“เขาเกิดมาเพื่อเป็นนายหนังตะลุง!!” นี่คงเป็นคำจำกัดความที่แจ่มชัด เมื่อเอ่ยถึง “สกนธ์ สุวรรณคช” เด็กชายวัย 7 ขวบแห่งนครศรีธรรมราช ผู้เก่งฉกาจในการเล่นหนังตะลุงจนได้คำนำหน้าว่า “นายหนัง” กระทั่งกระทรวงวัฒน์ ยังได้มอบเกียรติบัตรในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ประเภทเด็ก เมื่อปีที่ผ่านมา
จากความรักความชอบ ต่อยอดศึกษา ด้วยวันวัยเพียง 7 ขวบ รูปหนังเท่าฝ่ามือ แปรเปลี่ยนเป็นขนาดมาตรฐาน เชิดรูปเงาและขับกล่อมกลอนประทับใจท่านผู้ชมและบรรดานายหนังมืออาชีพ “ออกโรง” ครั้งแรกในนาม “หนังสกนธ์ ตะลุงธรรมะ” สร้างชื่อโด่งดังทั่วจังหวัดภาคใต้
“มืออาชีพ” จนรุ่นใหญ่ยังยกนิ้ว
ขณะเพื่อนวัยเดียวกัน ยกชั้นเป็นต้นแบบ
เชิญทำความรู้จักกับเด็กน้อยคนหนึ่งแห่งดินแดนด้ามขวาน
ผู้สืบทอดสืบสานศิลปะการแสดงแห่งปักษ์ใต้
อายุน้อย แต่เจ๋งจนต้องยกย่องชมเชย...
จากชอบรักกลายเป็นชีวิต
เปิดโรงนายหนังตะลุงอายุน้อยที่สุด
“เริ่มชอบหนังตะลุงตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ ป.1 ครับ คือแม่พาไปดูหนังตะลุงน้องเดียว ที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็อยากเล่น”
นายหนังอาชีพรุ่นจิ๋วที่สุดของวงการ บอกเล่าถึงจุดแรกเริ่มการพบรักระหว่างคนกับรูปเชิดมายาหลังเงา
“แต่ก็ยังไม่ได้เล่น (หัวเราะ) จนไปเห็นรูปหนังของเพื่อนที่โรงเรียน ก็เลยขอพ่อให้ซื้อบ้าง พ่อก็ไปซื้อรูปหนังที่วัดพระธาตุ แหล่งซื้อขายรูปหนัง พ่อก็ซื้อรูปหนังอันเล็กให้ ขนาดเท่าฝ่ามือ จากนั้นก็หัดเล่นเองมาเรื่อยๆ”
ขึงผ้ากับเสาบ้านเป็นจอ โดยอาศัยจินตนาการและอารมณ์เป็นหลักบ้าง รวมทั้งอาศัยวิธี “ครูพักลักจำ” จากการได้ดูคณะหนังตะลุงที่มาแสดงละแวกใกล้เคียง
“เขาเชี่ยวชาญ เขาปราดเปรียว วันแรกที่พ่อเขาเอามาฝาก ก็ปล่อยให้เขาเล่น ว่าเขาเล่นอะไรได้บ้าง”
อาจารย์มาโนชญ์ เพ็งทอง ครูผู้ฝึกสอนหนังตะลุง และผู้จัดการโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ วัดพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงวินาทีแรกที่สัมผัสได้ถึงความเป็น “ครูหมอ” ของสกนธ์ในวันวัย 7 ขวบปี
“เขาก็ออกเสียงอะไรต่อมิอะไร ออกเสียงยาย โฉะฉะ คือเล่นไปตามอารมณ์ของเขา เราเห็นเลยว่า นี่คือลักษณะคนเป็นศิลปิน มันจะเป็นอย่างนี้ คือไม่จืด เขาใส่อารมณ์
“เขาเล่นจากจินตนาการของเขา และจากการที่เขาดูหนังน้องเดียวมาเท่านั้น เขาไม่รู้จักหนังคณะอื่น ตัวละครก็ยังไม่รู้จักเลยว่าตัวนี้ชื่ออะไรๆ แต่เขาก็เล่นของเขา เขาเข้าใจอย่างไรก็เล่นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราว เล่นสนทนนาอะไรของเขาไป เขายังไม่รู้กลอนไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่ก็มีแววของนักแสดง แล้วเขากล้ามาก เชี่ยวชาญมาก เวลาทำอะไร เขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับคน เขามีอะไรอยู่ในตัว เขาก็ออกแสดง
“อีกอย่างเขารำมโนราห์ได้ด้วย เพราะก่อนจะมาเป็นหนังตะลุง เขาเรียนมา เขาสืบสายเลือดของเขาทางป้าซึ่งมีเชื้อสายมโนราห์ คนที่จะมาทำงานพวกนี้ได้ คนที่มีเชื้อ จะไปเร็ว เขาเรียกครูหมอ ครูหมอมโนราห์ ครูหมอหนัง รับมาเป็นทอดๆ สกนธ์ก็มีตรงนี้ขึ้นมา”
นับตั้งแต่นั้น ทุกเย็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ หลังเลิกเรียน และเสร็จสิ้นภารกิจความรู้ แม้เด็กคนอื่นจะสนุกสนานกับการละเล่นต่างๆ ตามประสา แต่ความสนุกเดียวของสกนธ์คือ การเชิดหนังตะลุง
“ก็จะมาฝึกซ้อมช่วงเย็นวันศุกร์ มานอนที่วัด วันอาทิตย์ตอนเย็นก็กลับบ้านเตรียมตัวไปโรงเรียน”
สกนธ์กล่าวแซมยิ้ม และภาพนั้นก็กลายเป็นภาพชินตาของสังคมชาววัดในละแวกนั้น รวมถึงเด็กๆ ที่เข้ามาฝึกหัดไปโดยปริยาย
“ก็เล่นกันทั้งคืน บางทีเที่ยงคืน พวกนี้ยังตีโมง ตีกลอง ดังลั่นทั้งวัด แล้วแต่อารมณ์ เวลาอารมณ์ได้เข้าฟีล ก็ทั้งกลุ่มดังไปหมด
“มาเรียนแค่วันสองวัน ถามว่าน้อย มันก็น้อย แต่สกนธ์เขาตั้งใจ เริ่มต้นการหัดหนังตะลุงก็จับให้เชิดฤาษีเลย เพราะมีรูปครูอยู่ 3 รูป คือรูปพระฤาษี รูปปรายหน้าบท เหมือนตัวแทนนายหนังที่ออกมาไหว้ครู แล้วก็มีพระอิศวรทรงโค ถ้าเชิดได้ทั้ง 3 ตัวนี้ รูปทั้งแผงก็เอาอยู่มือ ครูก็คือ 3 รูปนี้ อย่างพระฤาษี การเยื้องย่าง เดิน นาดแขนเป็น เราก็จะเชิดตัวเจ้าเมืองได้ต่อเป็นต้น
“ส่วนรูปปรายหน้าบทตัวนี้จะอ่อนช้อยหน่อย ถ้าพระอิศวรจะออกมาเล่นโครมครามๆ พวกยักษ์อะไรก็จะอยู่ลีลาพวกนี้ สกนธ์ก็เรียนรู้จากจุดนี้”
“ก็หัดได้ในวันสองวัน...ใช่ไหมไข่นุ้ย”
อาจารย์มาโนชญ์กล่าวถามลูกศิษย์ตัวจ้อย
“แรกๆ ยาก แต่พอซ้อมๆ ไปก็เริ่มจะง่ายขึ้น ทั้งเชิดและกลอน ถ้าถามว่าหนักไหม มันก็หนัก แต่พอเชิดไปเรื่อยๆ มันก็ชินมือ ส่วนกลอนหนังตะลุงมันจะต้องฟังดนตรีออก ตอนแรกถ้ายังไม่คุ้นดนตรี มันก็จะไม่ลงจังหวะ มันจะพลัด แต่เมื่อเราฟังดนตรีออก เราจะรู้เลยว่าเมื่อเสียงทับลงตรงนี้ มือมันจะตบอย่างไร แล้วต่อไปมันจะเป็นอัตโนมัติเอง”
สกนธ์ว่า ซึ่งนั่นทำให้ไม่สามารถฝึกหัดได้เพียงลำพัง เขาจึงต้องใช้ทั้งความอดทน และความตั้งใจในระยะเวลาช่วงวันหยุด
“ก็เห็นเขาหลับคากลอนประจำที่ศาลาธรรม”
อาจารย์มาโนชญ์ เผยถึงความมุ่งมั่นของสกนธ์อย่างอารมณ์ดี ก่อนจะอธิบายการฝึกหัดของเขาต่อ
“เขาก็เรียนรู้พร้อมกับการขับกลอน ตอนนั้นก็ใช้กลอนเกี้ยวจอ ค่อนข้างยาว สองถึงสามหน้ากระดาษ
“กลอนเกี้ยวจอ คือก่อนที่หนังตะลุงจะเริ่มเรื่อง มันจะเป็นอะไรก็ได้ เราอาจจะพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นมาอย่างไร หนังตะลุงจะใช้กันบ่อย หรือกลอนที่เราใช้สำหรับสอนผู้คน เช่น กลอนธรรมะดีๆ เพราะก่อนที่คนจะดู จิตของคนจะนิ่งมาก แล้วจะรวมศูนย์จิตอยู่ที่หนัง หนังพูดอะไรก็รอคอยที่จะฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาอะไรดีๆ ไปให้ตรงนั้น เขาก็จะรับได้ดีมาก
“กลอนของสกนธ์ เราก็จะแต่งไว้ให้ว่าหนังตะลุงมันคืออะไร หนังตะลุงจริงๆ แล้วมันคืออริยสัจ 4 ตัวอย่างเราจะเป็นตัวอะไรก็ได้ในนั้นทุกตัว ราชา มหาเศรษฐี หรือจะเป็นตัวตลก ตัวอิจฉา ตัวอะไรก็ตาม แต่ทั้งหมดมันเป็นมายา มันเป็นแค่เงา มันไม่ใช่ของจริง เราอย่าไปยึดติดตรงนั้น ถ้าเรายึดติดตรงนั้น เราก็จะทุกข์ และเมื่อถึงเวลา ทุกตัวมันก็กลับไปลงนอนในแผงทั้งสิ้น ทุกอย่างมันเป็นแค่มายา มาหลอกเรา หลอกจิตเราเท่านั้นเอง นี่คือบทกลอนที่ให้สกนธ์เขาขับ
“แล้วหลังจากนั้น ขณะที่ยังฝึกไปด้วย ที่วัดจะเป็นวัดค่อนเกือบร้างมาก่อน เราทำงานกับพระอาจารย์ จากวัดที่ไม่มีอะไรเลย ก็พัฒนาขึ้นมาด้วยงานจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยการเป็นศูนย์เรียนรู้ ก็เริ่มมีคนเข้ามาปฏิบัติธรรมเยอะขึ้น เข้ามาเที่ยวชมและสักการะเยอะขึ้น ทางหน่วยงานราชการก็เข้ามาเห็น กระทรวงวัฒนธรรมก็มองเห็นว่าเราทำอะไร ทีนี้ พอมีคนเยอะ พระอาจารย์ก็มักจะเรียกสกนธ์เข้าไปขับหนังให้ญาติโยมแขกเหรื่อชม"
จากสังคมวัดก็บอกต่อสังคมชาวบ้าน จากความชอบพอ ก็แปรเปลี่ยนเป็นรักใคร่ในตัวหนังตะลุงที่เจ้าตัวก็ไม่รู้นึกคิดถึงการละเล่น จะทำให้คำว่า “นาย” (หนัง) นำหน้าชื่อก่อนทำบัตรประชาชน
“คนก็ตะลึงกันมาก เพราะเขาก็ฝึกได้ยังไม่ถึงปี ก็ออกโรงได้แล้ว ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจอย่างนี้ ตั้งใจว่าคิดว่าฝึกกันสัก 4-5 เดือนแล้วให้เขาสามารถไปหากินด้วยการเชิดหนังเทป เปิดของคนอื่น เพราะคิดว่าเขาคงยังจำไม่ได้ แต่พอฝึกไปๆ เขาจำได้ ทำได้ ก็เลยเริ่ม ซึ่งพอดีมีงานวัด ทางพระอาจารย์ก็รับมโนราห์บ้าง รำวง เราก็เสริมเข้าไป ลองตั้งโรงของเรา หาพี่ๆ นักดนตรีมาเล่นก่อน เพราะเรายังไม่ได้ซ้อมนักดนตรี เด็กยังไม่พอบ้าง รุ่นพี่ๆ ก็มาช่วย ก็ลองเล่นงานทำบุญให้ทานไฟ
“เริ่มจากแต่ละคนรับผิดชอบคนละฉาก เช่น คนนี้เพิ่งหัดเริ่มเชิดฤาษีวันนี้ คนนี้ออกฤาษี คนนี้ออกปรายหน้ายก คนนี้ออกอิศวรทรงโค คนนี้ขับบทเกี้ยวจอ คนนี้เจ้าเมือง อันนี้ยักษ์ ก็รับผิดชอบคนละบท คนละตอน จนกระทั่งมันสามารถเวียนได้ครบของการแสดง แต่พอเล่นไปๆ ได้สักพัก สกนธ์เขาเริ่มเล่นได้หมด แต่ละอย่างๆ ให้กลอนไปก็เอาได้ จนกระทั่งครบทุกเรื่อง มีแค่บทที่มันจะเชื่อมระหว่างเดินเรื่อง เขาเรียกว่าบทถอนบท ก็เลยพอมาเชื่อมตรงนั้นปุ๊บเดียว เขาก็เล่นได้ เป็นนายหนังมืออาชีพ”
จากงานราษฎร์ งานบุญทอดกฐิน ความสามารถเข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ จึงมีคิวงานหลวงประจำระดับจังหวัดติดต่อเข้ามา นับเป็นใบแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการแก่หนังสกนธ์ ตะลุงธรรมะ
“คือเขาก็มาเห็นว่าสกนธ์มีความสามารถ ก็ให้เราไปเล่น ก็มีคนจับตามอง และพอดีตอนนั้นมีสื่อมวลชนท้องถิ่น รายการ “ไข่นุ้ยคุ้ยข่าว” ซึ่งเป็นรายการที่ส่งเสริมศิลปะท้องถิ่นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เขาให้ความสำคัญ เขาก็คิดโครงการขึ้นมาว่า วันวิสาขบูชาปีนี้เขาจะจัดหนังตะลุงประชันกัน 4 โรง ในจำนวนนั้นก็มีหนังสกนธ์อยู่ด้วย ทางโครงการ เขาก็หาสปอนเซอร์มาจัด ก็ปี 2 ปีที่แล้ว นั่นถือเป็นการออกตัวครั้งแรก ไปทำฉากทำอะไร พวกพี่ๆ ที่เป็นจิตรกรก็ช่วยกันเขียนฉาก ทำอะไรกันเองทั้งหมด แล้วก็ไปออกโรงครั้งแรก”
สร้างความตื่นตะลึง กระทั่งนายหนังรุ่นใหญ่อย่างหนังเอียดนุ้ยหนึ่งในหนังตะลุงชื่อดังลูกศิษย์ปรมาจารย์ ครูเคล้าน้อย ยังกล่าวชม ให้คะแนน 9 เต็ม 10
“เขาบอกว่า เอ็งข้าหลังฉากกูไม่รู้ แต่ว่าดูหน้าจอ เอ็งผ่านเลย”
“สำหรับสกนธ์ ยิ่งคนมาก เขายิ่งคึก ปกติเขาก็ขับให้คนดูอยู่แล้วที่วัด หลังจากเล่นตรงนั้นแล้ว ก็มีคนสนใจเป็นอย่างมาก คือนายหนังที่อายุเท่านี้ อย่างดีเขาก็เชิดเทปกัน ที่เล่นกันทั่วไปก็ไม่สามารถ แต่ความสามารถของสกนธ์ เขาสามารถเล่นได้โดยที่ไม่ต้องเปิดหนังสือ ที่แม้กระทั่งหนังอาชีพยังต้องนั่งเปิดตำรา เพื่อความมั่นใจ เผื่อเขานึกไม่ออก เขาก็จะมองลงไป
“แต่ผมฝึกสกนธ์ไม่ให้เปิดหนังสือเลย ถ้าเปิดหนังสือ มันไม่เป็นธรรมชาติ แล้วเขาอ่านหนังสือยังไม่คล่องด้วย ถ้าเปิดอ่านมันไม่ได้ เล่นไปเลย ลุยไปเลย ถ้าติดขัดอย่างไร ก็มุโตแบบหนังโบราณเลย เราก็สอนวิธีเรื่องกลอนแปด คำสัมผัสอย่างนี้ๆ เขาก็ไปของเขาได้ ถึงเวลาก็เอาของเขาอยู่”
หลังจากนั้น ชื่อของนายหนังสกนธ์ ตะลุงธรรมะ ก็โด่งดังเซ็งแซ่ไปทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ในปีที่ผ่านมา 2558 กระทรวงวัฒนธรรมยังได้มอบเกียรติบัตรในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับจังหวัด ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประเภทเด็ก แก่นายหนังตะลุงอาชีพอายุน้อยที่สุดแห่งยุคสมัย
ตะลุงธรรมะ ศิลปะปักษ์ใต้
ที่เริ่มจากวิถีสู่ชีวิต
• หลังจากแสดงครั้งแรก เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวที่สำเร็จสำหรับเส้นทางนายหนังอาชีพ
อาจารย์มาโนชญ์ : ก็เริ่มรับงาน เพราะว่ามีหน่วยงานราชการอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขาก็มีโครงการ มีงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมพวกนี้ เขาก็จะเลือกเอาโรงเรียนต่างๆ มาตั้งกิจกรรมของแต่ละโรงเรียน กิจกรรมแสดงศิลปวัฒนธรรม เขาก็จะเชิญ ก็มีงานเรื่อยๆ นับไม่ถ้วน งานใหญ่ปีที่แล้วก็ที่เกาะสมุยเฟสติวัล เดือนหน้าก็มีอีก หรือที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
และพอกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้มอบเกียรติบัตรแก่สกนธ์ในฐานะผู้ทำประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับจังหวัดด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประเภทเด็ก ปี 2558 คำพูดก็กระจายออกไป ลูกคนนี้ขับเพราะมาก เวลาไปตัดผม สกนธ์ก็ไม่เสียเงิน ขึ้นรถสองแถวก็ฟรีหมด ตอนนั้นที่เล่นงานทอดกฐิน บางคนก็มามองแล้วพูดว่า ดูมันๆ ไอ้หมอนี่มันไม่ธรรมดา ไปไกลอีก จะมองอย่างนี้ คือดูกันรู้ คนเล่นเป็นเล่นไม่เป็น นายหนังนี่ ถ้ามันมีแวว มันจะประกายออกมาเลย
• รวมไปถึงการกำเนิดโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะด้วยใช่หรือไม่
อาจารย์มาโนชญ์ : ใช่ เพราะว่าจริงๆ ผมมีเชื้อสายทางด้านมโนราห์ คือทวดเล่นมโนราห์ พ่อก็เป็นหนังตะลุงสมัครเล่น ตอนท่านสมัยรุ่นๆ ทุกคืนที่แกนอน แกจะขับหนังตะลุงทุกวัน ผมก็ครูพักลักจำแล้วก็มีเชื้อสายทางนี้ แต่ทีนี้ พอมาเรียนจริงๆ มาเรียนทางด้านศิลปะ เรียนจิตรกรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปกร พอเรียนจบ อาชีพที่ทำอยู่ตลอดก็คือสร้างวัด ตระกูลผมก็เป็นตระกูลสร้างวัด ตอนแรกไปช่วยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่วัดวัชรพล สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ตอนนั้นก็มีอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์จรูญ บุญสวน อาจารย์อำนาจ กลั่นประชา ตอนนั้นเป็นฆราวาสอยู่ กับศิลปินที่ไปอยู่ที่เสถียรธรรมสถาน ก็จัดนิทรรศการขึ้นมาเพื่อสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณตามแนวทางของท่านอาจารย์พุทธทาส
หลังจากทำตรงนั้น ทางหลวงพ่อปัญญา (พระครูวีรสุตากร ประธานโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพรม จังหวัดนครศรีธรรมราช) แห่งวัดปัญญานันทาราม คลอง 6 ทราบข่าว ท่านก็แวะไปดูกิจกรรมที่ทำ ก็ชักชวนให้ไปทำอะไรที่วัดบ้าง สุดท้ายก็ไปสร้างที่ผาซ่อนแก้ว จากนั้นหลวงพ่อปัญญาก็ไปเป็นเจ้าอาวาสที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านก็ดึงตัวให้ไปช่วย เพราะที่โน่นก็มีเจดีย์มีพื้นที่ว่างอยู่ ก็ไป มีสีหนึ่งกล่อง กระเป๋าใบหนึ่ง เราคนเกาะสมุย ไม่รู้จักใคร ไปก็หากลุ่มหาเพื่อน แรกๆ ก็ไปอาศัยลูกศิษย์ของเพื่อนที่สอนอยู่ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ก็เป็นกลุ่มของจิตรกรก่อนรวบรวมขึ้นมา แล้วก็เป็นกลุ่มปฏิมากร เป็นการรวบรวมกลุ่มที่เรียนทางด้านศิลปะอยู่แล้วให้มาทดลองกับงานจริง สักพักหนึ่งมีเด็กอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่สกนธ์ เขาสนใจหนังตะลุงแล้วพระอาจารย์ทราบว่าเราเคยเล่นหนังตะลุง เคยจัดเป็นคอนเสิร์ตที่โรงละครแห่งชาติ เราก็มีอุปกรณ์ มีจอหนังรูปหนัง เขาก็บอกว่าอยากให้อาจารย์สอนหนังตะลุง ก็กลับมาขนกลอง รูปหนัง อุปกรณ์ที่พอมีกลับไป เปิดสอนฝึกกลุ่มเด็กๆ ทุกสายที่เป็นศิลปะ หนังตะลุงก็เป็นสายหนึ่งในนั้น และก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา
• อย่างนี้เยาวชนที่มาทำทั้งกิจกรรมส่วนการเรียนเขามีวิธีจัดแบ่งตารางอย่างไร
สกนธ์ : ตัวอย่างผม ก็หลังเลิกเรียนของทุกวัน ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อย คือจะแบ่งแยก อยู่บ้านก็ทำหน้าที่การเรียนให้เต็มที่ เวลาซ้อมก็ซ้อมให้เต็มที่
อาจารย์มาโนชญ์ : ก็อยู่กันเหมือนครอบครัว เขาก็จะรับผิดชอบกัน แต่ก็มีบ้างตามประสาเด็ก เตะบอลก่อนแล้วกินข้าวจากนั้นมาซ้อม เติบโตไปก็ยังติดต่อปรึกษาหารือกันอยู่ อย่างพี่ของสกนธ์ ตอนนี้เขาก็เป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ หรือตัวอย่างสกนธ์ วันอาทิตย์เขากลับ เช้าวันจันทร์ก็ต้องรีบตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี 4 เพราะเขาเรียนโรงเรียนในเมือง
• วิชาไหนที่เราถนัดที่สุด
สกนธ์ : สังคมครับ
อาจารย์มาโนชญ์ : นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจทางด้านนี้ เพราะพี่สาวเขาจะชอบเล่านิทานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เขาฟังก่อนนอนประจำ ทีนี้พอมาเจอเรื่องราวของหนังตะลุง เขาก็หูผึ่ง มันก็เป็นกุศโลบายของคนโบราณในการสอนธรรมะ ให้คนสำนึกทางด้านจิตวิญญาณก่อนแล้วเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็จะไปเห็นอะไรที่มันลึกกว่านั้น
• ในส่วนของหนังตะลุง มีชอบตัวละครอื่นใดอะไรพิเศษไหม
สกนธ์ : ยอดทองครับ ตัวตลก
อาจารย์ มาโนชญ์ : เขาจะกินรูป เขาเรียกว่ากินรูป ถ้าเราสามารถเชิดตัวไหนแล้วเสียงเราได้กับไอ้ตัวนั้น เขาเรียกว่ากินรูป แล้วเขาก็ชอบไอ้ยอดทอง ยอดทองมีลักษณะเป็นคนเจ้าชู้ ชอบจีบเด็กพาณิชย์ ขี้ขลาดตาขาว ชอบขู่คนอื่น แต่เอาจริง หนีทุกที อันนี้คือลีลาที่เขาชอบเล่น เจอผู้หญิงเป็นไม่ได้ เจ้าชู้
• นอกจากบทที่ต้องจำขึ้นใจ แสดงว่ามีการเล่นนอกบทด้วยเพื่อเพิ่มอรรถรส
อาจารย์มาโนชญ์ : มีครับ เพราะเขาจะต้องศึกษาเวลาเกิดอะไรขึ้นหน้าโรง เขาก็ต้องเล่นกับผู้ชมได้เลย หมาเห่าขึ้นมา เขายังใส่ในเรื่องได้เลย ทุกตัว ถ้าเราสามารถแทรกไปได้กับบรรยากาศข้างหน้า ผู้ชมก็จะอิน บางทีคนเมามากวนหน้าโรงบ้าง ก็ว่ากันไป
นี่คือเทคนิคของนายหนัง สกนธ์เขาไปเล่นที่ไหน เขาก็ต้องไปจดหมดเลย คนคนนี้เป็นใคร แม่ครัวงานนี้เป็นใคร คนเมาในงานนี้เป็นใคร เราก็เอาพวกนี้มาแซว ชาวบ้านก็จะมีอารมณ์ร่วม แซวแม่ครัวบ้าง อาหารอร่อยไม่อร่อยบ้าง เขาก็มีแซวของเขาไปเรื่อย
สกนธ์ : การจะเป็นนายหนังได้ก็ต้องขยัน หมั่นฝึกซ้อม ที่สำคัญใจต้องรัก ต้องชอบก่อน แล้วขยันหมั่นเพียร ไม่ขยันไม่ได้ มีพรสวรรค์อย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องซ้อม ต้องแสวงด้วยครับ
หนังตะลุงไม่ใช่ความฝัน
หนังตะลุงคือความจริง
“เขาเกิดมาเพื่อเป็นนายหนังตะลุง”
อาจารย์มาโนชญ์ เปิดเผย ก่อนจะบอกเล่าถึงความฝันสูงสุดที่มักจะมีคนถามถึงสกนธ์ในการเล่นหนังตะลุง
“เขาเคยพูด คืนนั้นเขาอยู่กับผมสองคน ไม่มีใคร เขาพูดแล้วจำได้ หนังตะลุงไม่ใช่ความฝันของนุ้ย คือที่ฝันว่าอยากจะเล่นนั้น แล้วสุดท้ายก็ได้เล่น เล่นก็เล่นได้จริงๆ เพราะฉะนั้นมันคือความจริง
“คือคนที่จะเป็นพวกนี้มันไม่ใช่ฝึกงาน ผมรู้เลยว่าถ้าคนไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่ พวกศิลปะทุกสาย ถ้าไม่ใช่มันยากมาก แต่ถ้าคนที่มาแล้วมันสามารถ แป๊บเดียวก็นับได้เลย สกนธ์ก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาสามารถไปได้เร็ว 1 ปี มาได้ขนาดนี้ สกนธ์ถือว่าเป็นนายหนังอาชีพ เราออกโรงแล้ว ครอบมือเรียบร้อยกับคุณลุงศรีพัฒน์ เกื้อสกุล”
อาจารย์มาโนชญ์เล่าเสริม นอกจากการรู้จักและนับถือของสกนธ์ที่ได้เห็นผลงาน นายหนังศรีพัฒน์ยังถือเป็นบรมครูอาวุโสและผู้หนึ่งที่มีส่วนปลุกปั้นให้หนังตะลุงยังคงอยู่ตราบจนถึงทุกวันนี้
“พ่อผมเป็นหนังตะลุง น้าเป็นหนังตะลุง แล้วก็คุณลุงศรีพัฒน์ที่เป็นนายหนังใหญ่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นก็มีท่านคนเดียวที่อายุมากที่สุด เป็นนายหนังใหญ่ที่สุดของจังหวัดที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วผมก็มีซีดีหนังคุณลุง ก็เปิดให้สกนธ์ได้ดู สกนธ์ดูแล้วเขารู้สึกว่าประทับใจ เขาก็บอกว่านุ้ยอยากจะไปครอบมือกับคุณตา เมื่อเขาตั้งใจ ก็พาไปกราบเรียนจะขอเอาลูกศิษย์มาเข้าพิธีครอบมือ
“วันนั้นวันที่ 7 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2557 เขาเป็นคนตัวเล็กที่สุดในการครอบมือในครั้งนั้นที่มีราวๆ 20 กว่าคน อีกปีถัดมา คุณตาก็ให้ไปอยู่ที่บ้าน ช่วงปิดเทอม อีก 3 เดือนท่านก็เสียชีวิต ก็เป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายด้วย”
อาจารย์มาโนชญ์กล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิ ที่ได้สืบทอดและถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอย่างสกนธ์ และคงไว้ซึ่งวิถีทาง “ความจริง” หนังตะลุงของชาวปักษ์ใต้
“หนังตะลุงก็มีเรื่องธรรมะ สอนให้เราเข้าใจในสิ่งต่างๆ ของหนังตะลุง ความโกรธ โลภ หลง มันไม่ใช่ตัวตน มันเป็นมายา
“อย่างเรื่องหมูกับหัวมัน มีนายนุ้ยกับนายเท่ง นายหนูนุ้ยนึกว่าตัวเราอยากจะมีหมู แล้วนายเท่งก็จะปลูกหัวมัน แต่ว่ายังไม่ได้ทำอะไร เพราะกลัวว่าหมูของนายนุ้ยจะมากินของนายเท่ง ทั้งสองก็ทะเลาะกัน พอแจ้งตำรวจปรากฏว่า ตำรวจถามว่าไหนหมู ไหนหัวมัน ปรากฏว่ายังไม่มี
“นี่คือสิ่งที่หนังตะลุงมักจะสอน และทุกเรื่องก็นำมาปรับใช้ในชีวิตได้”
“หนังตะลุงคืออะไร”
อาจารย์มาโนชญ์ย้อนถาม
“จอสี่เลี่ยมมันคืออะไร มันคือ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นคือความหมายของมัน แล้วไฟหนึ่งดวงตอนแรกที่ปล่อยให้สว่าง อันนั้นคือจิตประภัสสร จิตที่รุ่งเรืองสว่างไสวผ่องแผ้วอยู่อย่างนั้น แต่ที่ไอ้ตัวที่มันจรมา มันคือพวกรูปเงาต่างๆ คือตัวของกิเลส เดี๋ยวเราก็เป็นนางอิจฉา เดี๋ยวเราก็เป็นยักษ์ เศรษฐี ตัวตลกโปกฮา อารมณ์เราก็จะเป็นอย่างนั้น วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร
“แต่อย่าลืมว่าสิ่งนี้มันเป็นเพียงแค่มายา มันไม่ใช่ของจริง หนังตะลุงมันจึงสอนอย่างชัดเจน จริงๆ มันคือรูปเงา คือกิเลสที่ผ่านจิต มันเป็นแค่เงา มันไม่ใช่ของจริง แต่ถ้าเราไปยึดติดสิ่งนี้ เราก็ทุกข์ ก็เหมือนกับชีวิต แต่ว่าถ้าเราไม่เป็นตัวไหน เมื่อเราแสดงจบลง ทุกตัวมันก็กลับลงไปนอนในแผงทั้งนั้น จิตเราก็ประภัสสรเหมือนเดิม คือสัญลักษณ์อุปกรณ์หนังตะลุง
“ทีนี้ การออกฤาษี การรำมโนราห์ก็จะมี 12 ท่า นั่นคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ปฏิจจสมุปบาท การเชิดฤาษีหรืออิศวรทรงโค ก็เหมือนกัน อิศวร แปลว่า อิสระ คือจิตที่หลุดพ้น แต่ก่อนจะอิสระ เพราะเราขี่อยู่บนหลังพระโค พระโคสีดำ ก็คืออวิชชานั่นเอง หรือพวกมิจฉาทิฐิ ฉะนั้น เวลาที่เชิด จึงโครมคราม คือจิตเราที่มันดิ้นรน พอจะจบ เราปักลงปุ๊บ ทุกอย่างหยุด อันนั้นคือมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง เราปักลงกลางจอแล้วพระโคนิ่ง หลังจากนั้นค่อยขี่โคหายไป
“อุปกรณ์ของหนังตะลุงทั้งหมดคือตัวที่รับใช้ธรรมะ แล้วเราก็พยายามทำอย่างนี้ โครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ ก็จะเน้นตรงนี้ กลับมาเอารากเหง้าเดิม เพราะว่าปัจจุบันหนังตะลุงมันก็เพี้ยนไปเยอะ เลยพยายามกลับไปสู่เรื่องราวที่มันเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา กลับสู่รากเหง้าที่ถูกต้อง ที่เราทำมาจนปัจจุบัน”
“อย่างเคยถามว่ารำโนราห์ไปทำไม ทวดบอกว่ารำเพื่อนิพพาน”
อาจารย์มาโนชญ์เผย "ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้ นิพพานมันคืออะไร ทำไมไปถึงคำนี้ได้ กับคำว่ามหรสพที่เล่นกันเป็นเรื่องตลกสนุกสนานของชาวบ้าน พอเราโต ทำไมถึงรู้คำว่า มโน มันแปลว่าใจ “หะรา” จริงๆ มันจะมี ห อยู่ตรงกลาง แล้วก็ตัวการันต์ แต่เราเปลี่ยนตอนหลัง ซึ่งเดิมมันแปลว่า การมาถึงของใจ นั่นคือนิพพานนั่นเอง
“สองอย่างนี้ชัดเจน หนังตะลุงและมโนราห์ เป็นศาสตร์ศิลปะที่รับใช้พระพุทธศาสนาในรูปของมหรสพ พอรู้เรื่องพวกนี้ เวลาที่เราจะทำงานจิตรกรรมอะไรก็ตาม ก็ต้องกลับไปสู่พระไตรปิฎก มันก็จะมาแตกเป็นลูกเป็นดอกตัวละครพวกนี้ คือบุคลาธิษฐาน เราจะเอาไปร่วมเล่าสู่เนื้อหาธรรมะ ซึ่งมันเป็นคำยาก เราจะไปพูดเรื่องของพระอนุสัย จระเข้ คือกิเลสที่หลับลึกอยู่ในสันดาน เราจะพูดอย่างไร อยู่ถ้ำลึกใต้บาดาล แล้วมีลูกสาวสวย ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องตามหลักธรรม สังเกตลูกยักษ์ ตั้งแต่เรื่องรามเกียรติ์ เป็นมนุษย์ตลอด หนังตะลุงทุกเรื่องก็เหมือนกัน ลูกสาวจะงามบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะหลักธรรมมันเป็นอย่างนั้น จิตที่ก่อนจะหลุดพ้นมันก็เป็นจิตที่มืดมนมาก่อน พ่อคือยักษ์ ลูกคือผล
“เด็กที่มาทำตรงนี้ในยุคสมัยนี้จึงมีน้อย ตอนตั้งเป้าจริงๆ เราไปตัวคนเดียว ตัวหนังก็อยู่ในจิตวิญญาณของเรา ก็เลยพยายามที่จะหาพวกเพื่อน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่อย่างนั้นเขาก็จะอยู่ของเขาอย่างโดดเดี่ยวแล้วเขาก็จะสูญหายไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราเปิดโอกาสก็ยังมีทาง อย่างเราไม่มีหนังตะลุงสักรูป ไม่สามารถมีได้ อย่างดีก็เล่นใบไม้ กระดาษปกหนังสือมานั่งแกะ นี่เราถือว่าเราให้โอกาสเขา เอาความสามารถที่เขามี เขาก็สามารถที่จะเติบโตเป็นอย่างนี้ได้
“เชื่อว่ายังมีคนหลายๆ คนทางภาคใต้ที่จะเป็นคนอย่างสกนธ์ แต่ว่าเขาอาจจะซ่อนอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่สกนธ์ก็ปลูกขึ้นมา ช่วยกันต่อยอด ก็ขอขอบคุณทุกคน ขอบคุณอาจารย์มกุฏ อรฤดี ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกัน มีใจรักทางด้านนี้แล้วก็ช่วยกันต่อยอดสนับสนุนให้วงการศิลปะของเราไม่ว่าวงการแขนงใดก็แล้วแต่ ให้มันได้เติบโตขึ้นมา ผุดอยู่ แล้วก็รับใช้สิ่งที่ดีงามในสังคมนี้ได้ ก็ให้มันเป็นอยู่ตลอดไป เพราะพวกเราอีกไม่นานก็จบชีวิต รุ่นนี้รุ่นสกนธ์ก็จะต้องเติบโตทำหน้าที่ต่อไป
“หลวงพ่อปัญญา หรือพระครูวีรสุตากร ประธานโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ วัดพระพรม จังหวัดนครศรีธรรมราช เคยพูดไว้ว่า คนเรามันตายได้ ถึงเวลาคนมันก็ต้องตาย ผลัดรุ่นไป แต่งานมันจะไม่ตาย เพราะงานมันจะมีการสืบต่อ เราตายไปแล้วงานนี้มันก็ยังมีคนทำต่อ เราไม่ได้เล่นหนัง แต่สกนธ์ก็ยังทำต่อและสืบทอดให้กับลูกศิษย์ต่อไป มันจะไม่ตาย
“ฉะนั้นหนังตะลุงคือความฝันสูงสุดในชีวิตหรือไม่ หนังตะลุงไม่ใช่ความฝัน หนังตะลุงเป็นความจริงของสกนธ์ ก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป"
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร
จากความรักความชอบ ต่อยอดศึกษา ด้วยวันวัยเพียง 7 ขวบ รูปหนังเท่าฝ่ามือ แปรเปลี่ยนเป็นขนาดมาตรฐาน เชิดรูปเงาและขับกล่อมกลอนประทับใจท่านผู้ชมและบรรดานายหนังมืออาชีพ “ออกโรง” ครั้งแรกในนาม “หนังสกนธ์ ตะลุงธรรมะ” สร้างชื่อโด่งดังทั่วจังหวัดภาคใต้
“มืออาชีพ” จนรุ่นใหญ่ยังยกนิ้ว
ขณะเพื่อนวัยเดียวกัน ยกชั้นเป็นต้นแบบ
เชิญทำความรู้จักกับเด็กน้อยคนหนึ่งแห่งดินแดนด้ามขวาน
ผู้สืบทอดสืบสานศิลปะการแสดงแห่งปักษ์ใต้
อายุน้อย แต่เจ๋งจนต้องยกย่องชมเชย...
จากชอบรักกลายเป็นชีวิต
เปิดโรงนายหนังตะลุงอายุน้อยที่สุด
“เริ่มชอบหนังตะลุงตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ ป.1 ครับ คือแม่พาไปดูหนังตะลุงน้องเดียว ที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็อยากเล่น”
นายหนังอาชีพรุ่นจิ๋วที่สุดของวงการ บอกเล่าถึงจุดแรกเริ่มการพบรักระหว่างคนกับรูปเชิดมายาหลังเงา
“แต่ก็ยังไม่ได้เล่น (หัวเราะ) จนไปเห็นรูปหนังของเพื่อนที่โรงเรียน ก็เลยขอพ่อให้ซื้อบ้าง พ่อก็ไปซื้อรูปหนังที่วัดพระธาตุ แหล่งซื้อขายรูปหนัง พ่อก็ซื้อรูปหนังอันเล็กให้ ขนาดเท่าฝ่ามือ จากนั้นก็หัดเล่นเองมาเรื่อยๆ”
ขึงผ้ากับเสาบ้านเป็นจอ โดยอาศัยจินตนาการและอารมณ์เป็นหลักบ้าง รวมทั้งอาศัยวิธี “ครูพักลักจำ” จากการได้ดูคณะหนังตะลุงที่มาแสดงละแวกใกล้เคียง
“เขาเชี่ยวชาญ เขาปราดเปรียว วันแรกที่พ่อเขาเอามาฝาก ก็ปล่อยให้เขาเล่น ว่าเขาเล่นอะไรได้บ้าง”
อาจารย์มาโนชญ์ เพ็งทอง ครูผู้ฝึกสอนหนังตะลุง และผู้จัดการโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ วัดพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงวินาทีแรกที่สัมผัสได้ถึงความเป็น “ครูหมอ” ของสกนธ์ในวันวัย 7 ขวบปี
“เขาก็ออกเสียงอะไรต่อมิอะไร ออกเสียงยาย โฉะฉะ คือเล่นไปตามอารมณ์ของเขา เราเห็นเลยว่า นี่คือลักษณะคนเป็นศิลปิน มันจะเป็นอย่างนี้ คือไม่จืด เขาใส่อารมณ์
“เขาเล่นจากจินตนาการของเขา และจากการที่เขาดูหนังน้องเดียวมาเท่านั้น เขาไม่รู้จักหนังคณะอื่น ตัวละครก็ยังไม่รู้จักเลยว่าตัวนี้ชื่ออะไรๆ แต่เขาก็เล่นของเขา เขาเข้าใจอย่างไรก็เล่นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราว เล่นสนทนนาอะไรของเขาไป เขายังไม่รู้กลอนไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่ก็มีแววของนักแสดง แล้วเขากล้ามาก เชี่ยวชาญมาก เวลาทำอะไร เขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับคน เขามีอะไรอยู่ในตัว เขาก็ออกแสดง
“อีกอย่างเขารำมโนราห์ได้ด้วย เพราะก่อนจะมาเป็นหนังตะลุง เขาเรียนมา เขาสืบสายเลือดของเขาทางป้าซึ่งมีเชื้อสายมโนราห์ คนที่จะมาทำงานพวกนี้ได้ คนที่มีเชื้อ จะไปเร็ว เขาเรียกครูหมอ ครูหมอมโนราห์ ครูหมอหนัง รับมาเป็นทอดๆ สกนธ์ก็มีตรงนี้ขึ้นมา”
นับตั้งแต่นั้น ทุกเย็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ หลังเลิกเรียน และเสร็จสิ้นภารกิจความรู้ แม้เด็กคนอื่นจะสนุกสนานกับการละเล่นต่างๆ ตามประสา แต่ความสนุกเดียวของสกนธ์คือ การเชิดหนังตะลุง
“ก็จะมาฝึกซ้อมช่วงเย็นวันศุกร์ มานอนที่วัด วันอาทิตย์ตอนเย็นก็กลับบ้านเตรียมตัวไปโรงเรียน”
สกนธ์กล่าวแซมยิ้ม และภาพนั้นก็กลายเป็นภาพชินตาของสังคมชาววัดในละแวกนั้น รวมถึงเด็กๆ ที่เข้ามาฝึกหัดไปโดยปริยาย
“ก็เล่นกันทั้งคืน บางทีเที่ยงคืน พวกนี้ยังตีโมง ตีกลอง ดังลั่นทั้งวัด แล้วแต่อารมณ์ เวลาอารมณ์ได้เข้าฟีล ก็ทั้งกลุ่มดังไปหมด
“มาเรียนแค่วันสองวัน ถามว่าน้อย มันก็น้อย แต่สกนธ์เขาตั้งใจ เริ่มต้นการหัดหนังตะลุงก็จับให้เชิดฤาษีเลย เพราะมีรูปครูอยู่ 3 รูป คือรูปพระฤาษี รูปปรายหน้าบท เหมือนตัวแทนนายหนังที่ออกมาไหว้ครู แล้วก็มีพระอิศวรทรงโค ถ้าเชิดได้ทั้ง 3 ตัวนี้ รูปทั้งแผงก็เอาอยู่มือ ครูก็คือ 3 รูปนี้ อย่างพระฤาษี การเยื้องย่าง เดิน นาดแขนเป็น เราก็จะเชิดตัวเจ้าเมืองได้ต่อเป็นต้น
“ส่วนรูปปรายหน้าบทตัวนี้จะอ่อนช้อยหน่อย ถ้าพระอิศวรจะออกมาเล่นโครมครามๆ พวกยักษ์อะไรก็จะอยู่ลีลาพวกนี้ สกนธ์ก็เรียนรู้จากจุดนี้”
“ก็หัดได้ในวันสองวัน...ใช่ไหมไข่นุ้ย”
อาจารย์มาโนชญ์กล่าวถามลูกศิษย์ตัวจ้อย
“แรกๆ ยาก แต่พอซ้อมๆ ไปก็เริ่มจะง่ายขึ้น ทั้งเชิดและกลอน ถ้าถามว่าหนักไหม มันก็หนัก แต่พอเชิดไปเรื่อยๆ มันก็ชินมือ ส่วนกลอนหนังตะลุงมันจะต้องฟังดนตรีออก ตอนแรกถ้ายังไม่คุ้นดนตรี มันก็จะไม่ลงจังหวะ มันจะพลัด แต่เมื่อเราฟังดนตรีออก เราจะรู้เลยว่าเมื่อเสียงทับลงตรงนี้ มือมันจะตบอย่างไร แล้วต่อไปมันจะเป็นอัตโนมัติเอง”
สกนธ์ว่า ซึ่งนั่นทำให้ไม่สามารถฝึกหัดได้เพียงลำพัง เขาจึงต้องใช้ทั้งความอดทน และความตั้งใจในระยะเวลาช่วงวันหยุด
“ก็เห็นเขาหลับคากลอนประจำที่ศาลาธรรม”
อาจารย์มาโนชญ์ เผยถึงความมุ่งมั่นของสกนธ์อย่างอารมณ์ดี ก่อนจะอธิบายการฝึกหัดของเขาต่อ
“เขาก็เรียนรู้พร้อมกับการขับกลอน ตอนนั้นก็ใช้กลอนเกี้ยวจอ ค่อนข้างยาว สองถึงสามหน้ากระดาษ
“กลอนเกี้ยวจอ คือก่อนที่หนังตะลุงจะเริ่มเรื่อง มันจะเป็นอะไรก็ได้ เราอาจจะพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นมาอย่างไร หนังตะลุงจะใช้กันบ่อย หรือกลอนที่เราใช้สำหรับสอนผู้คน เช่น กลอนธรรมะดีๆ เพราะก่อนที่คนจะดู จิตของคนจะนิ่งมาก แล้วจะรวมศูนย์จิตอยู่ที่หนัง หนังพูดอะไรก็รอคอยที่จะฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาอะไรดีๆ ไปให้ตรงนั้น เขาก็จะรับได้ดีมาก
“กลอนของสกนธ์ เราก็จะแต่งไว้ให้ว่าหนังตะลุงมันคืออะไร หนังตะลุงจริงๆ แล้วมันคืออริยสัจ 4 ตัวอย่างเราจะเป็นตัวอะไรก็ได้ในนั้นทุกตัว ราชา มหาเศรษฐี หรือจะเป็นตัวตลก ตัวอิจฉา ตัวอะไรก็ตาม แต่ทั้งหมดมันเป็นมายา มันเป็นแค่เงา มันไม่ใช่ของจริง เราอย่าไปยึดติดตรงนั้น ถ้าเรายึดติดตรงนั้น เราก็จะทุกข์ และเมื่อถึงเวลา ทุกตัวมันก็กลับไปลงนอนในแผงทั้งสิ้น ทุกอย่างมันเป็นแค่มายา มาหลอกเรา หลอกจิตเราเท่านั้นเอง นี่คือบทกลอนที่ให้สกนธ์เขาขับ
“แล้วหลังจากนั้น ขณะที่ยังฝึกไปด้วย ที่วัดจะเป็นวัดค่อนเกือบร้างมาก่อน เราทำงานกับพระอาจารย์ จากวัดที่ไม่มีอะไรเลย ก็พัฒนาขึ้นมาด้วยงานจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยการเป็นศูนย์เรียนรู้ ก็เริ่มมีคนเข้ามาปฏิบัติธรรมเยอะขึ้น เข้ามาเที่ยวชมและสักการะเยอะขึ้น ทางหน่วยงานราชการก็เข้ามาเห็น กระทรวงวัฒนธรรมก็มองเห็นว่าเราทำอะไร ทีนี้ พอมีคนเยอะ พระอาจารย์ก็มักจะเรียกสกนธ์เข้าไปขับหนังให้ญาติโยมแขกเหรื่อชม"
จากสังคมวัดก็บอกต่อสังคมชาวบ้าน จากความชอบพอ ก็แปรเปลี่ยนเป็นรักใคร่ในตัวหนังตะลุงที่เจ้าตัวก็ไม่รู้นึกคิดถึงการละเล่น จะทำให้คำว่า “นาย” (หนัง) นำหน้าชื่อก่อนทำบัตรประชาชน
“คนก็ตะลึงกันมาก เพราะเขาก็ฝึกได้ยังไม่ถึงปี ก็ออกโรงได้แล้ว ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจอย่างนี้ ตั้งใจว่าคิดว่าฝึกกันสัก 4-5 เดือนแล้วให้เขาสามารถไปหากินด้วยการเชิดหนังเทป เปิดของคนอื่น เพราะคิดว่าเขาคงยังจำไม่ได้ แต่พอฝึกไปๆ เขาจำได้ ทำได้ ก็เลยเริ่ม ซึ่งพอดีมีงานวัด ทางพระอาจารย์ก็รับมโนราห์บ้าง รำวง เราก็เสริมเข้าไป ลองตั้งโรงของเรา หาพี่ๆ นักดนตรีมาเล่นก่อน เพราะเรายังไม่ได้ซ้อมนักดนตรี เด็กยังไม่พอบ้าง รุ่นพี่ๆ ก็มาช่วย ก็ลองเล่นงานทำบุญให้ทานไฟ
“เริ่มจากแต่ละคนรับผิดชอบคนละฉาก เช่น คนนี้เพิ่งหัดเริ่มเชิดฤาษีวันนี้ คนนี้ออกฤาษี คนนี้ออกปรายหน้ายก คนนี้ออกอิศวรทรงโค คนนี้ขับบทเกี้ยวจอ คนนี้เจ้าเมือง อันนี้ยักษ์ ก็รับผิดชอบคนละบท คนละตอน จนกระทั่งมันสามารถเวียนได้ครบของการแสดง แต่พอเล่นไปๆ ได้สักพัก สกนธ์เขาเริ่มเล่นได้หมด แต่ละอย่างๆ ให้กลอนไปก็เอาได้ จนกระทั่งครบทุกเรื่อง มีแค่บทที่มันจะเชื่อมระหว่างเดินเรื่อง เขาเรียกว่าบทถอนบท ก็เลยพอมาเชื่อมตรงนั้นปุ๊บเดียว เขาก็เล่นได้ เป็นนายหนังมืออาชีพ”
จากงานราษฎร์ งานบุญทอดกฐิน ความสามารถเข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ จึงมีคิวงานหลวงประจำระดับจังหวัดติดต่อเข้ามา นับเป็นใบแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการแก่หนังสกนธ์ ตะลุงธรรมะ
“คือเขาก็มาเห็นว่าสกนธ์มีความสามารถ ก็ให้เราไปเล่น ก็มีคนจับตามอง และพอดีตอนนั้นมีสื่อมวลชนท้องถิ่น รายการ “ไข่นุ้ยคุ้ยข่าว” ซึ่งเป็นรายการที่ส่งเสริมศิลปะท้องถิ่นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เขาให้ความสำคัญ เขาก็คิดโครงการขึ้นมาว่า วันวิสาขบูชาปีนี้เขาจะจัดหนังตะลุงประชันกัน 4 โรง ในจำนวนนั้นก็มีหนังสกนธ์อยู่ด้วย ทางโครงการ เขาก็หาสปอนเซอร์มาจัด ก็ปี 2 ปีที่แล้ว นั่นถือเป็นการออกตัวครั้งแรก ไปทำฉากทำอะไร พวกพี่ๆ ที่เป็นจิตรกรก็ช่วยกันเขียนฉาก ทำอะไรกันเองทั้งหมด แล้วก็ไปออกโรงครั้งแรก”
สร้างความตื่นตะลึง กระทั่งนายหนังรุ่นใหญ่อย่างหนังเอียดนุ้ยหนึ่งในหนังตะลุงชื่อดังลูกศิษย์ปรมาจารย์ ครูเคล้าน้อย ยังกล่าวชม ให้คะแนน 9 เต็ม 10
“เขาบอกว่า เอ็งข้าหลังฉากกูไม่รู้ แต่ว่าดูหน้าจอ เอ็งผ่านเลย”
“สำหรับสกนธ์ ยิ่งคนมาก เขายิ่งคึก ปกติเขาก็ขับให้คนดูอยู่แล้วที่วัด หลังจากเล่นตรงนั้นแล้ว ก็มีคนสนใจเป็นอย่างมาก คือนายหนังที่อายุเท่านี้ อย่างดีเขาก็เชิดเทปกัน ที่เล่นกันทั่วไปก็ไม่สามารถ แต่ความสามารถของสกนธ์ เขาสามารถเล่นได้โดยที่ไม่ต้องเปิดหนังสือ ที่แม้กระทั่งหนังอาชีพยังต้องนั่งเปิดตำรา เพื่อความมั่นใจ เผื่อเขานึกไม่ออก เขาก็จะมองลงไป
“แต่ผมฝึกสกนธ์ไม่ให้เปิดหนังสือเลย ถ้าเปิดหนังสือ มันไม่เป็นธรรมชาติ แล้วเขาอ่านหนังสือยังไม่คล่องด้วย ถ้าเปิดอ่านมันไม่ได้ เล่นไปเลย ลุยไปเลย ถ้าติดขัดอย่างไร ก็มุโตแบบหนังโบราณเลย เราก็สอนวิธีเรื่องกลอนแปด คำสัมผัสอย่างนี้ๆ เขาก็ไปของเขาได้ ถึงเวลาก็เอาของเขาอยู่”
หลังจากนั้น ชื่อของนายหนังสกนธ์ ตะลุงธรรมะ ก็โด่งดังเซ็งแซ่ไปทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ในปีที่ผ่านมา 2558 กระทรวงวัฒนธรรมยังได้มอบเกียรติบัตรในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับจังหวัด ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประเภทเด็ก แก่นายหนังตะลุงอาชีพอายุน้อยที่สุดแห่งยุคสมัย
ตะลุงธรรมะ ศิลปะปักษ์ใต้
ที่เริ่มจากวิถีสู่ชีวิต
• หลังจากแสดงครั้งแรก เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวที่สำเร็จสำหรับเส้นทางนายหนังอาชีพ
อาจารย์มาโนชญ์ : ก็เริ่มรับงาน เพราะว่ามีหน่วยงานราชการอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขาก็มีโครงการ มีงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมพวกนี้ เขาก็จะเลือกเอาโรงเรียนต่างๆ มาตั้งกิจกรรมของแต่ละโรงเรียน กิจกรรมแสดงศิลปวัฒนธรรม เขาก็จะเชิญ ก็มีงานเรื่อยๆ นับไม่ถ้วน งานใหญ่ปีที่แล้วก็ที่เกาะสมุยเฟสติวัล เดือนหน้าก็มีอีก หรือที่ผ่านมา ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม สนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
และพอกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้มอบเกียรติบัตรแก่สกนธ์ในฐานะผู้ทำประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับจังหวัดด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ประเภทเด็ก ปี 2558 คำพูดก็กระจายออกไป ลูกคนนี้ขับเพราะมาก เวลาไปตัดผม สกนธ์ก็ไม่เสียเงิน ขึ้นรถสองแถวก็ฟรีหมด ตอนนั้นที่เล่นงานทอดกฐิน บางคนก็มามองแล้วพูดว่า ดูมันๆ ไอ้หมอนี่มันไม่ธรรมดา ไปไกลอีก จะมองอย่างนี้ คือดูกันรู้ คนเล่นเป็นเล่นไม่เป็น นายหนังนี่ ถ้ามันมีแวว มันจะประกายออกมาเลย
• รวมไปถึงการกำเนิดโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะด้วยใช่หรือไม่
อาจารย์มาโนชญ์ : ใช่ เพราะว่าจริงๆ ผมมีเชื้อสายทางด้านมโนราห์ คือทวดเล่นมโนราห์ พ่อก็เป็นหนังตะลุงสมัครเล่น ตอนท่านสมัยรุ่นๆ ทุกคืนที่แกนอน แกจะขับหนังตะลุงทุกวัน ผมก็ครูพักลักจำแล้วก็มีเชื้อสายทางนี้ แต่ทีนี้ พอมาเรียนจริงๆ มาเรียนทางด้านศิลปะ เรียนจิตรกรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปกร พอเรียนจบ อาชีพที่ทำอยู่ตลอดก็คือสร้างวัด ตระกูลผมก็เป็นตระกูลสร้างวัด ตอนแรกไปช่วยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่วัดวัชรพล สร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ตอนนั้นก็มีอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์จรูญ บุญสวน อาจารย์อำนาจ กลั่นประชา ตอนนั้นเป็นฆราวาสอยู่ กับศิลปินที่ไปอยู่ที่เสถียรธรรมสถาน ก็จัดนิทรรศการขึ้นมาเพื่อสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณตามแนวทางของท่านอาจารย์พุทธทาส
หลังจากทำตรงนั้น ทางหลวงพ่อปัญญา (พระครูวีรสุตากร ประธานโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพรม จังหวัดนครศรีธรรมราช) แห่งวัดปัญญานันทาราม คลอง 6 ทราบข่าว ท่านก็แวะไปดูกิจกรรมที่ทำ ก็ชักชวนให้ไปทำอะไรที่วัดบ้าง สุดท้ายก็ไปสร้างที่ผาซ่อนแก้ว จากนั้นหลวงพ่อปัญญาก็ไปเป็นเจ้าอาวาสที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านก็ดึงตัวให้ไปช่วย เพราะที่โน่นก็มีเจดีย์มีพื้นที่ว่างอยู่ ก็ไป มีสีหนึ่งกล่อง กระเป๋าใบหนึ่ง เราคนเกาะสมุย ไม่รู้จักใคร ไปก็หากลุ่มหาเพื่อน แรกๆ ก็ไปอาศัยลูกศิษย์ของเพื่อนที่สอนอยู่ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ก็เป็นกลุ่มของจิตรกรก่อนรวบรวมขึ้นมา แล้วก็เป็นกลุ่มปฏิมากร เป็นการรวบรวมกลุ่มที่เรียนทางด้านศิลปะอยู่แล้วให้มาทดลองกับงานจริง สักพักหนึ่งมีเด็กอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่สกนธ์ เขาสนใจหนังตะลุงแล้วพระอาจารย์ทราบว่าเราเคยเล่นหนังตะลุง เคยจัดเป็นคอนเสิร์ตที่โรงละครแห่งชาติ เราก็มีอุปกรณ์ มีจอหนังรูปหนัง เขาก็บอกว่าอยากให้อาจารย์สอนหนังตะลุง ก็กลับมาขนกลอง รูปหนัง อุปกรณ์ที่พอมีกลับไป เปิดสอนฝึกกลุ่มเด็กๆ ทุกสายที่เป็นศิลปะ หนังตะลุงก็เป็นสายหนึ่งในนั้น และก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา
• อย่างนี้เยาวชนที่มาทำทั้งกิจกรรมส่วนการเรียนเขามีวิธีจัดแบ่งตารางอย่างไร
สกนธ์ : ตัวอย่างผม ก็หลังเลิกเรียนของทุกวัน ทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อย คือจะแบ่งแยก อยู่บ้านก็ทำหน้าที่การเรียนให้เต็มที่ เวลาซ้อมก็ซ้อมให้เต็มที่
อาจารย์มาโนชญ์ : ก็อยู่กันเหมือนครอบครัว เขาก็จะรับผิดชอบกัน แต่ก็มีบ้างตามประสาเด็ก เตะบอลก่อนแล้วกินข้าวจากนั้นมาซ้อม เติบโตไปก็ยังติดต่อปรึกษาหารือกันอยู่ อย่างพี่ของสกนธ์ ตอนนี้เขาก็เป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ หรือตัวอย่างสกนธ์ วันอาทิตย์เขากลับ เช้าวันจันทร์ก็ต้องรีบตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี 4 เพราะเขาเรียนโรงเรียนในเมือง
• วิชาไหนที่เราถนัดที่สุด
สกนธ์ : สังคมครับ
อาจารย์มาโนชญ์ : นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจทางด้านนี้ เพราะพี่สาวเขาจะชอบเล่านิทานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เขาฟังก่อนนอนประจำ ทีนี้พอมาเจอเรื่องราวของหนังตะลุง เขาก็หูผึ่ง มันก็เป็นกุศโลบายของคนโบราณในการสอนธรรมะ ให้คนสำนึกทางด้านจิตวิญญาณก่อนแล้วเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็จะไปเห็นอะไรที่มันลึกกว่านั้น
• ในส่วนของหนังตะลุง มีชอบตัวละครอื่นใดอะไรพิเศษไหม
สกนธ์ : ยอดทองครับ ตัวตลก
อาจารย์ มาโนชญ์ : เขาจะกินรูป เขาเรียกว่ากินรูป ถ้าเราสามารถเชิดตัวไหนแล้วเสียงเราได้กับไอ้ตัวนั้น เขาเรียกว่ากินรูป แล้วเขาก็ชอบไอ้ยอดทอง ยอดทองมีลักษณะเป็นคนเจ้าชู้ ชอบจีบเด็กพาณิชย์ ขี้ขลาดตาขาว ชอบขู่คนอื่น แต่เอาจริง หนีทุกที อันนี้คือลีลาที่เขาชอบเล่น เจอผู้หญิงเป็นไม่ได้ เจ้าชู้
• นอกจากบทที่ต้องจำขึ้นใจ แสดงว่ามีการเล่นนอกบทด้วยเพื่อเพิ่มอรรถรส
อาจารย์มาโนชญ์ : มีครับ เพราะเขาจะต้องศึกษาเวลาเกิดอะไรขึ้นหน้าโรง เขาก็ต้องเล่นกับผู้ชมได้เลย หมาเห่าขึ้นมา เขายังใส่ในเรื่องได้เลย ทุกตัว ถ้าเราสามารถแทรกไปได้กับบรรยากาศข้างหน้า ผู้ชมก็จะอิน บางทีคนเมามากวนหน้าโรงบ้าง ก็ว่ากันไป
นี่คือเทคนิคของนายหนัง สกนธ์เขาไปเล่นที่ไหน เขาก็ต้องไปจดหมดเลย คนคนนี้เป็นใคร แม่ครัวงานนี้เป็นใคร คนเมาในงานนี้เป็นใคร เราก็เอาพวกนี้มาแซว ชาวบ้านก็จะมีอารมณ์ร่วม แซวแม่ครัวบ้าง อาหารอร่อยไม่อร่อยบ้าง เขาก็มีแซวของเขาไปเรื่อย
สกนธ์ : การจะเป็นนายหนังได้ก็ต้องขยัน หมั่นฝึกซ้อม ที่สำคัญใจต้องรัก ต้องชอบก่อน แล้วขยันหมั่นเพียร ไม่ขยันไม่ได้ มีพรสวรรค์อย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องซ้อม ต้องแสวงด้วยครับ
หนังตะลุงไม่ใช่ความฝัน
หนังตะลุงคือความจริง
“เขาเกิดมาเพื่อเป็นนายหนังตะลุง”
อาจารย์มาโนชญ์ เปิดเผย ก่อนจะบอกเล่าถึงความฝันสูงสุดที่มักจะมีคนถามถึงสกนธ์ในการเล่นหนังตะลุง
“เขาเคยพูด คืนนั้นเขาอยู่กับผมสองคน ไม่มีใคร เขาพูดแล้วจำได้ หนังตะลุงไม่ใช่ความฝันของนุ้ย คือที่ฝันว่าอยากจะเล่นนั้น แล้วสุดท้ายก็ได้เล่น เล่นก็เล่นได้จริงๆ เพราะฉะนั้นมันคือความจริง
“คือคนที่จะเป็นพวกนี้มันไม่ใช่ฝึกงาน ผมรู้เลยว่าถ้าคนไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่ พวกศิลปะทุกสาย ถ้าไม่ใช่มันยากมาก แต่ถ้าคนที่มาแล้วมันสามารถ แป๊บเดียวก็นับได้เลย สกนธ์ก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาสามารถไปได้เร็ว 1 ปี มาได้ขนาดนี้ สกนธ์ถือว่าเป็นนายหนังอาชีพ เราออกโรงแล้ว ครอบมือเรียบร้อยกับคุณลุงศรีพัฒน์ เกื้อสกุล”
อาจารย์มาโนชญ์เล่าเสริม นอกจากการรู้จักและนับถือของสกนธ์ที่ได้เห็นผลงาน นายหนังศรีพัฒน์ยังถือเป็นบรมครูอาวุโสและผู้หนึ่งที่มีส่วนปลุกปั้นให้หนังตะลุงยังคงอยู่ตราบจนถึงทุกวันนี้
“พ่อผมเป็นหนังตะลุง น้าเป็นหนังตะลุง แล้วก็คุณลุงศรีพัฒน์ที่เป็นนายหนังใหญ่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นก็มีท่านคนเดียวที่อายุมากที่สุด เป็นนายหนังใหญ่ที่สุดของจังหวัดที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วผมก็มีซีดีหนังคุณลุง ก็เปิดให้สกนธ์ได้ดู สกนธ์ดูแล้วเขารู้สึกว่าประทับใจ เขาก็บอกว่านุ้ยอยากจะไปครอบมือกับคุณตา เมื่อเขาตั้งใจ ก็พาไปกราบเรียนจะขอเอาลูกศิษย์มาเข้าพิธีครอบมือ
“วันนั้นวันที่ 7 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2557 เขาเป็นคนตัวเล็กที่สุดในการครอบมือในครั้งนั้นที่มีราวๆ 20 กว่าคน อีกปีถัดมา คุณตาก็ให้ไปอยู่ที่บ้าน ช่วงปิดเทอม อีก 3 เดือนท่านก็เสียชีวิต ก็เป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายด้วย”
อาจารย์มาโนชญ์กล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิ ที่ได้สืบทอดและถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอย่างสกนธ์ และคงไว้ซึ่งวิถีทาง “ความจริง” หนังตะลุงของชาวปักษ์ใต้
“หนังตะลุงก็มีเรื่องธรรมะ สอนให้เราเข้าใจในสิ่งต่างๆ ของหนังตะลุง ความโกรธ โลภ หลง มันไม่ใช่ตัวตน มันเป็นมายา
“อย่างเรื่องหมูกับหัวมัน มีนายนุ้ยกับนายเท่ง นายหนูนุ้ยนึกว่าตัวเราอยากจะมีหมู แล้วนายเท่งก็จะปลูกหัวมัน แต่ว่ายังไม่ได้ทำอะไร เพราะกลัวว่าหมูของนายนุ้ยจะมากินของนายเท่ง ทั้งสองก็ทะเลาะกัน พอแจ้งตำรวจปรากฏว่า ตำรวจถามว่าไหนหมู ไหนหัวมัน ปรากฏว่ายังไม่มี
“นี่คือสิ่งที่หนังตะลุงมักจะสอน และทุกเรื่องก็นำมาปรับใช้ในชีวิตได้”
“หนังตะลุงคืออะไร”
อาจารย์มาโนชญ์ย้อนถาม
“จอสี่เลี่ยมมันคืออะไร มันคือ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นคือความหมายของมัน แล้วไฟหนึ่งดวงตอนแรกที่ปล่อยให้สว่าง อันนั้นคือจิตประภัสสร จิตที่รุ่งเรืองสว่างไสวผ่องแผ้วอยู่อย่างนั้น แต่ที่ไอ้ตัวที่มันจรมา มันคือพวกรูปเงาต่างๆ คือตัวของกิเลส เดี๋ยวเราก็เป็นนางอิจฉา เดี๋ยวเราก็เป็นยักษ์ เศรษฐี ตัวตลกโปกฮา อารมณ์เราก็จะเป็นอย่างนั้น วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร
“แต่อย่าลืมว่าสิ่งนี้มันเป็นเพียงแค่มายา มันไม่ใช่ของจริง หนังตะลุงมันจึงสอนอย่างชัดเจน จริงๆ มันคือรูปเงา คือกิเลสที่ผ่านจิต มันเป็นแค่เงา มันไม่ใช่ของจริง แต่ถ้าเราไปยึดติดสิ่งนี้ เราก็ทุกข์ ก็เหมือนกับชีวิต แต่ว่าถ้าเราไม่เป็นตัวไหน เมื่อเราแสดงจบลง ทุกตัวมันก็กลับลงไปนอนในแผงทั้งนั้น จิตเราก็ประภัสสรเหมือนเดิม คือสัญลักษณ์อุปกรณ์หนังตะลุง
“ทีนี้ การออกฤาษี การรำมโนราห์ก็จะมี 12 ท่า นั่นคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ปฏิจจสมุปบาท การเชิดฤาษีหรืออิศวรทรงโค ก็เหมือนกัน อิศวร แปลว่า อิสระ คือจิตที่หลุดพ้น แต่ก่อนจะอิสระ เพราะเราขี่อยู่บนหลังพระโค พระโคสีดำ ก็คืออวิชชานั่นเอง หรือพวกมิจฉาทิฐิ ฉะนั้น เวลาที่เชิด จึงโครมคราม คือจิตเราที่มันดิ้นรน พอจะจบ เราปักลงปุ๊บ ทุกอย่างหยุด อันนั้นคือมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง เราปักลงกลางจอแล้วพระโคนิ่ง หลังจากนั้นค่อยขี่โคหายไป
“อุปกรณ์ของหนังตะลุงทั้งหมดคือตัวที่รับใช้ธรรมะ แล้วเราก็พยายามทำอย่างนี้ โครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ ก็จะเน้นตรงนี้ กลับมาเอารากเหง้าเดิม เพราะว่าปัจจุบันหนังตะลุงมันก็เพี้ยนไปเยอะ เลยพยายามกลับไปสู่เรื่องราวที่มันเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา กลับสู่รากเหง้าที่ถูกต้อง ที่เราทำมาจนปัจจุบัน”
“อย่างเคยถามว่ารำโนราห์ไปทำไม ทวดบอกว่ารำเพื่อนิพพาน”
อาจารย์มาโนชญ์เผย "ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้ นิพพานมันคืออะไร ทำไมไปถึงคำนี้ได้ กับคำว่ามหรสพที่เล่นกันเป็นเรื่องตลกสนุกสนานของชาวบ้าน พอเราโต ทำไมถึงรู้คำว่า มโน มันแปลว่าใจ “หะรา” จริงๆ มันจะมี ห อยู่ตรงกลาง แล้วก็ตัวการันต์ แต่เราเปลี่ยนตอนหลัง ซึ่งเดิมมันแปลว่า การมาถึงของใจ นั่นคือนิพพานนั่นเอง
“สองอย่างนี้ชัดเจน หนังตะลุงและมโนราห์ เป็นศาสตร์ศิลปะที่รับใช้พระพุทธศาสนาในรูปของมหรสพ พอรู้เรื่องพวกนี้ เวลาที่เราจะทำงานจิตรกรรมอะไรก็ตาม ก็ต้องกลับไปสู่พระไตรปิฎก มันก็จะมาแตกเป็นลูกเป็นดอกตัวละครพวกนี้ คือบุคลาธิษฐาน เราจะเอาไปร่วมเล่าสู่เนื้อหาธรรมะ ซึ่งมันเป็นคำยาก เราจะไปพูดเรื่องของพระอนุสัย จระเข้ คือกิเลสที่หลับลึกอยู่ในสันดาน เราจะพูดอย่างไร อยู่ถ้ำลึกใต้บาดาล แล้วมีลูกสาวสวย ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องตามหลักธรรม สังเกตลูกยักษ์ ตั้งแต่เรื่องรามเกียรติ์ เป็นมนุษย์ตลอด หนังตะลุงทุกเรื่องก็เหมือนกัน ลูกสาวจะงามบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะหลักธรรมมันเป็นอย่างนั้น จิตที่ก่อนจะหลุดพ้นมันก็เป็นจิตที่มืดมนมาก่อน พ่อคือยักษ์ ลูกคือผล
“เด็กที่มาทำตรงนี้ในยุคสมัยนี้จึงมีน้อย ตอนตั้งเป้าจริงๆ เราไปตัวคนเดียว ตัวหนังก็อยู่ในจิตวิญญาณของเรา ก็เลยพยายามที่จะหาพวกเพื่อน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่อย่างนั้นเขาก็จะอยู่ของเขาอย่างโดดเดี่ยวแล้วเขาก็จะสูญหายไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราเปิดโอกาสก็ยังมีทาง อย่างเราไม่มีหนังตะลุงสักรูป ไม่สามารถมีได้ อย่างดีก็เล่นใบไม้ กระดาษปกหนังสือมานั่งแกะ นี่เราถือว่าเราให้โอกาสเขา เอาความสามารถที่เขามี เขาก็สามารถที่จะเติบโตเป็นอย่างนี้ได้
“เชื่อว่ายังมีคนหลายๆ คนทางภาคใต้ที่จะเป็นคนอย่างสกนธ์ แต่ว่าเขาอาจจะซ่อนอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่สกนธ์ก็ปลูกขึ้นมา ช่วยกันต่อยอด ก็ขอขอบคุณทุกคน ขอบคุณอาจารย์มกุฏ อรฤดี ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกัน มีใจรักทางด้านนี้แล้วก็ช่วยกันต่อยอดสนับสนุนให้วงการศิลปะของเราไม่ว่าวงการแขนงใดก็แล้วแต่ ให้มันได้เติบโตขึ้นมา ผุดอยู่ แล้วก็รับใช้สิ่งที่ดีงามในสังคมนี้ได้ ก็ให้มันเป็นอยู่ตลอดไป เพราะพวกเราอีกไม่นานก็จบชีวิต รุ่นนี้รุ่นสกนธ์ก็จะต้องเติบโตทำหน้าที่ต่อไป
“หลวงพ่อปัญญา หรือพระครูวีรสุตากร ประธานโครงการเยาวชนตะลุงธรรมะ วัดพระพรม จังหวัดนครศรีธรรมราช เคยพูดไว้ว่า คนเรามันตายได้ ถึงเวลาคนมันก็ต้องตาย ผลัดรุ่นไป แต่งานมันจะไม่ตาย เพราะงานมันจะมีการสืบต่อ เราตายไปแล้วงานนี้มันก็ยังมีคนทำต่อ เราไม่ได้เล่นหนัง แต่สกนธ์ก็ยังทำต่อและสืบทอดให้กับลูกศิษย์ต่อไป มันจะไม่ตาย
“ฉะนั้นหนังตะลุงคือความฝันสูงสุดในชีวิตหรือไม่ หนังตะลุงไม่ใช่ความฝัน หนังตะลุงเป็นความจริงของสกนธ์ ก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป"
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร