xs
xsm
sm
md
lg

คาราวาน AEC สุขใจไทย-ลาว(1) : “เมืองลับแล-ด่านภูดู่-สู่หลวงพระบาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ซุ้มประตูเมืองลับแล
อีกไม่นานการเปิด "ประชาคมอาเซียน" หรือ AEC อย่างเป็นทางการก็จะเริ่มขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การร่วมมือกันด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันในระหว่างภูมิภาคในประเทศแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ AEC อีกด้วย

อย่างในทริปนี้ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาร่วมทริปกับททท. ภูมิภาคภาคเหนือ ที่จัดสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง “ภาคเหนือ - AEC - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ในรูปแบบการท่องเที่ยวคาราวานรถยนต์ ที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนจะข้ามด่านชายแดนที่ “ด่านภูดู่” ใน อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ข้ามมายังประเทศเพื่อนบ้านที่ สปป.ลาว มาเยือนยังเมืองไชยบุรี เมืองหลวงพระบาง เมืองวังเวียง แวะผ่านเมืองเวียงจันท์ ก่อนจะข้ามสะพานมิตรภาพไทยลาวกลับเข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดหนองคาย

เรียกได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงทั้งระหว่างภูมิภาคภาคเหนือและภาคอีสาน และเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านไทย-ลาว อีกด้วย

สำหรับจุดผ่านแดนถาวรภูดู่นั้น ตั้งอยู่ใน ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ได้เปิดใช้เป็นจุดผ่านแดนถาวรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2556 โดยด่านภูดู่อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 162 ก.ม.
ประติมากรรมแม่หม้ายเมืองลับแลข้างซุ้มประตู
ลับแล...เมืองนี้ห้ามพูดโกหก

เราจะเดินทางออกจากด่านภูดู่ไปเฉยๆ ก็ดูกระไรอยู่ เพราะจังหวัดต้นทางอย่าง “อุตรดิตถ์” นั้นก็เป็นเมืองที่ไม่ควรเลยผ่าน โดยเฉพาะเมื่อ “เมืองลับแล” ใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ถือเป็นหนึ่งใน 24 แหล่งท่องเที่ยวในโครงการ “เขาเล่าว่า...” ของ ททท. ซึ่งเป็นโครงการไฮไลท์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวที่นำตำนานเรื่องเล่าจากทั่วเมืองไทยมาเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว โดยเมืองลับแลนั้นมีตำนานเกี่ยวกับ “เมืองที่ห้ามพูดโกหก” ที่ชวนให้นักท่องเที่ยวฉงนสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องห้ามพูดโกหก?

ดังนั้นก่อนจะไปเยือนเมืองลาว “ตะลอนเที่ยว” ขอพาไปเที่ยวเมืองลับแลและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงกันก่อน โดยการท่องเที่ยวในเมืองลับแลที่สะดวกและทั่วถึงอย่างหนึ่งก็คือการนั่งรถรางเที่ยวเมืองลับแล โดยจุดขึ้นรถรางท่องเที่ยวนั้นอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ด้านหน้าซุ้มประตูเมืองลับแล ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองนี้

ด้านข้างซุ้มประตูเป็นที่ตั้งของ “ประติมากรรมแม่หม้ายเมืองลับแล” ที่แสดงถึงตำนานของเมืองลับแล ที่เล่าสืบขายกันมาว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งได้พลัดหลงเข้าไปยังเมืองลับแล และได้พบรักกับหญิงสาวชาวลับแลจนเกิดความรักใคร่กัน หญิงสาวได้พาชายหนุ่มมาอยู่กินเป็นสามีภรรยากันภายใต้กฎของเมืองลับแลที่ว่า “ห้ามพูดโกหก”


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *  


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com 


 



ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล
เวลาผ่านไปสามีภรรยาคู่นี้มีลูกด้วยกันหนึ่งคน อยู่มาวันหนึ่งหญิงสาวออกไปข้างนอกและให้สามีเลี้ยงลูก แต่เนื่องจากภรรยาออกไปนานลูกเลยคิดถึงแม่และร้องไห้ไม่หยุด จึงเป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อพลั้งเผลอโกหกลูกว่า แม่กลับมาแล้วเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงได้ยินเข้า และบอกลูกสาวถึงการกระทำของสามีที่ทำผิดกฎเมืองลับแล ฝ่ายหญิงจึงตัดสินใจสละความสุขส่วนตัว ให้สามีไปจากเมืองลับแล พร้อมทั้งจัดข้าวของใส่ย่ามให้สามีสำหรับการเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางสามีรู้สึกว่าย่ามที่สะพายหนักขึ้นๆ เมื่อเปิดดูก็เห็นแต่แท่งขมิ้นอยู่ในย่ามจึงทิ้งไปจนเกือบหมด แต่พอกลับถึงบ้านและเปิดถุงย่ามออกก็พบว่าแท่งขมิ้นที่เหลือกลายเป็นทองคำ จึงเกิดความเสียดายและตัดสินใจเดินทางกลับไปเมืองลับแล แต่พยายามอย่างไรก็หาเมืองลับแลไม่พบอีก

แต่ในส่วนของที่มาของคำว่า “ลับแล” ที่ไม่ใช่ตำนานนั้น เชื่อกันว่ามาจากคำว่าลับแลง และเพี้ยนมาเป็นคำว่า “ลับแล” เนื่องจากเมืองนี้ล้อมรอบด้วยป่าเขาสลับซับซ้อน คนไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย ยามเย็นแม้พระอาทิตย์ยังไม่ตกดินบรรยากาศก็มืดแล้วเพราะยอดเขาบังพระอาทิตย์นั่นเอง

ตำนานและที่มาของชื่อเมืองลับแลนี้เราได้ฟังกันระหว่างนั่งบนรถรางชมเมืองลับแล และนอกจากตำนานเหล่านี้แล้ว ในเส้นทางรถรางก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ถนนคนกิน” หรือ "ถนนราษฎร์อุทิศ" ที่มีของอร่อยหลากหลาย เช่น ร้าน “เจ๊นีย์ของทอดลับแล” ที่ขายของทอดต่างๆ คลุกแป้งสูตรเฉพาะ ร้าน “หมี่พันป้าหว่าง” หมี่พันของขึ้นชื่อใน อ.ลับแล ที่นำหมี่มาห่อด้วยข้าวแคบเป็นม้วน อร่อยติดใจไปตามๆ กัน นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่าง "พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล" โดย จงจรูญ มะโนคำ หรือคุณโจ เป็นผู้ก่อตั้งเพื่อจัดแสดงผ้าเก่าอายุนับร้อยปี และผ้าพื้นเมืองแบบต่างๆ อันทรงคุณค่าอีกด้วย
จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์
ด่านภูดู่... สู่เมืองไชยบุรี

จากอำเภอเมืองอุตรดิตถ์มายังจุดผ่านแดนถาวรภูดู่มีระยะทางราว 162 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงเราก็เดินทางมาถึงด่านภูดู่ ซึ่งมีเวลาเปิดด่านตั้งแต่ 06.00-20.00 น. เมื่อเตรียมพาสปอร์ตสำหรับผ่านแดนไปยัง สปป.ลาว เรียบร้อยแล้ว ขบวนสำรวจเส้นทางของเราก็ผ่านด่านภูดู่เข้าสู่แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ผ่านด่านสากลบ้านผาแก้ว ซึ่งเป็นด่านชายแดนของเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี

เส้นทางนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางรถจากภาคเหนือที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาวได้สะดวกมากที่สุดเส้นหนึ่ง ด้วยระยะทางราว 460 ก.ม. แต่มีสภาพถนนที่ค่อนข้างดีเกือบตลอดเส้นทาง มีเส้นทางคดโค้งขึ้นลงเขาน่าหวาดเสียวไม่มากนัก ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” ได้เพลิดเพลินตลอดสองข้างทาง
ด่านบ้านผาแก้ว เมืองปากลาย สปป.ลาว
จากด่านภูดู่ เมื่อรถเข้ามาสู่เขตแดนลาวแล้ววิ่งตรงมาราว 27 ก.ม. ก็จะถึงทางสามแยกที่ตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 ของ สปป.ลาว โดยหากเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือไปอีก 165 ก.ม. ผ่านเมืองปากลายขึ้นไปก็จะไปถึงยังเมืองไชยบุรี แต่หากเลี้ยวขวาลงไปทางใต้อีก 56 ก.ม. ก็จะมุ่งหน้ามายังจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพแม่น้ำเหืองไทย-ลาว หรือด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง ที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว ที่นักท่องเที่ยวนิยมข้ามแดนมาท่องเที่ยวยังเมืองแก่นท้าวของ สปป.ลาว มาท่องเที่ยวไหว้พระ โดยมีวัดที่มีชื่อเสียง อาทิ วัดศรีภูมิ และวัดจอมแจ้ง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแก่นท้าว หรือหากจะเดินทางต่อไปยังหลวงพระบางก็สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งจังหวัดเลยมาถึงหลวงพระบางได้เลยอีกด้วย โดยมีรถให้บริการวันละ 1 เที่ยว
ชาวบ้านแสงเจริญ เมืองเพียงทอผ้าให้นักท่องเที่ยวชม
ผ้าทอพื้นเมืองของชาวบ้านเมืองเพียง แขวงไชยบุรี
คณะของเราเดินทางเลี้ยวซ้ายขึ้นมาทางเหนือ เลาะเลียบริมแม่น้ำโขงผ่านเมืองปากลาย เมืองน้ำพูน เมืองน้ำปุย มาถึงเมืองเพียง (ทั้งหมดนี้อยู่ในแขวงไชยบุรี) เอาในตอนเย็นย่ำพอดี ที่เมืองเพียงนี้ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของแขวงไชยบุรี มองไปทางไหนก็เห็นทุ่งนาสีเหลืองทองรอเก็บเกี่ยว ยิ่งเมื่อทุ่งนาต้องแสงแดดยามเย็นก็ยิ่งเพิ่มความสวยงามขึ้นไปอีก
สาวชาวลาวกับผ้าทอชนเผ่า
การแสดงเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กๆ ในหมู่บ้าน
เราแวะที่เมืองเพียงกันพักใหญ่ เพราะเมื่อทราบว่าจะมีนักท่องเที่ยวคณะใหญ่ผ่านมา ชาวบ้านที่หมู่บ้านแสงเจริญในเมืองเพียงนี้ก็ได้เตรียมการแสดงเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กๆ ไว้รอต้อนรับที่สโมสรของหมู่บ้าน อีกทั้งยังได้นำงานฝีมืองานหัตถกรรมงามๆ ต่างๆ โดยเฉพาะผ้าทอ ผ้าซิ่น ที่มีลวดลายและเอกลักษณ์สวยงามต่างกันไปตามแต่ละเผ่า มีทั้งผ้าทอของชาวไทลื้อ ไทดำ ม้ง ฯลฯ มาวางจำหน่ายในราคาที่เรียกว่าต้องรีบคว้า! เป็นการต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวจากเมืองไทยด้วยความน่าประทับใจยิ่ง

จากนั้นเดินทางอีกชั่วครู่ก็ถึงยังเมืองไชยบุรีเอาตอนย่ำค่ำพอดี เหน็ดเหนื่อยกับการนั่งรถมาทั้งวันแล้วดังนั้นเราจึงขอนอนพักเอาแรงกันก่อนที่จะออกเที่ยวเมืองไชยบุรีและรับทราบประวัติความเป็นมาของเมืองนี้กันในพรุ่งนี้เช้า
บรรยากาศตลาดเช้าเมืองไชยบุรี
ไชยบุรี-หลวงพระบาง

เช้านี้ในเมืองไชยบุรีมีอากาศเย็นสบาย มีหมอกบางๆ ปกคลุมเล็กน้อย เช้าๆ แบบนี้ต้องไปเดินเล่นที่ตลาดเช้าจึงจะได้บรรยากาศ ที่ตลาดเช้าเมืองไชยบุรีมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็มีข้าวของหลากหลายครบตามความต้องการ ทั้งอาหารสดจำพวกเนื้อสัตว์ ทั้งหมู เนื้อ ไก่ ปลา และสัตว์ป่าทั้งหลาย อีกทั้งยังมีพืชผักผลไม้ ข้าวสารอาหารแห้ง สินค้าอุปโภคบริโภคครบครัน
ผักสดและสารพัดของขายในตลาด
ขนมครกยามเช้าในตลาด
ทิวทัศน์เมืองไชยบุรีมองจากอนุสาวรีย์นักรบนิรนาม
จากนั้นเราขึ้นไปชมทิวทัศน์เมืองไชยบุรีกันที่จุดชมวิวบริเวณอนุสาวรีย์นักรบนิรนาม ซึ่งเป็นนักรบประชาชนที่สู้รบเพื่อแผ่นดินในสมัยสงครามฝรั่งเศส อนุสาวรีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อมๆ มองลงไปเห็นถนนสายหลักสร้างเป็นแนวเส้นตรงภายในเมือง และที่นี่เราได้ฟังเรื่องราวของเมืองไชยบุรี หรือภาษาลาวเรียกว่า ไซยะบูลี ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองเอกของแขวงไชยบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 18 แขวงของ สปป.ลาว มีพื้นที่ติดกับ 6 จังหวัดของไทย ทั้งน่าน อุตรดิตถ์ เลย เชียงราย และพะเยา

ในอดีตแขวงไชยบุรีนี้มีการทำสัมปทานป่าไม้เป็นจำนวนมากจึงมีช้างใช้งานลากซุงมากด้วยเช่นกัน และเป็นที่มาของงานบุญช้างที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองไชยบุรี มีชื่อเสียงไปไกลในระดับโลก
อนุสาวรีย์นักรบนิรนาม
อุโบสถวัดศรีสว่างวงศ์
นอกจากนั้นแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ยังได้มาเยี่ยมชมวัดคู่บ้านคู่เมืองไชยบุรีอีกสองแห่งด้วยกัน คือ “วัดศรีสว่างวงศ์” และ “วัดศรีบุญเรือง” โดยวัดศรีสว่างวงศ์ สร้างขึ้นโดยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง แต่เดิมวัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฮุง (หรือแม่น้ำรุ่ง) แต่ได้เสียหายเพราะถูกน้ำท่วม ต่อมาเจ้าศรีสว่างวงศ์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาสร้างใหม่ในสถานที่ปัจจุบัน วัดแห่งนี้มีลวดลายพรรณพฤกษาบนหน้าบันที่งดงามมาก
พระประธานในอุโบสถวัดศรีสว่างวงศ์
หลวงพ่อใหญ่แห่งวัดศรีบุญเรือง
ส่วนวัดศรีบุญเรืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำรุ่ง ก็เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของไชยบุรี โดยชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา “หลวงพ่อใหญ่” พระประธานในพระอุโบสถว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ขอสิ่งใดก็มักได้ตามประสงค์ จึงมีผู้คนเดินทางมากราบไหว้ท่านไม่ขาดสาย
บริเวณด้านหน้าวัดศรีบุญเรือง
สะพานข้ามแม่น้ำโขงท่าเดื่อ
ในช่วงสายๆ ก็ได้เวลาที่เราต้องลาจากเมืองไชยบุรี มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงพระบางกันแล้ว จากเมืองไชยบุรีเรายังคงใช้เส้นทางหมายเลข 4 เป็นเส้นทางหลักเช่นเดิม มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปอีกราว 24 ก.ม. ก็จะถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่บ้านท่าเดื่อ ข้ามไปยังเมืองปากคอน ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้ไม่มีสะพาน หากใครอยากขับรถผ่านเส้นทางนี้ไปยังหลวงพระบางก็จะต้องนำรถขึ้นเรือข้ามฟากไป แต่ตอนนี้การเดินทางทำได้สะดวกขึ้นมากหลังจากที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้สร้างเสร็จ ย่นระยะเวลาไปได้มากทีเดียว
นักท่องเที่ยวลงมาชมทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง
ทิวทัศน์แม่น้ำโขงบริเวณบ้านท่าเดื่อ
เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงบ้านท่าเดื่อมาแล้ว ก็วิ่งยาวๆ มาจนถึงเมืองเชียงเงิน ซึ่งเป็นจุดที่ตัดกันระหว่างเส้นทางหมายเลข 4 ที่เราวิ่งมาและเส้นทางหมายเลข 13 เราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 13 ที่มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงพระบาง จากเมืองไชยบุรีมาจนถึงเมืองหลวงพระบางนี้มีระยะทางราว 112 ก.ม. ใช้เวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมง "ตะลอนเที่ยว" ก็เดินทางมาถึงเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรล้านช้างกันแล้ว

มาถึงตรงนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นครึ่งทางของทริปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงล้านนาตะวันออก - AEC -ภาคอีสาน กันแล้ว ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยวในเมืองหลวงพระบางและการเดินทางในเส้นทางสายใหม่ไปยังเมืองวังเวียงก่อนจะกลับสู่เมืองไทยทางจังหวัดหนองคายนั้น “ตะลอนเที่ยว” จะขอยกยอดไว้เล่าให้ฟังในครั้งถัดไป ขอรับรองว่าเต็มไปด้วยสถานที่ที่น่าสนใจและเส้นทางที่น่าติดตามเช่นเคย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ไปยัง สปป.ลาว หรือการท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ (ดูแลพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) สอบถามโทร.0 5452 1118
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น