xs
xsm
sm
md
lg

สโลว์ไลฟ์มั้ยจ๊ะ ๑.๓ : "เทียนนกแก้ว" ที่สุดแห่ง "ดอยหลวงเชียงดาว"

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมต่อที่แล้ว อ่าน
สโลว์ไลฟ์มั้ยจ๊ะ ๑.๐ : เชียงใหม่ 3rd time.
สโลว์ไลฟ์มั้ยจ๊ะ ๑.๑ : ควันหลงโคมลอย ที่ท่าแพ
สโลว์ไลฟ์มั้ยจ๊ะ ๑.๒ : พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ : สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ ๑ (ช้างเผือก) จ.เชียงใหม่

ผมเดินจากประตูท่าแพ กลับมายังที่พักเพื่อนำกระเป๋าที่ฝากเอาไว้ แบกใส่หลัง แล้วเดินต่อไปจากปากทางถนนสนามกีฬา ฝั่งคูเมือง ลัดเลาะไปเรื่อยๆ จนถึง “สถานีขนส่งช้างเผือก” นี่ก็ดูจะหลายกิโลเมตรอยู่ ที่นี่เป็นสถานีรถประจำทางที่วิ่งออกไปยังอำเภอต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถสองแถว และรถบัสสีส้มปรับอากาศตามสภาวะแวดล้อมระหว่างทางด้วยระดับของหน้าต่าง บ้านผมเรียก บขส. ตามชื่ออักษรย่อของบริษัทขนส่งจำกัด ที่ติดตัวเบ้อเริ่มอยู่ข้างรถนั่นเอง

อันที่จริงเราสามารถเดินทางมาที่สถานีขนส่งนี้ได้อีกทางคือด้านถนนช้างเผือก แต่ผมเลือกมาทางนี้เพราะมันลัดกว่า และตอนนี้ผมกำลังมองหารถสองแถวสีส้ม ที่เขาเขียนว่าไป อ.ฝาง ตามข้อมูลที่ผมศึกษามา ระหว่างนั้นผมก็เข้าไปถามชาวบ้านว่า รถที่ไป อ.เชียงดาวนี่จอดอยู่ตรงไหน เขาบอกไอ้หนู เห็นรถคันใหญ่สีส้มนั่นมั้ย รีบกระโดดขึ้นไปเลย ใช่แล้วครับรถที่ว่าก็คือ รถร้อน บขส.ที่ผมคุ้นเคยในสมัยเด็กๆ นั่นเอง

ผมจำได้ว่าครั้งล่าสุดที่ขึ้นรถ บขส.นี่น่าจะช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แต่สมัยตอน ม.ต้นนี่ขึ้นบ่อยมาก แม้บ้านผมจะไม่ได้ไกลจากในเมืองหลวงนัก แถมยังมีรถ ขสมก.และรถตู้วิ่งผ่าน แต่ผมเลือกที่จะใช้บริการ ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ ขับเร็ว... เร็วมากๆ เมื่อเทียบกับรถเมล์สาย ๑๒๗ ในสมัยนั้นที่ทำเวลาจากบ้าน ไปยังปากซอยวัดชัยพฤกษ์มาลา เขตตลิ่งชัน เกือบ ๑ ชั่วโมง!! ขณะที่รถประเภทนี้วิ่งประมาณครึ่งชั่วโมง แต่พอหลังจากที่ย้ายสถานีขนส่งกรุงเทพฯ สายใต้ใหม่ ไปยังสายใต้ใหม่ใหม่ บนถนนบรมราชชนนี ผมก็ไม่ค่อยได้ใช้บริการ เพราะรถก็วิ่งน้อยลงและไปไม่ถึงปลายทางที่ผมต้องการด้วย

ส่วนคันนี้ไม่ใช่ของบริษัทขนส่ง แต่เป็นบริษัทยานยนต์นครเชียงใหม่จำกัด เป็นรถโดยสารเส้นทางเชียงใหม่ - ท่าตอน สุดสายอยู่ที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย ใกล้ชายแดนพม่า พอไปถึงที่รถก็เจอเด็กรถรุ่นน้ายืนรอผู้โดยสารอยู่ ผมก็เลยถามย้ำถึงปลายทางของผมให้แน่ใจ เมื่อเขาบอกว่าไป ผมจึงรีบขึ้นรถ และพอผมหาที่นั่งได้ปั๊บ รถก็ออกทันที... โชคดีอย่างสุดๆ ที่มาทันเวลาเป๊ะ ไม่อย่างนั้นนี่สงสัยได้ไปถึงจุดหมายค่ำแน่ๆ

และการเดินทางครั้งสำคัญของผมกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว!!

บนรถ บขส. (ขออนุญาตเรียกเช่นนี้) คันนี้มีผู้โดยสารอยู่เกือบเต็มจำนวนเบาะ ผมเลือกที่นั่งใกล้ประตูที่สุด เพราะขนสัมภาระพะรุงพะรังมากเหลือล้น พอถึงที่หมายจะได้โดดลงง่ายๆ สักพักก็มีพนักงานเก็บสตางค์หนุ่มวัยละอ่อน มาเดินเก็บเงิน ซึ่งค่าโดยสารสู่ อ.เชียงดาว อยู่ในราคา ๔๐ บาท รถวิ่งไปตามถนนทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ ขึ้นลงเขานิดหน่อย ใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงก็ถึงจุดหมาย ก่อนจะลงพนักงานเก็บสตางค์มาถามผมว่า ลงในอำเภอใช่ไหม ตรงไหน ผมบอกว่า ใช่ครับ ลงตรงเซเว่นอีเลฟเว่น ไม่นานนักเขาก็หยุดจอดให้ผม ... ตรงโลตัส เอ็กซ์เพรส ... เอิ่ม ตอนลงก็ยืนงงอยู่เล็กน้อย แล้วพอเดินมานิดนึงจึงเห็นว่า อ๋อมันอยู่ใกล้ๆ กันนี่เอง

เมื่อลงรถก็เดินหารถมอเตอร์ไซด์วินให้ไปส่งยังค่ายเยาวชนเชียงดาวสถานที่นัดพบก่อนขึ้นดอยในวันรุ่ง แต่เดินถามตามถนนไปเรื่อยๆ ก็ไม่พบ ชาวบ้านบอกว่าไม่มีรถแล้วเวลานี้ เอาล่ะสิ... จึงโทรหาพี่ผู้นำทัวร์ ถามว่าผมควรทำเช่นไร แกก็เลยตัดสินใจขับรถมารับผมเข้าไปยังจุดนัดหมายเอง

“เมืองเชียงดาว” นี้ดูน่าสงบ และเรียบง่ายดีนัก แค่ช่วงห้าโมงกว่าๆ ร้านค้าก็เริ่มปิดกันแล้ว เห็นมีร้านขายข้าวขาหมูอยู่เจ้าหนึ่งน่าสนใจแต่พอเดินเข้าไปก็เห็นว่าเก็บของหมดล่ะ ระหว่างรอก็หาอะไรกินรองท้องจากร้านก๋วยเตี๋ยวแถวนั้น สักพักหนึ่งพี่เขาก็โทรศัพท์เข้ามาแจ้งจุดนัดพบเพื่อขึ้นรถต่อไป

อธิบายถึงเรื่องทริปนี้สักนิด มันเริ่มจากผมไปได้ข้อมูลมาจากพี่ข้าว สุธัมมะ ธรรมศักดิ์ แกโพสต์ในกรุ๊ปในเว็บไซต์เฟซบุ๊กว่า มีการเปิด “โครงการศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว” ให้ได้ไปเที่ยวกัน ซึ่งเขาจะเดินทางกันตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งหมด ๕ รุ่น ตอนนั้นเราก็สนใจอยู่แต่ด้วยความวุ่นวายในการงานเลยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก จนกระทั่งพี่ข้าว แกโพสต์ภาพทริปรุ่นที่ ๑ ที่แกเองได้ไปมา ได้เห็นบรรยากาศของธรรมชาติ และความทรหดจากฝนปลายฤดู มันช่างเชื้อเชิญให้ผมอยากร่วมเดินทางเสียจริง จึงได้สอบถามข้อมูลกับน้องแนน ไทยพีบีเอส ผู้ร่วมคณะของพี่ข้าว ถึงวิธีการจองและอื่นๆ ...

จนในที่สุดผมก็ตัดสินใจจองทริปกับคนที่ผมกำลังขึ้นรถเขาไปอยู่เนี่ย!!

โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าเจ้าของโครงการนี่แกเป็นใคร รู้แต่ให้ติดต่อหลังไมค์ไปทางเฟซบุ๊ก พร้อมโอนเงินมัดจำจำนวน ๒,๐๐๐ บาท (จากยอดทั้งหมด ๓,๐๐๐ บาท) เป็นค่าอุทยานแห่งชาติดอยหลวงเชียงดาว ที่พัก อาหาร ลูกหาบ ในเวลา ๓ วัน ๒ คืน และรายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายหมดแล้วจะนำไปใช้เป็นเงินสนับสนุนโครงการค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาวด้วย ตอนนั้นรู้แค่เพียงว่า ที่นี่อยากไปมานานแล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มหาทัวร์จากตรงไหน พอคราวนี้มีคนแนะนำแถมสัมผัสมาแล้ว ก็เลยสนองความต้องการตนเองเสีย

ต่อมาได้ทราบภายหลังว่า คุณ “นิคม พุทธา” หรือพี่อ้วน เจ้าของโครงการ เป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน และอดีตเลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย ซึ่งจุดประสงค์ที่พี่นิคม ทำทริปก็เพื่อต้องการให้คนทั่วไปได้สัมผัสการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ทั้งระบบนิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยปฏิบัติต่อธรรมชาติ ด้วยความอ่อนโยนและตระหนักรู้ถึงคุณค่า ความสำคัญของธรรมชาติ เรียกได้ว่า จะได้เที่ยวกับคนอนุรักษ์ตัวจริงเลยทีนี้

ผมพบพี่นิคม ที่มารอรับ พร้อมแนะนำตัวก่อนจะขึ้นรถไปยังที่หมาย ระหว่างทางก็ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ ไม่นานนักก็ถึงค่ายเยาวชนฯ ที่อยู่ในหมู่บ้านของชาวปกาเกอญอ หรือ กะเหรี่ยง ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว ห่างจากตัวที่ว่าการอำเภอเชียงดาวประมาณ ๔ กิโลเมตร ในค่ายมีสายน้ำลำห้วยแม่ก๊ะไหลผ่าน จากที่ดูภายในค่ายก็น่าจะมีพื้นที่หลายไร่อยู่ ประกอบด้วย ห้องโถงทำกิจกรรม โรงนอนแยกชายหญิง โรงอาหาร แปลงผัก และบ้านพักรับรอง

ซึ่ง “ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว” ก่อตั้งโดยพี่นิคม เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงและเครือข่ายองค์กรชาวอำเภอเชียงดาว ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งการศึกษาธรรมะ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าชุมชน น้ำในระบบเหมืองฝาย การทำเกษตรธรรมชาติที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ตลอดถึงวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีค่ายสุขภาพตามแนวทางหมอเขียว แห่งสันติอโศก อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้จัดค่ายลูกเสือ และกิจกรรมเดินป่ารอบๆ อีกด้วย ซึ่งวันนี้แจ๊กพอตเจอนักศึกษานำเด็กๆ มาทำกิจกรรมเข้าค่ายกัน ทำให้คณะเดินทางต้องมาอาศัยเต็นท์ภายในบ้านพักรับรองเป็นที่นอนชั่วคราวแทน

เมื่อมาถึงพี่นิคม ก็จัดแจงให้เจ้าหน้าที่หาพื้นที่กางเต็นท์เพิ่มให้ผมได้นอน ก่อนให้อาบน้ำแล้วมานั่งคุยแนะนำตัวเพื่อละลายพฤติกรรมเบื้องต้น สังเกตได้ว่าคณะที่มาในตอนนี้ราวๆ ๒๐ คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รุ่นๆ ผมนี่ไม่มีเลย ถ้าไม่เด็กกว่า ก็สูงวัยกว่าทั้งนั้น มีทั้ง แม่บ้าน ข้าราชการ วิศวกร พนักงานบริษัท และพยาบาล ซึ่งคณะนี้เป็นรุ่นที่ ๕ รุ่นสุดท้ายของโครงการ และดูท่าจะมีคนมาสมทบเพิ่มอีกพอสมควรในวันรุ่งขึ้น

น่าสนุกซะแล้วสิ...

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ : ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่

เช้านี้อากาศดีจริงนะ .... ผมตื่นขึ้นมาแต่หัววัน เพื่อเตรียมตัวออกเดินทางตามเวลานัดหมาย ๙ โมงเช้า จัดแจงอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า จัดข้าวของนำเฉพาะสัมภาระเท่าที่จำเป็นใส่ลงไป ส่วนที่เหลือก็ฝากไว้กับที่นี่ เขามีห้องให้รับฝากของเอาไว้ ช่วงที่เดินออกไปจากที่พัก เห็นทิวทัศน์เบื้องหน้าเป็นดอยหลวงฯ แม้จะอยู่ไกล และมีเมฆหมอกกั้น แต่ก็ยังคงเห็นความสูงใหญ่ของภูเขา จนเรารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย

อาหารเช้า มื้อแรกของทริปเป็นข้าวผัดมังสวิรัติ กับซุปไข่ เต้าหู้ และผัก คณะเราทานในโรงอาหารแบบแยกตัวใครตัวมัน ก่อนจะนำสัมภาระไปวางรวมกันไว้เพื่อรอทีมงานนำชั่งน้ำหนักก่อนแบกขึ้นรถ ระหว่างนี้พี่นิคม ได้เรียกคณะไปล้อมวงพร้อมเล่ารายละเอียดการเดินทาง ซึ่งตรงนี้เราได้เห็นสมาชิกทั้งหมดที่จะเดินทางไปกับเราอีก ๓ วัน ๒ คืนแล้ว ที่น่าตกใจก็คือ ... ผมเห็นครอบครัวหนึ่งพาเด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ขึ้นไปกับเราด้วย .. บ้าน่ะ!! อายุ ๑๒ นี่เราทำอะไรอยู่วะ? โห...นับถือใจพ่อแม่เขาจริงๆ

เมื่อถึงเวลานัดทีมลูกหาบก็มาถึงพร้อมกับนำสัมภาระของคณะมาชั่งน้ำหนัก โดยกำหนดให้กระเป๋า ๑ ใบจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน ๗ กิโลกรัม หากเกินจะคิดเงินเพิ่มกิโลกรัมละเท่าไหร่อันนี้ผมไม่แน่ใจนัก แต่พี่เขาใช้วิธีเฉลี่ย คือเอาจำนวนสมาชิกทั้งหมด แล้วคูนด้วย ๗ เป็นตัวตั้ง จากนั้นก็ดูที่ยอดน้ำหนักของกระเป๋าทั้งหมด หากไม่เกินก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ซึ่งทีมลูกหาบนำโดย คุณสมพงษ์ แซ่ลี้ หรือ พี่ตุ๋ม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว เป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทาง ที่พัก และอาหารบนเขา

หลังจากเคลียร์ทุกอย่างเสร็จสิ้น ก็ออกเดินทางกัน พวกเรานั่งรถกระบะจากค่ายเยาวชน ขับขึ้นภูเขาที่สูงชันและมีทางโค้งคดเคี้ยวเป็นระยะ ไปสู่บริเวณที่เรียกว่า ปางวัว (บ้านนาเลาใหม่) จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นไปสู่ดอยหลวงฯ ของพวกเรา

สำหรับ “ดอยหลวงเชียงดาว” นี้ อยู่ในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นภูเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศ ด้วยความสูง ๒,๒๗๕ เมตร และยังเป็นภูเขาที่สูงอันดับ ๓ ของไทย รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก เดิมมีชื่อว่า เพียงดาว แต่ถูกเรียกเพี้ยนมาเป็น เชียงดาว ส่วนตำนานโบราณเรียกว่า ดอยอ่างสลุง ด้วยความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาพร้อมพระอรหันต์ ๘ รูป และทรงลงสรงน้ำในที่แห่งนี้ ส่วนคำว่า หลวง ในภาษาเหนือแปลว่า ใหญ่ โดยดอยนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย โดยคาดว่า เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเล การทับถมของตะกอนทะเล และซากสัตว์ที่มีหินปูน ในยุคเพอร์เมียน ราว ๒๕๐ - ๓๐๐ ล้านปีก่อน ความพิเศษของที่นี่คือ มีพรรณไม้แบบที่เรียกว่ากึ่งอัลไพน์ แห่งเดียวในไทย คือ พวกพุ่มไม้เตี้ย ๆ และไม้ล้มลุก เป็นพืชแถบเทือกเขาหิมาลัย แต่พัฒนาเป็นพืชเฉพาะถิ่น และยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เช่น ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไก่ฟ้าหางลายขวาง เลียงผา และนกกินแมลงเด็กแนน (อันนี้ชื่อแปลกๆ ) ด้วย โดยจะเปิดให้ท่องเที่ยวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – มีนาคม เท่านั้น

คณะเดินทางทั้งหมดมารวมตัวกันที่ปางวัว ซึ่งมีผู้ร่วมทริปนี้มีด้วยกันถึง ๓๔ คน ไม่รวมทีมงาน จัดว่าเยอะที่สุดในทั้งหมด ๕ รุ่นของโครงการ เราจะต้องเดินจากตรงนี้ไปอีกราว ๖.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงจุดพักแรมอ่างสลุง จริงๆ ทางขึ้นดอยหลวงฯ สามารถขึ้นได้อีกทางก็คือเส้นทางเด่นหญ้าขัด-อ่างสลุง (หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก) มีระยะทางที่ไกลกว่าจุดปางวัวนี้กว่า ๒ กิโลเมตร แต่เดินง่ายกว่า และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

แน่นอนว่าเส้นทางที่เราไม่มาค่อยเป็นที่นิยมก็เพราะมีความชัน และต้องเลอะๆ กันบ้างในบางพื้นที่ แต่เนี่ยล่ะครับ คือเสน่ห์ของการเดินป่า แต่... แค่ขึ้นมานิดหน่อยก็เหนื่อยหอบพอสมควร ไม่นานนักก็ได้พบกับทิวทัศน์บนภูเขาที่สามารถมองเห็นสถานที่พักตากอากาศยอดฮิตอย่างบ้านระเบียงดาวได้ แถวนี้มีดอกบัวตองขึ้นบานอยู่ริมทางด้วย ดูแล้วก็เพลินดี ซึ่งจากนี้เราต้องเดินผ่านกิ่วเจดีย์แว่น จุดพักแรมดงไม้หก เราพบดอกไม้แปลกๆ หลายชนิด


ไม่นานนักเราก็เจอกับดอกไม้ป่าประจำดอยหลวงอย่าง “เทียนนกแก้ว” ลักษณะเหมือนกล้วยไม้แต่รูปทรงคล้ายกับนกแก้ว ตรงขั้วที่ดูเหมือนหัวนกมีสีแดงอมม่วง ลำดอกสีม่วงอ่อน และช่อมีลายสีม่วงเข้ม เป็นพืชล้มลุก จัดเป็นพรรณไม้เมืองหนาวที่ “มีเพียงบนดอยหลวงฯ แห่งเดียวในโลก” และจะออกดอกเพียงแค่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น ถ้าจำไม่ผิด พี่นิคม เล่าว่า ต้นมันจะมีผลเป็นฝักยาว และมันจะระเบิดออกเมื่อถึงเวลาทำให้เมล็ดที่อยู่ภายในกระจายออกไปยังที่ต่างๆ รอบๆ รอวันเจริญเติบโตขึ้นมา อารมณ์คล้ายๆ ไอ้เมล็ดเป๊าะแป๊ะที่เราเอามาโยนใส่น้ำเล่นให้มันดีดตัวดังแป๊ะ ประมาณนั้น

เรียกได้ว่าโชคดีจริงๆ ที่ยังได้เจอ เพราะเวลานี้ถือเป็นห้วงสุดท้ายที่มันได้ออกดอกผลิบานให้เห็นก่อนจะร่วงโรยไปตามธรรมชาติ


กลุ่มที่ผมเกาะอยู่จัดว่าเกือบรั้งท้ายของคณะ มีกลุ่มพยาบาลสาวจากชลบุรี สาวคู่หูวัยรุ่นเพื่อนสมัยมัธยม คุณพี่คู่หูต่างวัยสายธรรมะ และคู่หูนักสิ่งแวดล้อม ขบวนนี้ส่วนใหญ่จะคอยให้คนอื่นเดินแซงบ้าง เก็บตกสมาชิกคนอื่นๆ ที่นั่งพักบ้าง บางช่วงแวะทานข้าวกลางวันที่จัดเตรียมมา โดยมีพี่นิคม อยู่กับพวกเรา คอยเล่าเรื่องราวต่างๆ ในพื้นป่าให้ได้ฟัง และแน่นอน ผมก็จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (ซึ่งส่วนใหญ่จะจำไม่ได้) ช่วงที่ผ่านดงกล้วย แกก็อธิบายพลางเดินเข้าไปกอดต้นกล้วย ให้ลองเอาหูแนบฟังเสียงของมัน คุณจะได้สัมผัสความเย็น ความชุ่มชื้นจากต้นกล้วย แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะลองทำบ้าง (ฮ่าๆๆ) ก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า ต้นกล้วยนี้มีประโยชน์ในการรักษาป่า เพราะคงความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ แม้กระทั่งการปลูกพืชพันธุ์ในสวนไร่ ก็สามารถใช้กล้วยเป็นตัวทำให้ต้นต่างๆ เจริญงอกงามได้ดี

เดินไปไม่นานผ่านสามแยกปางวัวที่บรรจบกับเส้นทางเด่นหญ้าขัด มุ่งหน้าไปเรื่อยๆ แวะพักรายทางบ้าง จนเข้าสู่เส้นทางดอยกิ่วป่าคา – ดงเย็น ตรงนี้อยู่รายล้อมไปด้วยภูเขา อารมณ์เหมือนในฉากหนึ่งของหนังฝรั่ง มันสวยงามมากเกินกว่าภาพจะถ่ายมาได้ (จริงๆ คือถ่ายไม่สวยเท่าตาเห็น) มองดูบนยอดดอยมีต้นปาล์มอยู่ด้วย นั่นคือค้อเชียงดาว ซึ่งในละแวกนี้พี่นิคม ยังชี้ให้ดูฟอสซิลหอยที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนด้วย





พอเข้าสู่พื้นที่ดงเย็นซึ่งก็เย็นสมชื่อ ผ่านโซนนี้ก็เข้าสู่ที่พักอ่างสลุง ด้านหน้ามีพวกลูกหาบของคณะอื่น หรือเจ้าหน้าที่ อันนี้ไม่แน่ใจนัก นำน้ำอัดลม และขนมมาขายให้ได้ทานแก้อยากกันด้วย เราใช้เวลาตั้งแต่ประมาณ ๑๐ โมงเช้า มาถึงราว ๔ โมงเย็น ก็จัดว่านานพอควรเลยทีเดียว

มองภาพรวมสำหรับวันนี้ ก็ต้องบอกว่าทางเดินขึ้นมานั้นไม่ได้จัดว่ายากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับทริปที่ผ่านๆ มาของผม ทางค่อนข้างเรียบ มีบางพื้นที่ที่ชันและต้องปีนหรือไถลก้นลงมา แต่ก็ไม่ได้มากมายนัก จะพูดว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มท่องเที่ยวป่าก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ แต่... นี่เพิ่งถึงแค่ที่พัก ไม่รู้ยอดดอยจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวต้องคอยลุ้นกันล่ะ

อ่านต่อฉบับหน้า ....

ข้อมูลที่มาบางส่วน : https://www.facebook.com/chiangdaoyouthcamp , http://www.paiduaykan.com/province/north/chiangmai/doichiangdao.html ,วิกิพีเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น