่นปักผมแก้วจันทร์” ซึ่งต้นตำรับนั้นเป็นฝีมือของ คุณตา“กอนแก้ว อินต๊ะก๋อน” ก่อนจะที่ส่งต่องานฝีมือขั้นเทพมายังรุ่นลูก ให้สืบสานการทำปิ่นปักผมแบบโบราณอันงดงามและเป็นเอกลักษณ์ ที่หาได้ยากยิ่งในเมืองไทย
ด้านสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆไม่ควรพลาดใน อ.แม่แจ่ม หากไปในช่วงฤดูทำนา(ประมาณเดือน ส.ค.-กลาง พ.ย.) เราจะได้สัมผัสกับทุ่งนาขั้นบันไดอันสวยงามกันในหลากหลายจุดของอำเภอ ส่วนถ้าหากไปเที่ยวในช่วงเวลาปกติทั่วๆไป เมืองแม่แจ่มก็มีวัดสวยๆงามๆอันเป็นเอกลักษณ์ให้เลือกเที่ยวชมกัน อาทิ “วัดยางหลวง” “วัดป่าแดด” “วัดพุทธเอ้น” “วัดกองแขก” และ “วัดกองกาน” เป็นต้น
สำหรับสาวๆนักชิมที่ตลาดใจกลางเมืองแม่แจ่มมีอาหารเมืองสดๆใหม่ๆ ทั้ง ไส้อั่ว แอ๊บ จิ้นย่าง(เนื้อย่าง)ปลาย่าง ให้เลือกอิ่มอร่อย ส่วนที่“ร้านเฮือนแม่อุ๊ย” ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่นนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งร้านเด็ดของชาวแม่แจ่ม ซึ่งมีเมนูเด็ดๆ อย่าง ลวกจิ้มหมูหมัก ยำหมูหมักเส้นบุก และโดยเฉพาะ“ตำข้าวโพดไข่เค็ม” เมนูหน้าตาดี รสอร่อยกลมกล่อมเป็นตัวชูโรง
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของเมืองแม่แจ่ม เมืองเล็กน่ารักในหุบเขาที่จัดอยู่ในประเภท “Small is Beautiful”
ลำพูน
แม้จะเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในภาคเหนือ แต่ลำพูนกลับมีแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอยู่ที่นี่ รวมถึงยังเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานทอผ้าไหมยกดอกลำพูนอันขึ้นชื่อลือชา
สำหรับเส้นทางตามรอยผ้างามในลำพูน เริ่มต้นด้วยการไปไหว้ “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา(ไก่) ที่“วัดพระธาตุหริภุญชัย”(ถ.อินทยงยศ ต.ในเมือง อ.เมือง) ก่อนที่จะไปสนุกกับการช้อปปิ้งที่ “กาดขัวมุงท่าสิงห์”(ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัย) ซึ่งมากไปด้วยสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะผ้าทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายที่ขายกันในราคาไม่แพง ชวนให้ช้อปกระจาย
จากกาดขัวมุงท่าสิงห์เมื่อเดินต่อไปอีกไม่กี่สิบเมตร จะมี“ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย” ที่ร้าน “ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย”(เวียงยอง) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาหารเอกลักษณ์ของเมืองลำพูนให้เลือกลองลิ้มชิมรสสัมผัสในความแตกต่าง
หลังอิ่มอร่อยแล้ว จุดต่อไปเป็น“สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย” ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าเมืองลำพูน โดยเฉพาะ“ผ้าไหมยกดอกลำพูน”อันเลื่องชื่อ และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นการทอผ้าด้วยการยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า โดยส่วนใหญ่นำลวดลายมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะ“ลายดอกพิกุล” ที่ถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าทอยกดอกลำพูน ซึ่งที่สถาบันผ้าทอมือลำพูน ในส่วน“โรงทอผ้า” จะมีผู้เชี่ยวชาญมานั่งทอผ้าให้ชมกัน ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ทั้งลวดลายโบราณ และลวดลายประยุกต์ ที่ดูแล้วมีชีวิตชีวาไม่น้อย
ภายในสถาบันผ้าทอมือลำพูนยังมีอีกหนึ่งส่วนสำคัญคือ ส่วน“พิพิธภัณฑ์” ที่นอกจากจะมีการแสดงเกี่ยวกับงานผ้าและชุดแต่งกายชนเผ่าต่างๆแล้ว ก็ยังมีการจัดจำหน่ายงานผ้าทอมือลำพูนทั้งผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมทั่วไป และผ้าฝ้ายเกรดพรีเมียมคุณภาพดี รวมไปถึงของที่ระลึกอีกหลากหลาย
จากตัวเมืองลำพูนเรามุ่งหน้าลงทางใต้ สู่ อ.ลี้ ดินแดนบ้านเกิดของ“ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งมี “วัดบ้านปาง” ที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดบ้านเกิดของครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านได้มาบวชเรียนที่นี่เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจให้เที่ยวชม โดยภายในวัดมีรูปเคารพของครูบาศรีวิชัยองค์โตให้ได้สักการบูชา และมี“พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของครูบาศรีวิชัย” ให้เราได้ศึกษาเรื่องราวของท่าน
อ.ลี้ ยังมีอีกหนึ่งวัดสำคัญนั่นก็คือ “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ที่เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดใน อ.ลี้ ภายในวัดมีสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้เที่ยวชม เช่น วิหารพระเมืองแก้ว สรีระสังขารของครูบาวงศ์ในโลงแก้ว เจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์
นอกจากนี้ก็ยังมีไฮไลท์ของ อ.ลี้ คือ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย”สีทองอร่าม เป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา(อิทธิพลจากมหาเจดีย์ชเวดากองของพม่า)ฐานกว้าง 40x40 สูง 64.39 สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
จาก อ.ลี้ เดินทางย้อนขึ้นมาทางเหนือ สู่ “บ้านดอนหลวง” อ.ป่าซาง แหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ได้ชื่อว่าใหญที่สุดในเมืองไทย(ในอ.ป่าซางยังมีบ้านหนองเงือกเป็นอีกหนึ่งแหล่งหัตถกรรมผ้าทอที่สำคัญของลำพูน)
บ้านดอนหลวงเป็นชุมชนชาวยองเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ซึ่งได้สืบสานฝีมือการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ ที่นี่เราจะได้พบเห็นชาวบ้านนั่งผ้ากันอยู่ตามใต้ถุนบ้านหลายๆหลัง พร้อมทั้งผู้ที่นิยมในผ้าฝ้ายก็จะได้ตื่นตาตื่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าฝ้ายอันหลากหลาย ที่มีวางขายกันอยู่ทั่วไปตามร้านในหมู่บ้าน โดยมีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าผืน ผ้าที่ตัดเป็นชุดสำเร็จ กระเป๋า ผ้าพันคอ ของที่ระลึกต่างๆ ฯลฯ
ที่สำคัญคืองานฝีมือที่บ้านดอนหลวงนั้นราคาย่อมเยามาก หลายๆคนเมื่อมาที่นี่จึงมักจะไม่พลาดการช้อปกระจาย เพราะผ้าถูกและดีนั้นมีให้เลือกซื้อเลือกหากันเป็นจำนวนมากที่บ้านดอนหลวง
น่าน
น่านเมืองงามแห่งล้านนาตะวันออกเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเลื่องของงานทอผ้า โดยเฉพาะ “ผ้าทอลายน้ำไหล”นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
ทั้งนี้เส้นทางตามรอยผ้างามเมืองน่าน เราเริ่มต้นด้วยการไปไหว้ “พระประธานจตุรทิศ” และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสุดคลาสสิก นำโดยภาพ“ปู่ม่าน ย่าม่าน” หรือภาพ“กระซิบรักบันลือโลก” กันที่“วัดภูมินทร์” หนึ่งในวัดสำคัญต้องห้ามพลาดของเมืองน่าน
จากวัดภูมินทร์ต่อไปเป็น “วัดพระธาตุแช่แห้ง” (อ.ภูเพียง) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน“พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน และพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ(กระต่าย) ก่อนจะไปชมศิลปะการทอผ้าของชาวน่านกันที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” เรือนล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่ชั้นบนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้หายาก ส่วนชั้นล่างจัดเป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผ้าทอเมืองน่าน พร้อมทั้งมีการทอผ้า การสาธิตปั่นฝ้าย รวมถึงมีผ้าทอสวยๆงามๆจำหน่าย ให้ผู้สนใจซื้อเป็นที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้าน
หลังอุ่นเครื่องเรื่องผ้าทอเมืองน่านที่โฮงเจ้าฟองคำกันไปแล้ว เราเดินทางออกนอกตัวเมืองสู่ “บ้านหนองบัว” อ.ท่าวังผา ที่ถือเป็นต้นตำรับของผ้าทอลายน้ำไหลอันเลื่องชื่อของเมืองน่าน
บ้านหนองบัวเป็นชุมชนชาวไทลื้อที่บรรพบุรุษอพยพมาจากสิบสองปันนา ประเทศจีน ซึ่งได้นำภูมิปัญญาฝีมือการทอผ้าติดตัวมา แล้วได้คิดค้นสร้างสรรค์ผ้าทอลายน้ำไหลขึ้นมา
ปัจจุบันผ้าทอลายน้ำไหลได้รับการต่อยอด พลิกแพลง สร้างสรรค์ ให้เกิดเป็นลวดลายใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ลายน้ำไหลอีกมากมาย
หลังได้สัมผัสในมนต์เสน่ห์ของผ้าทอลายน้ำไหลแล้ว เราไปปิดท้ายล่ำลาบ้านหนองบัวด้วยการไหว้พระที่ “วัดหนองบัว” พร้อมทั้งไม่พลาดการชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนประดับอยู่ภายในวิหารวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีชอันสุดคลาสสิค โดยเฉพาะภาพเรื่องราว “คันธชาดก” ที่มุ่งสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว อันเป็นนิทานธรรมเก่าแก่ปรากฏที่วัดนี้เพียงแห่งเดียว
สำหรับผู้มาแอ่วเมืองน่านหากท้องหิวขึ้นมา วันนี้ตัวเมืองน่านมีร้านอาหารและร้านกาแพเครื่องดื่มอันหลากหลายให้เลือกอร่อย ไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวแกงวันดา ร้านเฮือนฮอม ร้านข้าวซอยต้นน้ำ ร้านเฮือนเจ้านาง อยู่ดีกินดีคาเฟ่ คาเฟ่สุดกองดี รวมถึง“ร้านขนมหวานป้านิ่ม” ที่มีขนมหวานอันหลากหลายให้เลือกกิน โดยเฉพาะ“บัวลอยป้านิ่ม”อันโด่งดัง
ส่วนผู้ที่นิยมในอาหารพื้นเมือง น่านก็มีมะไฟจีนผลไม้เฉพาะถิ่นเป็นของกินของฝากขึ้นชื่อ มีส้มสีทองให้ได้อร่อยกันตามฤดูกาล(ราวเดือน พ.ย.-ก.พ.) มีข้าวหลามเมืองน่านหอมหวานอร่อยซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายๆที่บริเวณข้างวัดภูมินทร์
นอกจากนี้ก็ยังมี“ไก่ทอดมะแขว่น” อาหารอร่อยประจำถิ่นกับไก่ทอดใส่มะแขว่น เครื่องเทศรสเผ็ดซ่ากับรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงสาหร่ายน้ำจืด “ไก”หรือ“ไค”ที่เป็นอีกหนึ่งของดีเมืองน่าน(มีตามฤดูกาลราวเดือน พ.ย.-พ.ค.)ให้เลือกลิ้มลองพิสูจน์ในรสชาติความแปลกใหม่สำหรับผู้มาเยือนเมืองน่าน
แพร่
แพร่มีผ้า“หม้อห้อม”(ม่อห้อม,ม่อฮ่อม)เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัด สำหรับเส้นทางตามรอยหม้อห้อมเมืองแพร่นั้น เริ่มจากการไหว้ “พระธาตุช่อแฮ” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองแพร่ และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล(เสือ)เอาฤกษ์เอาชัย
ต่อจากนั้นไปชมความงามของ“บ้านวงศ์บุรี”บ้านสีชมพูแสนสวย ที่สร้างในทรงยุโรปประยุกต์อันงดงามสมส่วน ด้านนอกดูโดดเด่นไปด้วยลวดลายฉลุที่ประดับอยู่ตามจุดต่างๆ ส่วนภายในบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้หายากในลักษณะพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆอย่างสวยงาม
หลังเพลิดเพลินกับบ้านวงศ์บุรีสีชมพูแล้ว เราไปเติมพลังความอิ่มอร่อยกันที่ “ร้านข้าวซอย เจ๊เล็ก” (ถ.น้ำคือ ต.ในเวียง อ.เมือง) ร้านข้าวซอยชื่อดังในระดับตำนานคู่เมืองแพร่ ที่เปิดขายมาร่วม 30 ปี มีทั้งข้าวซอยเนื้อ ไก่ หมู เครื่องในหมู กุ้ง และ“ข้าวซอยทอดกรอบ” ให้เลือกลิ้มลอง
เมื่ออิ่มหนำจากข้าวซอยแล้ว จุดต่อไปคือ “บ้านทุ่งโฮ้ง” (ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง) แหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมชื่อดังของเมืองไทย
หม้อห้อมที่บ้านทุ่งโฮ้ง เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการย้อมผ้าหม้อห้อมของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว มาสร้างสรรค์เป็นผ้าหม้อห้อมผืนงามทั้งตามแบบกรรมวิธีดั้งเดิมและแบบประยุกต์
เดิมชาวแพร่จะนำผ้าหม้อห้อมมาตัดเย็บเป็นเสื้อหรือกางเกงเท่านั้น แต่ว่าในปัจจุบันได้มีการนำผ้าหม้อห้อมมาประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้ง กระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน พวงกุญแจ ของที่ระลึก และของตกแต่งบ้านสารพัด รวมถึงได้พัฒนาในเรื่องของการดีไซน์ออกแบบให้มีความร่วมสมัย กลายเป็นแฟชั่นที่สวมใส่แล้วดูสวยเก๋และแฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งวิถีไทย
นอกจากนี้ที่บ้านทุ่งโฮ้งยังมี“ศูนย์เรียนรู้ย้อมผ้าหม้อห้อม”ที่“บ้านป้าเหงี่ยม” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับหม้อห้อม ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ พร้อมทั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานผ้าหม้อห้อมของตัวเอง ทั้งแบบเขียนลาย หรือแบบพิมพ์ ซึ่งผ้าแต่ละผืนที่ทำออกมานั้นมีหนึ่งเดียวในโลกอันเกิดจากผลงานการสร้างสรรค์ของเรานั่นเอง
จากผ้าหม้อห้อมเราไปดูงาน“ผ้าจกเมืองลอง” ที่ อ.ลอง ซึ่งในอดีตเมืองลองเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทยวนหรือไทยโยนกมาก่อน
ผ้าทอตีนจกเมืองลองหรือซิ่นตีนจกเมืองลอง มีลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ในผืนผ้าจะจบลงด้วย “หมายซิ่น” ซึ่งเป็นลวดลายพิเศษอันเป็นเครื่องหมายเฉพาะของผู้ทอที่ได้สร้างสรรค์เอาไว้
สำหรับแหล่งชมผ้าทอเมืองลองที่สำคัญนั้นอยู่ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง” ซึ่งเป็นการเปิดบ้านของ แม่ครู“ประนอม ทาแปง” ศิลปินผู้เป็นเอกอุด้านการทอผ้า จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ) ในปี พ.ศ. 2553
ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ “โรงย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ” “สวนเก๊าหมื่น-แหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ” และ“ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์และพิพิธภัณฑ์ผ้าจกเมืองลอง” ที่จัดแสดงผลงานของแม่ครูประนอม จัดแสดงผ้าจกเมืองลอง และผ้าไทยอันทรงคุณค่าจากท้องถิ่นต่างๆ
ใน อ.ลอง ยังมี“พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” ของ อ.โกมล พานิชพันธ์ เป็นอีกหนึ่งจุดเที่ยวชมและศึกษาเรื่องผ้าไทยที่น่าสนใจ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงผ้าไทยอันทรงคุณค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าโบราณของเมืองลอง ผ้าตีนจกของชาวไทยโยนกเมืองลอง ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ผ้าตีนจกหาดเสี้ยว ผ้าตีนจกไหล่หิน ผ้าตีนจกนาน้อย และผ้าโบราณของล้านนาอีกหลากหลายให้ได้ชื่นชมกัน
และไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ฯผ้าโบราณเท่าไหร่ เป็นที่ตั้งของ “สถานีรถไฟบ้านปิน” ที่สร้างในสไตล์ “เฟรมเฮาส์” แบบบาวาเรียนผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ที่ดูทรงเสน่ห์สวยงามคลาสสิกหนึ่งเดียวของไทย
สุโขทัย
สุโขทัยเมืองมรดกโลก อดีตราชธานีแรกแห่งสยามประเทศ นอกจากจะมี“เครื่องสังคโลก”เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งผ้างามและแหล่งทำเงิน-ทองโบราณอันเลื่องชื่อ
สำหรับเส้นทางตามรอยผ้างามแห่งสุโขทัย เริ่มต้นด้วยการไปไหว้ “พระอจนะ”แห่ง “วัดศรีชุม” ก่อนไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งมรดกโลกกันที่“อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย”ในเขตกำแพงเมืองเก่า ที่มีวัดเด่นๆ อาทิ “วัดศรีสวาย” “วัดสระศรี” และ“วัดมหาธาตุ” ซึ่งมีไฮไลท์คือเจดีย์ทรง“ดอกบัวตูม” หรือ“ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” อันสวยงามคลาสสิก แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์แห่งงานสถาปัตยกรรมสุโขทัยอย่างเด่นชัด
จากนั้นเราไปสำราญรสกับ“ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย” หนึ่งในเมนูต้องห้ามพลาดของผู้มาเยือนสุโขทัย ก่อนจะ มุ่งหน้าสู่ อ.ศรีสัชนาลัย เพื่อไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งมรดกโลกกันที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ซึ่งมีจุดน่าสนใจหลักๆได้แก่ “วัดนางพญา” ที่มีลวดลายปูนปั้นอันงดงามคลาสสิก “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ที่มีเจดีย์มากถึง 33 องค์ โดยมีเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม(พุ่มข้าวบิณฑ์)เป็นไฮไลท์สำคัญของวัด
จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยย้อนกลับมายังถนนหลัก(สาย 101) แล้วผ่านไปยัง ต.ท่าชัย ที่นี่จะเป็นแหล่งทำ“เงิน-ทองโบราณ” ที่มีการสืบต่อภูมิปัญญามาช้านานกว่า 700 ปี อันเป็นอีกหนึ่งมรดกอันทรงคุณค่ายิ่งของสุโขทัย
เงิน-ทองโบราณ เกิดจากการประดิดประดอยของช่างท้องถิ่น ซึ่งลวดลายส่วนหนึ่งจะนำมาจากลวดลายปูนปั้นที่วัดนางพญา(อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) และมาสร้างสรรค์เป็นงานวิจิตรศิลป์อันประณีต งดงาม โดยใน ต.ท่าชัย มีแหล่งผลิตและร้านขายเงิน-ทองโบราณอยู่หลากหลายให้เลือกซื้อเลือกหากันตามความชอบ
จุดต่อไปเราไปชมความของ“ผ้าทอหาดเสี้ยว”(ต.หาดเสี้ยว) ที่ได้สืบสานวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมาร่วม 200 ปี ของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน(ทางตอนใต้หลวงพระบาง สปป.ลาว) ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านหาดเสี้ยวได้มีการผลิตงานผ้าทอมือที่หลากหลายให้เลือกซื้อเลือกหา ไม่ว่าจะเป็น ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าซิ่นธรรมดา ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ย่าม ผ้าห่ม เป็นต้น
นอกจากผ้าทอตามบ้านเรือนตามแหล่งต่างๆที่บ้านหาดเสี้ยว ใน ต.หาดเสี้ยว ยังมีแหล่งรวมสุดยอดผ้าไทยให้เที่ยวชมกันนั่นก็คือ ที่ “สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ” ของ “อ.สาธร โสรัจประสพสันติ” หรือ “ลุงสาธร” ผู้มีใจรักในงานศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะงานด้านผ้าทอโบราณ
สาธรพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงงานหัตถศิลป์ผ้าทอมือชั้นเลิศ ทั้งผ้าลายโบราณ ผ้าเก่าแก่ ผ้าทอชิ้นเยี่ยม ผ้าซิ่นตีนจกที่เด่นๆของแหล่งต่างๆ รวมไปถึง “ผ้าซิ่นทองคำ”(ซิ่นไหมคำ) 2 ผืน ใหม่-เก่า กับลวดลายอันวิจิตรจากฝีมือเชิงช่างอันสุดยอด โดยผืนใหม่นั้นทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีแต่งงานของลูกสาวลุงสาธร ส่วนผืนเก่าเป็นซิ่นเจ้านายเชียงตุงอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
หลังตื่นตาตื่นใจไปกับสุดยอดงานผ้าทอที่สาธรพิพิธภัณฑ์ฯแล้ว สถานที่ต่อไปเป็น “บ้านนาต้นจั่น” (ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย) อีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวอันโดดเด่นในอันดับต้นๆของเมืองไทย
บ้านนาต้นจั่น เป็นชุมชนน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ชาวบ้านดำรงวิถีกันอย่างเรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์ ภายในบ้านนาต้นจั่นมีกิจกรรมและสิ่งน่าสนใจหลากหลายให้สัมผัส อาทิ โฮมสเตย์ ปั่นจักรยานสัมผัสวิถีชาวบ้าน เที่ยวไร่เที่ยวสวน เยี่ยมบ้านทำตุ๊กตาบาร์โหน(บ้านคุณ“ตาวงษ์ เสาฟั่น”)
นอกจากนี้ที่บ้านนาต้นจั่นยังมีงานทอผ้าเป็นอีกหนึ่งวิถีของชาวบ้านที่นี่ โดยผ้าส่วนใหญ่เมื่อทอเสร็จแล้วจะนำไปสู่กรรมวิธีทำ “ผ้าหมักโคลน” ซึ่งต้นกำเนิดของผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่น มาจากความบังเอิญในอดีต เมื่อมีผู้สังเกตว่าเสื้อผ้าที่ชาวบ้านสวมใส่ไปทำไร่ทำนาแล้วเลอะเทอะเปรอะโคลนนั้น กลับมีเนื้อผ้าที่นิ่ม ใส่สบาย เกิดเป็นภูมิปัญญาการผลิตผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่นขึ้น ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของเนื้อผ้าที่มีความนุ่มละมุน สวมใส่สบาย
ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อเลือกหาผ้าหมักโคลนที่มีให้เลือกหลากหลายทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าซิ่น กระเป๋า ฯลฯ กันได้ที่ “ศูนย์เรียนรู้บ้านนาต้นจั่น” รวมถึงสามารถเรียนรู้ และชมกระบวนการ(สาธิต)การผลิตผ้าหมักโคลนที่ศูนย์แห่งนี้ได้อีกด้วย
สำหรับอีกหนึ่งสิ่งชูโรงของที่นี่ก็คืออาหารการกินประจำถิ่นเป็น ไม่ว่าจะเป็น ข้าวพันต่างๆ แกงแค น้ำพริกซอกไข่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวเปิ๊บ”ที่มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ กับ “ก๋วยเตี๋ยวแบ” ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหน้าตาคล้ายผัดไทยนั้น เป็น 2 เมนูเด็ดที่ผู้มาเยือนบ้านนาต้นจั่นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
อุทัยธานี
อุทัยธานีนอกจากจะเป็นเมืองที่มีความเงียบสงบผู้คนดำรงวิถีเรียบง่ายแต่งดงามทรงเสน่ห์ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวในรูปแบบสโลว์ไลฟ์แล้ว อุทัยธานียังเป็นเมืองแห่งผ้างามอันเลื่องชื่ออีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ผ้าทออุทัยธานีที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นผ้าทอของชาว“ลาวครั่ง”(กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ครั่งในการย้อมผ้า) ที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิต ความละเอียดประณีตของลวดลาย และสีสันจากวัสดุธรรมชาติที่ทอสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างวิจิตรสวยงาม
ทั้งนี้แหล่งผ้าทอสวยๆงามๆในจังหวัดอุทัยธานีมีอยู่ในหลายจุดด้วยกัน โดยเฉพาะในหลายชุมชนของ อ.บ้านไร่ นั้นถือว่าต่างก็มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ที่บ้านนาตาโพ บ้านผาทั่ง บ้านทัพหลวง บ้านทัพคล้าย เป็นต้น
ส่วนที่“ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหม บ้านโคกหม้อ” ต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน ซึ่งทาง “กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ” ได้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าแบบลาวครั่งโบราณเอาไว้ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดอันโดดเด่นของการท่องเที่ยว-เรียนรู้เกี่ยวกับงานหัตถศิลป์ผ้าทออันขึ้นชื่อของอุทัยธานี
ผ้าทอบ้านโคกหม้อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกับเทคนิคการ “มัดแต้ม”หรือ“แจะหมี่”(ภาษาลาว) ซึ่งเป็นการแต้มสีลงบน (เส้นไหม) ลายมัดหมี่ ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้าอันสวยงามต่อไป
สำหรับใครที่มาสัมผัสกับความงามของผืนผ้าชาวลาวครั่งแล้ว ในตัวเมืองอุทัยธานียังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆให้เที่ยวชม(จะเที่ยวก่อนหรือหลังการชมผ้าก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม) เริ่มต้นกันที่“วัดท่าซุง”หรือ“วัดจันทาราม” ที่มี“มหาวิหารแก้ว 100 เมตร”เป็นไฮไลท์ กับบรรยากาศงดงามปานเนรมิต จากการประดับด้วยกระจกและโมเสคแก้วใส (วิหารแก้วจะเปิดให้เข้าชมวันละ 2 ช่วง คือ 09.00-11.45 น. และ 14.00-16.00 น.)
ต่อจากนั้นก็เป็นการมาเที่ยวในตัวเมืองอุทัยธานี ชม“วิถีเรือนแพ” แห่งแม่น้ำสะแกกรังอันเป็นเอกลักษณ์ที่บริเวณลานสะแกกรัง แล้วข้ามสะพานเล็กๆไปยังฝั่งเกาะเทโพ เที่ยวชมความงามของ “วัดโบสถ์”หรือ“วัดอุโปสถาราม” ที่โดดเด่นไปด้วย“มณฑปแปดเหลี่ยม”ในรูปทรงแบบตะวันตก
ด้านสาวๆคนไหนที่ชอบเรื่องอาหารการกิน ตัวเมืองอุทัยธานีถือว่าตอบโจทย์สิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยแหล่งรวมของอร่อยในตัวเมืองอุทัยธานีนั้นอยู่ที่“ตรอกโรงยา”กับบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีของกินท้องถิ่นรสเด็ดให้เลือกอยู่หลายร้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โกตี๋ ข้าวมันไก่,เจ๊ดาปลาลวก,ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก,ข้าวหมูแดงเจ๊หน่อย,ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก,เม้ง เป็ดพะโล้
ขณะที่ร้านกาแฟก็มี ร้านบ้านอาม่า ร้านกาแฟอู่ไท ร้านปุ๋มกาแฟโบราณ ร้านป้าทองกาแฟโบราณ และร้านกาแฟบ้านจงรักที่ด้านบนยังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของเก่าแก่น่าสนใจหลากหลายให้ได้ชมกัน(พิพิธภัณฑ์เปิดเฉพาะวันเสาร์)
ส่วนของหวานก็มี ร้านป้านึกขนมหวาน ไอศกรีมป้าแจว(รถเข็น) และขนมปังสังขยาไส้เยิ้มอันเป็นอีกหนึ่งของดีขึ้นชื่อของจังหวัด นำโดยขนมปังสังขยา“ร้านไพพรรณ” ที่ทำขนมปังสังขยาสดใหม่มาให้เลือกซื้อไปกินอิ่มอร่อยกัน
นอกจากนี้ที่อุทัยธานียังมีปลาขึ้นชื่ออย่าง“ปลาแรด” ที่เลี้ยงในน้ำไหลใสสะอาดจึงได้ปลาแรดรสดีเนื้อแน่นหวาน เป็นอีกหนึ่งเมนูต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนอุทัยธานี เมืองเล็กๆที่มีสิ่งน่าสนใจและของดีมากมายให้ไปสัมผัส และชวนหลงรักในเสน่ห์อันน่าประทับใจของเมืองนี้
..................
และนั่นก็คือมนต์เสน่ห์ของเส้นทาง“ไหว้พระ ชมผ้า พาชิมของอร่อยเด็ด” ที่มีธีมหลักอยู่ที่การตามรอยผ้าไทยอันขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์ใน 6 จังหวัดภาคเหนือของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้หญิง ซึ่งนอกจากจะมีผ้าๆสวยๆงามๆให้ชม ให้ช้อป กันอย่างจุใจแล้ว เรายังได้เรียนรู้ในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ ผ่านผืนผ้าที่ช่างได้สร้างสรรค์ออกมาให้ชื่นชมกัน อันถือเป็นอีกหนึ่งการเปิดประสบการณ์ เปิดหน้าต่างของหัวใจให้ได้สัมผัสเรียนรู้กับสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามา
เพื่อที่จะนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆต่อไป
***************************************
สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยผ้าตีนจกแม่แจ่ม และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงใน จ.เชียงใหม่ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5
สอบถามข้อมูลเส้นทางรอยผ้างามเมืองลำพูน(ผ้าไหมยกดอกลำพูน-ผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง) และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง ใน จ.ลำพูน ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5
สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อ และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง ใน จ.น่าน ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118-9, 0-5452-1127
สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยหม้อห้อม ผ้าจกเมืองลอง และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงใน จ.แพร่ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118-9, 0-5452-1127
สอบถามข้อมูลเส้นทางตามรอยผ้าหมักโคลนบ้านนาต้นจั่น ผ้าทอบ้านหาดเสี้ยว และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงเชื่อมโยงใน จ.สุโขทัย ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่สุโขทัย กำแพงเพชร) โทร.0-5561-6228-9
สอบถามข้อมูลเส้นทางตามผ้าทอลาวครั่งและผ้างามเมืองอุทัย และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง ใน จ.อุทัยธานี ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุทัยธานี โทร. 0-5651-4651-2
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com