“ลับแล” เป็นชื่อของหนึ่งในเก้าอำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ฟังแล้วดูพิศวง อีกทั้งยังมีตำนานแม่ม่ายอันลึกลับ ที่มีเรื่องราวเอ่ยถึงสัจจะวาจา เพิ่มความพิศวงลึกลับให้กับอำเภอแห่งนี้ยิ่งขึ้นไปอีก และด้วยความสงสัยในที่มาของชื่ออำเภอ พร้อมทั้งอยากรู้เรื่องราวลึกลับ จึงเป็นเหตุให้ “ตะลอนเที่ยว” ตัดสินใจเดินทางมาเยือนเมืองลับแล
แต่ก่อนจะเริ่มต้นท่องเที่ยวให้ทั่วเมืองลับแล ตะลอนเที่ยวก็รู้มาว่า ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) มีการจัดกิจกรรม “ปั่น เนิบ เนิบ@แพร่ น่าน อุตรดิตถ์” ซึ่งเมืองลับแลแห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางปั่นจักรยานด้วยเช่นกัน และตะลอนเที่ยวก็ไม่พลาดที่จะร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้
สำหรับกิจกรรมปั่น เนิบ เนิบ@แพร่ น่าน อุตรดิตถ์นั้น จะเป็นการปั่นจักรยานระยะสั้น ชมบรรยากาศเมืองลับแล และใครที่เป็นห่วงเรื่องจักรยาน ตะลอนเที่ยวก็ขอบอกไว้เลยว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะทางการท่องเที่ยวเค้ามีจักรยานไว้ให้บริการฟรี โดยมาติดต่อขอยืมได้ที่ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล” พร้อมทั้งยังมีคู่มือและแผนที่ให้ ซึ่งในคู่มือนั้นยังมีที่ประทับตา สำหรับประทับตาตามจุดแวะพักต่างๆ ตามเส้นทางปั่นจักรยาน และหากประทับตาได้ครบก็สามารถนำไปแลกของที่ระลึกได้อีกด้วย
หลังจากติดต่อขอยืมจักรยาน พร้อมได้รับคู่มือและแผนที่แล้ว ตะลอนเที่ยวก็ไม่รอช้าใช้สองเท้าปั่นจักรยานแบบเนิบ เนิบ เพื่อไปชมเมืองลับแล คำว่า “เนิบ เนิบ” นี้ เป็นภาษาเหนือที่แปลว่าความช้า ไม่เร่งรีบ ค่อยเป็นค่อยไป ในจุดแรกที่ตะลอนเที่ยวได้แวะชมคือ “ซุ้มประตูเมืองลับแล” ประตูเมืองที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองลับแล ยิ่งใหญ่และสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมประยุกต์แบบสุโขทัย และใกล้ๆ กันนั้น ยังเป็นที่ตั้งของ “ประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแล” ที่แสดงถึงตำนานของเมืองลับแล ที่เล่าถึงแม่ม่ายผู้รักษาสัจจะวาจา โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า
“มีชายหนุ่มแห่งตำบลทุ่งยั้ง ออกหาของป่าแล้วหลงทางไปพบกับหญิงสาวชาวลับแล จึงเกิดความรักใคร่กัน โดยหญิงสาวได้พาชายหนุ่มมาอยู่กินที่บ้านเป็นสามีภรรยากันภายใต้กฎของเมืองลับแลที่ห้ามพูดโกหก เวลาผ่านมาทั้งสองมีลูกหนึ่งคน อยู่มาวันหนึ่งหญิงสาวออกไปข้างนอกและให้สามีเลี้ยงลูก แต่เนื่องจากภรรยาออกไปนานลูกเลยคิดถึงแม่และร้องไห้ไม่หยุด จึงเป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อพลั้งเผลอโกหกลูกว่า แม่กลับมาแล้วเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงได้ยินเข้า และบอกลูกสาวถึงการกระทำของสามีที่ทำผิดกฎเมืองลับแล
ฝ่ายหญิงจึงตัดสินใจสละความสุขส่วนตัว ให้สามีไปจากเมืองลับแล เธอจึงจัดข้าวของใส่ย่ามให้สามีสำหรับการเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางสามีรู้สึกว่าย่ามที่สะพายหนักขึ้น จึงเปิดดูเห็นแต่แท่งขมิ้นจึงทิ้งไปเหลืออยู่ไม่กี่แท่ง แต่พอกลับถึงบ้านและเปิดถุงย่ามออก ก็พบว่าแท่งขมิ้นกลายเป็นทองคำจึงเสียดาย และตัดสินใจเดินทางกลับไปเมืองลับแลแต่ก็หาเมืองไม่พบ”
เสร็จจากการชมประตูเมืองลับแลและประติมากรรมแม่ม่าย ก็ได้เวลาปั่นชมบรรยากาศในตัวเมืองไปเรื่อยๆ จนมาพบกับ “อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ” และก็ได้แวะสักการะ “พระศรีพนมมาศ” มีชื่อเดิมคือ “ทองอิน แซ่ตัน” ท่านเป็นอดีตนายอำเภอลับแล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 5 ซึ่งท่านได้สร้างความเจริญให้แก่อำเภอลับแลเป็นอย่างมาก เช่น เป็นผู้วางผังเมือง สร้างฝายหลวง พัฒนาการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการเกษตร เป็นบุคคลที่คนอำเภอลับแลให้ความเคารพนับถือสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน
จากนั้นมองดูแผนที่อีกครั้ง ก็มีเส้นทางปั่นอีกมากมายให้ได้เลือกปั่นเนิบ เนิบ ชมเมืองลับแล ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้เลือกปั่นไปตาม “ถนนเขาน้ำตก” หรือ “ถนนข้าวแคบ” ที่ยังคงมีบ้านเรือนแบบเก่าให้ได้ชม อีกทั้งยังมีร้านขาย “ข้าวแคบ” อาหารพื้นเมืองของลับแล ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนแผ่นพลาสติก ตั้งเรียงรายอยู่หลายร้านให้ได้แวะลองลิ้มชิมรส ปั่นมาเรื่อยๆ บรรยากาศจากบ้านเรือนก็กลายมาเป็นทุ่งนา ที่มีทิวเขาเป็นเบื้องหลังมองแล้วสวยงามสบายตา มองดูแผนที่อีกครั้ง ก็จะต้องปั่นเข้าสู่ “ถนนราษฎร์อุทิศ” หรือ “ถนนคนกิน” เพื่อกลับไปคืนจักรยาน ที่ถนนเส้นนี้ทั้งสองข้างทางจะมีร้านอาหารให้ได้แวะพักแวะกินอีกด้วย
(คลิกติดตามเรื่องกิน “ข้าวแคบ” ได้ที่ลิงก์นี้)
ปั่นเนิบ เนิบ ชมเมืองกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลากลับมาคืนจักรยานที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฯ และแลกของที่ระลึก แต่อย่าเพิ่งตัดสินใจรีบไปไหน เพราะใกล้ๆ กันนั้นเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล” สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่จะทำให้ได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” ชื่อที่ฟังแล้วดูพิศวงของอำเภอแห่งนี้
พิพิธภัณฑ์เมืองลับแลเป็นแหล่งการเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอำเภอลับแล โดยพื้นที่ภายในจัดให้มีการจำลองเรือนลับแลมาเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งด้านในอาคารนั้น มีการจำลองและนำข้าวของเครื่องใช้โบราณมาจัดแสดงให้ได้ชม และมีการจัดแสดงนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ของเมืองลับแล
สำหรับที่มาของคำว่า “ลับแล” นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “เมืองลับแลแต่เดิมเป็นที่หลบหนีข้าศึกของชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หากเป็นคนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อีกทั้งทางทิศเหนือยังมีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนและเป็นป่าดงดิบ ในช่วงเย็นพระอาทิตย์ยังไม่ตกดินบรรยากาศก็มืดแล้ว เพราะยอดเขาบังพระอาทิตย์ ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า “ลับแลง” โดยในภาษาเหนือแปลว่า หายไปในเวลาเย็น และเพี้ยนมาเป็นคำว่า “ลับแล” ในปัจจุบัน”
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด การตะลอนเที่ยวเมืองลับแลยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะที่อำเภอแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามมากมาย ให้ได้ไปเที่ยวกันอีกด้วย อาทิ “วัดพระแท่นศิลาอาสน์” มีตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธบารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้นเป็นโบราณวัตถุสำคัญของวัด โดยสร้างพระแท่นด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 ฟุต สูง 3 นิ้ว ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีพระมณฑปครอบอยู่ภายในพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์
“วัดดงสระแก้ว” วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียง ที่นิยมไปทำพิธีลอดอุโบสถไม้สักทองทรงไทยประยุกต์ของวัด เนื่องจากเชื่อว่า หากได้ลอดแล้วก็จะได้รับความเป็นสิริมงคล และหากใครที่เจ็บป่วยเมื่อมาลอดแล้วก็จะหายจากโรคภัย และเมื่อครั้งอดีตพระอุโบสถไม้สักทองแห่งนี้ก็ยังเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) พระพุทธรูปองค์สำคัญองค์เดียวของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อโลหะทองคำบริสุทธิ์ หนักกว่า 200 กิโลกรัมที่ถูกโจรกรรมไปเมื่อปี พ.ศ. 2520
“วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง” วัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท โบราณสถานสำคัญภายในวัดก็คือพระเจดีย์ทรงลังกาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์เป็นทรงลังกาสูงราว 20 วา หรือ 40 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระประธานเฒ่า หรือหลวงพ่อโต อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองลับแล อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของขุนนางในสมัยอยุธยา และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสเมื่อปี 2444
“วัดกุฎีพระฤาษีทรงธรรม” เป็นวัดที่มีตำนานเล่าถึงตาฤาษีชุบคน โดยมีเรื่องเล่าว่า “นานมาแล้วในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน มีฤาษี 5 ตนเป็นพี่น้องกัน ชื่อว่า ฤาษีนารอด ฤาษีนารายณ์ ฤาษีตาวัว ฤาษีตาไฟ และฤาษีมาลัยโปรด ได้บำเพ็ญเพียรจนมตบะแก่กล้า สามารถชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นขึ้นมาได้” ซึ่งในวัดแห่งนี้จะมีการต้มยาสมุนไพรให้ผู้ที่มาเยือนได้กิน โดยมีความเชื่อว่ารักษาโรคภัยได้ทุกชนิด
นอกจากวัดที่พูดถึงแล้ว ก็ยังมีวัดอื่นๆ เช่น วัดพระยืนพุทธบาทยุคล, วัดพระนอนพุทธไสยาสน์, วัดม่อนปรางค์, วัดดอนสัก, วัดเสาหิน ให้ได้แวะไปเที่ยวและสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เสร็จสิ้นจากการตะลอนเที่ยวเมืองลับแล จนรู้เรื่องราวที่มาของชื่ออันน่าพิศวงและตำนานแม่ม่ายแต่เก่าก่อน ตะลอนเที่ยวก็อยากจะบอกว่า หากได้มาเยือนลับแลแล้วก็คงจะไม่รู้สึกเบื่อเลย เพราะลับแลวันนี้ ไม่ได้ลึกลับเหมือนในอดีต พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างแดนให้มาเยือนอยู่เสมอ
**********************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร.0-5452-1127 และทางอีเมล tatphrae@tat.or.th
กิจกรรม “ปั่น เนิบ เนิบ@แพร่ น่าน อุตรดิตถ์” เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 สิงหาคม 2558 เส้นทางลับแลสามารถขอยืมจักรยานได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล โดยนำบัตรประชาชาชนไปเช่าได้ฟรี โดยจะได้รับคู่มือและแผนที่สำหรับการปั่นจักรยาน โดยภายในจะมีที่ประทับตราจุดแวะพัก ซึ่งสามารถนำมาแลกของที่ระลึก
**********************************************************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com