ฤดูฝนถือเป็น“กรีนซีซั่น”(Green Season) หรือ“ฤดูแห่งความเขียวขจี”สำหรับการท่องเที่ยวไทย
เพราะเมื่อสายฝนโปรยปรายลงมา ท้องฟ้าชุ่มฉ่ำ ผืนดินชุ่มน้ำ ป่าเขาลำเนาไพรกลับคืนสู่ความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำ ดอกไม้ป่าต่างพากันผลิดอกแทงช่ออวดโฉมความงาม สายน้ำตกกลับมาโจนทะยานไหลหลั่งถั่งโถมโครมครืน ท้องไร่ท้องนาพลิกฟื้นคืนชีวิตจากร้อนแล้งแห้งโหย กลับคืนสู่ความสดชื่นเขียวขจีมีชีวิตชีวา
นับเป็นบรรยากาศแห่งกรีนซีซั่น ที่สถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งในเมืองไทย ต่างก็เปล่งมนต์เสน่ห์แห่งความสดชื่นเขียวขจี เชื้อเชิญให้เราออกเดินทางไปสัมผัสในความงดงาม สูดอากาศบริสุทธิ์กันให้ชุ่มปอด
สำหรับภาคเหนือ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ในช่วงกรีนซีซั่นนั้นมากไปด้วยสิ่งน่าสนใจ และกิจกรรมอันโดดเด่นหลากหลาย
ด้วยเหตุนี้“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาค ภาคเหนือ จึงได้คัดสรร 6 ทริปน่าสนใจ จากโครงการ“เหนือฝัน ล้านแรงบันดาลใจ”มานำเสนอแก่ผู้ที่สนใจ โดยมุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยว“กลุ่มผู้หญิง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพและมาแรงแห่งยุค
และนี่ก็คือ 6 เส้นทางท่องเที่ยวสีเขียวที่ชวนให้สัมผัสกันในหลากหลายอรรถรสอารมณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างเสน่ห์สีสันให้กับกรีนซีซั่นในบ้านเรา น่าออกเดินทางไปสัมผัสค้นหามากยิ่งขึ้น
ลำน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก
หน้าฝนกับกิจกรรมผจญภัย“ล่องแก่ง”ถือเป็นของคู่กัน ซึ่ง“ตะลอนเที่ยว”ขอเริ่มต้นด้วยการพาคุณผู้หญิงผู้รักความท้าทาย ไปสนุกตื่นเต้นใน“เส้นทางผจญภัยทดสอบใจ”ของ ททท.ภาคเหนือ กับกิจกรรมล่องแก่งพิชิต“ลำน้ำเข็ก” ที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
ลำน้ำเข็กมีแหล่งกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลเคียงคู่ไปกับถนนหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ในช่วงหน้าฝนราวเดือน ก.ค. - ต.ค. สายน้ำเข็กจะเปลี่ยนจากสีขาวใสไหลรี่ เป็นสีน้ำตาลแดงไหลเชี่ยวกราก เหมาะต่อการทำกิจกรรมล่องแก่งพิชิตสายน้ำ โดยทุกๆปีจะมีการจัดงานเทศกาล“ชิมกาแฟแก่งซอง ล่องแก่งลำน้ำเข็ก”ขึ้น เพื่อเป็นการเปิดฤดูกาลล่องแก่งลำน้ำเข็กอย่างเป็นทางการ
กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็กมีจุดเด่นคือ เข้าถึงสะดวก อยู่ใกล้ริมถนน ไม่ต้องเดินเท้าเข้าป่า ไม่ต้องแบกเรือยาง สองฟากฝั่งน่ายลไปด้วยทัศนียภาพของธรรมชาติที่สวยงาม ที่สำคัญคือมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากทาง นายหัว นายท้าย และเหล่าสตาฟฟ์ ได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการล่องแก่งที่ได้มาตรฐานสากล Best Practice จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)มาเป็นอย่างดี
กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็ก มีระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาล่องแก่งประมาณ 2-3 ชั่วโมง(ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำในช่วงนั้นๆ) โดยเรือยางจะล่องผจญฝ่าแก่งต่างๆ 15 แก่ง ผ่านความแรงของกระแส ตั้งแต่ระดับ 1-5 จากน้ำนิ่งไปจนถึงน้ำไหลเชี่ยวกราก ผ่านสภาพแก่งที่หลากหลายครบเครื่อง ทั้ง แก่งต่างระดับ แก่งคดเคี้ยวหักเลี้ยวเป็นตัว S แก่งไล่ระดับเป็นชั้นๆดังขั้นบันได เป็นต้น
นั่นจึงทำให้น้ำเข็กได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเส้นทางล่องแก่งยอดนิยมติดอันดับ 1 ใน 5 ของเมืองไทย
นอกจากความตื่นเต้นเร้าใจจากการผจญภัยพิชิตสายน้ำแล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดล่องแก่งลำน้ำเข็กยังมากมีไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ
“อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า”(อ.นครไทย จ.พิษณุโลก) ที่มีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และทางธรรมชาติ นำโดยไฮไลท์สำคัญคือ“ลานหินปุ่ม” จุดชมวิวบนหน้าผาหินที่มีรูปลักษณ์อันโดดเด่นแปลกตา มีก้อนหินกลมมนผุดขึ้นมาเป็นลูกเป็นปุ่มละลานเต็มพื้นที่ของลานหินกว้าง
“อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง”(หน่วยหนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์) ชวนตื่นตาไปกับ“ทุ่งแสลงหลวง” ทุ่งหญ้าสะวันนาอันสวยงามกว้างไกลใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ขณะที่ใกล้ๆกันนั้นก็มี“ทุ่งนางพญาเมืองเลน” แหล่งป่าสนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีบรรยากาศสวยงามโรแมนติก นอกจากนี้ผืนป่าทุ่งแสลงหลวงยังมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะต่อการขี่จักรยานสัมผัสธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนถ้าเดินทางต่อไปอีกตามถนนหมายเลข 12 มุ่งสู่ จ.เพชรบูรณ์ ก็จะเป็นพื้นที่ อ.เขาค้อ สถานที่ท่องเที่ยวและที่พักตากอากาศเลื่องชื่อของเมืองไทย กับบรรยากาศและวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาอันสลับซับซ้อนสวยงาม โดยมี“วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว”(ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ)ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ต้องห้ามพลาด
ลำน้ำว้า จ.น่าน
จากกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็ก “ตะลอนเที่ยว”ขอยกระดับความตื่นเต้นเร้าใจในเส้นทางผจญภัยทดสอบใจขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการพาคุณผู้หญิงผู้รักความท้าทายไปตะลุยพิชิตสายน้ำอันสุดมัน กับกิจกรรมล่องแก่ง“ลำน้ำว้าตอนกลาง”ที่จังหวัดน่านกัน
ลำน้ำว้า เป็นต้นธารสายหนึ่งของแม่น้ำน่าน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ น้ำว้าตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง
น้ำว้าตอนบน มีสายน้ำดุดัน รุนแรง กราดเกรี้ยว เส้นทางมีความคดเคี้ยว บางช่วงสูงชัน มีความยากมากในระดับ 3-5(+) นับว่าโหดที่สุดในบรรดา 3 ช่วง เหมาะสำหรับคนว่ายน้ำเป็นและมีความชำนาญในการล่องแก่ง ขณะที่น้ำว้าตอนล่างมีระดับสายน้ำอยู่ที่ 1-3 สามารถล่องแก่งได้ตลอดทั้งปี ถือเบาสุดของเส้นทางล่องแก่งน้ำว้า
ส่วนลำน้ำว้าตอนกลางนั้น ถือเป็นช่วงที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะเป็นช่วงที่สนุกตื่นเต้นเร้าใจมาก มีความง่าย-ยากของสายน้ำหลากหลายและครบเครื่อง โดยจุดล่องแก่งน้ำว้าตอนกลางนั้นเริ่มต้นที่ บ้านสบมาง ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ
จากนั้นเมื่อเรือยางออกจากฝั่ง จะล่องผ่านพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านและอุทยานแห่งชาติแม่จริม ก่อนไปสิ้นสุดที่แก่งวังลูน บ้านหนองแดง อ.แม่จริม(จุดลงและขึ้นเรืออาจมีการเปลี่ยนจุดบ้างตามสภาพน้ำ) รวมระยะทางในการล่องแก่งประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาล่องแก่ง 2 วัน 1 คืน(เดิมล่อง 3 วัน 2 คืน) โดยต้องนอนพักค้างแรมในป่า 1 คืนด้วยกัน
กิจกรรมล่องแก่งน้ำว้าตอนกลางมีจุดเด่นที่ความเป็นธรรมชาติกับสายน้ำใสไหลเย็น มีทัศนียภาพสวยงาม คือสองฟากฝั่งขนาบด้วยหินผารูปร่างแปลกตา เขียวชอุ่มไปด้วยป่าไม้ซึ่งเป็นป่าผลัดใบและป่าเบญจพรรณ ที่สำคัญคือตลอดระยะทางนั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ โดยมีแก่งที่ต้องใช้ความสามารถทักทายอยู่เป็นระยะๆ
นอกจากนี้ลำน้ำว้าตอนกลางเป็นสายน้ำที่คดเคี้ยวมากกว่าลำน้ำอื่นในเมืองไทย ในสายน้ำมีแก่งต่างๆกว่า 100 แก่ง ตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 เหมาะสำหรับผู้หญิงนักผจญภัยที่ชอบความท้าทาย และชอบบรรยากาศแบบป่าไพร เพราะการได้ล่องแก่งไปนอนกลางป่านั้นมันช่างเป็นบรรยากาศที่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย
สำหรับสาวๆที่มาสนุกสุดมันกับการล่องแก่งพิชิตลำน้ำว้าแล้ว ในจังหวัดน่านยังมีสิ่งน่าสนใจให้ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเส้นทางล่องแก่งลำน้ำว้า อาทิ สัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของ อ.ปัว ดินแดนโรแมนติกท่ามกลางแวดล้อมแห่งขุนเขา
อ.ปัว มี“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสำคัญ รวมถึงมีวัดน่าสนใจ อาทิ “วัดพระธาตุเบ็งสกัด”, “วัดต้นแหลง”, “วัดภูเก็ต” และ “วัดปรางค์” ที่มีอันซีนไทยแลนด์คือ“ต้นดิกเดียม” ต้นไม้บ้าจี้ที่จะสั่นไหวเมื่อคนไปสัมผัสถูกลำต้นมัน
ส่วนถ้าเดินทางขึ้นเหนือไปอีกก็จะเป็น อ.บ่อเกลือ ซึ่งไม่ไกลจากบ้านสบมาง จุดเริ่มต้นล่องแก่งเท่าใดนักจะเป็นที่ตั้งของ “บ้านบ่อหลวง” แหล่ง“บ่อเกลือภูเขาหนึ่งเดียวในโลก” อายุเก่าแก่กว่า 800 ปี ที่วันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการทำเกลือโบราณเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง
ภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์
มาถึงทริปกรีนซีซั่นลำดับที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ“เส้นทางสายดอกไม้”ของภาคเหนือ กับการเดินป่าพิชิต“ภูสอยดาว” เพื่อไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของทุ่งหญ้า ป่าสน และทุ่งดอกไม้ป่าแสนงาม
ภูสอยดาว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ การเดินทางขึ้นสู่ยอดภูสอยดาวมีระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ถูกยกให้ติด 1 ใน 10 เส้นทางเดินป่าอันโหดหินของเมืองไทย เพราะเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขาสูงชัน แต่ว่าเมื่อสามารถเดินขึ้นไปเป็นผู้พิชิตได้แล้วจะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะธรรมชาติบนภูสอยดาวนั้นสวยงามทรงคุณค่าสมดังคำล่ำลือ
ภูสอยดาว เป็นภูเขายอดตัด มีความสูง 1,633 เมตร บนยอดภูมีสภาพเป็นลานสนกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี“หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ตั้งโดดเด่นอยู่บนรอยต่อพรมแดนของ 2 ประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญของภูสอยดาว
ลานสนบนภูสอยดาวมีสภาพทั่วไปเป็นที่ราบสลับกับเนินสูงๆต่ำๆ ตามพื้นดินที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าจะมีดอกไม้ป่าหลากหลายชนิดออกดอกหมุนเวียนอวดโฉมความงามกันอยู่ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น เอนอ้า สร้อยสุวรรณา ชมพูนุช ชมพูเชียงดาว เหลืองพิศมร ฯลฯ
ส่วนที่พิเศษเป็นอย่างยิ่งก็คือในฤดูฝน ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. นั้น ยอดภูสอยดาวจะกลายเป็นดังสวรรค์น้อยๆของเหล่านักเดินทาง เพราะเป็นช่วงเวลาทองที่มวลหมู่“ดอกหงอนนาค”จำนวนมหาศาลบนยอดภูสอยดาวจะพร้อมใจกันเบ่งบาน ให้ดอกสีชมพูอมม่วงบานดารดาษเต็มท้องทุ่ง ตัดกับสีเขียวของทุ่งหญ้าและบรรดาต้นสนที่ขึ้นปกคลุม แลดูสวยงามปานเนรมิต จนได้ชื่อว่า “ภูสอยดาวเป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทย”
นอกจากลานสนและทุ่งดอกหงอนนาคแสนสวยแล้ว บนยอดภูสอยดาวยังมีจุดชมวิวตามริมผา น้ำตก และเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เดินเที่ยวชมกัน ขณะที่บริเวณตีนภูสอยดาวหน้าจุดสตาร์ทสู่ยอดภูสอยดาวนั้นมี “น้ำตกภูสอยดาว” ที่มีน้ำใสไหลเย็นชุ่มฉ่ำให้ชื่นชมในความงดงาม
ส่วนห่างจากภูสอยดาวไปประมาณ 20 กม. เป็นที่ตั้งของ “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” หรือที่เรียกสั้นๆว่า“สวนพฤกษ์ฯ บ้านร่มเกล้า” เป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจเชื่อมโยงกับภูสอยดาว
สวนพฤกษ์ฯ บ้านร่มเกล้า ตั้งอยู่ในเขต ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ภายในสวนมีบรรยากาศร่มรื่น มีการจัดภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีโรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ต่างๆให้เที่ยวชม โดยเฉพาะไฮไลท์คือ “สร้อยสยาม” พันธุ์ไม้ที่ค้นพบชนิดใหม่ของโลก ในตระกูลชงโคหรือเสี้ยวของไทย มีดอกเป็นช่อสีชมพูสวยงาม
นอกจากนี้สวนพฤกษ์ฯ บ้านร่มเกล้า มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีจุดชมวิวค้อเดียวดาย ที่มีจุดเด่นคือ ในยามเช้า จะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากฝั่งลาว ส่วนยามเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ตกในฝั่งไทย นับเป็นจุดชม“พระอาทิตย์ 2 แผ่นดิน” ที่มีเสน่ห์ไม่น้อยเลย
ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
จากกิจกรรมท่องเที่ยวแนวผจญภัย เปลี่ยนบรรยากาศมาสัมผัสกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเรียนรู้ใน “เส้นทางเกษตรหลวง-โครงการหลวง”ใต้พระบารมี ที่“สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์”ซึ่งมากไปด้วยสิ่งน่าสนใจอันหลากหลายทั้งในและนอกพื้นที่โครงการหลวง
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ที่บ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการหลวงบนดอยอินทนนท์ขุนเขาที่สูงที่สุดของเมืองไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและชาวไทยภูเขาในพื้นที่ดอยอินทนนท์
ที่นี่เราจะได้สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรบนที่สูง ผ่านจุดน่าสนใจต่างๆภายในสถานีฯ ไม่ว่าจะเป็น สวน 80 พรรษา สวนไม้ดอกไม้ประดับ โรงจัดแสดงพืชกินสัตว์และโรงเฟิร์น และแปลงไม้ดอกพืชผักเมืองหนาว และแหล่งทำประมงบนที่สูงที่สามารถเพาะเลี้ยง ปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาสเตอร์เจี้ยน กุ้งก้ามแดง และปูขน ได้สำเร็จ
อีกทั้งยังสามารถเดินชมความงามของ “น้ำตกสิริภูมิ” น้ำตกที่ไหลมาจากหน้าผาอันสูงชัน มองเห็นเป็นสายสวยงามแต่ไกล โดยมีทางเดินชมน้ำตกที่มีการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างร่มรื่นสวยงาม มีบรรยากาศคงความเป็นธรรมชาติ น่าเดินเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้สถานีฯอินทนนท์ ยังมีอีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญนั่นก็คือ การนำผลผลิตต่างๆจากภายในสถานีฯ มาจัดทำเป็นเมนูอันหลากหลายให้ผู้ไปเยือนได้ลิ้มลอง ซึ่งบรรดาสาวๆนักกินไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
สำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เส้นทางสายนี้มีสิ่งน่าสนใจให้เที่ยวชมกันมากมาย อาทิ "จุดสูงสุดแดนสยาม” ที่ระดับความสูง 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่นักท่องเที่ยวมักจะไม่พลาดการไปถ่ายรูปคู่กับป้ายจุดสูงสุดแดนสยามแห่งนี้ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” กับทางเดินชมผืนป่าที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครจนได้รับฉายาว่า“ป่าดึกดำบรรพ์”อันสวยงามน่าทึ่ง
“พระมหาธาตุนภเมทนีดล” ที่สร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ 8 เหลี่ยม หมายถึงมรรคผล 8 และ “พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” ที่สร้างถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ 12 เหลี่ยม แทนความหมายอัจฉริยะธรรม 12 ประการ ซึ่งพระธาตุทั้ง 2 ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่ขวัญบนดอยอินทนนท์
หรือจะเป็นบรรดาเหล่าน้ำตกสวยๆงามๆ ที่นำโดย 3 น้ำตกใหญ่ คือ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกแม่กลาง และ “น้ำตกแม่ยะ” ที่สายน้ำเป็นสายขาวโพลนสยายเป็นชั้นๆ ไหลลดหลั่นลงมาตามหน้าผาสูงราว 280 เมตร กว้างหลายสิบเมตร ดูสวยงามอลังการ จนได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 น้ำตกที่สวยงามที่สุดของเมืองไทย
นอกจากน้ำตกแล้วในช่วงฤดูทำนา(หน้าฝนถึงหน้าหนาว) ที่“บ้านแม่กลางหลวง”ที่อยู่บนทางขึ้นดอยอินทนนท์ จะงดงามไปด้วยท้องทุ่งนาขั้นบันไดที่ชาวบ้านปลูกข้าวบนไหล่เขาลดหลั่นไปตามภูมิประเทศ เป็นเชิงชั้น เส้นสาย ในช่วงหน้าฝนนาขั้นบันไดที่นี่จะเขียวขจีสบายตา ส่วนช่วงหน้าหนาวก็จะเหลืองทองอร่ามงามตา นับเป็นความงาม 2 อารมณ์ในการชมวิถีข้าวไทยที่น่าประทับใจยิ่ง
บ้านห้วยฮ่อม จ.เชียงใหม่
ต่อกันด้วยการไปสัมผัสกับสีสันของความเขียวขจีใน“เส้นทางชุมชนชวนเรียนรู้”ผ่านการท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบของโฮมสเตย์ ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” มี 2 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในบรรยากาศสุดฟินมาแนะนำกัน
เริ่มกันที่กิจกรรมท่องเที่ยว-โฮมสเตย์ที่“บ้านห้วยฮ่อม” ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดย“กลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ” ที่เป็นการรวมตัวกันของ 3 กลุ่มบ้านแห่ง ต.บ้านจันทร์ คือ บ้านห้วยฮ่อม บ้านดอยตุง และบ้านห้วยครก
บ้านห้วยฮ่อมเป็นชุมชนชาว“ปกาเกอะญอ” ที่ยังคงดำรงวิถีแบบดั้งเดิม พวกเขาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างรักใคร่กลมเกลียว เป็นดังครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี พวกเขาใช้ชีวิตแบบพอเพียงในบ้านเล็กกลางป่าใหญ่ ทำการเกษตร ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง
ที่สำคัญคือชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับผืนป่า และรักษาผืนป่าวัดจันทร์ไว้ให้ดำรงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้ที่โดดเด่นของบ้านห้วยฮ่อมก็คือ โฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชุมชน และที่เป็นไฮไลท์คือการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีการทำนาปลูกข้าว ด้วยวิธีการพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้ปุ๋ยธรรมชาติจากเศษใบไม้ มูลสัตว์ ทำให้ท้องทุ่งนาที่นี่มีสรรพชีวิตน้อยๆร่วมใช้ชีวิตอยู่อาศัยเคียงคู่ไปกับต้นข้าวที่เจริญเติบโตอยู่มากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตั๊กแตน แมลง หอย ปู ปลา กบ เขียด ลูกอ๊อด แมลงปอ เป็นต้น
นอกจากการเรียนรู้วิถีการทำนาแล้ว ที่บ้านห้วยฮ่อมยังมีกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจ อาทิ เก็บพืชผักสวนครัวมาทำอาหารพื้นถิ่นร่วมกับชาวบ้าน ร่วมหุงข้าว ทำอาหาร ต้มน้ำชาในแบบชาวปกาเกอะญอด้วย“เหล่อชอ” ที่เป็นเตาสามเส้าแบบโบราณก่อด้วยหิน 3 ก้อน ชมการสาธิตการทอผ้า และไปไหว้พระ “พระศรีกัลยาณวัตรมุนี” ที่“วัดห้วยฮ่อม” วัดประจำหมู่บ้าน
ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกิจกรรมโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยฮ่อมนั้นๆ หลักก็เป็นสิ่งน่าสนใจใน อ.กัลยาณิวัฒนา นั้นก็มี “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” หรือ “โครงการหลวงวัดจันทร์”(บ้านวัดจันทร์ ต.บ้านจันทร์) แหล่งปลูกพืชผักเมืองหนาวที่มีบรรยากาศอันสวยงาม, “โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.)” หรือ “อ.อ.ป. วัดจันทร์” ที่ภายในมีอ่างเก็บน้ำ ป่าสน เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เส้นทางจักรยาน และบ้านพักบรรยากาศดีสุดฟิน ไว้บริการ
นอกจากนี้ก็ยังมี “พระธาตุจอมแจ้ง” หรือ “โคว่โพหลู่” พระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ตั้งอยู่บนเขา บนนั้นถือเป็นจุดชมวิวชั้นดี และ “วัดจันทร์” ศูนย์รวมจิตใจของชาว อ.กัลยาณิวัฒนา ที่มีจุดเด่นตรงวิหารหลังเก่าที่มีช่องแสงสีดำขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายแว่นตา จนทำให้วิหารแห่งนี้ได้ชื่อว่า“วิหารแว่นตาดำ”อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย
บ้านแม่ละนา จ.แม่ฮ่องสอน
ปิดท้ายกันด้วยอีกหนึ่งเส้นทางชุมชนชวนเรียนรู้ ที่“บ้านแม่ละนา” ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆเข้ากับกับชุมชนบ้านห้วยฮ่อมได้เป็นอย่างดี
บ้านแม่ละนา เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี เดิมชื่อ“แม่ลัดนา”เนื่องจากมีแม่น้ำไหลผ่านทุ่งนา แต่ตอนหลังชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็น“แม่ละนา”
ชาวบ้านแม่ละนาส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ (ไต) ที่ยังคงแนบแน่นพุทธศาสนาและขนบประเพณีแบบดั้งเดิม พวกเขาดำรงวิถีอย่างเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบพอเพียง แอบอิงอยู่กับธรรมชาติ ทำการเกษตรปลูกผัก ทำนา เลี้ยงสัตว์ ภายในหมู่บ้านมีการปลูกสร้างบ้านเรือนไม้ในรูปแบบเรือนท้องถิ่นที่ดูเรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์น่ายล
สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวหลักๆที่บ้านแม่ละนานั้น เป็นไปรูปแบบของโฮมสเตย์ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสชีวิตวัฒนธรรมชุมชน เรียนรู้วิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน สัมผัสและทดลอง(ร่วม)ทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ทำนาปลูกข้าว เดินป่าศึกษาธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรม“เที่ยวถ้ำ” ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของบ้านแม่ละนา เพราะในละแวกชุมชนและใน อ.ปางมะผ้า นั้นมีถ้ำน่าสนใจให้เที่ยวชมกันหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
“ถ้ำแม่ละนา” ที่ยาวถึง 12 กม. เป็นถ้ำน้ำลอดที่มีหินงอกหินย้อย เสาหิน อันสวยงามอลังการ “ถ้ำเพชร” มีจุดเด่นคือหินงอกหินย้อยที่ยามสะท้อนแสงจะเกิดประกายระยิบระยับคล้ายกากเพชร “ถ้ำหินไข่มุก” มีจุดเด่นคือหินงอกหินย้อยคล้ายไข่มุก และ “ถ้ำปะการัง” มีจุดเด่นคือมีหินรูปร่างคล้ายปะการังให้ชมเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ก็ยังมี“ถ้ำน้ำลอด”หรือ“ถ้ำลอด”(ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า)สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ อ.ปางมะผ้า เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญเชื่อมโยงกับชุมชนบ้านแม่ละนา
ถ้ำน้ำลอด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีลำห้วย“น้ำลาง” ไหลลอดทะลุภูเขา ภายในมีหินงอกหินย้อยที่งดงาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกด้วย
ถ้ำน้ำลอด แบ่งเป็น 3 คูหาใหญ่ ได้แก่ “ถ้ำเสาหิน”หรือ“ถ้ำเสาหินหลวง” ที่มีไฮไลท์คือเสาหินขนาดใหญ่เกิดแท่งหินงอกหินย้อยหลายต้น “ถ้ำตุ๊กตา” มีจุดเด่นเป็นหินงอกเป็นปุ่มปมเล็กดูคล้ายตุ๊กตาเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก และ “ถ้ำผีแมน” ที่นอกจากจะมีหินงอกหินย้อยสวยงามแล้วก็ยังเป็นแหล่งโบราณคดีแสดงร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคโบราณ มีการค้นพบภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน ซี่ฟันและกระดูกมนุษย์ รวมถึง“โลงผีแมน” ซึ่งเป็นท่อนไม้ที่ถูกขุดส่วนกลางออกเป็นร่องคล้ายเรืออยู่กระจัดกระจายในถ้ำ สันนิษฐานว่าเป็นโลงศพของมนุษย์โบราณ
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งกรีนซีซั่นของภาคเหนือ ที่ล้วนต่างอวลไปด้วยบรรยากาศของความสดชื่นเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำจากธรรมชาติอันแสนรื่นรมย์ ซึ่งหากใครได้ไปสัมผัสแล้วจะทำให้รู้สึกรักเมืองไทยหน้าฝน และหลงรักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
**************************************
“กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็ก” อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีช่วงเวลามีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการล่องแก่งอยู่ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.(แต่บางปีอาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพน้ำในปีนั้นๆ) ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำเข็ก และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงในจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก (พื้นที่รับผิดชอบ พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร) โทร.0-5525-2742-3, 0-5525-9907
“กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลาง” จ.น่าน มีช่วงเวลามีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการล่องแก่งอยู่ในช่วงเดือน ต.ค.-ม.ค.(แต่บางปีอาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพน้ำในปีนั้นๆ) ส่วนเตาต้มเกลือโบราณที่บ้านบ่อเกลือ ชาวบ้านจะหยุดต้มในช่วงเข้าพรรษาตามความเชื่อดั้งเดิม และจะกลับมาต้มอีกครั้งตั้งแต่ออกพรรษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำว้า และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงในจังหวัดน่าน เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่(พื้นที่รับผิดชอบ แพร่,น่าน,อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127
ภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ เปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่ 1 ก.ค. - 15 ม.ค. ของทุกฤดูกาล สำหรับช่วงที่ดอกหงอนนาคบานเต็มที่จะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. โดยแต่ละปีปริมาณดอกหงอนนาคและช่วงเวลาที่ออกดอกบานเต็มที่จะไม่แน่นอน ควรโทร.สอบถามข้อมูลทุ่งดอกหงอนนาคบานจากทางอุทยานฯภูสอยดาวก่อนที่ โทร. 0-5543-6001 หรือที่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแพร่” (รับผิดชอบพื้นที่แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ โทร. 053-286777, 053-286778
สนใจท่องเที่ยวชุมชนและโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยฮ่อม สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเหล่อชอ โทร. 080-859-2978
และสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่เชื่อมโยงกับ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ดอยอินทนนท์ และ บ้านห้วยฮ่อม อ.กัลยาณิวัฒนา เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (พื้นที่รับผิดชอบ เชียงใหม่,ลำปาง,ลำพูน) โทร. 0 5324 8604-5
สนใจท่องเที่ยวชุมชนและโฮมสเตย์ที่บ้านแม่ละนา สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.085-708-8817 และสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเชื่อมโยงกับบ้านแม่ละนา เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982
***************************************
อาหารถิ่นเมืองเหนือต้องห้ามพลาด
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาคเหนือ ชวนอร่อยไปกับ“อาหารถิ่นเมืองเหนือต้องห้ามพลาด” ใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง คือ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี
สำหรับอาหารถิ่นเมืองเหนือต้องห้ามพลาดของจังหวัดทั้ง 4 ได้แก่
สุโขทัย : ข้าวเปิ๊บ : เป็นอาหารพื้นบ้านของชุมชนนาต้นจั่น จ.สุโขทัย วิธีการทำข้าวเปิ๊บคล้ายๆกับการทำข้าวเกรียบปากหม้อ เมื่อแผ่นแป้งบนปากหม้อสุกได้ที่แล้ว นำผักสดพร้อมวุ้นเส้นวางบนแผ่นแป้ง แล้วค่อยๆพับแป้งตักใส่ชาม ตักราดด้วยน้ำซุปกระดูกหมู เติมกากหมูเจียว ต้นหอมและผักชี แล้วปิดท้ายด้วยไข่ดาวไอน้ำวางไว้ด้านบนสุด
กำแพงเพชร : แกงเขียวหวานกล้วยไข่ : กล้วยไข่ปลูกกันมากที่จังหวัดกำแพงเพชร จนกลายเป็นของดีขึ้นชื่อของชาวกำแพงจึงคิดค้นเมนูนำกล้วยไข่มาทำเป็นอาหาร โดยเลือกผลห่ามมาทำแกงเขียวหวาน ที่มีรสชาติอร่อยหอมหวาน และเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ด้วย
อุทัยธานี : ซาลาเปาปลาแรด : ซาลาเปาไส้ปลาแรด ขั้นตอนการทำยากเพราะปลามีก้างและกลิ่นคาว แต่เราจะใช้ปลาที่สะอาดก็คือ ปลาแรดที่เลี้ยงในกระชัง ซึ่งจะไม่มีกลิ่นโคลน หลังจากนั้นนำปลาแรดไปเผาก่อน เมื่อเผาเรียบร้อยก็แกะเอาเนื้อปลา และนำมาทำไส้ขนม ปัจจุบันมี2รสชาติ คือ ปลาแรดผัดเห็ดหอม และปลาแรดผัดพริกแกง 3 รส
นครสวรรค์ : ไหลบัว(ส้มตำไหลบัว) : เป็นเมนูหาทานยาก ไหลบัวเป็นส่วนของหน่อบัว ลักษณะแข็งกดไม่ยุบ แตกต่างจากสายบัว นำมาทำส้มตำไหลบัวเมนูยอดฮิต แกงส้ม เป็นสมุนไพรไทย ช่วยแก้อ่อนเพลียและบำรุงหัวใจ
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com