xs
xsm
sm
md
lg

ยลเสน่ห์ “บ้านเมืองปอน” เรียนรู้ชีวิตชาวไทยใหญ่ เรียบง่ายไม่เหมือนใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“บ้านเมืองปอน”
ในประเทศไทยนั้นมีการท่องเที่ยวมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบการท่องเที่ยวที่ “ตะลอนเที่ยว” มักชอบไปเป็นประจำ นั่นคือการท่องเที่ยวแบบชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีเอกลักษณ์เข้มแข็งดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายอย่างที่ บ้านเมืองปอน ในอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ (ไต) ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายทำนา เพาะปลูก ทำไร่ทำสวน ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์บ้าง แต่ในหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงมีความเหนียวแน่นตามขนบธรรมเนียมประเพณี และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทยใหญ่อยู่ไม่น้อย
บรรยากาศภายใน “บ้านเมืองปอน”
บ้านเมืองปอน คำว่า ปอน นั้นมาจากคำว่า พร หมายความว่า เป็นเมืองที่มีสิริมงคล บางความเชื่อให้ความหมาย ปอน ว่าหมายถึง พญา หรือเป็นเมืองใหญ่ หรือผู้ปกครองเป็นพญาที่ยิ่งใหญ่ ปัจจุบันเมืองปอนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ แต่ถึงประชากรจะเยอะมากมายแต่ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว จึงได้ก่อตั้งการท่องเที่ยวชุมชนขึ้น ทำให้เกิดรายได้เล็กๆ ภายในครอบครัว และนอกจากนั้นยังได้อนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมต่างๆ ความเป็นอยู่ของชาวไทยใหญ่ของหมู่บ้านเมืองปอน ให้กลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ใครต่อใครหลายคนอยากมาเยือน
บ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองปอน
อย่างไรก็ตามกว่าที่บ้านเมืองปอนจะมาเป็นถึงทุกวันนี้ได้ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาไม่น้อยเลย โดย อาจารย์กัลยา ไชยรัตน์ หรือครูแมว จากโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอนผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันบ้านเมืองปอนเป็นชุมชนท่องเที่ยว ต้องการให้กิจกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมของชาวชุมชนแบบพอเพียง ควบคู่ไปกับการให้ชาวชุมชนอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยใหญ่ไว้ไม่ให้สูญหาย ทางหนึ่งนั้นเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่วนอีกทางหนึ่งก็เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษไว้ให้คงอยู่ ไม่ให้เสียศูนย์ สลายหายไปตามกระแสธารแห่งโลกาภิวัตน์ที่รุกเร้า
ลุงแหลมคำ สาธิตวิธีการต้องลาย
จองพารา
การสาธิตชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยใหญ่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยจะแบ่งฐานกระจายอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ แต่ละจุด โดยจุดเด่นๆ หลัก คือ การทำจองพารา มีลักษณะคล้ายปราสาท โครงทำจากไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยกระดาษสีสดใส เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองปอนชุมชนไทยใหญ่ที่ยังคงสืบสานความศรัทธาในพระพุทธศาสนากันจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งบ้านแต่ละหลังจะนำมาประดับหน้าบ้านโดยมีความเชื่อว่าจะเป็นการรับเสด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาจากสรวงสวรรค์ในวันออกพรรษา ซึ่งช่างฝีมือดีอย่าง คุณลุง “แหลมคำ คงมณี” ชาวไทยใหญ่มาสอนการทำจองพาราและการต้องลาย หรือ การฉลุลวดลายบนของแข็งต่างๆ เช่น กระดาษ แผ่นโลหะ แผ่นไม้ ฯลฯ ที่ลุงแหลมคำทำ มักจะมีแค่ 2 ลาย คือลายไต (ไทยใหญ่) และลายม่าน (พม่า) พร้อมลงมือสาธิตการทำลายให้ดูอย่างชำนาญแบบไม่ต้องมีการร่างแบบแต่อย่างใด
 สตรีชาวเมืองปอน มีความสามารถในการเย็บผ้า
เสื้อผ้าชาวไทยใหญ่
ภูมิปัญญาเอกลักษณ์ของชาวไทยใหญ่ที่เด่นอีกอย่าง นั่นคือ เสื้อผ้าชาวไทยใหญ่ ซึ่งถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวันอาจจะไม่ได้เห็นชาวไทยใหญ่ใส่บ่อยครั้ง แต่ทว่าหากมีงานบุญ งานประเพณีของหมู่บ้าน เมื่อไร ทุกคนในหมู่บ้านจะพร้อมร่วมใจสวมใส่กันอย่างพร้อมเพรียง และความพิเศษคือ สตรีชาวเมืองปอนแทบทุกหลังคาเรือนจะมีความสามารถในด้านการทำเสื้อไตที่แตกต่างกันไปเช่น คนนี้ทำการเย็บเข้าตัว อีกคนทำการฉลุลายเสื้อ อีกคนเย็บติดกระดุม แบ่งหน้าที่กันไปจนได้เสื้อผ้าออกมารวมกันหนึ่งตัว ถือว่าเป็นภูมิปัญาท้องถิ่นที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในหมู่บ้าน
นวดแผนโบราณ
เนื่องจากหมู่บ้านเมืองปอน คนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก การนวดแผนโบราณ จึงเป็นการดูแลสุขภาพของคนไทยใหญ่อย่างหนึ่ง ในอดีตหมู่บ้านเมืองปอนนั้นอยู่ไกลหมอ คนในชุมชนจึงต้องมีภูมิปัญญาด้านนี้อยู่กับตัว เป็นการนวดผ่อนคลายจับเส้นช่วยลดอาการเมื่อยล้าได้ดีทีเดียว
ทำขนมข้าวปุ๊ก
ข้าวปุ๊กจิ้มกับน้ำตาลอ้อย
ของกินท้องถิ่นที่นี่ก็โดดเด่นไม่แพ้กันเลย แถมยังอร่อยมากๆ หากใครมาถึงหมู่บ้านเมืองปอนแล้วไม่ได้ลิ้มลองเหมือนมาไม่ถึง นั่นคือ ข้าวปุ๊ก ขนมท้องถิ่นที่มีวิธีทำง่ายๆ โดยใช้แป้งจากข้าวนำมาตำนวดให้เหนียวเหมือนโมจิ โรยงาดำลงไปในขณะที่ตำให้เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อตำได้ที่แล้วนำมาจิ้มกินคู่น้ำตาลอ้อย รสหวานอร่อยเป็นขนมที่น่าลิ้มลองอย่างยิ่ง
วัดเมืองปอน
นอกจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ในหมู่บ้านเมืองปอนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย เช่น วัดเมืองปอน มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ วิหาร, กุฏิ และศาลาการเปรียญรวมหลังเดียวกันเป็นหลังคาไม้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพม่ามาทั้งลักษณะพระพุทธรูปสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และศิลปกรรมภายใน สวยงามน่าชม
ตำข่อน
ภายในวัดยังมี ตำข่อน  เป็นสิ่งที่ใช้ถวายให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในรอบหนึ่งปีจะใช้ถวายในช่วงหลังออกพรรษาที่เรียกกันว่างาน “แฮนซอมโก๋จา” หรืองานอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตำข่อนจะมีสองแบบ แบบที่ 1 จะเป็นการฉลุไม้หรือแผ่นสังกะสีให้มีลวดลายที่สวยงาม เสาทำมาจากไม้สักหรือไม้ยืนต้นที่มีลักษณะตรงเมื่อนำมาประกอบกันแล้วจะมีความสวยงามหรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “ตงกระด้าง” แบบที่ 2 ทำมาจากกระดาษสีต่างๆเส้นด้ายและไม้ไผ่ ตำข่อนจะมีการตกแต่งที่มีลักษณะต่างๆที่มีรูปแบบแทนสัญลักษณ์ของที่ใช้แทนตามตำนานตำข่อน เช่น กาเผือกแทน พ่อและแม่กาเผือก แม่ไก่ แม่เต่า แม่วัว (หมากต๋าวัว) คนซักผ้า แม่พญานาค ตามตำนานกาเผือก เป็นต้น
ศาลเจ้าหลักเมือง
ที่หมู่บ้านเมืองปอนนั้นยังมี ศาลเจ้าเมือง ที่เป็นที่เคารพรักของคนในหมู่บ้าน ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดเมืองปอน ทางด้านทิศตะวันออกของวัด จะเป็นรูปสัญลักษณ์ทำด้วยไม้ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าศาลเจ้าเมืองได้ตั้งขึ้นพร้อมๆ กับศาลหลักเมือง และท้าวทั้งห้า ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าศาลเจ้าเมืองและท้าวทั้งห้าเป็นผู้ที่ดูแลปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าก่อนออกเดินทางไกลไปต่างแดนหรือการไปติดงานหรือการไปสอบแข่งขันใดๆ ก็จะให้มีการมาบอกกล่าวแล้วนำเอาดินในบริเวณศาลเจ้าเมืองไปด้วยเพื่อเป็นสิริมงคล ถือว่าสถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนชาวเมืองปอนอย่างแท้จริง
ตลาดยามเช้า
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาพักหมู่บ้านเมืองปอน ส่วนมากจะเป็นแนวโฮมสเตย์พักร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ได้อารมณ์คลุกคลีเรียนรู้วิถีชีวิตไปในตัว นอกจากนั้นที่นี่ยังมีตลาดเช้าให้เดินอีกด้วย เรียกได้ว่าบ้านเมืองปอนมีมนต์เสน่ห์หลายอย่างให้ผู้ไปเยือนได้สัมผัสกัน
วิถีชุมชนในตอนเช้า
นักท่องเที่ยวที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982, กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเมืองปอน โทร. 08-2162 0459
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น