xs
xsm
sm
md
lg

วสันต์หรรษา ลั้ลลา เชียงใหม่...อะเมซิ่งแม่แตง ชมแปลงฟักทองขั้นบันได-นอนให้เหยียบ “ย่ำขาง”สุดฟิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เที่ยวฟินหน้าฝน บนยอดดอยม่อนเงาะ ท่ามกลางหมอกฝนที่ลอยจางๆ
วสันตฤดู

เมื่อฝนโปรยสาย พื้นดินชุ่มฉ่ำ ขุนเขาป่าไพรมวลหมู่ต้นไม้น้อยใหญ่ ต่างพากันตื่นฟื้นคืนจากการหลับใหลกลับมาสดใสเขียวขจีอีกครั้ง

วันนี้ฤดูฝนไม่ใช่ทางผ่านของการท่องเที่ยวอีกต่อไป หากแต่เป็น“ฤดูแห่งความเขียวขจี”หรือ“กรีนซีซั่น”(Green Season)อันโดดเด่นของการท่องเที่ยวในบ้านเรา
กรีนซีซัน สีสันความเขียวขจีแห่งวิถีชาวนาที่ อ.แม่แตง
สำหรับ“อำเภอแม่แตง”จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เมื่อถึงยามหน้าฝน จะเปล่งศักยภาพความงามแห่งกรีนซีซัน ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลาย และธรรมชาติของขุนเขา ป่าไพร ท้องไร่ท้องนา และวิถีแห่งสายน้ำออกมาอย่างเต็มที่

ด้วยเหตุนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานภูมิภาคภาคเหนือ และททท.สำนักงานเชียงใหม่ จึงได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว“กลุ่มผู้หญิง” ที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพและกำลังมาแรงขึ้น โดยได้พาไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์อันชวนอะเมซิ่งของอำเภอแม่แตงเชื่อมโยงกับสิ่งน่าสนใจสไตล์ผู้หญิงในเมืองเชียงใหม่

นับเป็นเส้นทางวสันต์หรรษาอันน่ารื่นรมย์และชวนเพลิดเพลินแห่งกรีนซีซัน ที่มากไปด้วยสีสันความเขียวขจีที่น่าสนใจยิ่ง

ล่องแก่งแม่แตง
ล่องแก่งแม่แตง
ท่ามกลางบรรยากาศฟ้าชุ่มฝนฉ่ำ “ตะลอนเที่ยว”เปิดประเดิมทริปสุภาพสตรีกันด้วยกิจกรรม “ล่องแก่งแม่แตง” หรือ “ล่องแพแก่งกื้ด” กับการไปพิชิตสายน้ำแม่แตงและแก่งกื้ดอันตื่นเต้นท้าทาย

แม่น้ำแม่แตง เป็นหนึ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิง มีสภาพธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทุกๆปีในช่วงหน้าฝน แม่น้ำแม่แตงจะมีสายน้ำเป็นสีแดง ไหลเชี่ยวกราก เหมาะต่อการล่องแก่งด้วยแพยาง ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมล่องแก่งแม่แตงได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากชาวไทยและต่างชาติ

แม่น้ำแม่แตง มีช่วงที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมล่องแก่งด้วยแพยางเป็นระยะทางประมาณ 10 กม. กับสภาพสายน้ำที่มีความตื่นเต้นท้าทายครบเครื่อง มีความยากของกระแสน้ำตั้งแต่ระดับ 2-5 หลายช่วงเป็นแก่งลดระดับ หลายช่วงเป็นแก่งกึ่งน้ำตก หลายช่วงเป็นแก่งโค้งคดเคี้ยว และหลายช่วงมีโขดหินเป็นอุปสรรค ซึ่งต้องใช้ความสามารถหลบเลี่ยงให้ผ่านพ้นไป
ทุกๆปีในช่วงหน้าฝน ลำน้ำแม่แตงจะเป็นสีแดงไหลเชี่ยวกราก เหมาะต่อการทำกิจกรรมล่องแก่งเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเส้นทางล่องแก่งแม่แตง แบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงแรก(ช่วงบน) จากบ้านสบก๋ายถึงปางเกาะ มีระยะทางประมาณ 5 กม. มีความยากของสายน้ำอยู่ที่ระดับ 2-3 เป็นช่วงที่ล่องแก่งกันแบบเพลินๆไม่ยากลำบาก ช่วงที่สอง(ช่วงกลาง) จากปางเกาะถึงบ้านมะซาง มีระยะทางประมาณ 2 กม. มีความยากของสายน้ำอยู่ที่ระดับ 4-5 เป็นช่วงล่องแก่งที่ยากที่สุด และตื่นเต้นท้าทายที่สุด ในสายน้ำช่วงนี้มีแก่งใหญ่ๆกึ่งน้ำตกอยู่ 7-8 แก่ง ให้ผู้ล่องแก่งต้องร่วมแรงร่วมใจกันพายเป็นทีมเวิร์กสูงสุดกันอย่างเต็มที่

ส่วนช่วงที่สาม(ช่วงล่าง)จากบ้านห้วยมะซางถึงบ้านเมืองกื้ด มีระยะทางประมาณ 4 กม. ใช้เวลาล่องแก่งประมาณ 40-45 นาที เส้นทางช่วงที่สามนี้ถือเป็นช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งเป็นช่วงที่เรากับชาวคณะได้มาล่องแก่งพิชิตสายน้ำกันที่นี่
กัปตัน(คนนั่งในเรือ)ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวก่อนลงเรือล่องแก่ง
โดยก่อนล่องแก่งจะมีการแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการล่องแก่ง เช่น การพายเรือ การนั่งเรือ การช่วยกันถ่วงน้ำหนัก ก่อนที่กัปตัน(นายท้าย)จะพาพวกเราลงแพยาง มุ่งหน้าล่องเรือไปตามลำน้ำแม่แตงสีแดงอันเชี่ยวกรากและมีสีแดงคล้ายชาเย็น ผ่านความยากของสายน้ำอยู่ที่ระดับ 3-4 มีแก่งใหญ่ๆให้ตื่นเต้นท้าทายกันอยู่ประมาณ 6 แก่ง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นแก่งใหญ่ยาวติดต่อกันถึง 3 แก่ง ยาวรวมราวๆ 500 เมตร

แน่นอนว่างานนี้แต่ละคนบนเรือแม้จะถูกสายน้ำถั่งโถมเข้าใส่ยามผ่านแก่งใหญ่ๆจนเปียกปอนกันถ้วนหน้า แต่ว่าทุกคนก็สนุกสนานเพลิดเพลินใจจนใบหน้าเปื้อนยิ้มกันทั่วหน้าเช่นกัน
เส้นทางล่องแก่งแม่แตงช่วงที่สาม ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด
สำหรับใครที่อยากจะล่องแก่งแม่แตงกันให้ครบทั้ง 3 ช่วง ก็สามารถทำได้ โดยจะใช้เวลาล่องแก่งประมาณ 2 ชม.- 2 ชม.ครึ่ง ตามแต่ความแรงของกระแสน้ำในช่วงนั้นๆ ซึ่งนอกจากการล่องแก่งด้วยแพยางแล้วก็ยังมีการพิชิตแก่งด้วยเรือคายัคสำหรับมืออาชีพ(ในบางช่วง) รวมถึงการนั่งแพไม้ไผ่แบบสบายๆในช่วงหน้าแล้งบริเวณปลายน้ำที่มีสายน้ำไหลเอื่อยๆ ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งชมวิวทิวทัศน์ใน 2 ข้างทางกันเป็นที่เพลิดเพลิน

นอกจากนี้ในพื้นที่ อ.แม่แตง บริเวณเส้นทางเลาะเลียบลำน้ำแม่แตงยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่นๆอีก ได้แก่ การนั่งช้าง-นั่งเกวียน(เทียมวัว)ชมธรรมชาติ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ขี่จักรยานเสือภูเขา ขับรถเอทีวี รวมไปถึงการนั่งชิลๆ กิน-ดื่ม ชื่นชมบรรยากาศในร้านอาหารริมน้ำที่มีอยู่เรียงรายเป็นจำนวนมาก

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
ทะเลสาบเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
จากกิจกรรมล่องแก่งแม่แตง จุดต่อไปเรามุ่งหน้าสู่ “เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล” ที่ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เดิมชื่อ“เขื่อนแม่งัด” ก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ทำการชลประทานสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณลุ่มน้ำแม่งัด

แต่ด้วยความที่เขื่อนแห่งนี้มีทัศนียภาพอันงดงาม โดยเฉพาะวิวทิวทัศน์ของทะเลสาบที่แวดล้อมด้วยขุนเขาโอบล้อม ทำให้เขื่อนแม่งัดฯ กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอันขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมความงาม และพักค้างที่เรือนแพกลางน้ำในทะเลสาบเขื่อนแม่งัดฯ กันไม่ได้ขาด
ที่พักแพภูเขาลอยน้ำ
สำหรับทริปนี้คณะสตรีของเราไม่เพียงมาเที่ยวชมความงามของเขื่อนแม่งัดฯเท่านั้น แต่ยังเลือกพักค้างในเรือนแพลอยน้ำท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามของทะเลสาบเขื่อนแม่งัดฯกันที่ แพ“ภูเขาลอยน้ำ”(Mountain Float) เรือนแพกลางน้ำอันหรูหราสวยงาม ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างสูง ชนิดที่มีคนจองคิวพักล่วงหน้ากันเต็มอยู่ตลอด

แพภูเขาลอยน้ำ ประกอบด้วยเรือนแพกลางน้ำ 5 หลัง แบ่งเป็นเรือนแพร้านอาหาร 1 หลัง และเรือนแพพัก 4 หลัง แต่ละหลังมีการตกแต่งอย่างสวยงาม ใส่ใจในรายละเอียด พร้อมทั้งมีมุมโดนๆหลายๆมุมให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป เซลฟี่ วีฟี่ กันอย่างเพลิดเพลิน
กิจกรรมชวนสนุกที่แพภูเขาลอยน้ำ
แพภูเขาลอยน้ำยังมีกิจกรรมพร้อมเครื่องเล่นทางน้ำอันหลากหลายไว้ให้บริการกัน(ฟรี) อาทิ เรือคายัค, จักรยานน้ำ, โซฟาลอยน้ำให้เราได้เพลิดเพลินไปกับการนั่งเอาเท้าแช่น้ำดื่มกินสังสรรค์กันอย่างสุดชิล และเตียงกระโดด(สปริงบอร์ด แทรมโพลีน) ลอยเหนือน้ำที่สามารถขึ้นไปกระโดดเด้งดึ๋งบนนั้นได้อย่างสนุกเร้าใจ รวมถึงมีเตาบาร์บีคิวพร้อมอุปกรณ์ไว้บริการ สำหรับผู้ที่ต้องการนำอาหารไปปิ้งย่างทำกินเอง
อรุณสวัสดิ์ยามเช้า ในทะเลสาบเขื่อนแม่งัดฯ
นอกจากแพภูเขาลอยน้ำแล้ว ในทะเลสาบเขื่อนแม่งัดฯยังมีที่พักประเภทเรือนแพของเจ้าอื่นๆไว้ให้บริการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในเรื่องของบริการ ความหรูหรา และการตกแต่ง นั้นก็แตกต่างกันออกไปตามสนนราคา

วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน
วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน
เช้าวันใหม่...

หลังตื่นขึ้นมาเพลิดเพลินกับบรรยากาศของสายน้ำยามเช้า รับประทานอาหาร และสูดอากาศอันแสนสดชื่นกันจนชุ่มปอด พวกเราก็ได้เวลาร่ำลาภูเขาลอยน้ำและเขื่อนแม่งัดฯ มุ่งหน้าสู่จุดต่อไปคือ “วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” ที่ตั้งอยู่ที่ ต.อินทขิล อ.แม่แตง

วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2437 เดิมชื่อ“วัดหรีบุญเรือง” แต่ด้วยความที่ตัววัดตั้งโดดเด่นอยู่บนเนินเตี้ยๆมองเห็นแต่ไกล ชาวบ้านจึงเรียกขานกันว่า “วัดบ้านเด่น”
พระธาตุประจำปีเกิด
วัดบ้านเด่นเดิมเป็นเพียงวัดเล็กๆภายในหมู่บ้าน แต่หลังจากที่“ครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล” มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ก็มีการตั้งชื่อวัดให้ใหม่เป็น“วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน” เนื่องจากหลังท่านมาจำพรรษา มี“ต้นโพธิ์”หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า“ต้นสะหลี”เติบโตขึ้นมา ขณะที่“เมืองแกน”นั้นก็คือเมืองโบราณในบริเวณนี้ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน

ด้วยความที่ครูบาเจ้าเทือง เป็นพระเกจิชื่อดังมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านจึงได้นำปัจจัยที่ลูกศิษย์ลูกหาถวายมาพัฒนาวัดเด่นสะหลีฯให้เจริญรุ่งเรือง โดยได้ก่อสร้างปรับปรุงพัฒนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2534 เพื่อต้องการให้วัดแห่งนี้เป็นดังอนุสรณ์แห่งบุญอันเป็นรูปธรรม
ภายในวัดเด่นสะหลีฯ โดดเด่นไปด้วยงานสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
ปัจจุบันวัดเด่นสะหลีฯ ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า 80 ไร่ ภายในวัดโดดเด่นไปด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นวัดบ้านกับวัดป่าเข้าด้วยกัน ตามแนวคิดของครูบาเจ้าเทือง ซึ่งมองว่าศาสนาอยู่ได้ด้วยการปฏิบัติ การแบ่งแยกจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ครูบาเจ้าเทืองยังยึดหลักการสร้างโดยใช้ความเชื่อเรื่องบุญเป็นตั้งมั่น สร้างสรรค์วัดเด่นสะหลีฯออกมาได้อย่างงดงาม วิจิตรตระการตา ลวดลายประดับ ลวดลายปูนปั้นต่างๆ ล้วนมีรายละเอียดของเรื่องราว และฝีมืองานช่างที่ละเอียดเนี้ยบชวนมอง
พระประธาน ในพระวิหาร มาต๋ามหน้าบุญ
สำหรับจุดเด่นๆที่เป็นไฮไลต์สำคัญของวัดเด่นสะหลีฯนั้นก็มี “พระอุโบสถมาต๋ามหน้าบุญ”ที่ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติอย่างสวยงาม ด้านหลังพระอุโบสถมาต๋ามหน้าบุญ เป็นที่ประดิษฐาน 12 องค์พระธาตุประจำปีเกิดจากทั่วประเทศ ตามคติความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดมาจำลองไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาในบริเวณเดียวกัน ขณะที่บริเวณด้านซ้ายของพระอุโบสถมาต๋ามหน้าบุญ เป็นที่ประดิษฐานกู่อัฐิครูบาเจ้าเทือง ที่สร้างขึ้นเตรียมไว้หลังท่านมรณภาพ

ส่วนอีกหนึ่งจุดไม่ควรพลาดภายในวัดแห่งนี้ก็คือ “พระวิหารมาต๋ามหน้าบุญ” ที่สร้างได้อย่างวิจิตรสมส่วน ภายในประดิษฐาน “พระสะหลีแก้วเก้าเจ้าบุญเรือง” องค์พระประธานที่สร้างได้อย่างงดงามเปี่ยมศรัทธา อีกทั้งยังมีหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศมาประดิษฐานไว้
พระวิหาร มาต๋ามหน้าบุญ
นอกจากนี้ที่วัดเด่นสะหลีฯ ยังมีสิ่งน่าสนใจชวนชมอื่นๆอีก ได้แก่ หอธรรม มาต๋ามหน้าบุญ, มณฑปผาสาท มาต๋ามหน้าบุญ, พระวิหารพระเจ้าพันต๋น, พระวิหารพระเจ้าทันใจ มาต๋ามหน้าบุญ, พระพุทธเจ้าทันใจ (พระเจ้าตันใจ๋),กู่อัฐิครูบาเจ้าเทือง นาถสีโถ และกุฏิไม้สักทองทรงล้านนา เป็นต้น

วันนี้แม้วัดเด่นสะหลีฯจะมีบางจุดที่ยังคงดำเนินการก่อสร้างอยู่ แต่ด้วยความสวยงามตระการตา ทำให้วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งของ อ.แม่แตง และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แวะเวียนมาไหว้พระและชมความงามของวัดเด่นสะหลีฯกันไม่ได้ขาด

โครงการหลวงม่อนเงาะ
จุดชมวิวบริเวณด้านหน้าที่ทำการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
หลังไหว้พระประทับใจในความงามของวัดเด่นสะหลีฯกันเป็นที่เพลิดเพลินแล้ว จุดต่อไปคณะเลดี้ทริปมุ่งหน้าสู่ “โครงการหลวงม่อนเงาะ”(ต.สบก๋าย อ.แม่แตง) สถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่ที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว

โครงการหลวงม่อนเงาะ หรือ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ” ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง บนระดับความสูง 700-1,250 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ในพื้นที่ภูเขาสูงอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านม่อนเงาะ ชุมชนชาวม้งซึ่งก่อนหน้านั้นได้ตัดไม้ทำลายป่า ปลูกพืชไร่และฝิ่น ทำให้ผืนป่าเหี้ยนเตียน ขุนเขาโล่งแล้ง แต่ชาวบ้านกลับมีฐานะยากจน อยู่อย่างลำบากยากแค้น “หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี” ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จึงมีรับสั่งให้ก่อตั้งโครงการหลวงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น และช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่
หมู่บ้านเล็กกลางป่าใหญ่ในบริเวณพื้นที่โครงการหลวงม่อนเงาะ
จากนั้นโครงการหลวงม่อนเงาะก็ได้พัฒนาไปพร้อมๆกับการเข้าไปส่งเสริมอาชีพของชาวบ้าน โดยเน้นไปที่การทำเกษตรบนที่สูง ปลูกพืชผลเมืองหนาวต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมปลูกพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล เห็ด ชา กาแฟ

โครงการหลวงม่อนเงาะ มีผลผลิตขึ้นชื่อ คือ “ฟักทองญี่ปุ่น” ซึ่งมีเทคนิคการปลูกที่ไม่เหมือนใครด้วยวิธีการที่เรียกว่าการปลูก “ฟักทองเข้าแถว” ขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
ฟักทองเข้าแถวที่ปลูกแบบขั้นบันได จนถูกขนานนามให้เป็นแปลงฟักทองน้ำตก
ฟักทองเข้าแถว เป็นการปฏิวัติการปลูกฟักทองในรูปแบบเดิมๆ คือจากที่ชาวบ้านหว่านเมล็ดปลูกทั่วไปแบบไร้ระเบียบ แต่ทางโครงการหลวงม่อนเงาะได้ทำการวิจัยพบว่า ทิศทางการเลื้อยของเถาฟักทองญี่ปุ่นจะตรงกันข้ามกับใบจริงใบแรก จึงได้คิดค้นการปลูกรูปแบบใหม่ขึ้น ด้วยกระบวนการปลูกที่พิถีพิถัน วางต้นกล้าให้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน เพื่อกำหนดให้เถาเลื้อยไปในทางตรงข้ามใบจริงใบแรก

การปลูกฟักทองเข้าแถว นอกจากจะเป็นการปลูกที่มีความเป็นระเบียบสวยงาม เก็บเกี่ยวง่าย สบายคนปลูก สบายคนทำแล้ว ยังได้ผลฟักทองที่มีผิวสวย และได้ผลผลิตที่ดีกว่าการปลูกฟักทองแบบทั่วไป (การปลูกฟักทองเข้าแถวได้ผลผลิตเฉลี่ย 2-3 กก./ผล ส่วนการปลูกฟักทองแบบเดิมทั่วไป ได้ผลผลิต 1-2 กก.ต่อผล)
แปลงฟักทองน้ำตกหรือแปลงฟักทองสายธารา
นอกจากนี้ด้วยความที่โครงการหลวงม่อนเงาะตั้งอยู่บนสภาพพื้นที่ขุนเขาสูง ชาวบ้านจึงได้ปลูกฟักทองเข้าแถวลดหลั่นกันไปตามสภาพภูมิประเทศ เกิดเป็นแปลง“ฟักทองขั้นบันได”ขึ้นมา ยามเมื่อเถาฟักทองทอดสายใบห้อยระย้าไปตามแปลงขั้นบันได จะเกิดเป็นภาพแปลงฟักทองอันสวยงาม จนถูกขนานนามให้เป็น แปลง“ฟักทองสายธารา” หรือ แปลง“ฟักทองน้ำตก”(ตามเถาฟักทองที่ทิ้งแนวตกลงมา)
แปลงพืชผักการเกษตรของชาวบ้านในโครงการหลวงม่อนเงาะ
ปัจจุบันโครงการหลวงม่อนเงาะ นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นของชาวม้งในพื้นที่ได้ 100% แล้ว ยังช่วยให้เศรษฐกิจความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นโครงการดีขึ้น รวมถึงยังก่อให้เกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามใต้พระบารมีขึ้นมา โดยสิ่งน่าสนใจเด่นๆในพื้นที่โครงการหลวงม่อนเงาะนั้น ได้แก่

-การท่องเที่ยวเชิงเกษตร(ตามฤดูกาล) ชมแปลงองุ่น ชมแปลงปลูกดอกซิมบิเดียมอันสวยงาม ชมแปลงกาแฟ เที่ยว“ไร่ชาลุงเดช”ไร่ชาขั้นบันไดในพื้นที่พร้อมทั้งมีบ้านพักในไร่ชาให้บริการ เที่ยวชมแปลงฟักทองเข้าแถวอันเป็นเอกลักษณ์ของโครงการหลวงม่อนเงาะ
บ้านม่อนเงาะ ชุมชนชาวม้งที่ยังคงมีวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมให้สัมผัสกัน
-การท่องเที่ยวชุมชน สัมผัสกับวิถีของชุมชน“บ้านม่อนเงาะ” ชุมชนชาวม้งที่ยังคงมีวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม มีความเป็นอยู่กับธรรมชาติ ทำไร่ปลูกพืชผัก, สัมผัสกับวิถีของชุมชน“บ้านเหล่าพัฒนา” ชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีที่โดดเด่นในเรื่องการทำเมี่ยง ภายในชุมชนมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักค้างสัมผัสวิถีชาวบ้านกันอย่างใกล้ชิด
จุดชมวิวยอดดอยม่อนเงาะ
-การท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ นำโดย “ยอดดอยม่อนเงาะ” ที่ตั้งอยู่บนความสูง 1,425 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนยอดดอยมีจุดชมวิวทิวทัศน์อันสวยงาม สามารถมองเห็นแนวขุนเขาป่าไม้อันกว้างไกลในเบื้องล่าง ในยามเช้าของวันที่อากาศเป็นใจจะมองเห็นทะเลหมอกอันสวยงาม ส่วนในช่วงหน้าฝนนั้นก็จะเห็นหมอกฝนลอยกระจายฟุ้งดูสวยงามทรงเสน่ห์ไปอีกแบบ

นอกจากนี้ดอยม่อนเงาะยังมี “เงือกผา” ที่เป็นก้อนหินประหลาดมีรูปร่างคล้ายนางเงือกโผล่ออกมาจากแนวหน้าผาบนยอดดอย
เงือกผา บริเวณยอดดอยม่อนเงาะ
ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอื่นๆนั้นก็มี “บ่อน้ำทิพย์”แอ่งน้ำซึมในถ้ำที่มีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี, “ถ้ำลม” ถ้ำที่มีลมพัดออกมาอยู่ตลอดเวลา ยามเมื่อไปยืนอยู่ปากถ้ำจะได้สัมผัสกับสายลมเย็นสบาย, กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ และกิจกรรมล่องแก่งสบก๋าย(ลำน้ำแม่แตง)

สำหรับผู้ที่ต้องการมาท่องเที่ยวพักค้าง นอกจากที่พักในชุมชนคือโฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนาและบ้านพักไร่ชาลุงเดชแล้ว ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะมีบ้านพักโครงการหลวงไว้บริการจำนวน 5 หลัง ราคาหลังละ 800 บาท สามารถพักได้หลังละ 4 คน อีกทั้งยังมีเต็นท์ไว้ให้บริการ แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถนำเต็นท์มากางเองได้(เสียค่าบำรุงสถานที่) โดยในพื้นที่ตั้งของบ้านพักและจุดกางเต็นท์ของศูนย์ฯนั้นมีสภาพพื้นที่และวิวทิวทัศน์อันสวยงาม ในยามเช้ามีโอกาสเห็นทะเลหมอกที่หน้าบ้านพักได้บ่อยครั้ง
บ้านพักในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
นอกจากนี้ทางศูนย์ฯม่อนเงาะยังมีการจัดนำเที่ยวทั้งแบบวันเดย์ทริป หรือทริป 2 วัน 1 คืน โดยทางโครงการหลวงม่อนเงาะได้มุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้มากที่สุด และชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

ตักบาตรพระยามเช้า-จิบชา กาแฟ เรือนขนมปังขิง
ตักบาตรยามเช้าเชิงดอยสุเทพ
จากโครงการหลวงม่อนเงาะ เราเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อพักค้างท่ามกลางบรรยากาศชิกแอนด์ชิลที่ย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ก่อนที่ในเช้าวันรุ่งขึ้นจะตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อออกไปตักบาตรกันที่บริเวณ “อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย” เชิงดอยสุเทพ (ถ.ศรีวิชัย บริเวณสวนรุกขชาติห้วยแก้ว อ.เมือง) ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายวัฒนธรรม มีการจัดทำบุญตักบาตรยามเช้า ตั้งแต่ช่วงเวลา 05.30-07.30น.ทุกวัน
ทุกๆเช้า เชิงดอยสุเทพบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยจะมีพระ-เณร ออกเดินบิณฑบาตกันเป็นจำนวนมาก
ทุกๆ เช้าพระภิกษุ-สามเณร จำนวนเกือบ 500 รูปจาก“วัดศรีโสดา”ที่อยู่เชิงดอยสุเทพ จะออกเดินบิณฑบาตเป็นแถวย่อยๆประมาณ 5-20 รูปให้พุทธศาสนิกชนได้ใส่บาตรทำบุญยามเช้ากันอย่างสุขใจ นับเป็นอีกหนึ่งสีสันยามเช้าแห่งเมืองเชียงใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
เสร็จจากทำบุญตักบาตรยามเช้า เราต่อด้วยการไปไหว้อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเสริมสิริมงคล อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยแห่งนี้ สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของทางราชการและประชาชนชาวเชียงใหม่ หลังจากที่ครูบาศรีวัย นักบุญแห่งล้านนาท่านมรณภาพ ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองเชียงใหม่ซึ่งผู้ที่จะขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุดอยสุเทพ ไม่ควรพลาดการแวะสักการะอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยด้วยประการทั้งปวง
บรรยากาศร้านบ้านระมิงค์ฯ
ต่อจากนั้น หลังอาหารเช้าเราไปฟินต่อกันที่ “บ้านระมิงค์ ทีเฮาส์ สยามศิลาดล”(Raming Tea House Siam Celadon) ซึ่งเป็นร้านเครื่องดื่มที่มีบรรยากาศอันสวยเก๋สุดคลาสสิก

บ้านระมิงค์ ทีเฮาส์ สยามศิลาดล สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2458 เป็นบ้านไม้สัก 2 ชั้น อันโดดเด่นไปด้วยลักษณะของงานสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบ“เรือนขนมปังขิง” ซึ่งมีลวดลายไม้ฉลุตามจุดต่างๆของบ้าน ทั้งภายนอกและภายในอันสวยงาม
ลวดลายไม้ฉลุภายในร้านบ้านระมิงค์ฯ
ภายในร้านบ้านระมิงค์ฯ ด้านหน้าเป็นโชว์รูมขายสินค้านำโดยงานเซรามิกแบรนด์ “ศิลาดล”อันเลื่องชื่อ ส่วนช่วงกลางเป็นส่วนขายอาหารเครื่องดื่มที่มีการตกแต่งอย่างคลาสสิกสวยงาม ต่อยาวไปจนถึงส่วนหลังบ้านที่มีการจัดเป็นสวน มีมุมให้นั่งดื่ม-กินท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของแมกไม้น้อย-ใหญ่ ขณะที่ในส่วนชั้นสองของเรือนจัดแสดงในรูปแบบกึ่งพิพิธภัณฑ์
บรรยากาศร้านบ้านระมิงค์ฯ
และด้วยความโดดเด่นของเรือนขนมปังขิงอันงดงามใจกลางเชียงใหม่ ทำให้บ้านระมิงค์ ทีเฮาส์ สยามศิลาดล ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2547 และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารเก่า จากสมาคมสถาปนิกสยาม และเทศบาลนครเชียงใหม่ ในปี 2547 เช่นเดียวกัน

บ้านไร่กองขิง
ย่ำขาง การนวดทางเลือกภูมิปัญญาล้านนาโบราณ
สำหรับโปรแกรมสุดท้ายของทริป เราไปนวดผ่อนคลายสุขภาพในแบบภูมิปัญญาล้านนาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครกันที่ “บ้านไร่กองขิง” ต.หนองควาย อ.หางดง

บ้านไร่กองขิง เป็นหมู่บ้านสามัคคีชุมชนเข้มแข็ง ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสุขภาพ ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ “รางวัลกินรี” ในปี พ.ศ. 2558 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
นักท่องเที่ยวเรียนการพับดอกไม้ใบเตยจากผู้เชี่ยวชาญที่บ้านไร่กองขิง
ผู้ที่มาท่องเที่ยวบ้านไร่กองขิง สามารถเลือกทำกิจกรรมของชุมชนได้หลากหลาย อาทิ พักค้างแบบโฮมสเตย์ การเรียนทำลูกประคบ พับตุง พับดอกไม้ใบเตย ขี่จักรยานชมหมู่บ้าน และการเรียนรู้วิถีชุมชน โดยเฉพาะวิถีที่เน้นในเรื่องของสุขภาพ เช่น การทำการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ ปลูกพืชผักสมุนไพร-ผักสวนครัวรั้วกินได้แบบปลอดสารพิษ การทำผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีของชุมชนที่มีทั้งไว้ใช้เองและเอาไว้จำหน่ายของชาวชุมชน รวมไปถึงอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นถิ่นเพื่อสุขภาพ(ตามฤดูกาล)
ลุงสงวน บัวอ่อน ครูหมอผู้สืบทอดวิชาการย่ำขางเพียงหนึ่งเดียวของบ้านไร่กองขิง
นอกจากนี้ที่บ้านไร่กองขิงยังบริการนวดเพื่อสุขภาพ รวมถึงการ“ย่ำขาง”การนวดทางเลือก ที่เป็นภูมิปัญญาล้านนามาแต่โบราณ ซึ่งวันนี้ที่บ้านไร่กองขิงมีคุณลุง“สงวน บัวอ่อน” เป็นครูหมอผู้สืบทอดวิชาการย่ำขางเพียงหนึ่งเดียวของหมู่บ้าน
ย่ำเท้าลงบนขางร้อนๆ ก่อนนำไปเหยียบนวดตามร่างกาย
ลุงสงวนเล่าว่า ย่ำขาง เป็นการนวดโดยใช้เท้าชุบน้ำผสมสมุนไพรปูเลย หรือ ไพล(ในภาษากลาง) สลับกับชุบน้ำมันงา แล้วนำไปเหยียบบน“ขาง” ซึ่งเป็นใบคันไถเหล็กที่ตั้งอยู่บนเตาไฟลุกร้อนฉ่า จากนั้นจึงรีบชักเท้านำความร้อนมาเหยียบนวดตามเส้นตามจุดต่างๆเพื่อช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยของร่างกาย ซึ่งความร้อนจากการย่ำขางจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นได้ดีกว่าการนวดปกติทั่วไป
ความร้อนจากการย่ำขางจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นได้ดีกว่าการนวดปกติทั่วไป
การย่ำขางของลุงสงวนจะใช้เวลานวด(ครบคอร์ส)ประมาณ 1 ชั่วโมง(200 บาท) โดยคุณลุงจะใช้เท้านวดคลึงไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งจากการที่“ตะลอนเที่ยว” ได้มาใช้บริการย่ำขางของคุณลุงสงวน บอกเลยว่ามันสบายและฟินมาก ชนิดที่อยากจะนอนให้คุณลุงเหยียบย่ำขางกันทั้งวันเลยทีเดียว
ย่ำขาง การนวดทางเลือกอันขึ้นชื่อแห่งบ้านไร่กองขิง
และนั่นก็คือความผ่อนคลายสบายกายสบายใจปิดท้ายทริปหรรษาหน้าฝนของกลุ่มนักท่องเที่ยวสุภาพสตรี ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมากไปด้วยมนต์เสน่ห์อันหลากหลายครบรสแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า

วันนี้ฤดูฝนไม่ใช่ทางผ่านของการท่องเที่ยวอีกต่อไป หากแต่เป็น“ฤดูแห่งความเขียวขจี”ที่ช่วยเปิดประสบการณ์แปลกใหม่น่าประทับใจ อันชวนให้เรารู้สึกหลงรักประเทศไทยในฤดูฝนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
******************************************

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (พื้นที่รับผิดชอบ เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน) โทร. 0-5324- 8604-5

******************************************
ยำไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน จ.ลำปาง
อาหารถิ่นเมืองเหนือต้องห้ามพลาด

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาคเหนือ ชวนอร่อยไปกับ “อาหารถิ่นเมืองเหนือต้องห้ามพลาด” (จากโครงการ “อาหารถิ่น ตะลุยกินทั่วไทย”) ใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา

สำหรับอาหารถิ่นเมืองเหนือต้องห้ามพลาดของจังหวัดทั้ง 5 ได้แก่

ลำปาง : ยำไข่น้ำแร่แจ้ซ้อน : อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง เมื่อมาถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนแล้วต้องสั่ง “ยำไข่น้ำแร่ แจ้ซ้อน” ซึ่งเป็นสูตรของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรีฯ ครั้งที่มาเที่ยวที่นี่และได้คิดค้นเมนูจานเด็ดนี้ขึ้นมาสำหรับน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนโดยเฉพาะ

ลำพูน : ต๋ำเตา หรือ ยำเตา : เตา เป็นภาษาเหนือใช้เรียกสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น หนอง นา ลำห้วย มีลักษณะเป็นเส้นใยอ่อนนุ่มสีเขียว ชาวบ้านท้องถิ่นนิยมนำมาทำอาหาร โดยใช้พริกขี้หนู ปูนาต้ม มะเขือเปราะ มะเขือพวง มะแว้ง ใบขิงอ่อนเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเตาสามารถรับประทานแบบดิบหรือสุกก็ได้

เชียงใหม่ : แอ๊บ : คือห่อหมกแบบเมืองเหนือคือไม่ใส่กะทิ และใส่เครื่องแกงที่มีรสชาติจัดจ้าน แอ๊บ มีหลายประเภท เช่น แอ๊บหมู แอ๊บอ่องออ แอ๊บปลา แอ๊บกุ้ง เป็นต้น

เชียงราย : ข้าวแรมฟืน : มีรสเปรี้ยวเผ็ดหวาน เป็นทั้งอาหารว่างและอาหารหลัก เป็นได้ทั้งอาหารคาวและหวาน แต่ทุกอย่างเป็นมังสวิรัติ เป็นอาหารเจ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไทยใหญ่ ไทลื้อและไทเขิน นำเข้ามาจากทางสิบสองปันนาประเทศจีน ผ่านมาทางพม่าแล้วเข้ามาทางอำเภอแม่สาย จ.เชียงรายเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วถือได้ว่าเป็นอาหารของชาวแม่สายไปแล้ว

พะเยา : แอ่งแถะ : เป็นอาหารของชาวไทลื้อ ทำมาจากใบพืชที่มีรูปร่างคล้ายใบโพธิ์ เป็นพืชสมุนไพรแก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นยาระบายได้ดี นำใบมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นกรองเอากากทิ้ง นำมาใส่ภาชนะทิ้งไว้หนึ่งคืนก็จะจับตัวกันเป็นก้อนคล้ายเยลลี่ เมื่อรับประทานก็นำมาใส่พริกป่น เกลือป่น ปลาแห้งป่น ถั่วลิสงป่น ปรุงให้มีรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาว รับประทานเป็นกับข้าวหรืออาหารว่างก็ได้
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น