xs
xsm
sm
md
lg

“กู่ช้าง-กู่ม้า” ตำนานอัศจรรย์แห่งลำพูน...“เขาเล่าว่า”ศักดิ์สิทธิ์นัก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่สวนสาธารณะหนองดอก
...“ภู่ก่ำงาเขียว” เป็นช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย เป็นพระยาช้างที่มีฤทธิ์มาก เมื่อออกศึกสงครามเพียงแค่ช้างหันหน้าไปทางศัตรู ก็ทำให้ศัตรูอ่อนแรงลงได้ ว่ากันว่า...ครั้งหนึ่งในชีวิตหากมีโอกาสได้ลอดท้องพระยาช้างชนะศึกงาเขียว เท่ากับได้รับพรแห่งชัยชนะให้สมหวังในทุกสนามแข่งขัน ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการดำเนินชีวิต...

ข้อความจากเอกสาร“เขาเล่าว่า...” อีกหนึ่งแคมเปญท่องเที่ยวประจำปี 2559 ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่กล่าวถึง“กู่ช้าง-กู่ม้า” หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูน ที่มาพร้อมกับตำนานอัศจรรย์อันน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเกี่ยวพันกับ“พระนางจามเทวี”ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย อันเป็นหนึ่งในวีรสตรีแห่งสยามประเทศ ที่ผู้คนต่างให้ความเคารพนับถือในคุณงามความดีและวีรกรรมที่ท่านได้สร้างไว้(รายละเอียดเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของพระนางจามเทวีสามารถหาอ่านได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต)
เจดีย์กู่ช้าง
1...

สำหรับตำนานกู่ช้าง-กู่ม้า โดยเฉพาะภู่ก่ำงาเขียว(ผู้ก่ำงาเขียว)หรือ“ปู้ก่ำงาเขียว”(ในที่นี่จะใช้ปู้ก่ำงาเขียวตามคำที่คนในพื้นที่นิยมใช้เรียกขาน) ช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวีและพระราชโอรส(พระยามหันตยศ) มีเรื่องเล่าความเป็นมา(คร่าวๆ)เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่พระนางจามเทวีขึ้นปกครองนครหริภุญไชย(เป็นปฐมกษัตริย์องค์แรก) สร้างบ้านเมืองจนมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม และทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
ประติมากรรมจำลองช้างปู้ก่ำงาเขียวที่บริเวณกู่ช้าง
ด้วยคุณงามความดีและบุญบารมีของพระนางจามเทวี เหล่าทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงบันดาลให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นเพื่อประดับบารมีของท่านในหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะการบันดาลให้ช้างที่มีเทวดาอารักษ์เป็นผู้พิทักษ์รักษาและมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นช้างผิวสีคล้ำ งาสีเขียว ที่อาศัยอยู่ ณ บริเวณป่าเชิงเขาอ่างสลุง หรือดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน ได้เดินทางจากถิ่นที่อยู่ในเชียงใหม่ลงมาสู่นครหริภุญไชย เพื่อมาเป็นช้างคู่บุญบารมีของพระนางจามเทวี ที่มีชื่อว่า “ปู้ก่ำงาเขียว” (บ้างก็ว่าปู้ก่ำงาเขียว เป็นช้างเผือกที่มีสีขาวสีขาวอมชมพู บ้างว่าเป็นช้างเผือกที่มีสีขาวดั่งเงินยวง มีงาสีเขียวขี้ม้า)
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จะมีประติมากรรมช้างเผือกประดับเคียงข้างอยู่ด้วย
พระนางจามเทวีแม้จะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายรามราชและมีพระราชโอรสฝาแฝด 2 พระองค์คือ เจ้าชายมหันตยศ(องค์พี่)และเจ้าชายอนัยตยศ(องค์น้อง) แต่ด้วยพระสิริโฉมอันงดงามเป็นที่เลื่องลือ ทำให้ “ขุนหลวงวิลังคะ” หรือ“ขุนลัวะ” ผู้นำแห่งลัวะนครบนดอยอุจจุปัพพตะหรือดอยสุเทพในปัจจุบัน อยากได้ตัวพระนางจามเทวีไปเป็นมเหสี จึงหาทางทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้พระนางจามเทวีมาเป็นมเหสี ไล่ไปตั้งแต่วิธีการละมุนละม่อม ด้วยการส่งลูกน้องนำข้าวของมาบรรณาการพร้อมบอกกล่าวความต้องการ แต่ถูกพระนางจามเทวีไล่ลูกน้องกลับไป ขุนลัวะจึงท้าชนวัวกับพระนางจามเทวีแต่ก็พ่ายแพ้ ท้าชนไก่กับพระนางจามเทวีก็พ่ายแพ้ หรือแม้แต่การพยายามข่มขวัญด้วยการประลองอิทธิฤทธิ์ก็ยังพ่ายแพ้ต่อพระปฏิภาณไหวพริบของพระนางจามเทวี

สุดท้ายขุนลัวะเมื่อผูกใจเจ็บจึงเลือกใช้วิธีแตกหักด้วยการยกกองกำลังจำนวน 8 หมื่นคนมาเข้าตีเมืองหริภุญไชย หมายยึดครองทั้งพระนางจามเทวีและนครหริภุญไชย

พระนางจามเทวีจึงโปรดให้พระราชโอรสทั้งสองนำทัพออกรบ โดยเจ้าชายมหันตยศผู้พี่ทรงขี่ช้างปู้ก่ำงาเขียวออกรบชนกับช้างเผือกของขุนลัวะ(บางข้อมูลกล่าวว่าเจ้าชายมหันตยศทรงคอช้าง ส่วนเจ้าชายอนัยตยศผู้น้องเป็นส่วนกลางช้าง) ซึ่งเจ้าชายมหันตยศสามารถทรงปู้ก่ำงาเขียวรบจนขุนลัวะปราชัย กองทัพลัวะแตกพ่าย และกลายมาเป็นตำนานอันยิ่งยงของช้างปู้ก่ำงาเขียวสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ลักษณะพิเศษของช้างปู้ก่ำงาเขียว คือจะมีงาสีเขียวสมชื่อ
2...

หลังการศึกสงครามต่างๆสงบ บ้านเมืองดำรงอยู่อย่างสงบสุข ในช่วงบั้นปลายพระนางจามเทวีได้สละราชสมบัติให้พระราชโอรสทั้งสอง โดยเจ้าชายมหันตยศ(ผู้พี่)เป็นกษัตริย์ปกครองนครหริภุญไชย ส่วนเจ้าชายอนัยตยศ(ผู้น้อง)เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองนครเขลางค์(ลำปาง)

พระนางจามเทวีทรงครองราชย์สมบัติอยู่ 53 พรรษา และเสด็จสู่วรรคาลัยเมื่อมีพระชนมายุได้ 92 พรรษา ส่วนพระเจ้ามหันตยศเสด็จสวรรคตเมื่อมีพระชนมายุได้ 85 พรรษา ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานช้างปู้ก่ำงาเชียวก็ล้มดับสิ้นชีวิตตามพระเจ้ามหันตยศไป โดยตามตำนานระบุว่าตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เหนือ
เจดีย์กู่ช้างมีลักษณะเป็นสถูปปลายมน
หลังจากนั้น“พระเจ้าดูมัญราช” พระราชโอรสของพระเจ้ามหันตยศผู้ปกครองนครหริภุญไชยองค์ต่อมาได้โปรดฯให้ก่อสร้างเจดีย์ขึ้น เพื่อบรรจุงาและกระดูกของปู้ก่ำงาเขียว ที่ต่อมาเรียกขานกันว่า “กู่ช้าง”

ทั้งนี้ในตำนานยังเล่าขานว่า ปู้ก่ำงาเขียวเป็นช้างที่มีอิทฤทธิ์มาก เมื่อเวลาล้มลง เมื่อหันหัวหรือเอาปลายงาชี้ไปในทิศทางใด จะเกิดภัยพิบัติขึ้นในทิศนั้น ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย บ้านเมืองเกิดอาเพศ ดังนั้นตอนฝังซากร่างของปู้ก่ำงาเขียว จึงจัดวางให้นำส่วนของหัวและงาทั้งสองชูขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วก่ออิฐโบกปูนเป็นวงกลมรอบตัวช้างเพื่อไม่ให้ช้างล้ม
เจดีย์กู่ช้างมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์บอบอคยีในพม่า
เจดีย์กู่ช้างจึงมีลักษณะเป็นสถูปปลายมนทรงกระบอกขนาดใหญ่ มีฐานเป็นฐานหน้ากระดานกลม 3 ชั้น ยอดด้านบนมีลักษณะเป็นปลายตัด เปิดเป็นช่วงว่างกลวงตรงกลาง ไม่ได้ก่ออิฐถือปูนปิดทับ

อย่างไรก็ดี เจดีย์กู่ช้างก็มีการอ้างอิงในเชิงวิชาการว่าเป็นเจดีย์ในลักษณะเดียวเจดีย์บอบอคยีของพม่า(ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13) ขณะที่เจดีย์กู่ช้างนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 21
กู่ม้า
ส่วนที่ด้านหลังของกู่ช้างถัดไปทางด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของ“กู่ม้า” มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจดีย์ที่ฝังซากร่างของม้าศึกคู่บารมีพระนางจามเทวี ผู้คนจึงนิยมเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “กู่ช้าง-กู่ม้า” เพราะว่าตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากกู่ช้าง-กู่ม้าแล้ว จ.ลำพูน ยังมี “กู่แมว” และ “กู่ไก่” อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุซากร่างของไก่แก้วสีขาวคู่บารมีของพระนางจามเทวีและคู่ขวัญของเมืองหริภุญไชย ที่หลังวัดไก่แก้ว ชุมชนไก่แก้ว อ.เมือง ให้ผู้คนไปสักการะบูชากัน

3...

กู่ช้าง-กู่ม้า ตั้งอยู่ที่ชุมชนวัดไก่แก้ว ซอยโรงเรียนจักรคำคณาทร อ.เมือง จ.ลำพูน(ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กม.) ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูน อีกทั้งยังเป็น 1 ใน สถานที่ท่องเที่ยวจากโครงการ “เขาเล่าว่า...” ของ ททท. ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
รูปปั้นช้างตัวเล็กตัวน้อยที่ตั้งอยู่ข้างเจดีย์กู่ช้าง
โดยเฉพาะกับกู่ช้างที่ชาวลำพูนจำนวนมากนิยมเรียกกันว่า“เจ้าพ่อกู่ช้าง”นั้น เชื่อกันท่านศักดิ์สิทธิ์นัก เมื่อมาขอพรท่านแล้วจะประสบโชคสมหวังได้ชัยชนะในด้านต่างๆ โดยทุกๆปีที่กู่ช้างจึงมีการจัดประเพณีรดน้ำดำหัวและบวงสรวงศาลเจ้าพ่อกู่ช้างขึ้นในวันที่ 17 เมษายน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่น่าสนใจยิ่งของจังหวัดลำพูน
พิธีรดน้ำดำหัวและบวงสรวงศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 59
นอกจากนี้ในอดีตผู้คนจำนวนมากที่เดินทางสักการะเจ้าพ่อกู่ช้าง มักนิยมขออาราธนา“เป๊ก”ซึ่งเป็นซากเศษอิฐแตกหักก้อนเล็กๆที่ที่อยู่ภายในโบราณสถานแห่งนี้ติดตัวกลับไป เพื่อเป็นสิริมงคลขวัญกำลังใจและสร้างในเกิดความมั่นใจในการกระทำในสิ่งที่ขอ ครั้นเมื่อประสบผลสำเร็จแล้วก็ต้องนำเป๊กกลับมาคืน ถ้าใครไม่นำกลับมาก็จะประสบเภทภัยต่างๆ

มาวันนี้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ได้มีการทำพิธีขอเป๊กจากเจ้าพ่อกู่ช้างเพื่อนำมาทำเป็นมวลสาร บรรจุในเครื่องรางให้ผู้สนใจเช่านำติดตัวเป็นสิริมงคลกลับไปโดยไม่ต้องนำเป๊กกลับมาคืนเหมือนแต่ก่อน
ภายในศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง
กู่ช้าง-กู่ม้า ตั้งอยู่ในบริเวณที่แวดล้อมไปด้วยแมกไม้มีบรรยากาศอันร่มรื่นเขียวขจี นอกจากเจดีย์กู่ช้างและเจดีย์กู่ม้าแล้วก็ยังมี“ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง”ที่ภายในมีรูปเคารพเจ้าพ่อกู่ช้างและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆให้สักการะบูชา รวมถึงมี รูปเหมือนเจ้าพ่อกู่ช้าง กู่ช้างเล็ก และเป๊กให้เช่าบูชาเป็นสิริมงคลติดตัวกลับไปอีกด้วย
เชื่อกันว่าถ้าได้มารอดท้องช้างปู้ก่ำงาเขียว(จำลอง)แล้วจะประสบโชคดี
ขณะที่บริเวณด้านอาคารจะมีหอประดิษฐานพระพุทธรูป และในส่วนด้านหน้าถัดมาจะเป็นทางเดิน 2 ข้างทางประดับรูปปั้นช้างเผือกคู่ชูฆ้องชัย เมื่อเดินเข้าไปจะพบกับรูปปั้นของช้างปู้ก่ำงาเขียว ที่มีความเชื่อว่าหากใครได้มาเดินลอดท้องช้างปู้ก่ำงาเขียวตัวนี้ ก็จะประสบโชคดี ปลอดภัยแคล้วคลาดจากโชคร้ายเคราะห์ภัยต่างๆ

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจของกู่ช้าง-กู่ม้า หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน ที่แม้นี่จะเป็นความเชื่อเฉพาะถิ่น เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่กู่ช้าง-กู่ม้าก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สีสันที่หากใครไปขึ้นไปแอ่วเมืองลำพูนแล้วก็ไม่ควรพลาดการไปเที่ยวชมกู่ช้าง-กู่ม้าด้วยประการทั้งปวง
กู่ช้าง-กู่ม้า หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของลำพูน
******************************************

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลของกู่ช้าง-กู่ม้า และรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดลำพูนเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น