“บิ๊กตู่” ฮึ่ม! มหาดไทยแก้ปัญหาเบิกจ่าย “โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท” ล่าช้า เผยมติ ครม.รับทราบเบิกจ่ายจริง 7.9 พันล้าน ทั้งที่ ครม.อนุมัติแล้วกว่า 3.2 หมื่นล้าน ด้าน มท.ยกหลายโครงการพ่วง แจงอนุมัติแล้ว 120,198 โครงการกว่า 35,423.60 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายแล้ว 4,021.87 ล้านบาท เผยสั่งผู้ว่าฯ คัดเลือกโครงการที่มีความโดดเด่นส่งประกวดแม้หลายโครงการบังไม่ผ่าน แถมเบิกงบช้า ด้าน ป.ป.ช. ส่งข้อมูลแจง ปค. “ไม่พบทุจริต”
วันนี้ (14 ก.พ.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ให้มีการคัดเลือก โครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) ในโครงการที่มีความโดดเด่น (Best Practice) โดยตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2559 ให้จังหวัดคัดเลือกโครงการที่มีความโดดเด่น (Best Practice) เพื่อประชาสัมพันธ์โครการ โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ การดำเนินการมีคามคุ้มค่าโปร่งใส และสามารถดำเนินการได้ภายในเวลาที่กำหนด เช่น โครงการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการพัฒนาอาชีพ โครงการสร้างงานสร้างรายได้ เป็นต้น เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ
ล่าสุด ข้อมูล ณ 9 ก.พ. 59 กระทรวงมหาดไทย ได้เผยแพร่เม็ดเงินที่ลงพื้นที่ พบว่ามียอดรวมการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการต่างๆ แล้วเป็นจำนวนเงิน 7,913.44 ล้านบาท ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติโครงการจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่แล้วจำนวน 120,198 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 92.07 จำนวนเงินที่อนุมัติแล้ว 35,423.60 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 4,021.87 ล้านบาท และอยู่ระหว่างก่อหนี้ผูกพัน 7,979.54 ล้านบาท
2. มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ได้รับการอนุมัติและจัดสรรงบประมาณแล้วจำนวน 3,827 โครงการ เป็นเงิน 3,200.968 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,297.19 ล้านบาท และอยู่ระหว่างก่อหนี้ผูกพัน 712.35 ล้านบาท
3. โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 421 รายการ เป็นเงิน 254.28 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 21 จังหวัด เบิกจ่ายแล้ว 83.51 ล้านบาท และอยู่ระหว่างก่อหนี้ผูกพัน 65.68 ล้านบาท
4. มาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณ 4,490 รายการ เป็นเงิน 2,565.80 ล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 2,286.44 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,474.10 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าทุกจังหวัดจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
มีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทีมงานลงไปตรวจติดตามการดำเนินงานในพื้นที่พบว่าในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาความล่าช้าซึ่งเกิดจากกระบวนการบริหารงาน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงการ/รายละเอียดโครงการ การขอใช้ที่ดินกับส่วนราชการ หรือปัญหาด้านบุคลากร เป็นต้น โดยประสานกับกรมบัญชีกลาง ให้ขยายเวลาการให้บริการแก่ส่วนราชการที่ดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ยังเน้นย้ำให้จังหวัดกำชับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนดำเนินการตามโครงการมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้เม็ดเงินลงไปถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้สอบถามความคืบหน้าของโครงการนี้กลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี ที่พบว่ามีการเบิกจ่ายใช้จริงเพียง 7,913.44 ล้านบาท ทั้งที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท
“นายกฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลใดจึงล่าช้าเป็นเพราะระเบียบ หรือดำเนินการรัดกุมเกินไปป้องกันการทุจริต หรือเป็นเพราะไม่มีผู้มารับจ้าง โดยกระทรวงมหาดไทยรายงานข้อเท็จจริงว่ามีโครงการจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้บันทึกในระบบ e-GP จำนวน 1,606 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมจำนวนเงินที่มีการก่อหนี้ผูกพันทั้งหมดกับเงินที่ได้เบิกจ่ายไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 5,167 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.245”
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดการดำเนินโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด และได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารของกระทรวงฯติดตามการดำเนินโครงการของจังหวัดและอำเภอต่างๆ ได้พบปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า คือ
1. โครงการที่ได้รับการอนุมัติมีจำนวนมากกว่า 1.2 แสนโครงการ โดยหน่วยดำเนินการคืออำเภอต่างๆ เฉลี่ยอำเภอละกว่า 130 โครงการ 2. บางอำเภอไม่สามารถหาตัวผู้รับจ้างได้เพราะในพื้นที่มีผู้รับจ้างน้อยราย ทำให้เกิดความล่าช้า 3. โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะกว่าร้อยละ 80 ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร ทำให้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้โดยเร็ว และ 4. การดำเนินการตามระเบียบพัสดุซึ่งมีกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาที่กำหนดทำให้ไม่สามารถเร่งรัดการดำเนินการได้ อีกทั้งปัญหาการบันทึกข้อมูลในระบบ e-GP และระบบ GFMIS ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด คลังเขต และคลังจังหวัด พบว่าเกิดจากหลายสาเหตุ
ส่วนกรณีที่เป็นโครงการที่งบประมาณต่ำกว่า 1 แสนบาท อำเภอได้ดำเนินการการจัดซื้อจัดจ้างหรือออกใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือทำสัญญาแล้ว แต่เป็นการดำเนินการนอกระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยจัดทำเป็นเอกสาร เพื่อสร้างข้อมูลหลักผู้ขายและเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ขายโดยตรง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังในการแก้ปัญหา โดยกรมบัญชีกลางได้เพิ่มสิทธิการเข้าใช้งานระบบ GFMIS ให้สามารถบันทึกได้ทุกระบบงาน นับตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. - 31 มี.ค. 2559 ขยายระยะเวลาการเข้าใช้งานในระบบ e-GP ของผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับสิทธิมากกว่า 1 หน่วยจัดซื้อให้กับหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และเจ้าหน้าที่พัสดุที่ปฏิบัติงานในระบบ e-GP ตามมาตรการดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2559
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางมอบหมายให้คลังจังหวัดทั่วประเทศเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้แก่จังหวัดและอำเภอต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการและขยายระยะเวลาการให้บริการแก่ส่วนราชการที่ดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวด้วย
และสุดท้าย 5. ปัญหาเรื่องการขอใช้ที่ดิน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่เขตอุทยานแห่งชาติ และที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาขออนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยคาดการณ์ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ภายในสิ้นเดือน ม.ค. จะเบิกจ่ายได้ประมาณร้อยละ 30
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่าจากรายงานที่ได้รับจาก ป.ป.ช.ยังไม่พบการทุจริตโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท และเชื่อจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่แต่ละพื้นที่ต้องดำเนินการ ขณะที่ล่าสุด กรมการปกครอง ได้ทำหนังสือแนวทางดำเนินการฯเพิ่มเติมไปยังผู้ว่าฯทุกจังหวัดแล้วเช่นกัน