xs
xsm
sm
md
lg

“มท.-คลัง” เร่ง เบิกจ่ายตำบลละ 5 ล้าน เผย 4 เดือน เบิกแล้ว 33,253 ล้านบาท 1.1 แสนโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“มท.- คลัง” เร่งเบิกจ่ายโครงการตำบลละ 5 ล้าน 4 เดือน เบิกแล้ว 33,253 ล้านบาท กว่า 1.1 แสนโครงการ หลังที่ผ่านมาติดปัญหาชาวบ้านร้องเรียนโครงการที่ยื่นผิดวัตถุประสงค์ เผยเป็น โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ 32,005 โครงการ -สร้าง ถนน/โครงสร้างพื้นฐาน 32,102 โครงการ

วันนี้ (16 ม.ค.) มีรายงานว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามมหาดไทย ให้ยืดเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ตำบลละ 5 ล้าน ออกไปอีก จากเดิมกำหนด 31 ธันวาคม 58 เป็น ถึง 31 มีนาคม 59 นั้น

นายชยพล ธิติศักดิ์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินงานโครงการ ได้มีการกระจายเม็ดเงินลงพื้นที่ โดยจังหวัดได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 - 18 แล้ว จำนวน 129,246 โครงการ ได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว จำนวน 110,962 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 85.85 เป็นเงินงบประมาณ 33,253.515 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.67 ได้มีการเบิกจ่ายแล้ว 632.084 ล้านบาท และก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1,232.341 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.83 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค. 59)

http://tambon.dopa.go.th/web/allmoney.php

โดยการดำเนินงานโครงการตามมาตรการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน หรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน การบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งรูปแบบการเสนอโครงการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเป็นโครงการตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และผ่านการพิจารณากลั่นกรองโครงการจากคณะกรรมการระดับอำเภอ และระดับจังหวัดแล้ว เพื่อขออนุมัติจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 - 18 รวมทั้งมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถจำแนกลักษณะการดำเนินงานโครงการได้ดังนี้

1. พัฒนาสิ่งแวดล้อม จำนวน 6,649 โครงการ (ร้อยละ 2.89) 2. ต่อยอดโครงการพระราชดำริ จำนวน 12,695 โครงการ (ร้อยละ 5.55) 3. ปรับปรุงแหล่งน้ำ จำนวน 32,005 โครงการ (ร้อยละ 13.93) 4. ถนน/โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 32,102 โครงการ (ร้อยละ13.98) 5. การจ้างงาน/อาชีพ จำนวน 41,547 โครงการ (ร้อยละ 18.09) 6. ซ่อมแซม/บูรณะทรัพย์สิน จำนวน 45,591 โครงการ (ร้อยละ 19.85) และ 7. สร้างความเข้มแข็งหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 59,045 โครงการ (ร้อยละ 25.71)

สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว โครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่แล้ว จะต้องดำเนินการตามระเบียบทางราชการ โดยเข้าสู่กระบวนการจัดหาตัวผู้รับจ้าง ทั้งนี้ ถ้าเป็นโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่ากว่า 5 แสนบาท จะใช้เวลาในการซื้อหรือจ้างด้วยวิธีตกลงราคาประมาณ 10 วัน และใช้เวลาดำเนินโครงการประมาณ 20 - 40 วัน หากมีวงเงินมากกว่า 5 แสน แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท จะใช้เวลาในการซื้อหรือจ้างโดยวิธีสอบราคา/ประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์/e-bidding/e-market ประมาณ 30 วัน และถ้าเป็นโครงการที่มีวงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาท จะใช้เวลาในการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์/e-bidding/e-market ประมาณ 40 วัน และเมื่อได้ผู้รับจ้างแล้วก็จะต้องใช้เวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่ง จึงจะเบิกจ่ายเงินได้

จากการสำรวจข้อมูล โดยกรมการปกครอง ปรากฏว่ามีจำนวนโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 5 แสนบาท ประมาณร้อยละ 90 ของโครงการทั้งหมด ซึ่งได้ดำเนินการโครงการเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการเบิกจ่าย ซึ่งพบว่าระบบการเบิกจ่ายเป็นปัญหาที่ทำให้ผลการเบิกจ่ายล่าช้านั้นกระทรวงมหาดไทยและกรมบัญชีกลางได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้งานตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ คาดว่าในสัปดาห์ต่อไปผลการเบิกจ่ายจะสูงมากยิ่งขึ้น และเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดดำเนินการโครงการตามมาตรการดังกล่าว และพร้อมดูแลให้เกิดความโปร่งใสในทุกโครงการ และได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเร่งขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

มีรายงานว่า ครม. มีมติเมื่อ 13 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ อาศัย พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บูรณาการ การบริหารโดยให้กระทรวง กรม ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัด หรืออำเภอ เข้ามาร่วมดำเนินการ ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร หรือด้านอื่น ๆ โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน แม้การดำเนินการที่ติดขัด มีปัญหาล่าช้ามาตั้งแต่เริ่มโครงการ รัฐบาลได้เร่งดำเนินกาแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้มอบหมายให้ทางจังหวัด อำเภอ แจ้งคณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณา หากคณะกรรมการหมู่บ้าน เห็นว่าการขออนุญาตใช้พื้นที่จะทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า หรือหากไม่ได้รับอนุญาต คณะกรรมการหมู่บ้านอาจขอยกเลิกโครงการ และจัดทำโครงการใหม่ขึ้นมาทดแทนตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

โดยที่โครงการใหม่นั้นต้องพิจารณาในลักษณะอื่น เช่น โครงการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาแหล่งนํ้า โครงการพัฒนาอาชีพ หรือโครงการในลักษณะอื่นๆ ตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่

มีรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 พบว่า สามารถเบิกจ่ายไปได้เพียง 136 ล้านบาท คิดเป็น 0.43% ของวงเงินจัดสรร โดยได้ผู้ว่าจ้างเพียง 259 ล้านบาท คิดเป็น 0.81% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น ขณะที่มาตรการดังกล่าวมีจำนวนโครงการมากกว่า 1.2 แสนโครงการ ทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่การเงินในการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมาก

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. ว่า ขณะนี้ กรมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการก่อหนี้ผูกพันและการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ม.ค. พบว่า การก่อหนี้ผูกพันได้เพียง 6,691 ล้านบาท และเบิกจ่าย 612 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้กรมฯ ต้องกำหนดแนวทางแก้ไข 4 มาตรการ เพื่อสนับสนุนการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ทันภายในเดือน มี.ค. 59 ทั้งนี้ แนวทางแก้ไข 4 มาตรการ ประกอบด้วย

มอบหมายให้คลังจังหวัดจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานให้กับจังหวัดและอำเภอที่มา ขอใช้บริการที่สำนักงานคลังจังหวัด โดยให้คลังจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคลังจังหวัดรับผิดชอบแต่ละอำเภอและช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลลงในระบบจัดซื้อจัดจ้าง และระบบการเบิกจ่ายเงินจากคลังตามปริมาณของงาน คาดว่าคลังจังหวัดจะจัดเจ้าหน้าที่เพื่อการนี้ จังหวัดละประมาณ 4 - 5 คน

นอกจากนี้ ยังให้ขยายเวลาให้บริการของสำนักงานคลังจังหวัดหลังเวลาราชการจนถึง 20.00 น. ของทุกวัน ในวันราชการ และให้สำนักงานคลังจังหวัดเปิดทำการในวันหยุดราชการตั้งแต่ 08.30 - 16.30 น. การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สัญญา ซึ่งได้มีการลงนามเอกสารแล้ว ถูกบันทึกลงในระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมไปสู่การเบิกจ่ายเงินต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด คลังเขตและคลังจังหวัด สรุปว่าปัญหาเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะบุคลากร เครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนสิทธิในการเข้าใช้ระบบงานต่าง ๆ ที่ยังจำกัด ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หรือออกใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือทำสัญญาแล้ว เป็นการดำเนินการนอกระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ไม่ได้ลงในระบบ แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น